‘เพชรบุรี’ พร้อมไหม ? รับมือภัยพิบัติ น้ำท่วม-ดินถล่ม

สำรวจความพร้อมชุมชนน้ำท่วมซ้ำซากจากฝน น้ำทะเลหนุน ผู้นำชุมชน มอง ‘งบประมาณ’ หัวใจสำคัญ ลดผลกระทบภัยธรรมชาติ ขณะที่ ‘กรมทรัพยากรธรณี’ เผย มีอย่างน้อย 5 อำเภอ โซนตะวันตกเสี่ยงดินโคลนถล่ม น้ำป่าไหลหลาก 

The Active ลงพื้นที่สำรวจการเตรียมความพร้อมรับมือภัยพิบัติ ทั้งน้ำท่วม ดินถล่ม ในพื้นที่ จ.เพชรบุรี โดย สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย จ.เพชรบุรี เปิดเผยว่า ในพื้นที่จังหวัดระยะนี้ต้องเฝ้าระวัง 2 เรื่อง ทั้งดินโคลนถล่ม และ น้ำป่าไหลหลาก กรณีฝนตกหนักบริเวณแนวเขา ซึ่งอยู่ทางทิศตะวันตกของจังหวัด หากฝนตกบริเวณดังกล่าวปริมาณน้ำจะไหลไปลงที่อ่างเก็บน้ำ ซึ่งมี 3 อ่าง ประกอบด้วย อ่างเก็บน้ำเขื่อนแก่งกระจาน, อ่างเก็บน้ำเขื่อนแม่ประจันต์ และ อ่างเก็บน้ำห้วยผาก ซึ่งขณะนี้ ยังสามารถรับน้ำได้อีกมาก แต่หากเกิดฝนตกบริเวณท้ายเขื่อน ประกอบกับหากเกิดน้ำทะเลหนุนสูง พื้นที่ของจังหวัดฝั่งตะวันออก จะเสี่ยงเกิดน้ำท่วมโดยเฉพาะในพื้นที่ลุ่มต่ำ เบื้องต้นได้ติดตามข้อมูลพยากรณ์ เพื่อประสานให้ท้องถิ่น และประชาชน เตรียมความพร้อมรับมือ

ทั้งนี้จากการลงพื้นที่ ต.บ้านกุ่ม อ.เมืองเพชรบุรี ซึ่งเป็นชุมชนที่มีลักษณะภูมิประเทศเป็นแอ่งกระทะ พบปัญหาน้ำท่วมซ้ำซาก โดย เลิศชัย พืชพันธุ์ ผู้ใหญ่บ้าน หมู่ 13 ต.บ้านกุ่ม บอกกับ The Active ว่า ปัญหาน้ำท่วมซ้ำซากของที่นี่เป็นเหมือนโรคประจำตัว ที่ต้องรักษาแบบประคับประคอง กล่าวคือ ที่ผ่านมาใช้วิธีการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า ชุมชนนี้ติดแม่น้ำเพชรบุรี ซึ่งรับน้ำที่ปล่อยมาจากเขื่อนแก่งกระจาน หากช่วงที่เจอฝนตกหนัก แล้วเขื่อนปล่อยน้ำมากเกิน 150 ลบ.ม/วินาที ชาวบ้านที่นี่จะเริ่มเก็บข้าวของขึ้นที่สูง และหากปล่อยน้ำเกิน 350 ลบ.ม./วินาที น้ำก็จะเข้าท่วมพื้นที่ ประกอบกับหากช่วงนั้นน้ำทะเลหนุนสูง ก็จะทำให้ปริมาณน้ำเพิ่มมากขึ้น

เลิศชัย พืชพันธุ์ ผู้ใหญ่บ้าน หมู่ 13 ต.บ้านกุ่ม อ.เมืองเพชรบุรี จ.เพชรบุรี

เลิศชัย ยังบอกอีกว่า ปัญหาน้ำท่วมในพื้นที่เจอมาตั้งแต่เด็ก และเหตุการณ์ครั้งที่ใหญ่ที่สุดคือ ปี 2559 ที่เกิดเหตุคันกั้นน้ำแตก น้ำท่วมชุมชนอย่างหนักหลายหมู่บ้าน แม้ว่าปัจจุบันท้องถิ่นจะได้รับจัดสรรงบประมาณเพื่อทำคันกั้นน้ำ แต่ก็ไม่สามารถทำได้ตลอดแนว เชื่อว่า หากมีงบประมาณมาแก้ไขจะช่วยลดผลกระทบที่เกิดขึ้นได้ ทั้งนี้สิ่งที่ชาวบ้านต้องการ คือ การสร้างท่อระบายน้ำในชุมชน เพื่อช่วยในการระบายน้ำลงสู่แม่น้ำเร็วขึ้น พร้อมจัดสรรงบประมาณสร้างคันกั้นน้ำตลอดแนว และซ่อมแซมประตูระบายน้ำ ซึ่งปัจจุบันมีสภาพเสื่อมโทรม เนื่องจากผ่านใช้งานมานานกว่า 80 ปี

“ก่อนหน้านี้กรมทางหลวงได้มาทำประชาคมกับชาวบ้านว่าจะทำท่อระบายน้ำให้ทั้ง 2 ฝั่งถนน ซึ่งตอนนี้ชาวบ้านรอให้เข้ามาดำเนินการ ส่วนประตูระบายน้ำคลองอรรถสิทธิ์ หมู่ที่ 13 ก็ทรุดโทรม ใช้งานเปิดปิดไม่ได้ เวลาที่มีน้ำเข้ามาในพื้นที่ ต้องใช้กระสอบทรายกั้นแทน ได้ยินมาว่า ครม. อนุมัติงบฯ ปี 68 เพื่อก่อสร้างแล้ว ตอนนี้รอกรมชลประทานเข้ามาดำเนินการ”

เลิศชัย พืชพันธุ์

เช่นเดียวกับ ธรรมนูญ บุญส่ง กำนันตำบลบ้านกุ่ม อ.เมืองเพชรบุรี จ.เพชรบุรี ย้ำว่า สาเหตุส่วนหนึ่งที่ทำให้น้ำท่วมพื้นที่ นอกจากเรื่องคันกั้นน้ำที่มีไม่ตลอดแนวฝั่ง ลักษณะของแม่น้ำเพชรบุรีที่พัดผ่านตำบล ความยาวระยะทาง 9 กิโลเมตร มีลักษณะคับแคบ ซึ่งต่างจากแม่น้ำสายอื่น และมีความตื้นเขิน แม้ว่าก่อนหน้านี้จะมีงบจากรัฐบาล มาขุดลอกแล้ว 

ธรรมนูญ บุญส่ง กำนันตำบลบ้านกุ่ม อ.เมืองเพชรบุรี จ.เพชรบุรี

ขณะที่ นาวาตรี เสวก จ้อยสองสี นายกองค์การบริหารส่วนตำบลบ้านกุ่ม อ.เมืองเพชรบุรี จ.เพชรบุรี บอกว่า แม้ในพื้นที่จะมีคลองส่งน้ำที่กระจายน้ำจากแม่น้ำเพชรบุรี ไปยังชุมชน 5 คลอง ซึ่งเป็นคลองที่ชาวบ้านขุดเพื่อนำน้ำไปใช้การเกษตร แต่ปลายทางคลองตัน เมื่อปริมาณน้ำมากก็จะไหลเข้าท่วมพื้นที่เช่นกัน ในช่วงนี้ จึงประสานท้องถิ่น กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน คอยรายงานสภาพอากาศและความเสี่ยงน้ำท่วมให้กับชาวบ้าน โดยเตรียมกระสอบทราย ปิดกั้นบริเวณพื้นที่นอกคันกั้นน้ำ

พร้อมกับเตรียมเครื่องสูบน้ำ ติดตั้งไว้ 8 จุด จำนวน 10 เครื่อง เพื่อช่วยระบายน้ำออกจากพื้นที่ และเพื่อเป็นการบรรเทาความเดือดร้อนที่จะเกิดขึ้น เมื่อได้รับการแจ้งเตือนจะอำนวยความสะดวกในหารฝากของในพื้นที่สูงให้กับชาวบ้าน พร้อมกับอพยพย้ายผู้ป่วยติดเตียง ผู้สูงอายุ ไปอยู่ในพื้นที่ปลอดภัย

นาวาตรี เสวก จ้อยสองสี นายกองค์การบริหารส่วนตำบลบ้านกุ่ม อ.เมืองเพชรบุรี จ.เพชรบุรี

‘เพชรบุรี’…พื้นที่ไหน เสี่ยงอะไรบ้าง ?

ข้อมูลจาก กรมทรัพยากรธรณี ระบุถึง พื้นที่เสี่ยงเกิดแผ่นดินถล่ม น้ำป่าไหลหลาก จ.เพชรบุรี ประกอบด้วย

  • อ.แก่งกระจาน ที่ ต.ห้วยแม่เพรียง ต.แก่งกระจาน เสี่ยงดินถล่มและน้ำป่าไหลหลาก 14 หมู่บ้าน, ต.ป่าเต็ง เสี่ยงน้ำป่าไหลหลากดินถล่ม 10 หมู่บ้าน

  • อ.ชะอำ ที่ ต.เขาใหญ่ รวม 11 หมู่บ้าน เสี่ยงน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก 

  • อ.ท่ายาง ที่ ต.เขากระปุก รวม 13 หมู่บ้าน (โดยมีหมู่บ้านห้วยหินเพลิงเป็นพื้นที่ปลอดภัย)

  • อ.หนองหญ้าปล้อง ที่ ต.ยางน้ำกลัดเหนือ น้ำท่วมฉับพลันและดินไหล รวมทั้งน้ำป่าไหลไหลหลาก 5 หมู่บ้าน และ ต.ยางน้ำกลัดใต้ 7 หมู่บ้าน เสี่ยงน้ำป่าไหลหลาก ดินโคลนถล่มน้ำท่วมฉับพลัน

ขณะที่ข้อมูล กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณะภัย (ปภ.) ระบุพื้นที่ เสี่ยงอุทกภัย จ.เพชรบุรี มีดังนี้

  • อ.เมืองเพชรบุรี ได้แก่ ต.ต้นมะม่วง 6 หมู่บ้าน, ต.หนองโสน 7 หมู่บ้าน, ต.ช่องสะแก 10 หมู่บ้าน, ต.นาพันสาม 9 หมู่บ้าน, ต.โพไร่หวาน 7 หมู่บ้าน, ต.ไร่ส้ม 9 หมู่บ้าน, ต.เวียงคอย 3 หมู่บ้าน, ต.บางจาก 8 หมู่บ้าน, ต.ดอนยาง 8 หมู่บ้าน, ต.ธงชัย 9 หมู่บ้าน, ต.หนองพลับ 7 หมู่บ้าน, ต.หาดเจ้าสำราญ 3 หมู่บ้าน, ต.วังตะโก 3 หมู่บ้าน, ต.ต้นมะพร้าว 4 หมู่บ้าน, ต.ท่าราบ เทศบาลเมืองเพชรบุรี 9 ชุมชน, ต.คลองกระแชง เทศบาลเมืองเพชรบุรี 7 หมู่บ้าน, ต.บ้านกุ่ม 13 หมู่บ้าน, ต.บ้านหม้อ 6 หมู่บ้าน

  • อ.บ้านลาด ได้แก่ ต.ไร่มะขาม 9 หมู่บ้าน, ต.หนองกะปุ 9 หมู่บ้าน, ต.ห้วยข้อง 3 หมู่บ้าน, ต.หนองกระเจ็ด 8 หมู่บ้าน, ต.บ้านทาน 6 หมู่บ้าน, ต.ห้วยลึก 6 หมู่บ้าน, ต.ไร่โคก 6 หมู่บ้าน, ต.โรงเข้ 5 หมู่บ้าน, ต.สะพานไกร 3 หมู่บ้าน, ต.ลาดโพธิ์ 4 หมู่บ้าน, ต.บ้านหาด 5 หมู่บ้าน, ต.ท่าช้าง 3 หมู่บ้าน, ต.ไร่สะท้อน 8 หมู่บ้าน, ต.ท่าเสน 7 หมู่บ้าน, เทศบาลตำบลบ้านลาด 8 หมู่บ้าน, ต.ตำหรุ 6 หมู่บ้าน, ต.ถ้ำรงค์ 6 หมู่บ้าน, ต.สมอพลือ 6 หมู่บ้าน

  • อ.ท่ายาง ได้แก่ ต.เขากระปุก 2 หมู่บ้าน, ต.กลัดหลวง 5 หมู่บ้าน, ต.วังไคร้ 10 หมู่บ้าน, ต.มาบปลาเค้า 11 หมู่บ้าน, ต.บ้านในดง 6 หมู่บ้าน, ต.หนองจอก 10 หมู่บ้าน, ต.ท่าไม้รวก 13 หมู่บ้าน, ต.ท่าแลง 10 หมู่บ้าน, ต.ยางหย่อง 5 หมู่บ้าน, ต.ท่าคอย 11 หมู่บ้าน, เทศบาลตำบลท่ายาง 10 หมู่บ้าน, ต.ปึกเตียน 2 หมู่บ้าน,

  • อ.ชะอำ ได้แก่ ต.หนองศาลา 8 หมู่บ้าน, ต.บางเก่า 6 หมู่บ้าน, ต.ชะอำ 8 หมู่บ้าน, ต.เขาใหญ่ 9 หมู่บ้าน, ต.นายาง 8 หมู่บ้าน, ต.ดอนขุนห้วย 7 หมู่บ้าน, ต.สามพระยา 1 หมู่บ้าน

  • อ.เขาย้อย ได้แก่ ต.เขาย้อย 3 หมู่บ้าน, ต.ทับคาง 3 หมู่บ้าน, ต.สระพัง 2 หมู่บ้าน, ต.หนอวชุมพล 8 หมู่บ้าน, ต. หนองปรง 6 หมู่บ้าน, ต.บางเค็ม 1 หมู่บ้าน, ต.ห้วยโรง 1 หมู่บ้าน, ต.หนองปลาไหล 3 หมู่บ้าน

  • อ.หนองหญ้าปล้อง ได้แก่ ต.หนองหญ้าปล้อง 16 หมู่บ้าน, ต.นางน้ำกลัดเหนือ 5 หมู่บ้าน, ต.ท่าตะคร้อ 8 หมู่บ้าน

  • อ.แก่งกระจาน ได้แก่ ต.ป่าเด็ง 1 หมู่บ้าน, ต.พุสวรรค์ 7 หมู่บ้าน

  • อ.บ้านแหลม ได้แก่ ต.บางครก 10 หมู่บ้าน, ต.ท่าแร้ง 7 หมู่บ้าน, ต.บางขุนไทร 1 หมู่บ้าน

ขณะที่รายงาน สภาพน้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลาง โดยโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาเพชรบุรี (ข้อมูล ณ วันที่ 15 ต.ค. 67) พบความจุของอ่างเก็บน้ำยังคงสามารถปรับน้ำได้ โดย อ่างเก็บน้ำเขื่อนแก่งกระจาน ความจุ 710 ล้าน ลบ.ม. มีปริมาณน้ำ 64.18% (455.712 ล้าน ลบ.ม.) อ่างเก็บน้ำเขื่อนแม่ประจันต์ ความจุ 42.2 ล้าน ลบ.ม. มีปริมาณน้ำในอ่าง 60.85% (25.67 ล้าน ลบ.ม.) ขณะที่ อ่างเก็บน้ำห้วยผาก ความจุ 25 ล้าน ลบ.ม. มีปริมาณน้ำ 20.56% (5.653 ล้าน ลบ.ม.)

ศ.สันติ ภัยหลบลี้ ภาควิชาธรณีวิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผยกับ The Active ว่า จากการวิเคราะห์พื้นที่จุดเสี่ยง ที่จะเกิดน้ำท่วมและดินโคลนถล่ม ประกอบด้วย จ.เพชรบุรี จ.ประจวบคีรีขันธ์ ทั้งฝั่งตะวันตก และตะวันออก โดยความเสี่ยงภัยดินโคลนถล่มจากภูเขาทางฝั่งตะวันตก และน้ำท่วมขังในพื้นที่ เนื่องจากมีถนนที่เป็นจุดขวางทางน้ำ ทำให้น้ำไหลลงทะเลฝั่งอ่าวไทยได้ช้าลง อย่างไรก็ตามหากเกิดเหตุน้ำป่าไหลหลากจริง ในพื้นที่จะยังคงมีอ่างเก็บน้ำที่คอยรองรับน้ำได้อยู่ ส่วนที่บริเวณฝั่งตะวันออก หากฝนตกในปริมาณมาก ประกอบกับน้ำทะเลหนุนสูง ก็จะทำให้ตัว อ.เมืองเพชรบุรี น้ำท่วม

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active