วิเคราะห์ “หินขนาดใหญ่” ขวางกลางลำคลองทับขอน สาเหตุหลักทำน้ำป่าไหลเข้าท่วมพื้นที่สวน บ้านเรือนประชาชน เตรียมศึกษานำหินออก กระทบ ระบบนิเวศหรือไม่ ผู้ใหญ่บ้าน ขอความร่วมมือประชาชน สร้างบ้านไม่ขวางทางน้ำไหล
วันนี้ (18 ต.ค.2567) The Active ลงพื้นที่สำรวจความพร้อมรับมืออุทกภัยในพื้นที่ภาคใต้ ที่ อ.พะโต๊ะ จ.ชุมพร ซึ่งเป็นพื้นที่เสี่ยงเจออุทกภัยน้ำป่าไหลหลากและดินโคลนถล่ม ด้วยลักษณะภูมิประเทศเป็นหุบเขา และมีชุมชนอาศัยอยู่ตามร่องเขา ที่สำคัญเมื่อวันที่ 16 ก.ย. ที่ผ่านมา บริเวณหมู่ที่ 5 บ้านทับขอน ต.ปากทรง เกิดน้ำป่าไหลหลากเข้าท่วมพื้นที่ ประชาชนได้รับความเดือดร้อนหนักสุดในรอบหลายปี
วิทยา สุวรรณสิทธิ์ นายอำเภอพะโต๊ะ จ.ชุมพร กล่าวว่า จากการประชุมร่วมกับจังหวัดสรุปปัญหาอุทกภัยในพื้นที่ มีการรายงานข้อมูลบนปริมาณน้ำฝนสะสม ประจำเดือน ก.ย. พบว่าอำเภอพะโต๊ะ มีปริมาณน้ำฝนเฉลี่ยต่อวันสูงที่สุดในจังหวัด คือ 110 มิลลิเมตร ทำให้ต้องเฝ้าระวังในพื้นที่เป็นกรณีพิเศษ เนื่องจากเมื่อวันที่ 16 ก.ย. เกิดน้ำป่าไหลหลากเข้าท่วมบ้านเรือนประชาชนได้รับความเสียหาย จำนวน 24 หลังคาเรือน เสียหายหนัก 19 หลังคาเรือน ที่เหลือเสียหายเล็กน้อย
อย่างไรก็ตาม นอกจากการลงพื้นที่เข้าให้การช่วยเหลือ มอบสิ่งของใช้ที่จำเป็น ทำความสะอาดบ้านเรือน ยังได้พาเจ้าหน้าที่เข้าสำรวจและพูดคุย กับชาวบ้านเพื่อหา แนวทางการแก้ไขปัญหาและผลกระทบที่เกิดขึ้นในระยะยาว โดยเบื้องต้น พบว่าจุดที่น้ำป่าทะลักไหลเข้าท่วม อยู่ที่บริเวณโค้งรูปตัวแอล (L) ของลำธารทับขอน ซึ่งเป็นลำธารที่รับน้ำมาจาก น้ำตกทับขอน และน้ำตกเหวตาเอียง เมื่อฝนตกลงมาในปริมาณมากทำให้เกิดน้ำป่าไหลหลาก เนื่องจากมีเห็นขนาดใหญ่ ขวางการไหลของน้ำในลำธาร แต่จากการสำรวจเบื้องต้นโดยองค์การบริหารส่วนตำบลปากทรง พบว่า เห็นมีขนาดใหญ่และอาจจะลึกลงไปอีกมาก จึงเกินกำลังความสามารถของนายช่างของท้องถิ่น จึงดำเนินการทำหนังสือส่งไปไปยังจังหวัด เพื่อส่งผู้เชี่ยวชาญมาทำการศึกษาและดำเนินการต่อไป
“จุดหนึ่งที่ชาวบ้าน นายก อบต. มาดูร่วมกันแล้ว เห็นพ้องตรงกันว่ามันมีหินก้อนใหญ่ก้อนนี้ ค่าหินก้อนนี้ไม่ขวางและมีทางให้น้ำไหลไปได้ อันนี้จะช่วยลดปริมาณน้ำท่วม หรืออาจจะไม่มีน้ำท่วมในปีต่อไปก็ได้ เบื้องต้นผมคิดว่า อบต. จะรับมือไหว ก็เลยชวนนายก อบต. ลงมาดูก็พบว่าเกินความสามารถอยู่ระหว่างการส่งเรื่องไปยังจังหวัด”
ข้อเสนอของทางอำเภอดังกล่าว สอดคล้องกับความเห็นของชาวบ้านส่วนใหญ่ที่ได้รับผลกระทบ ว่าหากมีการนำหินก้อนใหญ่ออก แล้วสามารถแก้ปัญหาน้ำหลากเข้าท่วมพื้นที่ได้จริงก็ยินดีที่จะลงความเห็นให้นำหินออกจากพื้นที่ได้
วีระพา ยีกระเส็ง ชาวบ้านหมู่ 5 บ้านทับขอน ต.ปากทรง กล่าวว่า บ้านของเธอได้รับผลกระทบจากน้ำป่าหลาก และเชื่อว่ามีสาเหตุส่วนหนึ่งมาจาก หินก้อนดังกล่าวเช่นกัน เพราะบ้านของเธออยู่ที่ต่ำกว่าบริเวณนั้น และหลังบ้านก็เป็นลำธารสายเดียวกัน แต่มวลน้ำกลับเดินทางมาทางหน้าบ้าน ซึ่งทะลักผ่านมาทางสวนผลไม้ ขณะที่น้ำในลำธารหลังบ้านแม้จะมีปริมาณมากก็ยังไม่สูงในระดับที่ท่วมเข้ามาในบ้านได้
เธอยอมรับว่า บ้านของเธอไม่ได้ปลูกใต้ถุนสูง ไม่เอื้อต่อการไหลผ่านของน้ำ เพราะข้อจำกัดเรื่องพื้นที่ หากเป็นบ้านชั้นเดียวจะมีความคับแคบเพราะอยู่อาศัยกันหลายคน จึงสร้างบ้านในลักษณะชั้นครึ่ง และพยายามลดความเสียหายในบ้านด้วยการเฝ้าระวัง และเก็บข้าวของขึ้นที่สูง ซึ่งก่อนที่จะตัดสินใจสร้างบ้านแบบนี้ได้ปรึกษากับเพื่อนบ้าน ซึ่งเล่าให้ฟังว่า ในอดีตตรงนี้จะมีน้ำป่าไหลหลากเข้าท่วม แต่ไม่คิดว่าจะหนักถึงขนาดนี้ เพราะในปีที่ผ่านมาน้ำก็ท่วมเช่นกันแต่ยังไม่มาก ปีนี้ถือว่าหนักที่สุด และ ตอนนี้ก็ยังต้องเฝ้าระวัง เพราะปกติแล้วฝนจะตกหนักในช่วงเดือน ต.ค. ถึง พ.ย. แต่ปีนี้มาเร็ว ซึ่งชาวบ้านในชุมชน และผู้ใหญ่บ้าน ก็คอยรายงานสถานการณ์เตือนกันอยู่เสมอ
“ก่อสร้างบ้านก็คุยกับเพื่อนบ้าน เค้าบอกว่าถ้าสร้างแล้วเวลาน้ำมาน้ำก็จะสูงและแรง แต่ก็ไม่คิดว่าจะแรงขนาดนี้ แต่คุยกับแฟนไว้ว่าถ้าน้ำมาจริงเราก็ต้องขนของขึ้นไว้ เพราะทีแรกคุยคุยกันว่าจะทำบ้านยกสูง ให้ด้านล่างโล่ง แต่ทีนี้ ชั้นบนพื้นที่ค่อนข้างจำกัด ก็เลยกั้นจนหมด เมื่อก่อนจะทำชั้นเดียวแล้วเก็บของไว้ข้างบนแต่ของเยอะมีที่จำกัด ก็เลยต้องการแบบนี้ค่ะ”
ด้าน ชัยวัฒน์ พันธ์พฤกษ์ ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 5 บ้านทับขอน ต.ปากทรง อ.พะโต๊ะ จ.ชุมพร เล่าว่า พื้นที่ของหมู่บ้านเจอน้ำป่าไหลหลากท่วมซ้ำซากทุกปี ชาวบ้านหลายคนมีความคุ้นชินกับปัญหานี้ แต่ล่าสุดถือว่าค่อนข้างมาแรง แม้ว่าจะแจ้งเตือนแล้วหลายบ้านก็ยังเก็บของไม่ทัน ในการประชุม ของหมู่บ้านได้มีการหารือกันถึงการป้องกันมาโดยตลอด โดยร่วมกับทางตำบลและอำเภอ มีทั้งการนำรถแบ็กโฮมาตักหินกลางลำธารมาไว้เป็นคันกั้นน้ำด้านข้างเพื่อเพิ่มการไหลของน้ำ ก็ทำได้ไม่เต็มที่ หรือ จะขุดลอกขยายคลองก็ไม่สามารถทำได้ เนื่องจากสองฝั่งของลำธารเป็นพื้นที่เอกสารสิทธิ์ของชาวบ้าน
และจากข้อเสนอของทางอำเภอ ได้นำมาพูดคุยกับชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบ ชาวบ้านส่วนใหญ่ “ยอมแลก” แม้อาจเป็นการทำลายทรัพยากรของท้องถิ่น หากช่วยแก้ปัญหาได้จริง แต่ต้องรอการประเมิน จากผู้เชี่ยวชาญถึงผลกระทบที่จะตามมา
“ถ้าหากว่ามันสามารถช่วยแก้ปัญหาได้ชาวบ้านก็ยอม แต่ถ้าหากไม่แก้ไขปัญหายอมรับสภาพได้ เหมือนที่ผ่านมาชาวบ้านส่วนใหญ่จะยอมหรือไม่ เพราะมันซ้ำซากจำเจทุกปี เกิดความเบื่อหน่าย หากทำให้ปัญหาตรงนี้คลี่คลายลงได้ ชาวบ้านยอมแลก”
อิทธิพล พูลศรี นายกองค์การบริหารส่วนตำบลปากทรง อ.พะโต๊ะ จ.ชุมพร กล่าวว่า จากปัญหาอุทกภัยน้ำป่าไหลหลากที่เผชิญมาต่อเนื่องทุกปี โดยชุมชน ได้มีการเฝ้าระวังกันเอง ประกอบกับการรายงานสถานการณ์ ซึ่งทางจังหวัดจะส่งมาทางอำเภอ และอำเภอส่งมาทางตำบล จากนั้นจากกระจายไปทุกหมู่บ้าน โดยเน้นการใช้ช่องทางแชทกลุ่มของหมู่บ้าน ซึ่งชาวบ้านส่วนใหญ่ก็มีความรู้เบื้องต้นในการสังเกตสีของน้ำ วัดปริมาณน้ำฝนมีความเข้าใจฤดูมรสุม ทำให้สามารถป้องกันและรับมือได้ในระดับหนึ่ง
“ด้วยความเคยชินของชาวบ้านในพื้นที่ เริ่มมีน้ำมาเค้าก็จะถ่ายรูปส่งใน LINE กันตลอด หรือโพสต์ลง Facebook ว่า ข้างล่างให้ระวังนะ น้ำข้างบนขึ้นมามาแล้วให้ป้องกันตัวกันเอาไว้ ผมก็ได้ให้พนักงานดู ด้านหลัง อบต. จะมีลำห้วยอยู่ นี่คือภูมิปัญญาในการสังเกต น้ำขึ้นถึงระดับไหนแล้ว เราจะต้องเร่งเตือนชาวบ้านให้เตรียมรับมือ ชาวบ้านเองก็จะรับทราบและเตือนกันต่อเป็นทอด ๆ“
อย่างไรก็ตาม ข้อสรุปในการแก้ปัญหานำก้อนหินออกจากกลางลำธารจะทำได้หรือไม่ ต้องรอข้อสรุปอีกครั้ง โดยนายอำเภอได้ส่งเรื่องไปยังผู้ว่าราชการจังหวัดเพื่อขอส่งเจ้าหน้าที่เข้ามาสำรวจอย่างเป็นทางการอีกครั้ง เบื้องต้นมีเจ้าหน้าที่จากกรมชลประทานเข้ามาสำรวจ และเผยว่าแนวทางที่พอจะทำได้ อาจจะเป็นลักษณะของการแซะหินบางส่วนที่อยู่ด้านบนเพื่อทำให้น้ำไหลผ่านง่ายขึ้น เนื่องจากเห็นมีขนาดใหญ่มากพร้อมกับทำแนวกั้นริมลำธารด้วยการโกเห็นในลำธารมาไว้ด้านข้างเพื่อเพื่อป้องกันน้ำไหลเข้าสู่พื้นที่