สรุป #น้ำท่วม 2567 (16 ต.ค. 67)

#ภัยพิบัติ ที่ต้องรู้

  • อ.เบตง จ.ยะลา เกิดเหตุดินสไลด์ หลังมีฝนตกต่อเนื่องและปริมาณฝนสะสม ทำให้ถนนเลียบแนวชายแดนไทย-มาเลเซีย ขาดทรุด รวมถึงเสาไฟฟ้าริมถนนโน้มเอียงเสียหายเป็นระยะทางกว่า 90 เมตร นอกจากนั้นสวนยาง เกือบ 2 ไร่ หักโค่นล้มลงมาอีกด้วย
  • เทศบาลเมืองปากพนัง เสนอสร้างพนังกั้นน้ำ 2 ฝั่งแม่น้ำ ป้องกันน้ำท่วมเมือง เนื่องจากชาวบ้านลุ่มน้ำปากพนัง จ.นครศรีธรรมราช ยังเผชิญกับปัญหาน้ำทะเลหนุนสูงและล้นตลิ่งเข้าท่วมตัวเมืองทุกปี ซึ่งน้ำท่วมแต่ละครั้งยาวนานไม่ต่ำกว่า 7 วัน

รู้ทัน #ภัยพิบัติ

  • สัญญาณเตือน ‘ภาคใต้ฝั่งอ่าวไทย’ อาจมีน้ำท่วมเทียบเท่ากับปี 2554 เนื่องจากมีการประกาศเป็นพื้นที่เสี่ยงภัยพิบัติพร้อมกันถึง 3 จังหวัด ในพื้นที่ ปภ.เขต 11 จ.สุราษฎร์ธานี (สุราษฎร์ธานี, ชุมพร, นครศรีธรรมราช และพัทลุง) นับเป็นปรากฏการณ์ที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน
  • สทนช. ประกาศ เฝ้าระวัง น้ำท่วมฉับพลัน และน้ำล้นตลิ่ง ช่วงวันที่ 13 – 17 ต.ค. 67 มีฝนตกหนักมากบางพื้นที่ ต้องเฝ้าระวังอ่างเก็บน้ำที่มีปริมาณน้ำมากกว่าร้อยละ 80 และเฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วมฉับพลัน น้ำล้นตลิ่ง และบริเวณชุมชนเมืองที่เกิดน้ำท่วมขังเป็นประจำ เนื่องจากระบายไม่ทันบริเวณ จ.กาญจนบุรี, ชลบุรี, ระยอง, จันทบุรี, ตราด, เพชรบุรี, ประจวบคีรีขันธ์, ชุมพร, ระนอง, พังงา, ภูเก็ต, สุราษฎร์ธานี, กระบี่, นครศรีธรรมราช, ตรัง, สตูล, พัทลุง, สงขลา, ปัตตานี, ยะลา และนราธิวาส
  • สทนช. ประกาศ เฝ้าระวัง น้ำทะเลหนุนสูง ช่วงวันที่ 13 – 24 ต.ค. 67 เนื่องจากอิทธิพลของน้ำทะเลหนุนสูง ประกอบกับมวลน้ำหลากจากตอนบนของลุ่มน้ำไหลลงมาสมทบส่งผลให้ระดับน้ำในแม่น้ำเพิ่มสูงขึ้น เสี่ยงน้ำท่วมบริเวณพื้นที่ลุ่มต่ำริมแม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำท่าจีน และแม่น้ำแม่กลอง ชุมชนนอกแนวคันกั้น น้ำและแนวเขื่อนชั่วคราวบริเวณที่ไม่มีแนวป้องกันน้ำถาวร (แนวฟันหลอ) จึงขอให้เฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยง จ.สมุทรปราการ, กรุงเทพมหานคร, นนทบุรี, ปทุมธานี, สมุทรสาคร, นครปฐม และสมุทรสงคราม
  • สทนช. ประเมินพื้นที่เสี่ยง อุทกภัยล่วงหน้า ในช่วงวันที่ 15 – 17 ต.ค. 67  พบว่ามีพื้นที่เสี่ยง จำนวน 2 จังหวัด ได้แก่ จ.ยะลา (อ.เบตง) และ จ.พังงา (อ.คุระบุรี)

มีอะไรใน #ภัยพิบัติ

  • ภาคประชาชนจัดตั้ง “เครือข่ายเฝ้าระวังภัยพิบัติและช่วยเหลือผู้ประสบภัยกรุงชิง” จ.นครศรีธรรมราช จากบทเรียนใน ปี 2554 โดยให้คนในพื้นที่มีความตื่นตัว เรียนรู้ และติดตามข้อมูลข่าวสารในการดูแลชุมชน โดยเฉพาะพื้นที่ต้นน้ำ เพื่อให้การแก้ปัญหาถูกจุดและสะดวกยิ่งขึ้น เพราะชาวบ้านรู้ดีที่สุด ซึ่งขณะนี้ “เทือกเขากรุงชิง” เป็นจุดที่ต้องเฝ้าระวัง เนื่องจากมีการเลื่อนไหลของหน้าดิน และการปลูกพืชเชิงเดี่ยวบนพื้นที่ลาดชันเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้คนในพื้นที่ตกอยู่ในสถานการณ์เสี่ยงได้ทุกเมื่อ

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active