ตัวแทนภาคส่วนต่างๆ ร่วมสะท้อน ย้อนต้นเหตุ เห็นปัญหา เดินหน้าแก้ไข วางแผนฟื้นฟูเมืองเชียงราย สรุปข้อเสนอ พร้อมแจกการบ้านหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งในพื้นที่และรัฐบาล หวังดีเดย์เปิดเมืองเชียงราย 1 พ.ย.นี้ ฟื้นคืนชีวิต จิตใจ เศรษฐกิจ สู่ต้นแบบรับมือจัดการภัยพิบัติใหญ่ในอนาคต
28 ก.ย.67 ในเวที Policy Forum ครั้งที่ 21 “ ฟื้นฟูเชียงราย ช่วยกันเริ่มต้นใหม่ให้แข็งแรงกว่าเดิม CITY RECOVERY STRONGER CHIANG RAI “ นอกจากจะเป็นเวทีเปิดรับฟังเสียงสะท้อนผู้ประสบภัยพิบัติ และระดมความคิดเห็นภาคส่วนต่างๆ สู่ข้อเสนอมิติใหม่จัดการรับมือภัยพิบัติที่ไม่เคยเกิดขึ้นที่ไหน และรุนแรงอย่างหนัก ที่แม้แต่ผู้ประสบสึนามิ ยกให้สถานการณ์ภัยพิบัติที่เชียงรายครั้งนี้ คือ สึนามิน้ำจืด
เวทีนี้ยังสะท้อนถึงความตั้งใจของหลายภาคส่วน การประสานระดมผู้คน จากการหารือวงเล็กๆหลังเกิดเหตุการณ์ภัยพิบัติมาอย่างต่อเนื่อง เช่น ตัวแทนชุมชนผู้ประสบภัย เชียงราย – แม่สาย – พื้นที่สูง ,มูลนิธิพัฒนาชุมชนและเขตภูเขา ,สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ ,สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) ,สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) ,สมาคมการค้าสตาร์ทอัพไทย ,บริษัทเชียงรายพัฒนาเมือง CRCD ,เครือข่ายกะเหรี่ยงเพื่อวัฒนธรรมและสิ่งแวดล้อม ,มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง ,มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา เชียงราย ,มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย ,หอการค้าจังหวัดเชียงราย ,สภาอุตสาหกรรมจังหวัดเชียงราย ,สมาคมสหพันธ์ท่องเที่ยวเชียงราย ,มูลนิธิกระจกเงา ,ศูนย์วิจัยปฐพีและฐานราก ม.เกษตรศาสตร์ และมูลนิธิมดชนะภัย
ได้ร่วมกันวางแผน กำหนดประเด็นการพูดคุย เป้าหมายสำคัญ “ เริ่มต้นใหม่ให้แข็งแรงกว่าเดิม” ด้วยการจัดระบบข้อเสนอถึงรัฐบาล ไปถึงการแบ่งงานกันทำหลังจากนี้ ใน 3 Section คือ 1.รับฟัง 2.แลกเปลี่ยนเรียนรู้ 3.ระดมสมอง
โดย ณาตยา แวววีรคุปต์ ผู้อำนวยการศูนย์สื่อสารวาระทางสังคม และนโยบายสาธารณะ ThaiPBS ,เตือนใจ ดีเทศน์ อดีตสมาชิกวุฒิสภาจังหวัดเชียงราย จากการเลือกตั้งคนแรก และพร้อมพร จินดาวงศ์ เนตรหาญ ประธานกรรรมการบริหาร บริษัทเชียงรายพัฒนาเมือง ดำเนินการสนทนา
รับฟัง สะท้อนสถานการณ์ปัญหา จากมุมผู้ประสบภัย
ตัวแทนชาวบ้าน ซึ่งอยู่ในพื้นที่ประสบภัยพิบัติ เช่น ชุมชนกะเหรี่ยงรวมมิตร ชุมชนปกาเกอะญอบ้านแคววัวดำ ชุมชนเกาะลอย รวมถึง ภาคธุรกิจ เช่นร้านกาแฟ ร้านอาหาร ที่ตั้งอยู่ริมแม่น้ำกก อ.เมือง จ.เชียงราย ตัวแทนชาวอำเภอแม่สาย และชุมชนในพื้นที่สูง จากดอยแม่สลอง และตำบลเทอดไทย อ.แม่ฟ้าหลวง ไปจนถึงเครือข่ายจิตอาสาที่ช่วยเหลือประชาชนผู้ประสบภัย อย่างกลุ่มกระเทยกู้โลก ต่างสะท้อนปัญหาสำคัญของการไม่มีระบบการเตือนภัยแจ้งเตือนให้กับชาวบ้านที่น่าเชื่อถือ เพื่อการป้องกันรับมือเหตุการณ์ที่ทันท่วงที ทำให้เกิดความเสียหายจากน้ำท่วมและดินโคลนถล่มอย่างหนัก
ตอนนี้เหตุการณ์เข้าสู่สัปดาห์ที่ 3 หลายคนยังต้องนอนในจุดพักชั่วคราว เช่น ในโบสถ์ เพราะบ้านพังเสียหาย และจมโคลน ขณะที่ศูนย์พักพิงชั่วคราวเริ่มทยอยปิดลง ยังมีอีกหลายชุมชนที่ยังตกหล่นจากการช่วยเหลือ ไม่มีเครื่องจักรในการขนโคลน และกำลังในการล้างบ้าน
ในขณะที่การช่วยเหลือเยียวยาตอนนี้แค่ 3,000 บาท ซึ่งไม่เพียงพอ และไม่มีมาตรการการช่วยเหลือภาคธุรกิจขนาดเล็ก รายย่อย หรือท่องเที่ยวชุมชน โฮมสเตย์ ที่พังเสียหายยับเยิน จึงอยากให้เร่งเข้ามาฟื้นฟู ไปพร้อมกับการเยียวยาความเสียหายเพื่อให้เริ่มต้นชีวิต เริ่มต้นอาชีพกันใหม่ได้
แลกเปลี่ยน ประสบการณ์ความรู้ จากหลากหลายศาสตร์สาขา
สมบัติ บุญงามอนงค์ ผู้อำนวยการมูลนิธิกระจกเงา ซึ่งระดมจิตอาสาและสิ่งของจำเป็นต่างๆเข้ามาช่วยเหลือ รวมทั้งระดมอาสาสมัครช่วยล้างบ้านให้ผู้ประสบภัยพิบัติในจังหวัดเชียงราย ย้ำว่า นี่คือภัยพิบัติขนาดใหญ่มากๆ ที่เคยเจอมาในชีวิต และสะท้อนการจัดการภัยพิบัติใน 4 ช่วงตอนสำคัญ
ตั้งแต่ การป้องกัน เตือนภัย ที่ต้องวางแนวทางการลดปริมาณน้ำ มีพื้นที่ป่าที่ซับน้ำได้ แต่ปีนี้ซับซ้อนมากเนื่องจากมีปริมาณน้ำสูงมากจริงๆ ,นวัตกรรมการเผชิญเหตุ ที่เรียกว่าสุดมือของกู้ภัย ต้องใช้ทั้ง เจ็ตสกี ทีมซีลบุกมาช่วยผู้ประสบภัย เฮลิคอปเตอร์ ซึ่งเหตุการณ์เหมือนในช่วงสึนามิ
และสำคัญมากๆ คือช่วงของการฟื้นฟู แต่สังคมไทยไม่ค่อยสนใจและให้ความสำคัญกับการฟื้นฟูมากนัก จึงอยากให้ครั้งนี้เป็นโอกาส มากๆของสังคมไทยที่จะร่วมกัน เพราะเป็นงานใหญ่และใช้เวลามาก ตอนนี้ปัญหาใหญ่ คือ การจัดการโคลน แต่ที่ระดมกันยังไม่พอ
“เครื่องจักรที่ระดมไป ผมเรียกว่าละลาย แม้มหาดไทยจะระดมมา แต่เป็นเครื่องจักรใหญ่ ไม่เหมาะกับพื้นที่ทั้งหมด ต้องประสานเอกชนนำเครื่องจักรเล็กลงมาด้วย และตอนนี้ที่ส่งมาไม่ใช่ขนาดของการฟื้นฟู เป็นเพียงทีมมาสู้สถานการณ์เบื้องต้น จากนี้ต้องระดมทรัพยากรทั้งหมด เครื่องจักร คน ต้องจัดงบประมาณที่เพียงพอลงมา “
สมบัติ บุญงามอนงค์ ผู้อำนวยการมูลนิธิกระจกเงา
จากที่มีโอกาสประชุมวอร์รูมเชียงราย และในฐานะคนที่ผ่านงานการฟื้นฟู สมบัติเห็นถึงช่องว่าง และข้อเสนอสำคัญ โดยย้ำว่านี่ไม่ใช่เหตุการณ์ระดับท้องถิ่น จึงต้องจัดสรรทรัพยากรส่วนกลางสนับสนุน เร่งจัดการโคลน ล้างบ้าน ให้คนกลับเข้าบ้านได้และงานจบหลังจัดการโคลนล้างบ้านในพื้นที่ต่างๆ คือ งานท่อระบายน้ำ เพราะไม่งั้นปีหน้าหากฝนตกลงมา เรียกว่าจะเกมกันอีกครั้ง จะเกิดปัญหาน้ำท่วมอีกแน่ๆเพราะท่อตัน
อภิชิต ศิริชัย นักประวัติศาสตร์ท้องถิ่นเชียงราย นำเสนอข้อมูลประวัติศาสตร์การตั้งเมืองเชียงราย และแผนที่ทางน้ำจากอดีตถึงปัจจุบัน เพื่อสะท้อนและย้ำว่าเชียงรายเป็นเมืองที่มีน้ำล้อมรอบหลายสาย แต่ปัจจุบันเกิดการเปลี่ยนแปลง การก่อสร้างต่างๆ ที่ส่งผลต่อเส้นทางน้ำและการระบาย จึงอาจต้องมีการวางหรือปรับผังเมืองกันใหม่ เพื่อให้อยู่และรับมือกับภัยพิบัติได้ และแม้ว่าจะไม่รู้ต้นทางแม่น้ำสำคัญ อย่างแม่น้ำกก เพราะมีต้นทางในประเทศเพื่อนบ้าน แต่หากมีเทคโนโลยี และการติดตามปริมาณน้ำอย่างต่อเนื่อง ประเมินและรีบเตือนภัยเมื่อน้ำเคลื่อนมาถึง ท่าตอน อ.แม่อาย จ.เชียงใหม่ จะรู้และสามารถแจ้งเตือนประชาชนได้ทัน เพราะจากจุดนั้นถึงเมืองเชียงราย ใช้เวลานานเป็น 10 ชม.
ผศ.สุวิชาญ พัฒนาไพรวัลย์ เลขาธิการเครือข่ายกะเหรี่ยงเพื่อวัฒนธรรมและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า กลุ่มชาติพันธุ์ มีภูมิปัญญาในการจัดการ รับมือภัยพิบัติ ตั้งแต่การเลือกถิ่นฐาน รูปแบบการสร้างที่อยู่อาศัย รับมือทั้งลมและน้ำหลากได้ มีวิถีการผลิต เพื่อป้องกันภัยพิบัติ คือหมุนเวียน ไม่ใช้พื้นที่ซ้ำ หรือไม่ทำถาวร เพราะการทำถาวรซ้ำๆแม้แต่หญ้ายังไม่เกิดจะไม่มีอะไรยึดหน้าดิน แต่การทำไร่หมุนเวียน มีวิถีภูมิปัญญาในการตัดฟันไม้โดยไม่ให้ไม้ตาย สามารถแตกใหม่ฟื้นคืนป่าสมบูรณ์ ส่วนวิถีการเลี้ยงสัตว์ จะเลี้ยงแบบปล่อย ซึ่งเป็นวิธีการสร้างความปลอดภัยให้สัตว์เมื่อเกิดภัยพิบัติ ยังเป็นการอ่านสัญญานจากสัตว์ได้ด้วย เพราะเมื่อไหร่ที่สัตว์หนี คนต้องเตรียมตัวและที่สำคัญ คือ การสำรวจภัยพิบัติตามวิถี การเดินตามหาสัตว์เลี้ยงที่ปล่อย ยังได้ลาดตะเวน เมื่อเห็นเหตุการณ์ผิดปกติ หรือภัยพิบัติ สามารถแจ้งส่งข่าวได้ทัน
“ ที่หินลาดใน ทำไมเกิดเหตุการณ์น้ำหลาก แต่ไม่มีคนบาดเจ็บ ไม่มีคนเสียชีวิต เพราะมีคนไปเด็ดชาในป่า พอเกิดเหตุการณ์ ก็รีบวิ่งมาถนนหรือทางลัด เพราะชาวบ้านรู้เส้นทางดีว่าไม่ได้มีเส้นเดียว ก็จะตะโกนบอกคนในชุมชนได้ทัน นี่เป็นภูมิปัญญา ที่เป็นแนวป้องกัน สามารถส่งสัญญาน เป็นรหัสการเตือนภัยอีกแบบหนึ่ง จากวิถีของการผลิต “
ผศ.สุวิชาญ พัฒนาไพรวัลย์ เลขาธิการเครือข่ายกะเหรี่ยงเพื่อวัฒนธรรมและสิ่งแวดล้อม
นอกจากนี้ยังมีภูมิปัญญาการอ่านสัญญานภัยพิบัติจากธรรมชาติ เช่น การสังเกตลม จากการพัดใบไม้ กลุ่มชาติพันธุ์ ยังมีวิถีการหมุนเวียนและโยกย้าย เพื่อลดความเสี่ยงทั้งโรคระบาดและภัยพิบัติ ที่สำคัญมีการสร้างระบบการเยียวยา ด้วยเรื่องอาหารเมล็ดพันธุ์ที่เก็บรักษาไว้
แต่ปัจจุบันมีหลายปัจจัยที่ส่งผลต่อการตั้งรับจัดการภัยพิบัติลดลง คือ สิทธิหรือศักยภาพการเลือกพื้นที่ หรือรูปแบบบ้านเปลี่ยนไป ปัจจุบันจะทำแบบดั้งเดิมไม่ได้ เพราะจะไม่ได้รับทะเบียนบ้าน กลายเป็นหมูบ้านชั่วคราว รวมถึงข้อจำกัดวิถีการผลิตแบบหมุนเวียน อีกเรื่องสำคัญ คือ สภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลงมีความซับซ้อนมากขึ้น ขณะที่องค์ความรู้ภูมิปัญญาต่างๆไม่ถูกถ่ายทอดให้คนรุ่นใหม่จากข้อจำกัดที่ว่ามา ในขนะเดียวกันเทคโนโลยีสมัยใหม่ก็ไปไม่ถึงชุมชน จากข้อจำกัดกฎหมาย เข้าไม่ถึงไฟฟ้า เทคโนโลยีในการทราบข้อมูลและการเตือนภัยจากภัยพิบัติที่เปลี่ยนแปลงซับซ้อนและใหญ่มากขึ้น
ทางออกที่คุยกันกับพี่น้อง ใน จ.เชียงใหม่ และเชียงราย คือ จะต้องมีคณะทำงานรับมือภัยพิบัติสมัยใหม่ ซึ่งกำลังฟอร์มทีม เพราะฉะนั้นต้องคิดทั้งการป้องกัน การเยียวยา สร้างความรู้ใหม่ ที่จะไม่ทำงานเฉพาะเครือข่ายกะเหรี่ยง แต่สร้างเครือข่ายการเรียนรู้รับมือด้วยกัน
รศ.สุทธิศักดิ์ ศรลัมพ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านดินถล่ม ผศ.สุวิชาญ พัฒนาไพรวัลย์ เลขาธิการเครือข่ายกะเหรี่ยงเพื่อวัฒนธรรมและสิ่งแวดล้อม
รศ.สุทธิศักดิ์ ศรลัมพ์ ผู้เชี่ยวชาญวิศวกรรมปฐพีและฐานราก และเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านดินถล่ม อธิบายปรากฎการณ์ที่เกิดขึ้นกับชุมชนต่างๆ ที่เกิดผลกระทบต่อเหตุการณ์ดินสไลด์ โดยชวนให้สำรวจพื้นที่อยู่อาศัยของตัวเองก่อนว่า “ล่อแหลม” และ “เปราะบาง” หรือไม่ เพราะเชื่อว่ากระบวนการบุบสลายของภูเขา การถล่มลงมาเป็นกระบวนการทางธรรมชาติ บนยอดเขาสมมติมีชุมชนอยู่ด้านบน ฝนที่ตกหนัก น้ำก็จะหาที่ไหลลงมาตามร่องเขาร่องน้ำ ชาวบ้านบนที่สูงทราบดีว่า จะกัดเซาะไปเรื่อย ๆ เกิดการกัดเซาะตามธรรมชาติ ฝนตกหนักต่อให้มีป่าไม้อุดมสมบูรณ์ยังไงก็ต้องพัง กรณีป่าไม้ที่ไม่สมบูรณ์ก็จะยิ่งเร่งกระบวนการพังให้เกิดเร็วขึ้น ฝนตกไม่หนักก็พังได้ ดิน น้ำป่าไหลลงมาได้
ประเด็นสำคัญ จึงต้องวางแผนปรับการอยู่อาศัยและวิถีชีวิตไปตามลักษณะของความล่อแหลมของพื้นที่ที่อยู่ ต้องอาศัยโครงสร้างทางวิศวกรรมในพื้นที่ป่า เพื่อลดความรุนแรงของน้ำป่าและดินถล่ม โดยจะต้องพิจารณาผลกระทบต่อความหลากหลายทางชีวภาพให้ละเอียดและดำเนินการให้สอดคล้อง
ระดมสมอง พัฒนาข้อเสนอต่อการฟื้นฟูเมืองทั้งระบบ
โดยตัวแทนภาคส่วนต่างๆ ทั้ง ชาวบ้านผู้ประสบภัย ภาคประชาชน จิตอาสา ภาคเอกชน ต่างร่วมสะท้อนระดมข้อเสนอสำคัญใน 3 ระยะ
ระยะเร่งด่วน คือ ยังต้องเร่งช่วยผู้ประสบภัย มีครัวกลางให้ผู้ได้รับอาหารที่ดีมีคุณภาพ, เร่งทำความสะอาด ขนโคลน ขนขยะล้างบ้าน ,ควบคุมราคาสินค้าที่จะซ้ำเติมเอาเปรียบผู้ประสบภัยพิบัติ , รักษาความปลอดภัย ไปจนถึงการพัฒนาฐานข้อมูล เพื่อการวางแผนการจัดการแก้ปัญหาอย่างเป็นระบบและครอบคลุม
ระยะฟื้นฟู แก้ปัญหาการอยู่อาศัย ที่ทำกิน ที่ดินที่ปลอดภัยจากภัยพิบัติ การพัฒนาคุณภาพชีวิต การฟื้นฟูจิตใจสุขภาพ การเยียวยาชดเชยรายได้ ความเสียหายต่างๆของประชาชนและภาคธุกิจเอกชน สร้างกลไกร่วมในการพัฒนาศัยภาพความร่วมมือภาคส่วนต่างๆ
สุดท้าย คือ ระยะของการเดินหน้าสู่ความยั่งยืนคือต้องมีแผนที่ครอบคลุมทุกมิติ ตั้งแต่การสื่อสาร ศูนย์การเตือนภัย ที่มีประสิทธิภาพ และมีความน่าเชื่อถือ สร้างเครือข่ายเฝ้าระวังรับมือที่เข้มแข็ง มีศูนย์บริหารจัดการแก้ไขสถานการณ์ ฟื้นฟูภัยพิบัติบัติ
โดยสิ่งที่ได้จากเวทีนี้ จะมีการสกัดรวบรวมข้อมูล เพื่อให้ภาคส่วนต่างๆที่ร่วมระดมกันในวันนี้เห็นภาพที่ครอบคลุมทุกมิติในการทำงานร่วมกันต่อ ที่สำคัญคือ จัดทำข้อเสนอแนะต่อหน่วยงานต่างๆในพื้นที่ รวมทั้งระดับนโยบาย รัฐบาล เพื่อเดินหน้าแก้ไขปัญหาภัยพิบัติใหญ่ในจังหวัดเชียงราย สู่การเป็นโมเดลของการรับมือแก้ไขปัญหาภัยพิบัติใหญ่ ที่มีโอกาสเกิดขึ้นได้อีกในอนาคต