สรุป #น้ำท่วม2567 (11 ต.ค. 67)

#ภัยพิบัติ ที่ต้องรู้

  • เขื่อนเจ้าพระยา ทยอยปรับลดการระบายน้ำเหลือ 2,000 ลบ.ม./วินาที ก่อนจะคงอัตราดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้บริเวณริมแม่น้ำเจ้าพระยาและพื้นที่ลุ่มต่ำนอกคันกั้นน้ำ มีระดับน้ำลดลงในระยะต่อไป
  • แม่น้ำยมเอ่อล้นตลิ่ง จ.พิจิตร เข้าท่วมบ้านเรือนประชาชนริมฝั่งแม่น้ำ ใน ต.กำแพงดิน อ.สามง่าม สร้างความลำบากให้กับชาวบ้านในพื้นที่ โดยปัจจุบันระดับน้ำในแม่น้ำยมยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่งผลกระทบต่อพื้นที่ลุ่มน้ำยม รวมถึง อ.โพธิ์ประทับช้าง ที่มีน้ำท่วมสูงถึง 1-2 เมตร ในหลายหมู่บ้าน
  • น้ำจากแม่น้ำเจ้าพระยาเอ่อล้นตลิ่งท่วมสวนกล้วยไข่ใน ต.ตะเคียนเลื่อน จ.นครสวรรค์ ระดับน้ำสูงกว่า 1 เมตร ทำให้กล้วยเสียหายเกือบทั้งหมด ชาวบ้านต้องใช้เรือตัดกล้วยที่พอขายได้เพื่อลดความเสียหาย
  • ภูมิธรรม’ ชี้ อ.แม่สาย จ.เชียงราย เสี่ยงเป็นเมืองใต้ดิน เตรียมหารือเมียนมา แก้ปมรุกล้ำแม่น้ำสาย เผยแผนระยะยาว เล็งขุดลอกแม่น้ำสายแก้น้ำท่วมซ้ำซาก อาจถึงขั้นย้ายเมือง

รู้ทัน #ภัยพิบัติ

  • กรมชลประทาน ประกาศแจ้งเตือน ฝนตกหนักถึงหนักมากบริเวณภาคใต้ฝั่งตะวันออก ซึ่งอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก น้ำล้นตลิ่ง และดินโคลนถล่มในพื้นที่ลาดเชิงเขา ช่วงวันที่ 11-14 ต.ค. 67 ในหลายพื้นที่ ได้แก่ จ.เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์, ชุมพร, สุราษฎร์ธานี, นครศรีธรรมราช, พัทลุง, สงขลา, ปัตตานี, ยะลา และนราธิวาส

มีอะไรใน #ภัยพิบัติ

  • ชุมชนป่าสัก อ.ถลาง จ.ภูเก็ต น้ำท่วมซ้ำซาก

ชาวบ้านชี้ ปัญหาเกิดจากการทำงานไม่สอดคล้องกันระหว่างเทศบาลตำบลเชิงทะเล กับ อบต.เชิงทะเล ซึ่งเป็นพื้นที่รอยต่อโดยมีถนนกั้น ทั้งยังมีการพัฒนาพื้นที่และเปลี่ยนมือจนกลายเป็นที่ดินเอกชนทั้งหมด ประกอบกับลำรางถูกพัฒนาให้เป็นถนนฝั่งท่อระบายน้ำ จึงเกิดปัญหาขึ้น

ขณะที่ มาโนช พันธ์ฉลาด นายก อบต.เชิงทะเล ชี้แจงว่าปัญหาน้ำท่วมที่เกิดขึ้น เพราะสภาพพื้นที่เดิมเป็นที่ลุ่มรับน้ำจากทุกทิศทาง ทั้งจาก ต.เทพกระษัตรี ต.ศรีสุทนทร และ ต.เชิงทะเล ก่อนระบายลงทะเล ผ่านคลองเสน่ห์โพธิ์ เมื่อมีการพัฒนาที่ดิน จึงไม่มีที่รับน้ำ ตอนนี้ทำได้เพียงติดตั้งเครื่องผลักดันน้ำ บรรเทาปัญหาตามสถานการณ์เท่านั้น

ส่วนการแก้ปัญหาระยะยาว ทาง อบต. เตรียมแผนปรับปรุงวางท่อระบายน้ำให้มีขนาดใหญ่ขึ้น ตลอดระยะทางกว่า 1 กิโลเมตร เพื่อเร่งระบายน้ำ ซึ่งจะเริ่มขออนุมัติงบประมาณ 25 ล้านบาท จาก สภา อบต.ในเดือน พ.ย. นี้ ระหว่างนี้ ดำเนินการขออุทิศที่ดิน หรือความยินยอมจากเจ้าของที่ดิน รวม 4-5 รายก่อน

  • หวังระบบแจ้งเตือนที่มีประสิทธิภาพ ช่วยลดความสูญเสียภัยพิบัติ จ.ภูเก็ต

จากเสียงสะท้อนของชาวบ้านหลังเกิดเหตุดินถล่มหลายจุดเมื่อปลายเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา ซึ่งพบว่าระบบเตือนภัยพิบัติในพื้นที่มีปัญหา และไม่สามารถใช้งานระยะยาวได้ จึงต้องใช้การสังเกตเท่านั้น

ขณะที่ ภาควิชาการจากคณะเทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตภูเก็ต ถอดบทเรียน และเสนอให้ดึงภาคเอกชน รวมถึงประชาชนที่อยู่ในจุดเสี่ยง ร่วมสนับสนุนติดตั้งเครื่องมือวัดปริมาณน้ำฝน เพื่อส่งข้อมูลแบบเรียลไทม์มายังคณะฯ โดยวิเคราะห์ร่วมกับความชื้นในดินของแต่ละพื้นที่ และแสดงผลผ่านแอปพลิเคชัน

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active