สรุป #น้ำท่วม 2567 (15 ต.ค. 67)

#ภัยพิบัติ ต้องรู้

  • ต.ตาเนาะแมเราะ อ.เบตง จ.ยะลา ยังวิกฤต เนื่องจากถนนหลายสายถูกตัดขาด เสาไฟฟ้าหักโค่น ทำให้ประชาชนกว่า 50 ครัวเรือน ขาดแคลนน้ำสะอาดและอาหาร รวมถึงไม่มีไฟฟ้าใช้มา 4 วัน หลังเกิดเหตุน้ำป่าไหลหลากและดินสไลด์
  • จ.ลำพูน น้ำลดลงอย่างต่อเนื่อง หลังเจ้าหน้าที่เร่งสูบน้ำออก แต่ชาวบ้านยังเดือดร้อนเรื่องกลิ่นจากน้ำเน่าเสีย และกังวลโรคที่มากับน้ำ
  • อ.เมืองเชียงใหม่ จ.เชียงใหม่ คาดว่ามีขยะที่เกิดจากสิ่งของพังเสียหายหลังน้ำลดไม่ต่ำกว่า 3 หมื่นตัน สร้างความเสียหายให้กับทั้งชาวบ้านและผู้ประกอบการ ตลอดจนหน่วยงานรัฐอย่างหนัก

รู้ทัน #ภัยพิบัติ

ศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย วาตภัย และดินโคลถล่ม (ศปช.) แจ้งเตือนประชาชนในพื้นที่เสี่ยงดินถล่มในพื้นที่ 9 จังหวัด เฝ้าระวังและติดตามข่าวสารจากหน่วยงานราชการอย่างใกล้ชิด ได้แก่

  • จ.ภูเก็ต พื้นที่ อ.เมืองภูเก็ต, อ.กะทู้, อ.ถลาง

  • จ.กระบี่ พื้นที่ อ.เมืองกระบี่, อ.เขาพนม, อ.เกาะลันตา

  • จ.ตรัง พื้นที่ อ.ย่านตาขาว, อ.ปะเหลียน, อ.ห้วยยอด, อ.นาโยง

  • จ.สตูล พื้นที่ อ.ควนโดน, อ.ควนกาหลง, อ.ละงู, อ.ทุ่งหว้า, อ.มะนัง

  • จ.พัทลุง พื้นที่ อ.กงหรา, อ.ศรีบรรพต, อ.ศรีนครินทร์, อ.เขาชัยสน, อ.ตะโหมด, อ.ควนขนุน

  • จ.สงขลา พื้นที่ อ.หาดใหญ่, อ.สะบ้าย้อย, อ.จะนะ, อ.นาทวี, อ.รัตภูมิ, อ.สะเดา

  • จ.ปัตตานี พื้นที่ อ.โคกโพธิ์, อ.หนองจิก, อ.ปานาเระ, อ.มายอ, อ.ทุ่งยางแดง, อ.สายบุรี, อ.ยะรัง

  • จ.นราธิวาส พื้นที่ อ.บาเจาะ, อ.ยี่งอ, อ.ระแงะ, อ.รือเสาะ, อ.ศรีสาคร, อ.แว้ง, อ.สุคิริน, อ.สุไหงปาดี, อ.จะแนะ, อ.เจาะไอร้อง

  • จ.ยะลา พื้นที่ อ.เบตง, อ.ธารโต, อ.กาบัง, อ.บันนังสตา, อ.ยะหา, อ.รามัน, อ.กรงปินัง

มีอะไรใน #ภัยพิบัติ

ชาวบ้านนอกคันกั้นน้ำ ต.บางหลวงโดด ต.บางหลวง และ ต.บ้านกุ่ม อ.บางบาล จ.พระนครศรีอยุธยา สะท้อนให้เห็นปัญหาที่เกิดจากเหตุการณ์น้ำท่วมในปี 2567 ดังนี้

  • น้ำมาเร็วและลงเร็ว ทำให้ยากต่อการจัดการ เพราะในปีนี้ชาวบ้านต้องรับน้ำไปแล้ว 2 รอบ และยังมีความกังวลกับน้ำที่จะท่วมในระลอกถัดไป ช่วงวันที่ 16-20 ต.ค. นี้ จากปัจจัยน้ำเหนือ น้ำทะเลหนุน และปริมาณฝนอีกด้วย

ขณะเดียวกัน ยังมีเสียงสะท้อนออกมาอีกว่า ในปีนี้ไม่มีความขัดแย้งเรื่องการรับน้ำเหมือนปีที่ผ่านมา เพราะมี “เครือข่ายภาคประชาชน” ที่ตั้งกลุ่มจัดการองค์ความรู้ และทำงานประสานกับภาครัฐมากขึ้น ทำให้การสื่อสารทั้งการเตือนภัย การเยียวยา สอดคล้องตรงกับความต้องการของชาวบ้านมากขึ้น

โดยการรวมกลุ่มประชาชนที่สนใจด้านน้ำ จาก 7 ทุ่งรับน้ำ ทำข้อมูลแผนที่ ประเมินสถานการณ์ จุดเสี่ยงน้ำล้นตลิ่ง-น้ำท่วม มาตั้งแต่ช่วงต้นปี และเริ่มเตือนตั้งแต่เริ่มมีการระบายน้ำอยู่ที่ 500 ลบ.ม. 

กลไกสำคัญของการรวมกลุ่มภาคประชาชน คือ การสื่อสารด้วยภาษาที่ชาวบ้านเข้าใจด้วยการแปลงข้อมูลภาพกว้างจากการเตือนภัยในระดับรัฐ ให้ชาวบ้านรับรู้ว่าต้องรับน้ำระดับใดและใช้เวลาเดินทางนานกี่วัน แทนที่จะเป็นตัวเลขน้ำหน่วยลูกบาศก์เมตร

นอกจากนี้ ยังมีแผนในการผลักดันกฎหมายที่เกี่ยวข้อง รวมถึงข้อมูลการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่น้ำท่วมซ้ำซาก โดยเสนอให้มีการแก้ปัญหาตั้งแต่การตัดยอดน้ำให้จังหวัดก่อนหน้า ไม่ให้จังหวัดพระนครศรีอยุธยาเป็นจังหวัดเดียวที่แบกรับภาระเป็นประจำทุกปี 


ครม. เยียวยาผู้ประสบภัยน้ำท่วมแพ็กใหญ่ ลดภาษี​ -​ ปล่อยกู้ดอกเบี้ยต่ำ

คณะรัฐมนตรี (ครม.) ออก​มาตรการช่วยเหลือเยียวยาให้กับผู้ประสบอุทกภัย​และผู้ประกอบการ​ กว่า 50 จังหวัด ดังนี้

กระทรวงการคลัง มีมาตรการด้านภาษีเพื่อลดค่าใช้จ่าย ตลอดจนสินเชื่อ เพื่อฟื้นฟูที่พักอาศัยและธุรกิจต่างๆ

  • ยกเว้นภาษีรายได้บุคคลธรรมดาและภาษีนิติบุคคล เท่ากับจำนวนเงินชดเชยที่ได้รับจากรัฐบาล

  • ยกเว้นภาษีเงินรายได้นิติบุคคลให้กับบริษัท​ และห้างหุ้นส่วนจำกัด​ ที่ได้รับการช่วยเหลือ​

  • โครงการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ หรือ Soft Loan ตามวงเงินที่ได้อนุมัติไว้ก่อนหน้านี้ 50,000 ล้านบาท และผู้ประกาศการ SME ที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วม โดยคิดอัตราดอกเบี้ยต่ำไม่เกินร้อยละ 3.5 ต่อปี ในระยะเวลา 2 ปี โดยแต่ละรายจะมีวงเงินประมาณ 40 ล้านบาท

โครงการของบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม บสย.

  • วงเงินต่อราย 10,000-2,000,000 บาท ค่าธรรมเนียม​ 1.25% ต่อปี ระยะเวลาค้ำประกันไม่เกิน 10 ปี
  • ธนาคารออมสินช่วยเหลือลูกหนี้เดิม ซึ่งจะมีการพักชำระหนี้เงินต้นโดยไม่คิดอัตราดอกเบี้ยเป็นระยะเวลา 6 เดือน สำหรับสินเชื่อวงเงินไม่เกิน 10 ล้านบาท ส่วนผู้ที่ถือบัตรเครดิตจะมีการปรับลดอัตราชำระขั้นต่ำ เป็น 3% ใน 3 รอบบัญชี ซึ่งที่ผ่านมาจะต้องชำระมากกว่า 3% หรือชำระเต็ม

ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธกส.)

  • ลูกหนี้ที่มีสถานะปกติ หรือค้างชำระไม่เกิน 3 เดือน ขอขยายระยะเวลาการชำระหนี้ได้สูงสุดถึง 20 ปี โดยมีระยะปลอดเงินต้นไม่เกิน 3 ปี และยกเว้นดอกเบี้ยปรับ ทั้งจำนวนด้วย

  • มาตรการสินเชื่อเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายฉุกเฉิน สำหรับโครงการเสริมสภาพคล่อง และการอุปโภคบริโภคที่จำเป็นในวงเงินรายละไม่เกิน 50,000 บาท ระยะเวลากู้ไม่เกิน 3 ปี

  • มาตรการสินเชื่อเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิต รายการลงทุน ในการซ่อมแซมบ้าน รวมทั้งซ่อมแซมอุปกรณ์ทางการเกษตรต่าง ๆ วงเงินต่อรายไม่เกิน 500,000 บาท คิดอัตราดอกเบี้ย MRR 2% ต่อปี​ ระยะเวลากู้ไม่เกิน​ 15 ปี

ธนาคารอาคารสงเคราะห์​ (ธอส.) รวมถึง ธนาคารอิสลาม​ และอีกหลายธนาคาร ออกมาตรการช่วยเหลือด้วย

นอกจากนี้ยังมีมาตรการที่อยู่ระหว่างการพิจารณาและจะต้องนำกลับเข้ามายังที่ประชุมคณะรัฐมนตรี คือ การออกระเบียบและกฎหมายต่าง ๆ เช่น มาตรการลดหย่อนภาษี​ โดยจะมีการกำหนดให้รายจ่ายค่าอุปกรณ์ตกแต่งบ้านหรือการก่อสร้างต่าง ๆ ที่อยู่ในพื้นที่ประสบอุทกภัย สามารถนำไปลดหย่อนภาษีได้

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active