อนุฯ ประเมินสถานการณ์น้ำฯ มีมติจัดตั้งศูนย์ส่วนหน้า (ชั่วคราว) แก้ปัญหาอุทกภัยภาคใต้ ที่ จ.ยะลา 22 ต.ค. นี้ พร้อมให้คณะกรรมการลุ่มน้ำต่าง ๆ เป็นหน่วยย่อยประสานงาน รับมือฝนตกครอบคลุมทุกพื้นที่ ล่าสุดประกาศเตือนฝนตกหนักแล้ว กว่า 20 จังหวัด
เมื่อวันที่ 17 ต.ค. 2567 สุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เปิดเผยหลังเป็นประธานการประชุมคณะอนุกรรมการวิเคราะห์และประเมินสถานการณ์น้ำ ครั้งที่ 1/2567 ว่า คณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) มีมติแต่งตั้งคณะอนุกรรมการวิเคราะห์และประเมินสถานการณ์น้ำ ตามมาตรา 20 แห่ง พ.ร.บ. ทรัพยากรน้ำ พ.ศ. 2561 เพื่อทำหน้าที่วิเคราะห์และประเมินสภาพอากาศ สถานการณ์ฝน สถานการณ์น้ำ เพื่อสนับสนุนข้อมูลการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำให้กับ กนช. และศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย วาตภัย และดินโคลนถล่ม (ศปช.) พร้อมทั้งให้ข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะต่อการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำตามหลักวิชาการที่เหมาะสมต่อ กนช. โดยเฉพาะสถานการณ์น้ำในพื้นที่ภาคใต้ในระยะต่อจากนี้
ก่อนหน้านี้ ประเสริฐ จันทรรวงทอง รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธาน กนช. หลังจากได้รับทราบการวิเคราะห์ข้อมูล จากกรมอุตุนิยมวิทยาและสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) (สสน.) ที่คาดการณ์ว่าช่วงนี้ถึงเดือน ธ.ค. 67 พื้นที่ภาคใต้มีแนวโน้มที่จะมีปริมาณฝนจำนวนมากและตกอย่างต่อเนื่อง โดยฝนจะกระจายตัวทั้งในภาคใต้ตอนบนและตอนล่าง เสี่ยงต่อการเกิดน้ำป่าไหลหลากและน้ำท่วมฉับพลันในหลายพื้นที่
โดยเมื่อวันที่17 ตุลาคม 2567 หลังประชุมจึงมีมติให้จัดตั้งศูนย์ส่วนหน้า (ชั่วคราว) เพื่อบริหารจัดการน้ำในพื้นที่เสี่ยงอุทกภัยภาคใต้ ณ จังหวัดยะลา ในวันที่ 22 ต.ค. นี้ เพื่อบูรณาการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินงานเชิงรุกแก้ไขสถานการณ์น้ำป่าไหลหลาก ดินโคลนถล่ม และอุทกภัยในพื้นที่ภาคใต้ นอกจากนี้ ในปีนี้จะให้คณะกรรมลุ่มน้ำของลุ่มน้ำต่าง ๆ ในภาคใต้เป็นหน่วยงานย่อยประสานงานกับศูนย์ส่วนหน้าเพื่อดำเนินงานได้ครอบคลุมในทุกพื้นที่มากยิ่งขึ้น โดยศูนย์ส่วนหน้าจะมีการคาดการณ์ชี้เป้าพื้นที่เสี่ยงสูง ทั้งความเสี่ยงต่อการเกิดอุทกภัยและดินโคลนถล่ม เพื่อเตรียมพร้อมจัดตั้งศูนย์พักพิงสำหรับรองรับประชาชนหากจำเป็นต้องอพยพด้วย
นอกจากนี้ ที่ประชุมได้เห็นชอบจัดตั้งคณะทำงานเพื่อทบทวนแนวทางการบริหารจัดการน้ำในช่วงฤดูฝนที่ผ่านมา โดยมีรองเลขาธิการ สทนช. ที่ได้รับมอบหมายเป็นประธาน ดำเนินงานให้แล้วเสร็จภายใน 15 วัน เพื่อนำผลที่ได้ไปใช้ปรับปรุงการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ภาคใต้ในช่วงต้นเดือน พ.ย. นี้ และในระยะยาวจะมีการทบทวนเพื่อถอดบทเรียนนำไปใช้ปรับปรุงการดำเนินงานในฤดูฝนหน้าต่อไป
สำหรับการบริหารจัดการน้ำในเขื่อนของพื้นที่ภาคใต้ เช่น เขื่อนบางลาง ซึ่งคาดว่าจะมีปริมาณน้ำไหลเข้ามากในช่วงต่อจากนี้ ได้มอบหมายให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) พิจารณาพร่องน้ำออกจากเขื่อน โดยทยอยเพิ่มอัตราการระบายน้ำจาก 12 ล้านลูกบาศก์เมตร (ล้าน ลบ.ม.) ต่อวัน เป็น 14 ล้าน ลบ.ม. ต่อวัน และ 16 ล้าน ลบ.ม. ต่อวัน ตามลำดับ โดยไม่ส่งผลกระทบต่อประชาชนในพื้นที่ท้ายน้ำ
เลขาธิการ สทนช. กล่าวต่อว่า ที่ประชุมยังได้พิจารณาการเร่งระบายน้ำออกจากพื้นที่ท่วมขังต่าง ๆ รวมทั้งแนวทางในการบริหารจัดการน้ำในลุ่มน้ำเจ้าพระยาช่วงปลายฤดูฝนนี้ ซึ่งในช่วงนี้ยังคงต้องเฝ้าระวังฝนตกในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ภาคกลางตอนล่าง ภาคตะวันออก และภาคตะวันตก โดยสำหรับการบริหารจัดการน้ำของเขื่อนเจ้าพระยา ปัจจุบันได้ลดการระบายน้ำไปทางฝั่งตะวันตก เพื่อช่วยลดปริมาณน้ำในแม่น้ำท่าจีน เนื่องจากสถานการณ์น้ำทะเลหนุนสูง และมีการรักษาระดับน้ำเหนือเขื่อนให้อยู่ในระดับ 16 เมตร เหนือระดับน้ำทะเลปานกลาง เพื่อช่วยลดการระบายท้ายเขื่อน
โดยปัจจุบันเขื่อนเจ้าพระยามีอัตราการระบายประมาณ 1,400 ลบ.ม. ต่อวินาที และจะมีการปรับลดลงตามลำดับ คาดว่าปลายเดือนนี้มีแนวโน้มที่จะสามารถลดการระบายลงให้อยู่ในอัตรา 700 ลบ.ม. ต่อวินาที ซึ่งเป็นอัตราที่จะไม่ส่งผลกระทบต่อพื้นที่นอกคันกั้นน้ำ พร้อมกันนี้ ยังได้มีการหารือร่วมกับสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) (GISTDA) พิจารณาใช้เทคโนโลยีดาวเทียมในการประเมินความตื้นเขินของลำน้ำต่าง ๆ ทั่วประเทศ เพื่อชี้เป้าดำเนินการขุดลอกช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำ รวมทั้งได้หารือกับกรมทรัพยากรธรณี ในการใช้เทคโนโลยีหรือแนวทางในการดำเนินการชั่วคราวอย่างเร่งด่วนเพื่อแจ้งเตือนพื้นที่เสี่ยงดินโคลนถล่มในบริเวณที่ยังไม่มีสถานีวัดน้ำฝนให้ทันฤดูฝนปีถัดไป เพื่อลดความเสียหายทั้งต่อชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน โดยคณะอนุกรรมการฯ จะรายงานผลการดำเนินงานให้ กนช. ทราบอย่างต่อเนื่อง และรายงานข้อมูลต่อ ศปช. สำหรับประกอบการดำเนินงานในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป
ขณะที่ สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ได้ติดตามการคาดการณ์สภาพอากาศพบลมตะวันออกและลมตะวันออกเฉียงใต้พัดนำความชื้นจากทะเลจีนใต้และอ่าวไทยเข้ามาปกคลุมประเทศไทยตอนบน ในขณะที่ร่องมรสุมพาดผ่านภาคใต้ ทำให้ประเทศไทยตอนบน ภาคตะวันออก และภาคใต้ฝั่งตะวันออก มีฝนตกหนักมากบางพื้นที่ และการคาดการณ์พื้นที่เสี่ยงน้ำหลาก และพื้นที่เสี่ยงดินโคลนถล่มบริเวณพื้นที่ต้นน้ำ จากกรมทรัพยากรน้ำและกรมทรัพยากรธรณี พบว่ามี
พื้นที่เสี่ยงต้องเฝ้าระวัง ในช่วงวันที่ 19 – 23 ตุลาคม 2567 ดังนี้
- พื้นที่เสี่ยงน้ำท่วมขังในเขตชุมชนเมืองที่เกิดน้ำท่วมขังอยู่เป็นประจำเนื่องจากระบายไม่ทัน บริเวณ จ.นครปฐม : อ.เมืองนครปฐม อ.กำแพงแสน อ.ดอนตูม อ.นครชัยศรี อ.พุทธมณฑล อ.สามพราน จ.สมุทรสาคร : อ.เมืองสมุทรสาคร อ.บ้านแพ้ว อ.กระทุ่มแบน จ.นนทบุรี : อ.เมืองนนทบุรี อ.ปากเกร็ด อ.บางบัวทอง อ.บางกรวย จ.สมุทรปราการ : อ.เมืองสมุทรปราการ อ.พระสมุทรเจดีย์ อ.พระประแดง อ.บางพลี อ.บางบ่อ อ.บางเสาธง กรุงเทพมหานคร : เขตพระนคร เขตสัมพันธวงศ์ เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย เขตบางรัก เขตคลองสาน เขตทวีวัฒนา เขตตลิ่งชัน เขตบางกอกน้อย เขตบางกอกใหญ่ เขตธนบุรี เขตบางคอแหลม เขตสาทร เขตยานนาวา เขตบางแคราษฎร์บูรณะ เขตนองแขม เขตภาษีเจริญ เขตบางบอน เขตจอมทอง เขตทุ่งครุ เขตบางขุนเทียน
- พื้นที่เสี่ยงน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก ดินโคลนถล่ม ดังนี้
ภาคตะวันตก จ.กาญจนบุรี : อ.เมืองกาญจนบุรี อ.ด่านมะขามเตี้ย อ.พนมทวน อ.ท่ามะกา จ.ราชบุรี : อ.เมืองราชบุรี อ.สวนผึ้ง อ.จอมบึง อ.บ้านคา อ.โพธาราม อ.บ้านโป่ง จ.เพชรบุรี อ.แก่งกระจาน จ.ประจวบคีรีขันธ์ อ.ทับสะแก อ.บางสะพาน อ.บางสะพานน้อย
ภาคตะวันออก จ.ฉะเชิงเทรา : อ.ท่าตะเกียบ อ.สนามชัยเขต
จ.ปราจีนบุรี : อ. เมืองปราจีนบุรี อ.ประจันตคาม อ.นาดี อ.กบินทร์บุรี
จ.สระแก้ว : อ. เมืองสระแก้ว อ.อรัญประเทศ)
จ.ชลบุรี : อ. เมืองชลบุรี อ.ศรีราชา อ.บางละมุง อ.สัตหีบ
จ.ระยอง : อ. เมืองระยอง อ.บ้านค่าย อ.ปลวกแดง อ.นิคมพัฒนา
จ.จันทบุรี : อ. เมืองจันทบุรี อ.ขลุง อ.ท่าใหม่ อ.เขาคิชฌกูฏ อ.มะขาม
จ.ตราด : อ. เมืองตราด อ.บ่อไร่ อ.เขาสมิง อ.คลองใหญ่ อ.แหลมงอบ
ภาคใต้ จ.ชุมพร : อ.เมืองชุมพร อ.สวี อ.ทุ่งตะโก อ.หลังสวน อ.พะโต๊ะ จ.ระนอง : อ.เมืองระนอง อ.กระบุรี อ.ละอุ่น อ.กะเปอร์ อ.สุขสำราญ
จ.พังงา : อ.ตะกั่วป่า อ.กะปง
จ.ภูเก็ต : อ.เมืองภูเก็ต อ.กะทู้ อ.ถลาง
จ.สุราษฎร์ธานี : อ.เมืองสุราษฎร์ธานี อ.กาญจนดิษฐ์ อ.พนม อ.บ้านนาสาร อ.บ้านนาเดิม อ.พุนพิน อ.เคียนซา อ.พระแสง อ.ดอนสักอ.เกาะสมุย
จ.ตรัง : อ.เมืองตรัง อ.ย่านตาขาว อ.ห้วยยอด อ.นาโยง อ.วังวิเศษ
จ.สตูล : อ.เมืองสตูล
จ.นครศรีธรรมราช : อ.เมืองนครศรีธรรมราช อ.ปากพนัง อ.เฉลิมพระเกียรติ อ.พระพรหม อ.ร่อนพิบูลย์ อ.จุฬาภรณ์ อ.ขนอม อ.ทุ่งสง อ.สิชล อ.นบพิตำ อ.ท่าศาลา อ.พรหมคีรี อ.ลานสกา อ.เชียรใหญ่ อ.ชะอวด อ.หัวไทร
จ.พัทลุง : อ.เมืองพัทลุง อ.ควนขนุน
จ.สงขลา : อ.เมืองสงขลา อ.กระแสสินธุ์ อ.ระโนด อ.นาทวี อ.สิงหนคร อ.หาดใหญ่ อ.รัตภูมิ
จ.ปัตตานี : อ.เมืองปัตตานี อ.แม่ลาน อ.กะพ้อ อ.ทุ่งยางแดง อ.ไม้แก่น อ.ยะรัง อ.สายบุรี อ.ยะหริ่ง อ.ปะนาเระ อ.มายอ อ.หนองจิก
จ.ยะลา : อ.เมืองยะลา อ.กรงปินัง อ.เบตง อ.ธารโต อ.บันนังสตา อ.กาบัง อ.ยะหา อ.รามัน
จ.นราธิวาส : อ.เมืองนราธิวาส อ.ศรีสาคร อ.เจาะไอร้อง อ.แว้ง อ.บาเจาะ อ.ยี่งอ อ.ระแงะ อ.รือเสาะ อ.จะแนะ อ.สุคิริน อ.สุไหงโก-ลก
อ.สุไหงปาดี อ.ตากใบ
- เฝ้าระวังอ่างเก็บน้ำขนาดกลางและเล็กที่มีปริมาณน้ำมากกว่าร้อยละ 80 บริเวณ
จ.ประจวบคีรีขันธ์ จ.สุราษฎร์ธานี จ.ภูเก็ต จ.กระบี่ และอ่างเก็บน้ำที่มีสถิติปริมาณน้ำไหลเข้าอ่างเก็บน้ำมากกว่าความจุเก็บกัก ที่มีความเสี่ยงน้ำล้นอ่างฯ และส่งผลกระทบให้น้ำท่วมบริเวณด้านท้ายน้ำ
สำหรับอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ โดยเฉพาะเขื่อนบางลาง จังหวัดยะลา ให้พิจารณาบริหารจัดการน้ำให้เหมาะสม ไม่ให้เกิดผลกระทบหรือเกิดผลกระทบบริเวณท้ายเขื่อนน้อยที่สุด - เฝ้าระวังระดับน้ำเพิ่มขึ้นอย่างฉับพลันและระดับน้ำล้นตลิ่งและท่วมขังในพื้นที่ลุ่มต่ำ บริเวณแม่น้ำสายหลักและลำน้ำสาขาของ คลองบางสะพาน คลองชุมพร แม่น้ำหลังสวน แม่น้ำตาปี คลองชะอวด คลองลำ คลองท่าแนะ แม่น้ำตรัง แม่น้ำสายบุรี แม่น้ำปัตตานี แม่น้ำบางนรา แม่น้ำโก-ลก และคลองตันหยงมัส