ชี้บทเรียนน้ำท่วมเชียงราย สร้างจุดเปลี่ยนใหม่สังคมไทย ยกระดับการช่วยเหลือ ฟื้นฟู เยียวยา ป้องกันภัยพิบัติ ด้วยข้อมูล และการมีส่วนร่วม แนะเร่งวางแผน ออกแบบนวัตกรรม รับมืออนาคต หลังมีแนวโน้ม ปี 2573 วิกฤตน้ำท่วมใหญ่จะวนมาอีกครั้ง
เมื่อวันที่ 12 ต.ค. 67 สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA ร่วมกับ กรุงเทพมหานคร จัดเวทีรับฟังแนวทางการออกแบบนวัตกรรมเชิงนโยบายเพื่อแก้ปัญหาภัยพิบัติ โดยเป็นครั้งสำคัญของการนำเสนอทางออก และแนวปฎิบัติเร่งด่วนจำเป็นสำหรับประเทศไทย
พร้อมข้อเสนอทิศทางสำคัญเพื่อยกระดับ การรับมือจากภาครัฐ ที่มีประสิทธิภาพและตอบสนองได้ทันท่วงที เพื่อป้องกันอุทกภัย วาตภัย และดินถล่ม หลังจากจากเกิดเหตุการณ์น้ำท่วมที่ จ.เชียงราย ทั้งนี้ในเวทีเสวนา “แนวทางการออกแบบนวัตกรรมเชิงนโยบายเพื่อแก้ปัญหาภัยพิบัติ” ผศ.นิอร สิริมงคลเลิศกุล คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา เชียงราย ระบุผ่านช่องทาง Zoom ว่า โดยเล่าให้ฟังถึงสถานการณ์ในพื้นที่ ในฐานผู้ประสบภัยน้ำท่วมใน จ.เชียงราย เหตุการณ์นี้ทำให้เห็นปัญหาหลายด้าน ทั้งข้อมูล และการจัดการที่ไม่พร้อม ที่ต้องบูรณาการวางแผนใหม่
ผศ.นิอร ยอมรับว่า น้ำท่วมรอบนี้เห็นสภาพของประชาชนหลายคนสู้กับน้ำและน้อยคนนักที่จะรู้ตัวว่าภัยน้ำท่วมจะเกิดขึ้นกระทบบ้านของตัวเอง ระหว่างเกิดเห็น มีผู้นำ คนในชุมชน พยายามแจ้งเตือนภัยกันเอง
“เราเห็นการจัดการที่ไม่เป็นระบบ ภัยพิบัติรอบนี้เรียกได้ว่าเกินกำลังในระดับชุมชน เพราะมีโคลนเข้ามาด้วย จึงพยายามรวมรวมข้อมูลร่วมกัน หาจุดเสี่ยง เรียงลำดับอะไรก่อนหลัง พิกัดข้อมูล เพื่อจะมีชุดข้อมูลในการแก้ปัญหา แต่ยอมรับว่าเรื่องนี้ ต้องปรับปรุงให้เกิดจุดเปลี่ยนต่อการรับมือภัยพิบัติให้ได้ ดังนั้นข้อมูลสำคัญมาก ต่อการคิดแผนจัดการภัยพิบัติล่วงหน้าในการออกแบบเชิงนโยบาย”
ผศ.นิอร สิริมงคลเลิศกุล
ย้ำความสำคัญ ‘นวัตกรรม’ รับมือ จัดการภัย
ภาคภูมิ ผลพิสิษฐ์ ประธานหอการค้าจังหวัดเชียงราย บอกว่า จากนี้สิ่งที่ต้องเดินหน้าคือ นวัตกรรม เพื่อการวางแผนป้องกันไม่ให้เกิดเหตุการณ์ อย่างการเตือนภัย การรับมือจากภัยต่าง ๆ ต้องมีแนวทางร่วมมือกันดำเนินการอย่างเร่งด่วน ขณะนี้มีการพูดคุยกันทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม ที่จะช่วยเหลือฟื้นฟู ให้คนที่ได้รับผลกระทบ เริ่มกลับมาใช้ชีวิตปกติ เพราะอีกเรื่องสำคัญ คือบทบาทของการผลักดันฟื้นฟูเศรษฐกิจไปพร้อมกันด้วย
“ใน จ.เชียงราย มีผู้ประกอบการรายย่อย ที่พอล้มไปเขาอาจจะไม่ได้มีแรงมากพอที่จะคืนกลับมาอยู่ในสถานะเดิมได้ แล้วเขาอาจจะต้องการเข้าถึงแหล่งเงินทุนเข้ามาความช่วยเหลือต่าง ๆ เรื่องนี้ เราจะร่วมกับทางกระทรวงพาณิชย์ ร่วมมือช่วยเหลือพยุงทุกอย่างกลับมาเหมือนเดิม อยากจะขอเชิญชวนทุกคนมาเที่ยว จ.เชียงราย ตอนนี้ผมมั่นใจ ผมก็รับประกันเลยว่าเชียงรายสามารถท่องเที่ยวได้ สถานที่ท่องเที่ยว 99% ไม่ได้รับผลกระทบจาก น้ำท่วม ยังสามารถท่องเที่ยวได้ตามเดิม”
ภาคภูมิ ผลพิสิษฐ์
Sandbox แก้ปัญหาภัยพิบัติเชียงรายด้วยการใช้ข้อมูล
กริชผกา บุญเฟื่อง ผู้อำนวยการสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA ระบุว่า เหตุการณ์น้ำท่วมเชียงรายที่ผ่านมาเห็นการป้องกันมีน้อย ขณะนี้จึงพยายามรวบรวมทุกภาคส่วนที่มีความรู้ในด้านต่าง ๆ มาบูรณาการร่วมกัน โดยเฉพาะเรื่องของการขับเคลื่อนในเชิงนโยบาย ที่มองไปถึงการทำ Sandbox แก้ปัญหาภัยพิบัติขึ้นที่เชียงราย เริ่มต้นให้เห็นถึงการวางผังเมือง การวางแผนป้องกันในอนาคต หรือ การใช้ AI เตือนภัยพิบัติ สิ่งที่กำลังรวบรวมเวลานี้คือข้อมูลทั้งหมดเพื่อใช้ในอนาคต
“อนาคตน้ำจะเป็นอย่างไร อากาศของโลกที่เปลี่ยนแปลงไป นำมาประมวลผลคิดตามจากข้อมูลที่สามารถเก็บ และวิคราะห์ไปพร้อมกัน การแจ้งเตือนควรถึงระดับครัวเรือน แล้วให้ประชาชนรับรู้เรื่องนี้ เราจะขยายผลไปถึงรัฐบาล ขณะนี้ประธานหอการค้าที่เชียงราย เสนอว่าจะประชุม ครม.สัญจร จึงเป็นจังหวะ และโอกาสที่จะเสนอแนวทางแก้ปัญหาร่วมเพื่อนำไปสู่การปฎิบัติจริง”
กริชผกา บุญเฟื่อง
ถึงเวลาทบทวนกฎหมายรับมือภัยในอนาคต
รศ.ทวิดา กมลเวชช รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ย้ำว่า พ.ร.บ.ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย พ.ศ. 2550 ซึ่งเป็นกฎหมายหลักของประเทศไทยในการบริหารจัดการเหตุการณ์ ภัยต่าง ๆ อาจต้องปรับและแก้ไขให้ทันเหตุการณ์ ให้เอื้อต่อการปฏิบัติงานได้
“กฎหมายไม่ได้เขียนมาเพื่อให้ครอบคลุมทุกกลุ่มภัย ยกตัวอย่าง ฝุ่น PM2.5 ก็มีปัญหาเหมือนกัน กฎหมายทำมาเมื่อ 20 ปีที่แล้ว ตั้งแต่มี สึนามิ บางจุดราชการก็ทำงานค่อนข้างยากอาจต้องปลดล็อกตรงนี้ด้วย”
รศ.ทวิดา กมลเวชช
ระดมสมอง การมีส่วนร่วม สู่ ‘แผนจัดการภัยพิบัติยั่งยืน’
ขณะที่ ณาตยา แวววีรคุปต์ ผู้อำนวยการศูนย์สื่อสารวาระทางสังคมและนโยบายสาธารณะ ไทยพีบีเอส ระบุว่า ไทยพีบีเอสเห็นความสำคัญเรื่องการป้องกัน รับมือ และช่วยเหลือ โดย Policy Watch, The Active, Thai PBS และองค์กรเครือข่าย ได้ใช้โอกาสในช่วงการฟื้นฟูเมืองเชียงราย เปิดเวทีฟังเสียงสะท้อนจากผู้ประสบภัยพิบัติในเขตเมืองเชียงราย อ.แม่สาย และพื้นที่สูง ก่อนระดมความคิดเห็นจากภาคประชาสังคม ภาควิชาการ และภาคเอกชน ไปสู่ข้อเสนอมิติใหม่จัดการรับมือภัยพิบัติผ่าน “Policy Forum ครั้งที่ 21 ฟื้นเมืองหลังภัยพิบัติ CITY RECOVERY STRONGER CHIANG RAI เริ่มต้นใหม่ เพื่อเชียงรายเข้มแข็งกว่าเดิม”
จากเวทีข้อเสนอในพื้นที่เชียงรายหลายภาคส่วนที่ผ่านการร่วมการคิด ก็เสนอแผน 3 ระยะ พร้อมผลักดันให้มีกลไกร่วมระหว่างรัฐ เอกชน และภาคประชาสังคม เพื่อการจัดการภัยพิบัติอย่างยั่งยืน
- ระยะเร่งด่วน (บรรเทาภัยพิบัติ)
- ระยะฟื้นฟู เชื่อมโยงชุมชน สังคม เศรษฐกิจ การจัดการด้านผังเมือง และฟื้นฟูสุขภาพจิต ร่างกาย เป็นช่วงหลังจัดการภัยพิบัติระยะเร่งด่วนไปแล้ว 1 เดือน
- ระยะยาว (เข้มแข็งยั่งยืน) โดยจัดทำแผนระยะยาวเพื่อเดินหน้าสู่ความยั่งยืน ใช้เวลาหลังระยะฟื้นฟูองค์รวม จบลงแล้วประมาณ 3 เดือน ซึ่งหลายฝ่ายก็เร่งบูรณาการร่วมให้เกิดขึ้น สู่มิติใหม่ในการจัดการภัยพิบัติอย่างยั่งยืน
เสนอรัฐหนุนงบฯ ท้องถิ่น เร่งคิดไอเดียฟื้นฟู รับมือจัดการภัย
นอกจากนั้น รศ.เสรี ศุภราทิตย์ ผู้เชี่ยวชาญคณะทำงานระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยน แปลงสภาพภูมิอากาศ IPCC บอกว่า ขณะนี้คนเชียงรายเมื่อเผชิญเหตุน้ำท่วม จะเห็นหลายคนทำช่วยเหลือกันด้วยจิตอาสาเป็นส่วนใหญ่ อาจมีส่วนที่เป็นหน่วยราชการบ้าง แต่หากมองลึก ๆ แล้ว ทำตลอดเวลาไม่ได้ ก่อนหน้านี้รัฐบาลเคยบอกภายในเดือนตุลาคมนี้ต้องจบ แต่มันจบไม่ได้ เพราะจากสถานการณ์แผนมันยาวไปถึง 12 เดือน ช่วงนี้ต้องเร่งระดมความคิดคนเชียงราย แผนเป็นอย่างไร ใช้เงินเท่าไร ใครเป็นเจ้าภาพ ต้อง มี 4 อย่าง เพราะยังไงก็ต้องใช้งบฯ จากรัฐบาล คือ
- ไอเดียที่จะทำจะสร้างระบบป้องกัน สร้างแก้มลิง การฟื้นฟูมีอะไรบ้าง
- งบประมาณควรคิดต่อ ที่ต้องนำมาฟื้นฟู
- พื้นที่ก่อสร้างต้องได้รับอนุญาต
- การสนับสนุนเชิงวิชาการ
“ทั้ง 4 ข้อ ท้องถิ่นต้องเร่งจัดทำแผนงาน และค่อยคิดไปถึงการป้องกันในอนาคต อย่างในแม่สายเราต้องเอาโคลนออก เอาน้ำออก เราคิดแค่สั้น ๆ ไม่ได้ แต่เดี๋ยวปีหน้าน้ำมาอีก เราต้องคิดไปถึงว่าแม่สายควรจะต้องขยับเมืองมาอีกนิด หาพื้นที่ให้น้ำอยู่ ต้องมาคุยกันออกแบบแม่สายใหม่เลย”
รศ.เสรี ศุภราทิตย์
แนะเร่งสร้างชุมชนเข้มแข็ง หวั่น ปี 2573 เสี่ยงน้ำท่วมหนักอีกรอบ
รศ.เสรี ยังระบุถึงอนาคตต่อจากนี้ เชื่อว่า การสร้างกระบวนการมีส่วนร่วมและชุมชนเข้มแข็งคือหัวใจสำคัญในการปรับตัว เพราะต่อจากนี้ไป การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศมีแต่จะรุนแรงขึ้น การคาดการณ์จากการประมวลผลด้วยระบบ AI และการวิเคราะห์ประมวลแบบจำลองว่า ในปี 2568 – 2659 ไทยอาจเสี่ยงกับภัยแล้งอากาศร้อน จากภาวะเอลนิโญ และปี 2573 ไทยก็อาจกลับมาเผชิญความเสี่ยงน้ำทวมใหญ่อีกครั้ง ซึ่งอาจมีแนวโน้มมากกกว่าปี 2554 ดังนั้นรัฐบาลอาจต้องคิดต่อถึงการลงทุนสร้างชุมชนเข้มแข็งรับมือภัยพิบัติ จึงจะสามารถลดผลกระทบได้