‘ผอ.มูลนิธิกระจกเงา’ เผย จัดการโคลนออกจากพื้นที่แม่สายตอนนี้ ทำได้แค่ 1 ใน 3 ส่วนเท่านั้น รับสภาพหากหวังจัดการให้จบใน 1 เดือน ต้องระดมเครื่องจักรเล็กเข้ามา ไม่น้อยกว่า 100 ชุด
วันนี้ ( 2 ต.ค. 67) ชัยยนต์ ศรีสมุทร นายกเทศมนตรีตำบลแม่สาย อ.แม่สาย จ.เชียงราย กล่าวถึงความคืบหน้าการเดินหน้าฟื้นฟูจัดการโคลนในพื้นที่ อ.แม่สาย ว่า ฝนที่ตกลงมาเติมเมื่อวาน (1 ต.ค. 67) ถือเป็นอุปสรรคสำคัญ ในการนำโคลนออกจากพื้นที่ อย่างเช่น ที่โรงเรียนชุมชนบ้านไม้ลุงขน เวลานี้น้ำไหลกลับมาเต็มอีกครั้ง เพราะฉะนั้นถ้าน้ำยังสูงอยู่ ก็จะทำให้การสัญจร การตักดินยากขึ้น คือ เมื่อดินมาเจอน้ำ ก็กลายเป็นขี้โคลนเหลว ๆ พอขนขึ้นไปใส่บนรถ 6 ล้อ ทำให้เที่ยวหนึ่งขนได้น้อยลง จากที่เป็นดินแข็ง
ส่วนแผนการฟื้นฟูตอนนี้ เดินหน้าเข้าสู่เฟสที่ 2 แล้ว โดยเฟสแรก คือ การเปิดทางสัญจร 24 เส้น กับอีก 2 พื้นที่ รวมเป็น 26 สายหลัก แต่พอทำเฟสแรกครบเสร็จ ยังทำเฟส 2 ไม่ได้ ต้องมาแก้ไขเฟสแรกก่อน จากน้ำที่มาเติมและทำให้มีขยะจมน้ำ
“หลังจากเราเปิดทาง 26 สายหลัก แทนที่เราจะไปสายรองในซอยต่าง ๆ เราต้องมาแก้ปัญหาสายหลักก่อน เพราะว่า ประชาชนเริ่มเอาดินออกจากบ้านมา เริ่มเอาขยะจมน้ำในบ้านออกมา เพราะฉะนั้น เราก็เก็บขยะ เก็บดินซ้ำซ้อนใน 26 ทางสายหลัก ก็ทำให้การทำงานของเราค่อนข้างจะช้ากว่าที่อื่น”
ชัยยนต์ ศรีสมุทร
ในส่วนของการรับมือป้องกันน้ำฝนที่ตกเข้ามาเติม นายกเทศมนตรีตำบลแม่สาย ระบุว่า ทำเป็นแบบชั่วคราวไปก่อน เป็นแค่ถุงบิ๊กแบ๊กกระสอบทราย ยังไม่มีจุดไหน สามารถก่อกำแพงปูนได้ทัน เพราะฉะนั้น ความเสี่ยงที่ตัวบิ๊กแบ๊กจะพังก็ยังมีสูง หรือแม้แต่กระทั่งเมื่อคืนก็มีทหารช่างไปทำพนังกั้นในซอย 14 ก็เป็นลักษณะเดียวกัน เพราะว่าถึงจะเสริมแล้ว แต่ไม่มากพอ ถ้าปริมาณน้ำเยอะ ก็มีโอกาสที่จะแตกได้ ก็ต้องเสริมป้องกันและเฝ้าระวังเต็มที่
ขณะที่ สมบัติ บุญงามอนงค์ ผู้อำนวยการมูลนิธิกระจกเงา เปิดเผยกับ The Active ว่า ฝนที่ตกลงมารอบนี้เป็นอุปสรรคต่อการทำงานของเจ้าหน้าที่ และอาสาสมัครอยู่บ้าง แต่ไม่มาก เพราเป็นเพียงน้ำฝนที่สูบและเริ่มแห้ง ส่วนโคลนที่ชาวบ้านขนมากองไว้บางส่วน ก็ไหลย้อนกลับเข้าบ้าน ก็อาจต้องเสียเวลาล้างบ้านกันอีกครั้ง แค่ล้างทำความสะอาดไปก็จบ แต่ที่เห็นว่าเป็นปัญหาใหญ่เวลานี้ และจะส่งผลกระทบต่อเนื่องในระยะยาว คือ “โคลนใต้ดิน” ที่ลงไปอุดตันอยู่ในท่อระบายน้ำ
“อย่างเมื่อวานนี้ ฝนตกปุ๊บ ก็มีปัญหาว่ามันจัดการไม่ได้ มัน 100% อุดตัน แล้วมันเหนียวมาก มันขุดมือ ใช้แรงงานมนุษย์ไม่ได้ ต้องใช้เครื่องจักร ยังไม่รู้จะแก้ปัญหานี้ยังไง และผมย้ำว่ามันเป็นเรื่องยากและใหญ่ ยากกว่าที่เราเข้าใจ หลังจากทีมที่สำนักระบายน้ำ กทม. ลงไปช่วย ลงไปทำงานแล้ว เราเห็นสภาพที่อยู่ข้างล่างแล้วมันยากมาก ๆ ต่อให้หลังจากนี้หมดฝน น้ำฝนไม่ได้มาเติม ก็จะยังมีปัญหาระบบระบายน้ำ เพราะการใช้น้ำตามบ้าน คือระบบระบายน้ำจะล่ม เช่น ซักผ้า อาบน้ำอะไรทั้งหลาย ท่อตันก็จะระบายไม่ได้ ล่มเลย เป็นปัญหาใหญ่มาก ๆ อยากย้ำเรื่องนี้”
สมบัติ บุญงามอนงค์
สำหรับข้อเสนอเวลานี้ ต้องให้วิศวกร ที่มีประสบการณ์เรื่องนี้ลงมาคุยกับทางท้องถิ่น และตัวแทนรัฐบาล อย่าง ศปช. ส่วนหน้า เมื่อ 2 วันก่อนที่ประชุม ตนได้ยกประเด็นนี้ขึ้นไปทาง ศปช.ส่วนหน้า ก็ไปดูพื้นที่ ซึ่งเป็นเรื่องใหญ่ต้องใช้งบประมาณพอสมควร ดังนั้นท้องถิ่นต้องตั้งเรื่องขึ้นไป เพราะเขารู้ผังทั้งหมดแล้ว แต่ว่าเขาจะไม่มีเงินพอที่จะทำสิ่งนี้
“ต้องร้องขอความช่วยเหลือจากรัฐบาล ซึ่งรัฐบาลยังไม่ส่งสัญญานที่เกี่ยวกับเรื่องที่จะลงมาอุดหนุนเพื่อแก้ปัญหาเหล่านี้ แต่ว่าเรื่องนี้ท้องถิ่นชัดเจนว่าเกินกำลังเขา ดังนั้นทั้งท้องถิ่นและรัฐบาล ต้องคุยกัน ต้องเร่งวางแผนการดำเนินงาน งบประมาณ เพื่อแก้ปัญหานี้เร่งด่วน”
สมบัติ บุญงามอนงค์
อีกปัญหาสำคัญที่จะตามมา ผอ.มูลนิธิกระจกเงา ยอมรับว่า คือปัญหาดินโคลนที่แห้ง แล้วจะเกิดเป็นเมืองในฝุ่น เป็นแบบฝุ่นเห็นได้ชัดรุนแรง แสบคอ แสบตา นั่นคือฝุ่น PM10 และยังไม่มีเจ้าภาพในการแก้ปัญหานี้
ส่วนการจัดการโคลน ที่เป็นปัญหาเร่งด่วนมาก ๆ ในเวลานี้ที่แม่สายตอนนี้ เอาออกมาได้แค่ 1 ใน 3 ที่มีทั้งหมด ดังนั้นอาจต้องใช้เวลาอีกเป็นเดือน แต่นั่นอยู่บนฐานว่า มีจำนวนของรถ และคนทำงาน ยังอยู่ในปริมาณที่ใกล้เคียงกันกับปัจจุบันนี้ และยังไม่ถอนกำลัง ประกอบกับต้องมีเครื่องจักรเล็กเข้าไปซอกซอยในบ้าน แต่ส่วนใหญ่ตอนนี้ที่เข้ามาเป็นเครื่องจักรใหญ่ ที่ใช้เคลียร์ถนน และก็เคลียร์ไปหมดแล้ว ยังเหลือในซอกซอยจึงจำเป็นต้องใช้เครื่องจักรเล็ก
“หมายความว่าถ้ามีเครื่องจักรเล็กเพิ่มขึ้น มันจะทำให้งานเร็วขึ้น ผมคิดว่า รถแบคโฮเล็ก รถดั๊ม รถตัก ขนดิน ต้องมีเพิ่มอย่างน้อยเป็น 100 ชุด จึงจะจบใน 1 เดือนได้ ”
สมบัติ บุญงามอนงค์
สำหรับการแจ้งเตือนภัย และสถานการณ์น้ำของภาครัฐดีขึ้น แต่ยังเห็นว่ามีการใช้เทคโนโลยีที่ยังไม่ตอบโจทย์สถานการณ์ปัจจุบัน คือไปใช้รูปแบบการส่ง SMS ทั้ง ๆ ที่ต้องใช้ Cell Broadcast ที่จะเป็นการออกอากาศเหมือนทีวี วิทยุ ไม่ใช่การส่งทีละคน ต้องใช้ Cell Broadcast ซึ่งมีเทคโนโลยีนี้อยู่ ต้องปรับเพราะเป็นเรื่องที่ทุกคนควรรับรู้พร้อมกัน