#ภัยพิบัติ ที่ต้องรู้
- อ.เบตง จ.ยะลา เร่งฟื้นฟูเหตุดินสไลด์ หลังเกิดน้ำป่าไหลหลากจากภาวะฝนตกหนักในช่วงที่ผ่านมาขณะเดียวกันยังมีความเสี่ยงจากดินที่อุ้มน้ำไว้มาก จนอาจเกิดเหตุน้ำป่าไหลหลากและดินสไลด์ได้อีก
- บ้านไทรงาม จ.สุราษฎร์ธานี เตรียมรับน้ำท่วมหนักกว่าทุกปี หลัง สทนช. เตือนฝนที่อั้นมาตลอดทั้งปีจะตกหนักในช่วง 2 เดือนสุดท้ายของปี และอาจทำให้เกิดน้ำท่วมใหญ่เทียบปี 2554
- ผู้ว่าฯ ชัชชาติ ย้ำ น้ำเหนือไม่กระทบกรุงเทพฯ โดยขณะนี้การระบายน้ำของเขื่อนเจ้าพระยาอยู่ในระดับ 2,200 ลบ.ม.ต่อวินาที ซึ่งคันกั้นน้ำในกรุงเทพฯ สามารถรองรับได้ แต่ที่ต้องเฝ้าระวังพิเศษก็ต่อเมื่อเขื่อนเจ้าพระยาระบายน้ำถึง 3,000 ลบ.ม.ต่อวินาที ขึ้นไป ส่วนจุดฟันหลอในกรุงเทพฯ ยังเหลือ 56 จุด คาดว่าปีหน้าแล้วเสร็จ
- อ.ปากเกร็ด จ.นนทบุรี น้ำมาไวและขึ้นสูง หลายครอบครัวนำรถเข้าไปจอดไว้ในวัดและสถานที่ปลอดภัยเพราะเกรงน้ำจะท่วมแล้วเคลื่อนย้ายไม่ทัน ขณะเดียวกัน มีความกังวลว่าหากมีพายุลูกใหม่เข้ามาจะทำให้พื้นที่เหนือเขื่อน-ท้ายเขื่อนไม่มีพื้นที่รับน้ำแล้ว
- ปภ. เผยความคืบหน้าการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยในช่วงฤดูฝน ปี 2567 ตาม มติ ครม. โดยขณะนี้ส่งข้อมูลให้ออมสินแล้ว 18,897 ครัวเรือน โอนจ่ายสำเร็จ 17,352 ครัวเรือน กว่า 86,888,000 ล้านบาท
- ทีม MCATT กรมสุขภาพจิต เยี่ยมเสริมพลังใจ Helper ทีมผู้ให้การช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย จ.เชียงใหม่ ให้มีกำลังใจเพื่อทำงานต่อไปได้ หลังพบว่าบางคนมีความเครียด เหนื่อยล้า และภาวะซึมเศร้าจากการปฏิบัติงาน โดยย้ำหลักการ 3 ส. “สอดส่องมองหา ใส่ใจรับฟัง และส่งต่อเชื่อมโยง”
- คาด น้ำก้อนสุดท้าย ไหลเข้า “ลำพูน” แล้ว ขณะนี้ระดับน้ำทรงตัวแล้วค่อย ๆ ลดลง หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งติดตั้งเครื่องสูบน้ำเพื่อลดผลกระทบต่อประชาชน
รู้ทัน #ภัยพิบัติ
- อุตุฯ เตือน ยะลา ชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช พัทลุง สงขลา ปัตตานี นราธิวาส เพชรบุรี และประจวบคีรีขันธ์ เสี่ยงฝนตกหนักถึงหนักมาก ตั้งแต่ 18.00 น. วันนี้ ถึง 18.00 น. พรุ่งนี้ (11 ต.ค.)
- สทนช เตือน น้ำท่วมฉับพลัน และน้ำล้นตลิ่ง ช่วงวันที่ 9 – 12 ตุลาคม 2567 ได้แก่ จังหวัดราชบุรี เพชรบุรี, ประจวบคีรีขันธ์, ระนอง, พังงา, ภูเก็ต, สุราษฎร์ธานี, กระบี่, นครศรีธรรมราช, ตรัง, สตูล, พัทลุง, สงขลา, ปัตตานี, ยะลา และนราธิวาส
- กทม. เฝ้าระวัง ช่วงน้ำทะเลหนุน 20 ต.ค. นี้ ผู้ว่าฯ ชัชชาติ ขอประชาชนไม่ต้องกังวล ขณะนี้เตรียม เจ้าหน้าที่เดินตรวจตามแนวคันกั้นน้ำตลอด คาดน้ำเหนือ-น้ำฝนมาไม่เยอะ
มีอะไรใน #ภัยพิบัติ
สถานการณ์น้ำภาคใต้ โดยเฉพาะพื้นที่เสี่ยงภัยรับน้ำ เช่น ทะเลสาบสงขลา สายบุรี ลุ่มน้ำปากพนัง เริ่มมีการตื่นตัวและเตรียมพร้อมรับมือกับน้ำ หลังเครือข่ายฯ และอีกหลายสำนักที่เกี่ยวข้อง ประเมินว่าภาคใต้อาจเจอฝนค่อนข้างหนักและมาเร็วกว่ากำหนด
ในการเตรียมรับมีในครั้งนี้จะแบ่งเป็น 2 ส่วนคือ
- หน่วยงานรัฐ ได้แก่ สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) (สสน.) และมูลนิธิอาสาเพื่อนพึ่ง (ภาฯ) ยามยาก สภากาชาดไทย
- ภาคประชาชน โดยมีพื้นที่ทำงานร่วมกัน ได้แก่ ลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา เทือกเขาสก สุราษฎร์ธานี ลุ่มน้ำหลังสวน คลองพะโต๊ะ จ.ชุมพร
โกเมศร์ ทองบุญชู ผู้ประสานงานเครือข่ายจัดการภัยพิบัติ จ.นครศรีธรรมราช ให้ข้อมูลว่า เมื่อเกิดเหตุการณ์จริง ๆ นั้น การจะพึ่งพาหน่วยงานรัฐก็ลำบาก เพราะสถานที่เกิดเหตุกินพื้นที่กว้าง จึงต้องให้ประชาชนจัดการตัวเอง โดยเรียกพื้นที่เสี่ยงภัยว่า 1 ตำบล 1 ศูนย์จัดการภัยพิบัติ ซึ่งในส่วนของ จ.นครศรีธรรมาราช ขณะนี้มี 30 ตำบล และเตรียมขยายไปยังพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ โดยขยายได้แล้ว 6 ตำบล