‘จุฬาฯ ฝ่าพิบัติ’ Digital War Room นวัตกรรมทำนาย น้ำท่วม-ดินถล่ม

วิเคราะห์ข้อมูลทางภูมิศาสตร์ จากพื้นที่จริงทั่วประเทศ ชี้จุดเสี่ยง ร่องน้ำ พื้นที่สูง-ต่ำ จุดอพยพที่ปลอดภัย หวังอุดช่องว่าง การสื่อสาร รับมือ รวมทั้งถอดบทเรียนหลังเกิดภัยพิบัติ ที่อาจถี่และรุนแรงขึ้นในอนาคต

วันนี้ (9 ต.ค. 67) ภายในงาน เสวนาวิชาการ Chula the Impact ครั้งที่ 25 เรื่อง “แพลตฟอร์มจุฬาฯ ฝ่าพิบัติ: Digital War Room” ได้นำเสนอนวัตกรรมที่ช่วยบูรณาการองค์ความรู้ทางวิชาการในการป้องกัน และแก้ปัญหาอุทกภัยที่เกิดขึ้น สามารถชี้จุด คาดคะเน และให้ข้อมูลเกี่ยวกับสถานการณ์นำท่วมแก่ผู้ประสบอุทกภัยในพื้นที่ได้อย่างแม่นยำและทันสมัย เพื่อเตรียมความพร้อมในการรับมือและแก้ปัญหาได้ตรงจุดและทันท่วงที

ศ.วิเลิศ ภูริวัชร อธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า เมื่อสังคมมีปัญหา จุฬาฯ มีคำตอบ เสนอคำตอบจากปัญหาอุทกภัยจากหลายพื้นที่น้ำท่วมหนัก ซึ่งไม่ได้เน้นเฉพาะผลกระทบและความเสียหายที่เกิดจากอุทุกภัยเพียงอย่างเดียว แต่ขยายไปถึงผลกระทบในวงกว้าง เรื่องคุณภาพชีวิต บ้าน โรงเรียน ถนน คือผลกระทบที่เกิดจากน้ำท่วม การเสวนานี้เป็นจุดเริ่มต้น ที่นำเรื่องแอปพลิเคชัน แพลตฟอร์ม ที่เป็นซีรีส์ออกมา บทบาทของจุฬาฯขยายขอบเขตการทำงานไปสู่ การพัฒนาคุณภาพชีวิต คุณภาพสังคมไทย 

“วันนี้อุทกภัยเป็นปัญหาวิกฤต ที่ส่งผลกระทบต่อประชาชนคนไทยในหลายพื้นที่ การเตรียมพร้อมของประชาชนเป็นสิ่งสำคัญ เราจึงมีเรื่องการเฝ้าระวัง เตือนภัย ด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม และแนวปฏิบัติในการรับมืออุทกภัยในทุกช่วงเวลา เพื่อลดความสูญเสียที่จะเกิดขึ้นจากน้ำท่วม หลายคนสูญเสียกำลังใจ ซึ่งจะเยียวยาได้จากการช่วยเหลือของทุกภาคส่วน”

ศ.วิเลิศ ภูริวัชร
ศ.วิเลิศ ภูริวัชร อธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ศ.วิเลิศ บอกอีกว่า จากสถานการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นแรงบันดาลใจในการออกแบบนวัตกรรม “แพลตฟอร์ม จุฬาฯ ฝ่าพิบัติ : Digital War Room” นวัตกรรมทำนายพื้นที่น้ำท่วมและแนวดินถล่มจากอุทกภัย ที่เป็นการ “ป้องกันก่อนเกิด” หรือ Preventive Action

นวัตกรรม ก่อน – ระหว่าง – หลังภัยพิบัติ

รศ.ศิริเดช สุชีวะ รักษาการรองอธิการบดี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย บอกว่า เหตุการณ์อุทกภัยและความสูญเสียที่เกิดขึ้น หลายคนเห็นตรงกันว่า น่าจะป้องกันได้มากกว่านี้ หากป้องกันได้ดีกว่านี้ จะช่วยลดความสูญเสียลงได้มาก จุฬาฯ จึงต้องเป็นที่พึ่งของสังคม โดยได้พยายามนำความรู้ในหลายด้านของแต่ละคณะมาใช้ในการแก้ปัญหาอย่างยั่งยืนให้กับสังคม เกิดเป็นแนวคิดการออกแบบระบบการจัดการภัยพิบัติอย่างครบวงจร ทั้งก่อน ระหว่าง และหลัง รวมไปถึงยามสงบที่ยังไม่เกิดภัยพิบัติขึ้น ประกอบด้วย 3 ส่วนหลัก ได้แก่

  • ส่วนที่ 1 ระบบการเตือนภัยและขอความช่วยเหลืออย่างเฉพาะเจาะจงตำแหน่ง ด้วยการบูรณาการแผนที่ภูมิสารสนเทศ ทำให้สามารถระบุตำแหน่งที่มีความอ่อนไหวได้อย่างแม่นยำ และให้คำอธิบายประกอบจากผู้เชี่ยวชาญในวอร์รูม

“โดยจุดสำคัญของก่อนเกิดเหตุ คือ การที่เราจะต้องสามารถเตือนภัยได้ โดยเฉพาะในพื้นที่ที่มีความอ่อนไหว ซึ่งพิจารณาจากความเสี่ยง พื้นที่สัน เนิน ร่องน้ำ ที่เป็นจุดสุ่มเสี่ยงได้อย่างเฉพาะเจาะจง เช่น แนวร่องน้ำที่ตัดกับถนน ซึ่งมีแนวโน้มที่จะทำให้เกิดถนนขาดเมื่อน้ำท่วม หรือแนวเนินที่ตัดกับถนนที่จะกลายเป็นจุดอพยพ หรือจุดเคลื่อนย้ายได้ในยามจำเป็น ซึ่งการตอบคำถามอย่างเฉพาะเจาะจงลงไปถึงพื้นที่ที่มีความเสี่ยง นวัตกรรมของเราจะแจ้งเตือนอย่างเฉพาะเจาะจง จะช่วยป้องกันความสูญเสียให้มากขึ้น เพื่อให้ประชาชนได้มีการเรียนได้อย่างทันการ ก่อนเกิดภัย”

รศ.ศิริเดช สุชีวะ
  • ส่วนที่ 2 ระบบการจัดสรรทรัพยากร ให้ตรงตามความต้องการ ทั่วถึงและทันท่วงที เนื่องจากเห็นว่า การขอความช่วยเหลือที่เห็นในข่าว จากโซเชียลมีเดีย แต่หากมีการจัดระบบที่ดี ก็จะทำให้การช่วยเหลือมีความทั่วถึง รวมทั้งการจัดระบบพื้นที่อพยพ ที่เคลื่อนย้ายประชาชน เพราะในภาวะของผู้ประสบภัย เขามีภาวะตื่นตระหนก ไม่รู้ว่าต้องทำอย่างไรและไม่มีคนแนะนำ ซึ่งระบบจะสามารถตอบได้ว่าจุดที่ใกล้ที่สุดที่จะเคลื่อนย้ายคนและสิ่งของไปอยู่ตรงไหน รวมทั้งการระดมทรัพยากรช่วยเหลือ จะมีระบบที่ทำให้ตอบรับกับความต้องการของคนในพื้นที่
  • ส่วนที่ 3 ระบบการถอดบทเรียนและสร้างการเรียนรู้ ตั้งแต่เรื่องการเตือนภัย การกู้ภัย การขนย้ายและอพยพ การบรรเทาทุกข์ การฟื้นฟูหลังพิบัติ จนถึงการที่จะเยียวยาธรรมชาติในระยะยาว โดยอาศัยองค์ความรู้จากศาสตร์แขนงต่าง ๆ ในจุฬาฯ ร่วมกับภาคีเครือข่าย 

รศ.ศิริเดช กล่าวอีกว่า หลังเกิดเหตุ จำเป็นต้องได้รับการฟื้นฟูสภาพจิตใจ ชีวิตการเป็นอยู่ทางด้านกายภาพ รวมทั้งการทำมาหากินที่เปลี่ยนไปจากเดิม การไปตรวจสอบโครงสร้างของบ้าน ตรวจสอบระบบไฟฟ้า ซึ่งองค์ความรู้ของจุฬาฯ จะตอบในส่วนนี้ได้ทุกเรื่อง หรือแม้กระทั่งเมื่ออยู่ในยามที่สงบจากภัยพิบัติแล้ว จะทำการถอดบทเรียนที่เกิดขึ้น ตั้งแต่การเตือนภัย การกู้ภัย การช่วยเหลือ ไปจนถึงการรับมือ เพื่อจะทำให้ประชาชนได้เรียนรู้ที่จะรับมือกับภัยพิบัติ ที่คาดว่าจะเกิดถี่ขึ้น และรุนแรงขึ้น 

ศ.ใจทิพย์ ณ สงขลา ภาควิชาเทคโนโลยีและสื่อสารการศึกษา คณะครุศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวว่า แพลตฟอร์มนี้จะเป็น พื้นที่รวมให้ผู้ที่ให้ ผู้ที่รับและผู้ที่ขอได้มาเจอกัน นั่นหมายถึง Network ที่จะทำให้คนที่ไม่มีแม้แต่เครื่องมือสื่อสาร สามารถดูได้ว่าจะต้องทำอย่างไร จากการลงพื้นที่ของเครือข่ายได้พูดคุยถึงปัญหาหลายเรื่องที่เกิดขึ้น ซึ่งผู้นำในแต่ละเครือข่าย ที่ทำการสื่อสารและนำมาวางแผนร่วมกันใน Digital War Room ซึ่งยึดตามหลักสากลคือการเตรียมพร้อมก่อนเกิด และต่อมาคือการเผชิญหน้ากับภัยพิบัติ เป็นการเผชิญหน้าที่ทำให้เกิดความสูญเสียน้อยที่สุด และเมื่อภัยพิบัติเกิดขึ้นมาแล้วเราจะเยียวยาอย่างไร รวมถึงการเตรียมพร้อมสำหรับการรับมือภัยพิบัติครั้งต่อไปจะเป็นอย่างไร 

“Digital War Room อยากให้ทุกคนนึกถึง เวลาที่เรานึกถึงทหารเวลาที่เกิดภัยพิบัติจะมีการกางแผนที่ คนจะอ่านแผนที่ และมองเห็นว่าไม่ว่าจะเกิดภัยพิบัติตรงไหนระดับน้ำที่ไหลมา ปริมาณน้ำที่ไหลขึ้นมา หรือสภาพของอากาศ แต่ทำไมคนยังถึงประสบภัยพิบัติ เชื่อว่าคนได้ยินข่าวแล้วแต่ก็ไม่ยอมไป แต่ถ้าข้อมูลเหล่านั้นถูกบูรณาการมาแล้ว ปักหมุดลงไปในแผนที่เลยก็จะเห็น แผนที่เส้นทางน้ำไหล ไหลมาอย่างไร ร่องพื้นที่ลึก และเนินที่สูงขึ้นมา เวลามวลน้ำไหลมาจ่อหน้าบ้านแบบเผาขน เมื่อเรามีแผนที่ที่เทียบกับบ้านเราได้เลย จะทำให้เราทราบได้ว่าเราควรจะหนีไปทางไหน แผนที่นี้จะบอกทุกอย่าง ซึ่งเป็นแผนที่เกือบจะเรียลไทม์ และเหตุผลที่ไม่เรียลไทม์ เนื่องจากว่าต้องอาศัยหลายปัจจัย ในการสร้างแผนที่ โดยจะมีเครือข่ายอยู่ในพื้นที่จริงที่จะคอยรายงานว่าขณะนี้เกิดสถานการณ์อย่างไร และประเมินพื้นที่อพยพ นึกภาพง่าย ๆ คือมองเห็นมากกว่าโดรน เพราะว่าจะทำให้เห็นข้อมูลเชิงลึกในพื้นที่ เห็นผู้ที่เจ็บป่วย ต้องการความช่วยเหลือจากภาคพื้นดิน”

ศ.ใจทิพย์ ณ สงขลา

ขณะที่ ศ.สันติ ภัยหลบลี้ ภาควิชาธรณีวิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวเชิงเทคนิคการทำงาน และการได้มาซึ่งแผนที่ ว่าทางภาควิชาจะรับผิดชอบเรื่องข้อมูล ซึ่งในยามปกติจะเป็นแผนที่นี่จะใช้ในการตัดสินใจเลือกที่ตั้งถิ่นฐานในอนาคต และเมื่อเกิดภัยพิบัติ ก็จะใช้ข้อมูลเหล่านี้ในการเตือนภัยประชาชน ซึ่งขณะนี้จะเน้นไปที่ น้ำท่วม แต่ในอนาคตอันใกล้นี้จะมีการเพิ่มเติมภัยพิบัติด้านอื่นเข้ามามากขึ้น ไม่ว่าจะเป็น แผ่นดินไหว ซึ่งจะไม่ใช่เพียงข้อมูลการศึกษาว่าตรงนั้นตรงนี้จะเกิดอะไร แต่เป็น ข้อมูลที่มีวัตถุประสงค์หลัก คือ ทำให้ประชาชนปลอดภัยให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ ประกอบด้วย สถานการณ์แผ่นดินไหว อาฟเตอร์ช็อกจะเกิดตรงไหน เช่น สึนามิ ก็จะมีการวิเคราะห์เส้นทางอพยพให้โดยคำนวณข้อมูลจากระบบสารสนเทศเป็นหลัก ข้อมูลพื้นที่ที่มีโอกาสเกิดหลุมยุบ ก็จะถูกแขวนไว้ในแพลตฟอร์ม เพื่อให้คนที่สนใจสามารถเข้ามาดูข้อมูลได้ 

ศ.สันติ ยังบอกว่า สิ่งที่เน้นในแพลตฟอร์มจะเป็นเรื่องน้ำท่วม โดยข้อมูลที่ผลิตขึ้นมาจะครอบคลุมทั้งประเทศ แยกเป็นรายจังหวัด โดยมิติของน้ำท่วม จะมีทั้งข้อมูลพื้นฐาน ได้แก่ แนวร่อง (เส้นสีน้ำเงินตามภาพ) เมื่อฝนตกนำจะไหลมารวมกันในแนวนี้ทั้งหมด แนวสันเนิน เมื่อฝนตกหนักน้ำจะไหลออกจากแนวนี้ ซึ่งข้อมูลจะเป็นประโยชน์ในการนำไปใช้ตั้งถิ่นฐานในอนาคตได้ จุดเสี่ยงถนนขาด จุดเหมาะสมในการอพยพ (จุดสีเขียว)

แผนที่แสดงแนวร่องน้ำ
แผนที่แสดงจุดปลอดภัย
แผนที่แสดงจุดเสี่ยง
แผนที่แสดงสันเนิน

“จริง ๆ มีข้อมูลอีกหลายอย่าง อ.แม่สาย กับที่อื่น ๆ ที่เราเห็นในข่าวตอนนี้ เป็นภัยคนละเรื่องกัน อย่าง อ.แม่สาย คือ รูรั่ว ที่ออกมาจากภูเขา ข้อมูลพวกนี้เราจะมีหมดเลย ว่าตรงไหนบ้างที่เป็นรูรั่วจากภูเขา คือ รออะไร รอแค่ฝนตกในภูเขา แล้วเล็งแม่น ๆ ก็จะฉีด ออกมาแบบแม่สายเหมือนกัน จุดรูรั่วนี้มีทั้งประเทศให้แล้วตอนนี้ แล้วจากจุดรูรั่วที่จะเป็นแนวฉีดออกมา จะไหลไปทางไหนก็มี หมู่บ้านที่อ่อนไหว ที่อยู่ในแนวฉีด ก็มี”

ศ.สันติ ภัยหลบลี้

อีกประเด็นที่น่าสนใจ ศ.สันติ ชี้ว่า น้ำที่ลงมาจากภาคเหนือ ลงมาสู่ภาคกลาง ทั้งตอนบนและตอนล่าง สิ่งที่ต้องทำ คือ ทำอย่างไรก็ได้ ที่จะเลี้ยงน้ำที่อยู่ในร่อง ภัยพิบัติจะเกิดขึ้นเมื่อน้ำล้นตลิ่ง หรือ คันดินแตก ซึ่งข้อมูลในแพลตฟอร์มที่มีตอนนี้คือ คันดินแตกตรงไหน แล้วน้ำจะไหลไปทางไหน ครบ 22 ลุ่มน้ำ ของแม่น้ำสายหลักทั้งหมด ซึ่งจะเผยแพร่ในแฟลตฟอร์มเช่นกัน

“ข้อมูลเหล่านี้มาจากการวิเคราะห์ข้อมูลทางภูมิศาสตร์ ซึ่งมีข้อมูลภูมิประเทศ ทั้งประเทศอยู่แล้ว ทั้งภาพถ่ายด่าวเทียม ที่มีให้ใช้ฟรีอยู่แล้ว เราสามารถทำเรื่องนี้ในประเทศอื่นได้ ช่วยเหลือ สปป.ลาว ก็ได้ ถ้าเราจะทำ แล้วนำข้อมูลที่ เราไม่ได้เห็นบ้านเป็นหลัง เห็นรถเป็นคัน แต่เราเห็นพื้นผิวโลกในลักษณะสูงต่ำ ซึ่งพื้นผิวนั้น นำมาสู่การวิเคราะห์ร่องน้ำเหล่านี้ ด้วยเทคนิคทางภูมิสารสนเทศ เกิดเป็นเส้นสีน้ำเงิน จากการใช้งานจริง 1 เดือนที่ผ่านมา สามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิผล

ศ.สันติ ภัยหลบลี้

ศ.สันติ ทิ้งท้ายว่า ประชาชนสามารถเข้าไปดูได้ แม้ในยามที่สถานการณ์สงบ ส่วนในช่วงก่อนเกิด หรือระหว่างเกิด จะมีทีมนักวิชาการเข้ามาเปิดวอร์รูม ช่วยแปลความเพื่ออธิบายให้ฟังเรียลไทม์ผ่านแฟลตฟอร์ม ว่า บริเวณไหนต้องเริ่มอพยพ ก่อนเกิดเหตุการณ์ ซึ่งข้อมูลในแพลตฟอร์มจะเป็นประโยชน์ให้เกิดความพร้อม ให้รู้ตัว และตรียมพร้อมรับมือได้ทัน

สำหรับแฟลตฟอร์ม จุฬาฯ ฝ่าพิบัติ’ Digital War Room คาดว่าจะเริ่มให้ประชาชนได้ใช้งานภายในสัปดาห์หน้า

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active