สรุป #น้ำท่วม2567 (14 ต.ค. 67)

#ภัยพิบัติ ที่ต้องรู้ 

  • เจ้าหน้าที่เร่งสำรวจความเสียหายน้ำป่าไหลหลาก และดินถล่ม เหตุเกิดเมื่อวันที่ 12 ต.ค.ที่ผ่านมา ที่หมู่ 4 บ้านธารมะลิ ตำบลอัยเยอร์เวง อำเภอเบตง จังหวัดยะลา จนมีผู้เสียชีวิต 1 คน บ้านเรือนเสียหายทั้งหลัง 2-3 หลัง เสียหายบางส่วนอีก 10 หลัง รวมถึงโรงเรียนบ้านธารมะลิ  และถนนในหมู่บ้าน ล่าสุดผู้ว่าราชการจังหวัดยะลา ลงพื้นที่เยี่ยมให้กำลังใจครอบครัวผู้เสียชีวิต มอบเงินเยียวยาค่าจัดการศพ รวมทั้งมอบถุงยังชีพให้ผู้ได้รับผลกระทบ  สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งช่วยเหลือเบื้องต้น พร้อมเร่งสำรวจบ้านเรือนที่อยู่ในจุดเสี่ยง รวมทั้งจัดหาจุดอพยพ หรือพื้นที่ปลอดภัย เพื่อป้องกันความสูญเสีย
  • จังหวัดลำพูน ตำบลหนองช้างคืน ระดับน้ำมีแนวโน้มลดลง สามารถระบายน้ำจากเหมืองกู่แดง เหมืองสองร้อย ลงสู่ระบบเหมืองแม่ปิงเก่าได้ดี บ้านป่าขาม บ้านหลุก เหมืองง่า ระดับน้ำลดลง เหมืองหลิ่งห้า ระบายน้ำลงสู่เหมืองปิงห่าง ไหลได้คล่องตัว โดยได้มีการติดตั้งเครื่องสูบน้ำ จำนวน 2 เครื่อง เพื่อเร่งการระบายน้ำในพื้นที่ ตำบลต้นธง แหล่งรวมน้ำสุดท้ายก่อนลงแม่น้ำปิง โดยปัจจุบันน้ำที่ท่วมขังอยู่เกิดการเน่าเสีย บางจุดเป็นแอ่งกระทะ ไม่มีที่ระบายออก หรือไหลออกได้ช้า
  • เทศบาลนครเชียงใหม่ ยังคงเร่งฟื้นฟู ทำความสะอาด ตามถนนและบ้านเรือนประชาชน ที่ประสบภัยน้ำท่วม ในเขตอำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ เพราะน้ำที่ท่วมแม้จะลดไปแล้วหลายวัน แต่ก็ยังไม่สามารถทำความสะอาดได้เสร็จ เนื่องจากพื้นที่ถูกน้ำท่วมมีบริเวณกว้าง ล่าสุดขณะนี้เทศบาลนครเชียงใหม่ ได้นำขยะที่เกิดจากความเสียหายตามบ้านเรือนประชาชนไปทิ้งแล้วกว่า 5 พันตัน จากทั้งหมดที่คาดการณ์น่าจะมีกว่า 1 หมื่นตัน
  • เวียงกุมกามแหล่งท่องเที่ยวโบราณสถานสำคัญของจังหวัดเชียงใหม่ ยังมีน้ำขังอยู่เป็นจำนวนมาก การฟื้นฟูต้องใช้เวลานาน เนื่องจากการสูบน้ำออกต้องทำอย่างซ้าๆ ใช้ความระมัดระวังสูง เพราะเกรงกระทบต่อฐานรากของโบราณสถาน เพราะหากสูบน้ำออกเร็ว จะทำให้เกิดการพังทลายลงได้ คาดฟื้นฟูให้เสร็จสิ้นภายในสิ้นเดือนนี้ เพื่อให้พร้อมรับฤดูกาลท่องเที่ยวที่จะถึง
  • จังหวัดพิษณุโลก น้ำจากแม่น้ำยม ยังคงท่วมในพื้นที่ลุ่มต่ำ ส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตของชาวบ้านในพื้นที่อำเภอพรหมพิราม อำเภอบางระกำ และอำเภอเมืองพิษณุโลก หลายครอบครัวต้องพักอาศัยอยู่ในบ้านที่มีน้ำท่วมรอบบ้าน และบางส่วนต้องอพยพ ขึ้นมาสร้างเพิงที่พักอยู่บนที่สูง ล่าสุดชลประทานจังหวัดพิษณุโลก เร่งระบายน้ำยกบานประตูน้ำ 2 แห่ง ในอำเภอบางกระทุ่มและอำเภอเมืองพิษณุโลก เพื่อให้น้ำไหลลงสู่แม่น้ำน่าน ซึ่งจะทำให้ระดับน้ำที่ท่วมลดลง

รู้ทัน #ภัยพิบัติ

  • 14 ต.ค.67 ปริมาณฝนสะสม 24 ชม. สูงสุด ได้แก่ ภาคใต้ : จ.ภูเก็ต ภาคกลาง : ชัยนาท  ภาคเหนือ : จ.สุโขทัย ภาคตะวันออก : จ.ตราด ภาคตะวันตก : จ.ประจวบคีรีขันธ์ และ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ : จ.ศรีสะเกษ 
  • สทนช. ประกาศเฝ้าระวังน้ำท่วมฉับพลันและน้ำล้นตลิ่ง ช่วงวันที่ 13–17 ต.ค. 67 ต้องเฝ้าระวังอ่างเก็บน้ำที่มีปริมาณน้ำมากกว่าร้อยละ 80   และเฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วมฉับพลัน  น้ำล้นตลิ่ง และบริเวณชุมชนเมืองที่เกิดน้ำท่วมขังเป็นประจำ เนื่องจากระบายไม่ทัน บริเวณจังหวัดกาญจนบุรี ชลบุรี ระยอง จันทบุรี ตราด เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร ระนอง พังงา ภูเก็ต สุราษฎร์ธานี กระบี่ นครศรีธรรมราช ตรัง สตูล พัทลุง สงขลา ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส 
  • 13–24 ต.ค. 67  ยังคงต้องเฝ้าระวัง อิทธิพลของน้ำทะเลหนุนสูง ประกอบกับมวลน้ำหลากจากตอนบนของลุ่มน้ำไหลลงมาสมทบทำให้ระดับน้ำในแม่น้ำเพิ่มสูงขึ้น เสี่ยงน้ำท่วมบริเวณพื้นที่ลุ่มต่ำริมแม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำท่าจีน และแม่น้ำแม่กลอง ชุมชนนอกแนวคันกั้นน้ำและแนวเขื่อนชั่วคราวบริเวณที่ไม่มีแนวป้องกันน้ำถาวร (แนวฟันหลอ) เฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยง จ.สมุทรปราการ กรุงเทพมหานคร นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรสาคร นครปฐม และสมุทรสงคราม
  • เขื่อนเเจ้าพระยา จังหวัดชัยนาท ปรับลดการระบายน้ำจากเดิม 1,800 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที เป็น 1,750 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที เพื่อลดผลกระทบน้ำทะเลหนุนสูง ระหว่างวันที่ 14-24 ตุลาคม ทำให้ระดับน้ำท้ายเขื่อนลดลง 39 เซนติเมตร ในรอบ 24 ชั่วโมง ต่ำกว่าตลิ่ง 2 เมตร 64 เซนติเมตร ทำให้ชุมชนท้ายเขื่อนเจ้าพระยาเข้าสู่ภาวะปกติ แต่ยังคงกระสอบทรายไว้เป็นแนวป้องกัน
  • การระบายน้ำในอัตรา 1,750 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาทีของเขื่อนเจ้าพระยา จะส่งผลดีต่อพื้นที่ลุ่มต่ำท้ายเขื่อน ตั้งแต่อำเภอสรรพยา จังหวัดชัยนาท ไปจนถึงจังหวัดสิงห์บุรี อ่างทอง และพระนครศรีอยุธยา โดยเฉพาะพื้นที่นอกคันกั้นน้ำริมคลองโผงเผง จังหวัดอ่างทอง และริมคลองบางบาล จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ระดับน้ำจะลดลง 20-50เซนติเมตร ใน 24 ชั่วโมงข้างหน้า

มีอะไรใน #ภัยพิบัติ

ป่าบงเปียง นาขั้นบันไดที่สวยที่สุดและใหญ่ที่สุดของ จ.เชียงใหม่ นักท่องเที่ยวแห่ยกเลิกจองที่พักกังวลสถานการณ์น้ำท่วม  

ชุมชน ณดาศรี ชาวบ้านที่มีที่พักโฮมสเตย์ บ.ป่าบงเปียง อ.แม่แจ่ม จ.เชียงใหม่ ยอมรับว่าผลกระทบน้ำท่วมในเมืองเชียงใหม่ ส่งผลกระทบโดยตรงต่อการเดินทางมาท่องเที่ยว แม้นาขั้นบันไดบ้านป่าบงเปียง จะไม่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วม หรือดินสไลด์ ก็มีนักท่องเที่ยวโทรมายกเลิกที่พักจำนวนมาก เพราะหลายคนยังกังวลสถานการณ์น้ำท่วมอยู่ ซึ่งที่บ้านป่าบงเปียง ตอนนี้ยังเปิดต้อนรับนักท่องเที่ยวทุกวัน ซึ่งช่วงปลายฝนต้นหนาวนาข้าวจะสวยงามที่สุดในช่วงเช้าๆก็เริ่มมีหมอกและชมพระอาทิตย์ตกดินสวยงาม

สำหรับสภาพอากาศในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ ขณะนี้ไม่มีฝนตก ผู้ประกอบการคาดหวังว่าช่วงไฮซีซั่น ช่วงฤดูหนาวนี้ ภาครัฐจะมีมาตรการต่างๆช่วยกระตุ้นท่องเที่ยว เพื่อให้นักท่องเที่ยวกลับมา 

ด้านกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เตรียมเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) รับทราบมาตรการ “แอ่วเหนือคนละครึ่ง” เพื่อกระตุ้นการท่องเที่ยวในพื้นที่ภาคเหนือ หลังผู้ประกอบการเริ่มทยอยฟื้นฟูกิจการ จากผลกระทบน้ำท่วม คาดดีเดย์ 1 พ.ย.นี้

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active