พบพื้นที่ลุ่มต่ำนอกคันกั้นน้ำ อ.นครชัยศรี ยังไม่กระทบหนัก เหตุวางแผนรับมือผ่านกลไกคณะทำงานบริหารจัดการน้ำพื้นที่ 3 อำเภอ
The Active ลงพื้นที่สำรวจ อ.นครชัยศรี จ.นครปฐม ภายหลัง สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ประกาศเตือน ตั้งแต่วันนี้ – 24 ต.ค. 67 ขอให้เฝ้าระวังน้ำทะเลหนุนสูง ประกอบกับมวลน้ำหลากจากตอนบนของลุ่มน้ำไหลลงมาสมทบ ทำให้ระดับน้ำในแม่น้ำเพิ่มสูงขึ้น เสี่ยงน้ำท่วมบริเวณพื้นที่ลุ่มต่ำริมแม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำท่าจีน และแม่น้ำแม่กลอง ชุมชนนอกแนวคันกั้นน้ำและแนวเขื่อนชั่วคราวบริเวณที่ไม่มีแนวป้องกันน้ำถาวร (แนวฟันหลอ) เฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยง จ.สมุทรปราการ, กรุงเทพมหานคร, นนทบุรี, ปทุมธานี, สมุทรสาคร, นครปฐม และสมุทรสงคราม
โดยบริเวณสะพานแดง (สะพานวัดกลางบางแก้ว) อ.นครชัยศรี จ.นครปฐม พบว่า ได้ดำเนินการติดตั้งแนวกันน้ำ (Big Bag) และเครื่องสูบน้ำขนาด 14 นิ้ว จำนวน 2 เครื่อง เมื่อ 9 ต.ค.ที่ผ่านมา เพื่อป้องกันน้ำท่วมคลองบางแก้ว และเป็นประตูกั้นน้ำหนุนจากแม่น้ำท่าจีน เอ่อท่วมบ้านเรือนประชาชน และเส้นทางการจราจร รวมถึงพื้นที่การเกษตรริมคลอง
เดิมทีหากเป็นช่วงเวลานี้ของทุกปี ชาวชุมชนปากท่า ต.บางกระเบา อ.นครชัยศรี กว่า 20 หลังคาเรือน ต้องจมอยู่กับน้ำในระดับเข่า เพราะอยู่ในจุดพื้นที่ลุ่มต่ำนอกคันกั้นน้ำของ จ.นครปฐม แต่ในปีนี้คนที่อยู่ติดกับคลองบางแก้ว สังเกตว่า ระดับน้ำมีเอ่อล้นตลิ่งเป็นบางวัน ยังไม่กระทบกับวิถีชีวิตมากนัก
ประทีป เหลืองทองคำ กำนัน ต.บางกระเบา อ.นครชัยศรี จ.นครปฐม บอกว่า ส่วนหนึ่งมาจากการร่วมมือของหลายภาคส่วนในจังหวัด ที่นำบทเรียนน้ำท่วมปี 2564 ที่ส่งผลกระทบต่อพื้นที่เศรษฐกิจสำคัญ 3 อำเภอ ได้แก่ อ.เมืองนครปฐม, อ.สามพราน และ อ.นครชัยศรี ได้รับผลกระทบจมน้ำต่อเนื่องถึง 2 เดือน จึงมีการวางแผนรับมือประมาณ 3 เดือนที่ผ่านมา ทั้งการป้องกัน แจ้งเตือน และอพยพกรณีฉุกเฉิน
ทั้งนี้ปีที่ผ่านมา จ.นครปฐม และภาคประชาสังคม รวมถึงนักวิชาการที่มองเห็นจุดร่วมของการบริหารจัดการน้ำอย่างเป็นระบบ ลุกขึ้นมาเป็นส่วนหนึ่งในการเสนอแผนรับมือน้ำปี 2567 ผ่านกลไก คณะทำงานบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ 3 อำเภอเศรษฐกิจ
สำหรับแผนบริหารจัดการน้ำ 3 อำเภอ 24 ตำบล เป็นการวางแผนการบริหารจัดการน้ำขึ้นใหม่ โดยสำรวจเส้นทางน้ำผ่านตลอดระยะทาง 35 – 40 กิโลเมตร หาแนวทางลดผลกระทบทั้งในรูปแบบระบบปิด คือ จัดการภายในจังหวัด และระบบเปิด คือ จัดการน้ำข้ามจังหวัด โดยมี 3 หลักการสำคัญ
- การพร่องน้ำจากแม่น้ำท่าจีน ช่วง อ.สามพรานตอนล่าง ให้ไหลออกพื้นที่อ่าวไทยเพื่อลดผลกระทบของพื้นที่ทางการเกษตร
- จัดการจราจรน้ำ จัดสรรกระจายตัวระบบคูคลอง และมีการพักชะลอน้ำ ลดปัญหาคอขวดจากพื้นที่ทางน้ำที่มีความคดเคี้ยว สะพาน ท่อลอดต้องมีการวางระบบการผันน้ำที่มีประสิทธิภาพ
- การระบายน้ำการสูบน้ำออกจากพื้นที่ท่วมขังพื้นที่สำคัญ ต้องสอดรับกับการพร่องน้ำล่วงหน้า ดังนั้นต้องมีการคาดการณ์ปริมาณน้ำคงค้างในพื้นที่ปริมาณน้ำที่จะเข้ามาเติมทั้งน้ำฝน และน้ำจากจังหวัดอื่นเพื่อประเมินสถานการณ์ และจัดการน้ำให้ทันท่วงที ผ่านการจัดตั้งศูนย์ปฏิการณ์ระดับจังหวัด ระดับอำเภอ ประชุมหารือร่วมกันต่อเนื่อง โดยเฉพาะในฤดูฝนเพื่อบริหารจัดการการเปิด-ปิด ประตูระบายน้ำที่มีอยู่ทั้งหมด 107 แห่งและสถานีสูบน้ำอีก 52 แห่ง ให้สอดรับกับสถานการณ์
นอกจากนี้เมื่อนำแผนบริหารจัดการน้ำฯ มาพิจารณาร่วมกับ ผังภูมิสังคมเพื่อการบริหารจัดการน้ำหมู่บ้าน/ชุมชน แบบบูรณาการอย่างยั่งยืน (Geo-Social Map) ที่จัดทำโดยสำนักงานโยธาธิการและผังเมืองจังหวัดนครปฐม ร่วมกับนักวิชาการสาขาภูมิศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี รวบรวมพื้นที่แต่ละอำเภอที่เคยถูกน้ำท่วมจัดทำเป็นแผนที่ที่มีการสำรวจโดยภาคพื้น เป็นจริง เห็นภาพร่วมกัน เพื่อนำไปสู่การบริหารจัดการน้ำที่มีประสิทธิภาพตามหลักวิชาการ ช่วยทำให้เห็นทิศทางการไหลของน้ำ ที่ยังสัมพันธ์กับงบประมาณในการป้องกันพื้นที่เสี่ยงสูง
ประเชิญ คนเทศ ที่ปรึกษาชมรมเรารักแม่น้ำท่าจีนนครปฐม ยอมรับว่า กลไกที่เกิดขึ้นทำให้คลายความกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์น้ำ จ.นครปฐม ในปีนี้ เนื่องจากปัจจัยที่ทำให้น้ำท่วมยังมีไม่มาก รวมถึงเชื่อว่าการบริหารจัดการน้ำตั้งแต่ตอนบน จนถึงตอนล่างปีนี้ภาครัฐทำได้ค่อนข้างดี
“ปีนี้ลานีญายังมาไม่เต็มกำลัง รวมถึงการการบริหารจัดการเปลี่ยน การดีเลย์น้ำปีนี้ถือว่าทำได้ดีมากเสมือนภาวะปกติ นี่คือหลักบริหารจัดการน้ำส่วนกลาง ท้องถิ่น และภาคประชาสังคมเป็นตัวช่วยเชื่อมประสาน ปีนี้ถือว่าค่อนข้างดีถึงแม้จะสูงแต่มั่นใจว่าเราจะผ่านไปได้”
ประเชิญ คนเทศ
ขณะที่โครงการชลประทานนครปฐม รายงานสถานการณ์น้ำ แม่น้ำท่าจีน จังหวัดนครปฐมประจำวันที่ 16 ต.ค. 67 คาดว่าระดับน้ำทะเลหนุนจะต่ำกว่าเมื่อวาน (15 ต.ค. 67) – 9 ซม. แต่เนื่องจากมีฝนฟ้าคะนอง ตามการคาดการณ์ของ กรมอุตุนิยมวิทยา ส่งผลให้ระดับน้ำเพิ่มขึ้น ขอให้เฝ้าระวังน้ำเอ่อล้นตลิ่งในพื้นที่ลุ่มต่ำนอกแนวคันกั้นน้ำใน อ.สามพราน, อ.นครชัยศรี และ อ.บางเลน