สรุป #น้ำท่วม2567 (2 ต.ค. 67)

วันนี้ จุดไหนเสี่ยง พื้นที่ไหนได้รับผลกระทบ แนวทางรับมือ เยียวยาน้ำท่วม มีมาตรการอะไรน่าสนใจ The Active รวบรวมเอาไว้ให้แล้ว!

น้ำสายทะลักซ้ำ ‘อ.แม่สาย จ.เชียงราย’ หลังฝนตกต่อเนื่อง 2 วัน

Thai PBS News รายงานสถานการณ์ อ.แม่สาย จ.เชียงราย หลังน้ำในแม่น้ำสายทะลักท่วมชุมชนเกาะสาย จากน้ำฝนที่ตกต่อเนื่อง 2 วันที่ผ่านมา ส่งผลให้ระดับน้ำในแม่น้ำสายยกระดับสูงขึ้นช่วงคืนวานนี้ (1 ต.ค. 67) โดย ผู้ใหญ่บ้านเกาะทราย ระบุว่า น้ำที่ไหลเข้าบริเวณนี้จะไหลต่อไปที่ชุมชนไม้ลุงขน ซึ่งเบื้องต้นได้ประสานไปยังผู้นำชุมชนเพื่อแจ้งเตือนให้กับชาวบ้านที่พักอาศัยอยู่ในบ้านให้อพยพออกไปอยู่จุดที่ปลอดภัย

ขณะที่เจ้าหน้าที่นำรถแบคโฮและบิ๊กแบกขนาดใหญ่ พร้อมรถบรรทุกทราย มาเตรียมวางอุดรอยรั่วที่น้ำไหลเข้าชุมชน ซึ่งแม้จะไม่สามารถป้องกันน้ำได้ทั้งหมด แต่ช่วยชะลอน้ำที่จะไหลเข้ามาในชุมชน

น้ำป่าไหลหลาก ‘อ.เวียงป่าเป้า จ.เชียงราย’ อพยพวุ่น!

Thai PBS News รายงานสถานการณ์น้ำป่าไหลหลากบริเวณบ้านป่างิ้ว หมู่ 1 ต.ป่างิ้ว อ.เวียงป่าเป้า จ.เชียงราย ในช่วงเช้าที่ผ่านมา โดยเจ้าหน้าที่มูลนิธิสว่างเวียงป่าเป้าธรรมสถาน และเจ้าหน้าที่เทศบาลตำบลป่างิ้ว เร่งช่วยเหลือชาวบ้านที่ได้รับบาดเจ็บจากการถูกเศษแก้วบาดที่เท้า จนเป็นแผลลึก รวมถึงได้เคลื่อนย้ายผู้ป่วยติดเตียงขึ้นชั้นสองของบ้าน หลังระดับน้ำเริ่มหลากแรงและเพิ่มขึ้น

ในขณะที่สถานการณ์น้ำท่วมบริเวณถนน ถนนหมายเลข 118 บริเวณตลาดเช้าป่างิ้ว ถึง โบสถ์ป่างิ้ว ระดับน้ำเริ่มทรงตัว แต่รถเล็กยังไม่สามารถผ่านได้

หวั่นโบราณสถานเสียหาย เร่งฟื้นฟูเวียงกุมกาม หลังน้ำท่วมหนัก

Thai PBS News รายงานสถานการณ์ อ.สารภี จ.เชียงใหม่ หลังเกิดเหตุน้ำท่วม โดยเฉพาะ วัดกู่ป้าด้อม ซึ่งถูกน้ำท่วมสูงกว่า 2 เมตร ล่าสุดแม้ระดับจะเริ่มลดลง แต่พระพุทธรูป ฐานเจดีย์ ซุ้มประตูโขง กำแพงแก้ว และ ปูนปั้นประดับราวบันไดรูปมกรคายมังกร ยังจมอยู่ใต้น้ำ อีกทั้ง วัดช้างค้ำ หรือ วัดกานโถม วัดแห่งแรกที่มีการค้นพบเวียงกุมกาม นอกจากจะมีน้ำท่วมขังแล้ว ต้นไม้ใหญ่ยังหักโค่นล้มอยู่ในภายโบราณสถานด้วย

ประสิทธิ์ พุทโธ ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านใหม่เจริญธรรม จุดที่ตั้งของ วัดกู่ป้าด้อม ยืนยันว่าน้ำท่วมปีนี้สร้างความเสียหายหนักกว่าทุกปี โดยระดับน้ำในปีนี้สูงประมาณ 2 เมตร สร้างความเสียหายให้กับชาวบ้านในพื้นที่อย่างมาก ซึ่งปัญหาสำคัญ คือ ขยะที่ตกค้าง และรถขนขยะมีไม่เพียงพอ ชาวบ้านจึงต้องช่วยเหลือกันเอง หรือขอยืมรถขนขยะจากเอกชนเพื่อเร่งขนขยะของหมู่บ้าน ปริมาณกว่า 2-3 ตัน

เทอดศักดิ์ เย็นจุระ ผู้อำนวยการกลุ่มอนุรักษ์โบราณสถาน สำนักศิลปากรที่ 7 เชียงใหม่ ระบุว่า ขณะนี้ ได้เร่งประสานงานกับสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) จังหวัดเชียงใหม่ เข้ามาร่วมตรวจสอบและติดตั้งเครื่องสูบน้ำ โดยการสูบน้ำจะใช้วิธีการค่อย ๆ สูบเลี้ยงระดับน้ำ เพื่อให้โบราณสถานค่อย ๆ คลายความชื้นออกมา ให้มีการปรับตัว และจะไม่สูบน้ำจนแห้งทั้งหมด เพราะห่วงว่าการปรับเปลี่ยนสถานะโดยฉับพลันและทำให้เกิดความเสียหายได้

โดยโบราณสถานในเวียงกุมกามที่วิกฤต และ ต้องเร่งดำเนินการ มีอยู่ประมาณ 5-6 แห่ง ซึ่งดำเนินการสูบน้ำไปแล้ว เช่น

  • วัดธาตุขาว
  • วัดหนานช้าง
  • วัดปู่เปี้ย
  • วัดกู่ป้าด้อม
  • วัดอีก้าง

สำหรับแนวทางการป้องกันปัญหาน้ำท่วมในอนาคต เทอดศักดิ์ ให้ความเห็นว่า รูปแบบผังเมือง หรือสิ่งกีดขวางทางน้ำ ถือเป็นสิ่งสำคัญ การแก้ปัญหาการน้ำท่วมขังในพื้นที่ต้องมองในภาพใหญ่ เพราะเวียงกุมกามอยู่ติดแม่น้ำปิง หากเกิดภัยธรรมชาติ แม่น้ำปิงเพิ่มระดับสูงขึ้น ก็ยังมีโอกาสสูงที่น้ำจะไหลเข้าท่วมเมืองโบราณที่อยู่ท่วมกลางชุมชนใหญ่

กรมสุขภาพจิต ลงพื้นที่เยียวยาน้ำท่วม เผย ปชช. เสี่ยงซึมเศร้า-ฆ่าตัวตาย

น.พ.กิตติศักดิ์ อักษรวงศ์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต สั่งการให้ทีม MCATT ของกรมสุขภาพจิต ลงพื้นที่เยียวยาดูแลจิตใจผู้ประสบภัยจากเหตุอุทกภัย ตามข้อสั่งการของ น.ส.แพทองธาร ที่เห็นถึงความสำคัญในการดูแลสภาพจิตใจของประชาชนหลังน้ำลด

กรมสุขภาพจิต ได้ดำเนินการส่งจิตแพทย์ ทีม MCATT ลงพื้นที่เยียวยาฟื้นฟูจิตใจประชาชนเรียบร้อยแล้ว ซึ่งได้แบ่งแผนการดำเนินการเป็น 3 ส่วน ตามระยะของผลกระทบ ดังนี้

1.พื้นที่น้ำลดแล้ว มีการประเมินสุขภาพจิตโดยทีม MCATT จำนวน 40,268 ราย พบว่า

  • ความเสี่ยงต่อภาวะเครียด จำนวน 1,501 ราย
  • ความเสี่ยงต่อภาวะซึมเศร้า จำนวน 215 ราย
  • ความเสี่ยงในการฆ่าตัวตาย จำนวน 36 ราย

ทั้งนี้ ได้มีการปฐมพยาบาลทางใจ ครบ 100% แล้ว รวมถึงมีระบบการติดตามและเฝ้าระวังปัญหาสุขภาพจิตในกลุ่มเสี่ยงต่อเนื่อง ในระยะหลังได้รับผลกระทบ 2 สัปดาห์ – 3 เดือน จนกว่าจะไม่พบความเสี่ยง

2.พื้นที่ได้รับผลกระทบสูงมาก โดยเฉพาะ อ.แม่สาย มีการติดตามเฝ้าระวังเคสผู้ประสบภัย ดังนี้

  • เคสที่มีการสูญเสียไปแล้ว 400 ราย
  • เคสที่มีความเสี่ยงสูงและมีความเสี่ยงต่อการฆ่าตัวตายจำนวน 13 ราย

ทั้งหมดมีการติดตามอย่างใกล้ชิด โดยกรมสุขภาพจิต ยังได้เตรียมจัดตั้งศูนย์ฟื้นฟูสุขภาพจิต ในพื้นที่อำเภอแม่สาย รวมถึงยังมีกิจกรรมที่เกี่ยวข้องในการเสริมสร้างพลังใจจากผู้ได้รับผลกระทบเป็นผู้ร่วมกอบกู้วิกฤติด้วย

3.สำหรับพื้นที่ อ.เวียงป่าเป้า ระยะวิกฤตและฉุกเฉิน ตั้งแต่เกิดเหตุ – 2 สัปดาห์ ได้จัดทีม MCATT นำโดยจิตแพทย์ เข้าไปร่วมดูแลและประเมินสถานการณ์ เพื่อเตรียมพร้อมในการเยียวยาจิตใจ ดังนี้

  • โรงพยาบาลสวนปรุง
  • ศูนย์สุขภาพจิตที่ 1 สถาบันพัฒนาการเด็กราชนครินทร์
  • โรงพยาบาลธัญญาลักษณ์เชียงใหม่

สทนช. รายงานความคืบหน้าเยียวยาน้ำท่วม

สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) รายงานความคืบหน้าในการช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วม โดยมีรายละเอียดดังนี้

1. ครม. มีมติเห็นชอบ เมื่อวันที่ 17 ก.ย. 67 อนุมัติงบประมาณสำหรับช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยในช่วงฤดูฝน ปี 2567 จำนวน 3,045 ล้านบาท และกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ส่งข้อมูลผู้ได้รับผลกระทบให้ธนาคารออมสินแล้ว 3 ครั้ง รวมทั้งสิ้น 7,327 ครัวเรือน โดยโอนเงินสำเร็จแล้ว 5,733 ครัวเรือน จำนวนเงิน 28,707,000 บาท

2.กองทัพไทย ช่วยเหลือและบรรเทาสาธารณภัยแล้วทั้งสิ้น 12 พื้นที่ ดังนี้

  • จ.อุทัยธานี (อ.เมืองฯ)
  • จ.เพชรบูรณ์ (อ.เมืองฯ)
  • จ.นครพนม (อ.ศรีสงคราม)
  • จ.สุโขทัย (อ.ศรีสำโรง)
  • จ.เชียงราย (อ.แม่สาย เมืองๆ)
  • จ.พระนครศรีอยุธยา (อ.พระนครศรีอยุธยา)
  • จ. อุดรธานี (อ.เมืองๆ)
  • จ.เชียงใหม่ (อ.สารถี)

3.เชียงราย อุบลราชธานี และสุโขทัย จัดตั้งศูนย์พักพิงชั่วคราว จำนวน 14 จุด มีผู้พักพิง 489 ราย

4.หน่วยงานต่าง ๆ มอบถุงยังชีพเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยจำนวน 281,073 ชุด

  • ถุงพระราชทาน จำนวน 45,320 ชุด
  • กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) จำนวน 27,096 ชุด
  • สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี (สปน.) จำนวน 15,855 ชุด
  • หน่วยงานอื่น ๆ จำนวน 192,802 ชุด

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active