‘พิจิตต รัตตกุล’ มองจัดการน้ำ กทม. ในวันที่โลกไม่เหมือนเดิม

เชื่อน้ำ กทม. รอบนี้ ยังจัดการได้ ไม่ซ้ำรอย ‘มหาอุทกภัย’ ปี 54 แต่ขออย่าประมาท!! ชี้โลกรวน อากาศแปรปรวน เป็นเหตุคาดเดายาก ห่วงฝนเติม น้ำทะเลหนุน กระทบพื้นที่ต่ำ จุดฟันหลอริมเจ้าพระยา เสนอจัดผังเมืองจุดเสี่ยง วางแผนระบบท่อใหม่ พิจารณาสร้างเขื่อนอ่าวตัวกอในอนาคต

ท่ามกลางสถานการณ์น้ำท่วมที่หลายจังหวัดต้องเผชิญหลังจากมีฝนตกหนักหลายพื้นที่ทั่วประเทศตลอดช่วงที่ผ่านมา สร้างความเสียหายให้กับประชาชนอย่างมาก แม้ขณะนี้ระดับน้ำเริ่มคลี่คลายไปบ้างแล้วในหลายพื้นที่ แต่ความกังวลของประชาชนยังไม่ลดลงไปด้วย เนื่องจากประเทศไทยยังต้องเผชิญกับสภาพอากาศแปรปรวน จนอาจลากยาวไปถึงสิ้นปี โดยเฉพาะภาคใต้ นับจากนี้ต้องเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด

เช่นเดียวกับลุ่มน้ำภาคกลาง ที่เวลานี้น้ำเหนือปริมาณมหาศาลที่ไหลลงพื้นที่ลุ่มน้ำภาคกลาง จึงจำเป็นต้องอาศัยประสิทธิภาพการบริหารจัดการน้ำของ เขื่อนเจ้าพระยา เป็นหลัก และอาจเป็นจุดชี้วัดได้เลยว่า ลุ่มเจ้าพระยา จะมีสถานการณ์น่าเป็นห่วงขนาดไหน โดยที่ยังไม่ได้นับรวมปัจจัยจากฝน

สถานการณ์นับจากนี้ยังมีอะไรน่าเป็นห่วง โดยเฉพาะพื้นที่เมืองอย่าง กรุงเทพมหานคร จะต้องเฝ้าระวังแค่ไหน The Active ชวนวิเคราะห์ไปกับ พิจิตต รัตตกุล ประธานเครือข่ายพัฒนาความเข้มแข็งต่อภัยพิบัติไทย (TNDR)

พิจิตต รัตตกุล ปธ.เครือข่ายพัฒนาความเข้มแข็งต่อภัยพิบัติไทย (TNDR)

กรุงเทพฯ ไม่ซ้ำรอย ‘มหาอุทกภัย’ ?

พิจิตต ย้ำว่า สถานการณ์น้ำในกรุงเทพมหานครขณะนี้ยังไม่น่าเป็นห่วงมากนัก เนื่องจากการบริหารจัดการน้ำในเจ้าพระยา มีหน่วยงานราชการที่คอยประสานงาน พร้อมบริหารจัดการได้เป็นอย่างดี ไม่ว่าจะเป็น สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) (สสน.), สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.), และ กรมชลประทาน ซึ่งได้วางแผนโดยตั้งเป้าหมายให้ สถานีวัดน้ำบางไทร ต้องระบายน้ำไม่เกิน 2,000 ลบ.ม./วินาที

ประกอบกับ ปริมาณน้ำในแม่น้ำป่าสัก ที่เดิมทีจะมีการรวมกันกับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาก่อนที่จะเข้าสู่กรุงเทพมหานคร มีปริมาณน้อยมากซึ่ง ไม่ถึง 60% ของความจุเขื่อน จึงทำให้การเติมน้ำจากเขื่อนป่าสักมาถึงเขื่อนเจ้าพระยามีไม่มากนัก

พร้อมทั้ง รอบบริเวณเขื่อนเจ้าพระยา อย่างพื้นที่ใน สิงห์บุรี, อ่างทอง, อุทัยธานี มีทุ่งดูดซับน้ำประมาณ 12 – 14 ทุ่ง ซึ่งเริ่มดูดน้ำที่ปล่อยจากเขื่อนเจ้าพระยาเข้าทุ่งแล้ว จึงคาดว่าน้ำที่จะมาถึงกรุงเทพมหานครตั้งแต่ใต้เขื่อนลงมา ก็อาจจะไม่ถึง 2,000 ลบ.ม./วินาที

ภาพโดยรวมของมวลน้ำจากเขื่อนเจ้าพระยา ที่จะมาสู่กรุงเทพมหานครในปีนี้ จึงเป็น ลักษณะของ “น้ำท่า” คือ มวลน้ำจะไหลมาตามลำนำอย่างปกติ ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องสามารถควบคุมไม่ให้ไหลอ้อมขึ้นฝั่งได้ ต่างจากปี 2554 ที่เป็นลักษณะของ “น้ำทุ่ง” ที่มวลน้ำกลับล้นมายังถนนและทุ่งหญ้า จึงกลายเป็น “มหาอุทกภัย” ในครั้งนั้น

พิจิตต รัตตกุล

อย่างไรก็ตาม ประธาน TNDR ย้ำให้ต้องเฝ้าระวังสถานการณ์ต่อไป เพราะไม่สามารถคาดเดาได้เลยว่าจะมีพายุเข้ามาอีกหรือไม่ เนื่องจากเป็นผลมาจากภาวะโลกร้อนที่ทำให้สภาพอากาศแปรปรวนทั่วพื้นที่ โดยจากการคาดการณ์เบื้องต้น อาจเกิดได้ 2 กรณี ดังนี้

  • หากมีฝนตกบริเวณเหนือเขื่อน สามารถใช้เขื่อนในการควบคุมการระบายน้ำได้

  • หากมีฝนตกบริเวณหลังเขื่อน บริเวณดังกล่าวจะต้องรับกับมวลน้ำโดยตรง

อย่าประมาท!! ส่องความเสี่ยง กรุงเทพฯ รับมือน้ำ

“สมัยก่อนฝนตก 70 มม. กทม. ยังเอาออกได้เร็ว
แต่ทำไมเดี๋ยวนี้อัมพาตกันทั้งเมือง”

พิจิตต รัตตกุล

ลักษณะของฝนตกที่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม คืออีกปัจจัยที่ ประธาน TNDR ยอมรับว่า ทำให้สถานการณ์ฝนตกหนักเวลานี้น่าเป็นห่วง โดยเฉพาะที่เรียกปรากฎการณ์นี้ว่า Rain Bomb คือคำตอบของคำถามที่หลายคนสงสัย เพราะฝนที่ตกในลักษณะก้อนใหญ่เพียง 10 นาที ก็สามารถทำให้น้ำฝนมีปริมาณสูงในทันที

แม้ในเวลาต่อมาฝนจะเบาลงแล้วก็ตาม จึงทำให้น้ำที่ท่วมขังอยู่ระบายไม่ทัน ซึ่งโดยปกติจะสามารถระบายน้ำออกได้ภายใน 3 ชั่วโมง แต่ขณะนี้จะต้องใช้เวลาถึง 5 ชั่วโมง

นอกจากนี้ด้วยลักษณะของพื้นที่กรุงเทพฯ ที่อยู่ต่ำกว่าระดับน้ำทะเล จึงต้องเฝ้าระวังภาวะ น้ำทะเลหนุน ด้วยเพราะจะทำให้น้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาสูงตาม แม้จะมีเครื่องสูบน้ำขนาดใหญ่กว่า 700 เครื่อง และระบบคันกั้นน้ำเป็นระยะทางกว่า 77 กิโลเมตร ที่ช่วยไม่ให้น้ำเอ่อล้นจากการระบายน้ำไม่เกิน 3,000 ลบ.ม./วินาที แต่ปัญหาที่เกิดขึ้น คือ เมื่อระดับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาสูง ทำให้สูบน้ำไม่ออก หมายความว่า น้ำต้องแช่อยู่นาน อีกทั้งคันกั้นน้ำยังมีฟันหลออยู่ 32 แห่ง เป็นระยะทาง 4 กิโลเมตร จึงเป็นจุดอ่อนที่ทำให้น้ำเอ่อล้นได้

พิจิตต จึงมองว่า การรับมือกับน้ำของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างการสร้าง แก้มลิง เพิ่ม 30 กว่าแห่ง หรือการสร้าง ธนาคารน้ำ (Water Bank) อีก 7-8 แห่ง จึงอาจยังไม่เพียงพอกับปรากฏการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดจากภาวะโลกร้อน อย่างเช่น Rain bomb ซึ่งจะเห็นว่ามี Rain bomb บ่อยขึ้น เนื่องจากโลกเข้าสู่ภาวะโลกเดือดมากยิ่งขึ้น รวมถึงฝนตกหนักจนทำให้ปริมาณน้ำเหนือเพิ่มมากขึ้นอีกด้วย

อนาคตที่ดีที่สุดของการบริหารจัดการน้ำ กรุงเทพฯ

ข้อเสนอสำคัญที่ ประธาน TNDR เชื่อว่าอาจต้องพิจารณาในอนาคต คือ การทำเขื่อนปิดล้อมตรงอ่าวตัวกอ ปากอ่าวไทย ตั้งแต่เพชรบุรี, สมุทรสงคราม, สมุทรสาคร ไปจนถึงภาคตะวันออก ซึ่งเป็นลักษณะเดียวกันกับฮอลแลนด์ที่เมืองอยู่ต่ำกว่าระดับน้ำทะเล แต่มีคันกั้นน้ำตรงใต้ของเมือง โดยทำหน้าที่เหมือนเป็นแก้มลิงขนาดยักษ์ สามารถรอเพื่อสูบน้ำออกไปยังทะเล และจะเป็นการกั้นให้พื้นที่ดังกล่าวไม่ได้รับผลกระทบจากน้ำทะเลหนุนมากนัก

สำหรับประเทศไทย ลักษณะนี้จะเป็นการช่วยเอามวลน้ำในภาคเหนือทั้งหมดถ่ายเททิ้งให้โดย ลุ่มภาคกลาง อย่าง กรุงเทพฯ, นนทบุรี หรือ ปทุมธานี เป็นผู้ควบคุมเพื่อส่งน้ำออกไปสู่ทะเล

นอกจากนี้ ยังมีอีก 4 ข้อเสนอ ของการจัดการน้ำเหนือ ดังนี้

  1. การจัดการลุ่มน้ำด้านบน โดยการประสานงานจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

  2. การใช้ผังเมืองกำหนดให้พื้นที่เสี่ยงภัยสูง

  3. การใช้พื้นที่เขตเมืองในการรองรับน้ำให้มากขึ้น

  4. การมีแผนทำระบบท่อใหม่

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active