เฝ้าระวัง! 4 ต.ค.นี้ ‘น้ำกก’ ล้นตลิ่ง เมืองเชียงราย – ฝน ‘เหนือ-อีสาน’ แนวโน้มลดลง

อุตุฯ ระบุ ตอนบนประเทศอากาศยังแปรปรวน จนถึงวันพรุ่งนี้ จากนั้นภาคอีสาน อากาศเย็นลง อุณหภูมิลด 2-4 องศาฯ ขณะที่ผู้เชี่ยวชาญด้านน้ำ ชี้แม้ฝนเริ่มลดลง แต่ยังห่วงมวลน้ำคงค้าง แนะประชาชนติดตามสถานการณ์ใกล้ชิด

วันนี้ (2 ต.ค. 67) กรมอุตุนิยมวิทยา ประกาศเรื่อง อากาศแปรปรวนบริเวณประเทศไทยตอนบน ฉบับที่ 9 (221/2567) มีผลกระทบไปจนถึงวันที่ 3 ตุลาคม 2567 โดยบริเวณความกดอากาศสูง หรือมวลอากาศเย็นกำลังปานกลางจากประเทศจีน จะแผ่ลงมาปกคลุมภาคเหนือ, ภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย และทะเลจีนใต้ ประกอบกับร่องมรสุมจะพาดผ่านภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ภาคกลาง และภาคตะวันออก

ลักษณะเช่นนี้จะทำให้ประเทศไทยตอนบนมีลักษณะอากาศแปรปรวนเกิดขึ้น โดยมีฝนฟ้าคะนอง ลมกระโชกแรง ฝนตกหนักบางแห่งในภาคกลาง รวมทั้งกรุงเทพมหานคร และปริมณฑล ภาคตะวันออก มีฝนตกหนักมากบางพื้นที่ในภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ หลังจากนั้นอากาศจะเย็นลงกับมีลมแรง และอุณหภูมิจะลดลง 2-4 องศาเซลเซียส ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

ขอให้ประชาชนบริเวณประเทศไทยตอนบนระมัดระวังอันตรายจากฝนฟ้าคะนอง ลมกระโชกแรง ฝนตกหนักถึงหนักมาก และฝนที่ตกสะสมซึ่งอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลาก โดยเฉพาะพื้นที่ลาดเชิงเขาใกล้ทางน้ำไหลผ่านและพื้นที่ลุ่ม หลีกเลี่ยง

จังหวัดที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบ มีดังนี้

วันที่ 2 ตุลาคม 2567

  • ภาคเหนือ : แม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ เชียงราย ลำพูน ลำปาง พะเยา น่าน แพร่ อุตรดิตถ์ สุโขทัย กำแพงเพชร พิจิตร พิษณุโลก เพชรบูรณ์ และตาก

  • ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ : หนองคาย บึงกาฬ สกลนคร นครพนม อุดรธานี หนองบัวลำภู เลย ขอนแก่น กาฬสินธุ์ มหาสารคาม ร้อยเอ็ด ชัยภูมิ นครราชสีมา บุรีรัมย์ สุรินทร์ ศรีสะเกษ มุกดาหาร ยโสธร อำนาจเจริญ และอุบลราชธานี

  • ภาคกลาง : นครสวรรค์ อุทัยธานี ชัยนาท สิงห์บุรี อ่างทอง ลพบุรี สระบุรี สุพรรณบุรีพระนครศรีอยุธยา กาญจนบุรี ราชบุรี นครปฐม สมุทรสาคร สมุทรสงคราม รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล

  • ภาคตะวันออก : นครนายก ปราจีนบุรี สระแก้ว ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ระยอง จันทบุรี และตราด

  • ภาคใต้ : เพชรบุรี และประจวบคีรีขันธ์

วันที่ 3 ตุลาคม 2567

  • ภาคเหนือ : แม่ฮ่องสอน และตาก

  • ภาคกลาง : อุทัยธานี ชัยนาท สระบุรี สุพรรณบุรี พระนครศรีอยุธยา กาญจนบุรี ราชบุรี นครปฐม สมุทรสาคร สมุทรสงคราม รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล

  • ภาคตะวันออก : นครนายก ปราจีนบุรี สระแก้ว ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ระยอง จันทบุรี และตราด

  • ภาคใต้ : เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ และชุมพร

‘น้ำกก’ เสี่ยงล้นตลิ่ง เมืองเชียงราย 4 ต.ค.นี้

ขณะเดียวกัน ศูนย์อำนวยการน้ำแห่งชาติ สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) คาดการณ์ว่า ในวันที่ 4 ต.ค.67 แม่น้ำกก สถานีสะพานแม่ฟ้าหลวง อ.เมืองเชียงราย จ.เชียงราย มีแนวโน้มปริมาณน้ำสูงขึ้น จนมีระดับน้ำสูง 393.4  ม.รทก. (สูงกว่าตลิ่ง 1.18 ม.)

แนะติดตามสถานการณ์ใกล้ชิด แม้แนวโน้มฝนลดลง

ผศ.มงคลกร ศรีวิชัย ศูนย์วิศวกรรมสร้างสรรค์เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ม.เทคโนโลยีราชมงคลล้านนา ในฐานะนักวิชาการและผู้เชี่ยวชาญด้านน้ำ เปิดเผยกับ The Active หลังจากเมื่อวานนี้ (1 ต.ค. 67) จ.เชียงราย มีฝนตกหนัก ส่งผลให้หลายพื้นที่น้ำกลับมาท่วมเพิ่ม มากกกว่า 1 เมตร อีกครั้ง

ขณะที่วันนี้แม้ฝนลดลง และน้ำบางแห่งก็ลดลงไป แต่ก็ยังมีมวลน้ำที่กำลังไหลมาจากบนดอย ลงสู่แม่น้ำกกบางส่วน และมีลุ่มน้ำสำคัญที่ได้รับผลกระทบ 3 พื้นที่ คือ ลุ่มน้ำท่าสุด ที่ทำให้น้ำท่วมหน้ามหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง ลุ่มน้ำนางแล และ ลุ่มน้ำโป่งพระบาท ที่ส่งผลใหน้ำท่วมบริเวณ มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย

“มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย พบว่า ระดับน้ำเริ่มทรงตัวเมื่อวาน แต่ก็ยังคงมีฝนตกอย่างต่อเนื่อง ซึ่งน้ำได้ท่วมตั้งแต่เวลาประมาณ 16.00 น. โดยน้ำไหลมาจากดอยโป่งพระบาท ต.บ้านดู่ อ.เมือง จ.เชียงราย กระแสน้ำที่แรง และท่วมสูงกระทบต่อผู้ที่พักอาศัย 2 ฝั่งถนนทั้งด้านมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย”

ผศ.มงคลกร ศรีวิชัย

สำหรับฝนที่ตกเมื่อวานนี้ พบว่ามีปริมาณ 150 ถึง 190 มิลลิเมตร แม้แนวโน้มฝนลดลง แต่ยังมีมวลน้ำคงค้างยังคงไหลอยู่ ขณะที่พื้นที่ท้ายน้ำระดับน้ำยังขึ้นสูงอย่างต่อเนื่องเพราะว่าน้ำเริ่มระบายออก ส่วนลำน้ำกก ที่มีมีลำน้ำสาขามาจากประเทศเมียนมา ลำน้ำฝางที่มาจาก อ.ฝาง จ.เชียงใหม่ หลายพื้นที่น้ำขึ้นแต่มาเมื่อวาน

“สถานการณ์น้ำหลังจากนี้เป็นต้นไป เชียงรายก็ต้องเฝ้าระวังนะ เนื่องจากว่ามีความแปรปรวนของสภาพภูมิอากาศ โลกร้อนอยู่ถึงแม้ว่ามีแนวโน้มว่าลมหนาวจากประเทศจีนแผ่เข้ามาบริเวณพื้นที่ตอนบนของประเทศแล้ว แต่เหตุการณ์ก็ยังคงต้องติดตามกันต่อเนื่อง สิ่งสำคัญที่สุด พวกเราจะต้องรู้ คือ การประเมินความเสี่ยง โดยการที่รู้จักผังน้ำในพื้นที่ที่เราอยู่ ว่าน้ำจะไหลมาจากที่ไหน แล้วกำลังจะไปต่อไปที่บริเวณไหน ซึ่งตรงนี้อาจจะสามารถทำให้เราประเมินศักยภาพ และการเตรียมพร้อมรับมือ เพื่อที่จะลดผลกระทบต่อชีวิตและทรัพย์สินมากที่สุด”

ผศ.มงคลกร ศรีวิชัย

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active