‘ห้วยหินลาดใน’ : เชื่อมโยงภูมิปัญญา – ป่ามี แต่เมื่อธรรมชาติไม่ปราณี ก็เกินจะรับมือ!

‘ผู้เชี่ยวชาญด้านดินถล่ม’ ย้ำ! ฝนกระหน่ำ ต่อให้ป่าสมบูรณ์ น้ำก็หลาก ดินสไลด์ เชื่อชุมชนไม่ดูแลป่า ยิ่งเร่งกระบวนการให้พังเร็วขึ้น ขณะที่ ‘นักวิชาการปกาเกอะญอ’ ชี้ภูมิปัญญาชาติพันธุ์ตั้งรับภัยพิบัติลดลง จากเงื่อนไขถูกจำกัดสิทธิ และศักยภาพ เล็งสร้าง ‘คณะทำงานรับมือภัยพิบัติสมัยใหม่’ ผุดองค์ความรู้ใหม่ ช่วยเหลือ เยียวยาชุมชนชาติพันธุ์

ในเวที Policy Forum ครั้งที่ 21 : ฟื้นเมืองหลังภัยพิบัติ CITY RECOVERY STRONGER CHIANG RAI เริ่มต้นใหม่ เพื่อเชียงราย เข้มแข็งกว่าเดิม จัดขึ้นเมื่อวันที่ 28 ก.ย. ที่ผ่านมา ประเด็นหนึ่งที่ถูกพูดถึง คือ กรณีเหตุการณ์น้ำป่าไหลหลากถล่มชุมชนชาติพันธุ์หลายแห่ง โดยเฉพาะที่ บ้านห้วยหินลาดใน อ.เวียงป่าเป้า จ.เชียงราย

ผศ.สุวิชาน พัฒนาไพรวัลย์ หรือ อาจารย์ชิ จากสาขาวิชาการจัดการภูมิวัฒนธรรม ประจำวิทยาลัยโพธิวิชชาลัย มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ให้คำอธิบายถึงการใช้ภูมิปัญญาเพื่อรับมือภัยพิบัติของชุมชนชาติพันธุ์ไว้ว่า ชุมชนชาติพันธุ์มี 3 ประเภท คือ ชุมชนบนพื้นที่สูง พื้นที่กลาง และ ริมน้ำ และมีอยู่ 3 ประเด็นที่เชื่อมโยงภูมิปัญญาของกลุ่มชาติพันธุ์กับการรับมือภัยพิบัติ คือ

  1. การจัดการภัยพิบัติ

  2. ปัจจัยเงื่อนไข ศักยภาพ ที่ทำให้การจัดการภัยพิบัติเพิ่มขึ้นหรือลดลง

  3. ทางออก แนวทางการรับมือภัยพิบัติยุคใหม่ของพี่น้องชาติพันธุ์บนพื้นที่สูง
อาจารย์ชิ – ผศ.สุวิชาน พัฒนาไพรวัลย์ สาขาวิชาการจัดการภูมิวัฒนธรรม ประจำวิทยาลัยโพธิวิชชาลัย ม.ศรีนครินทรวิโรฒ

‘ภูมิปัญญาชาติพันธุ์’ กับการรับมือ ‘ภัยพิบัติ’

  • การตั้งถิ่นฐาน การเลือกพื้นที่อยู่บนฐานการจัดการภัยพิบัติ ดอยสูง, พื้นที่กลาง และ พื้นที่ริมน้ำ อย่างในพื้นที่ชุมชนที่ตั้งริมน้ำ ชาวบ้านจะสร้างบ้านใต้ถุนสูง ไม่มัด หรือไม่สร้างคอกเลี้ยงสัตว์ แต่จะปล่อยให้สัตว์หากินตามธรรมชาติ ถ้าเกิดในช่วงน้ำไหลหลากก็ไหลรอดผ่านบ้านได้ สัตว์ก็หนีได้ก่อน ขณะที่การตั้งถิ่นฐานในพื้นที่กลาง ๆ น้ำขึ้นไม่ถึง บ้านจะเป็นชั้นลอยไม่สูง ข้างล่างเลี้ยงสัตว์ได้ ส่วนในพื้นที่สูง จะสร้างติดดิน กันลม กันหนาว

  • วิถีการผลิต พี่น้องชาติพันธุ์ไม่ได้ใช้พื้นที่ถาวร เวลาตัดไม้ ก็ตัดไม่ให้ไม้ตาย มีวิธีเผาป่าในพื้นที่เพาะปลูกไม่ให้เกิดมลพิษ ตัดไม้ก็ต้องเกิดตอ การเลี้ยงสัตว์ ไม่มัด ไม่มีคอก เป็นการอ่านสัญญาณสัตว์ เรียนรู้กับสัตว์ เมื่อไรที่สัตว์หนี คนก็เตรียมตัวได้เลย  

  • การสำรวจภัยพิบัติตามวิถี เช่น การเลี้ยงสัตว์ตามป่า ปล่อย วัว ควาย หมู ปล่อยตามป่า ชาวบ้านก็ได้อาศัยการเดินตามหาสัตว์เลี้ยงตัวเอง เป็นการลาดตระเวนสำรวจภัยพิบัติไปในตัว เพื่อ ดูป่า ดูพื้นที่

“ที่บ้านห้วยหินลาดใน ทำไมเกิดเหตุการณ์น้ำป่าหลากขนาดนั้น แต่ไม่มีคนบาดเจ็บ เพราะก่อนเกิดเหตุมีชาวบ้านไปดูผึ้งป่า ไปเก็บชาในป่า พอเห็นว่ามีน้ำป่าก็รีบวิ่งมาตะโกนบอกคนในชุมชนได้ทัน นีเป็นภูมิปัญญา ที่มันเป็นแนวป้องกัน สามารถส่งสัญญาณ เป็นรหัสการเตือนภัยอีกแบบหนึ่ง ที่ได้มาจากวิถีการผลิต”

อาจารย์ชิ
บ้านห้วยหินลาดใน หลังถูกน้ำป่าไหลหลาก เมื่อวันที่ 23 ก.ย.67
  • การอ่านสัญญาณภัยพิบัติจากธรรมชาติ จากสรรพสิ่ง เช่น ต้นมะเดื่อ ดูที่ผลแล้วทำนายได้ว่าปีนี้น้ำจะเยอะหรือไม่ อย่างสัตว์ป่า เช่น ตัวแลน หรือตะกวด ดูที่หาง สีดำ สีเทา อยู่ตรงกลาง หรือต้น จะทำนายได้เลยว่าฝนจะมากน้อยช่วงไหน จะได้วางแผนตั้งรับ ต้องป้องกันช่วงไหน รวมถึงดูลม ดูการพัดใบไม้ ดูจากรังมดแดงต่าง ๆ ล้วนเป็นสัญญาณบอกเหตุภัยธรรมชาติได้ทั้งหมด

  • วิถีการหมุนเวียนโยกย้ายของพื้นที่การเกษตร ไม่ใช่แค่ไร่หมุนเวียน แต่บางครั้งหมุนเวียนโยกย้ายหมู่บ้าน เพื่อหลบหลีกหนีภัยพิบัติ โดยภูมิปัญญาการอพยพโยกย้ายช่วยป้องกันตัวเอง ป้องกันชุมชนได้ หมุนในอาณาบริเวณ ดูสัญญาณจากธรรมชาติ จากสัตว์ ถ้าได้ยินเสียงภูเขาสะอื้นก็ต้องอพยพแล้ว

  • ชาติพันธุ์มีระบบเยียวยาฟื้นฟู เช่น การเยียวยาอาหาร เมล็ดพันธุ์ที่เก็บรักษาเอาไว้ ถึงแร้นแค้นก็ไม่กลัว เพราะชาวบ้านเก็บรักษาเมล็ดพันธุ์เอาไว้ เป็นตัวชี้วัดการอยู่รอดของชุมชน ตัวชี้วัดความปลอดภัยการเผชิญภัยพิบัติ

ชุมชนชาติพันธุ์กับข้อจำกัดตั้งรับภัยพิบัติ

อาจารย์ชิ ยอมรับการตั้งรับภัยพิบัติด้วยภูมิปัญญาของชาติพันธุ์เหล่านี้กำลังค่อย ๆ ลดลง โดยมองว่า มาจากเงื่อนไขของสิทธิ และศักยภาพการเลือกพื้นที่ หรือรูปแบบบ้านเปลี่ยนไป ปัจจุบันชาวบ้านทำแบบเดิมไม่ได้ เพราะจะไม่ได้รับทะเบียนบ้าน เป็นหมูบ้านชั่วคราว ไม่มีความมั่นคง เลยต้องเปลี่ยนเป็นที่อยู่อาศัยถาวร พอเกิดเหตุก็ปรับตัวกับสภาพธรรมชาติที่เปลี่ยนไปไม่ได้

“บางชุมชนไม่ได้เข้าป่าเลย ไม่เห็นสัญญาณจากสัตว์ อ่านสัญญาณธรรมชาติไม่ออก รูปแบบการทำเกษตรก็เปลี่ยนไป การเลี้ยงสัตว์เปลี่ยน ไม่ได้อยู่ในสิทธิของชุมชน ทำให้มองไม่เห็นสัญญาณธรรมชาติ”

อาจารย์ชิ

นอกจากนี้สภาพภูมิอากาศเปลี่ยน ส่งผลกระทบชุมชนชาติพันธุ์ ฝนในปัจจุบันทำให้การคาดเดายากขึ้น ซับซ้อนขึ้น องค์ความรู้เดิมของชาติพันธุ์ใช้ไม่ได้กับปัจจุบัน ขณะที่วิถีก็เปลี่ยนไป วิถีการเกษตรทำระบบหมุนเวียนแบบเดิมไม่ได้ ต้องทำแต่แบบถาวร เลยมีความเสี่ยงที่ดินถล่ม น้ำสไลด์ เพราะทำแบบวิถีเดิม ๆ กฎหมายไม่อนุญาต เช่นเดียวกับการเรียนรู้ปรับตัว การยกระดับในการรับมือภัยพิบัติมีน้อย ภูมิปัญญาไม่ถูกถ่ายทอดสู่คนรุ่นใหม่ ทำให้หลายชุมชนอยู่แบบครึ่ง ๆ กลาง ๆ ความรู้เดิมไม่มี ส่วนองค์ความรู้ใหม่ก็ไปไม่ถึง ทำให้ช็อค ทำให้เกิดช่องว่างต่อการรับมือภัยพิบัติ

เล็งสร้าง ‘คณะทำงานรับมือภัยพิบัติสมัยใหม่’

อาจารย์ชิ ยังชี้ให้เห็นทางออก ย้ำว่า หากเป็นกรณีน้ำหลากปกติ ก็พอคาดเดาได้ แต่ถ้าหลากแบบมากับโคลนหนา ๆ ไม่รู้จะหาทางออกอย่างไร เพราะภัยเปลี่ยนสภาพ เปลี่ยนรูปแบบ ในเครือข่ายชาติพันธุ์จึงกำลังคิดถึงเรื่องของ คณะทำงานรับมือภัยพิบัติสมัยใหม่ เวลานี้กำลังฟอร์มทีม เพื่อป้องกัน ช่วยเหลือเยียวยา สร้างองค์ความรู้ใหม่ ให้พี่น้องเครือข่ายช่วยกันในอนาคต เพื่อสร้างการเรียนรู้ร่วมกัน ทำให้เห็นรูปแบบการรับมือภัยพิบัติทั้งในเมือง ทั้งคนพื้นที่สูง ให้สามารถใช้ชุดความรู้กลาง ๆ ได้ แต่ต้องมีชุดความรู้เฉพาะพื้นที่ด้วย

รศ.สุทธิศักดิ์ ศรลัมพ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านดินถล่ม

‘ห้วยหินลาดใน’ ปรากฎการณ์ภัยพิบัติที่ยากจะรับมือ

ขณะที่ รศ.สุทธิศักดิ์ ศรลัมพ์ ภาควิชาวิศวกรรมโยธา สาขาวิศวกรรมปฐพีและฐานราก คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ในฐานะผู้เชี่ยวชาญด้านดินถล่ม อธิบายปรากฎการณ์ที่เกิดชุมชนเกิดผลกระทบต่อเหตุกาณ์ดินสไลด์ โดยชวนให้สำรวจพื้นที่อยู่อาศัยของตัวเองก่อนว่า “ล่อแหลม” และ “เปราะบาง” หรือไม่ เพราะเชื่อว่ากระบวนการบุบสลายของภูเขา การถล่มลงมาเป็นกระบวนการทางธรรมชาติ บนยอดเขาสมมติมีชุมชนอยู่ด้านบน ฝนที่ตกหนัก น้ำก็จะหาที่ไหลลงมาตามร่องเขาร่องน้ำ ชาวบ้านบนที่สูงทราบดี ว่า จะกัดเซาะไปเรื่อย ๆ เกิดการกัดเซาะตามธรรมชาติ ฝนตกหนักต่อให้มีป่าไม้อุดมสมบูรณ์ยังไงก็ต้องพัง กรณีป่าไม้ที่ไม่สมบูรณ์ก็จะยิ่งเร่งกระบวนการพังให้เกิดเร็วขึ้น ฝนตกไม่หนักก็พังได้ ดิน น้ำป่าไหลลงมาได้

ส่วนกรณีบ้านห้วยหินลาดใน รศ.สุทธิศักดิ์ ให้ข้อมูลว่า พื้นที่รับน้ำของชุมชนเป็นเหมือนกะละมัง น้ำที่อยู่บนสันเขานำน้ำลงมา แต่พื้นที่รับน้ำในชุมชนเล็กมาก แค่ประมาณ 4 ตารางกิโลเมตร ถือว่าน้อยมาก แต่มีลำน้ำ 4 สาย ไหลเข้ามา จะเห็นว่าพื้นที่รับน้ำมีแค่เล็ก ๆ แต่ฝนอัดเข้าไป 200-300 มิลลิเมตร ก็ไหลทะลักถล่มไป ยังไงน้ำก็ลง

อาจารย์ชิ ยังตั้งคำถามถึงกระแสดรามาในเหตุการณ์น้ำป่าไหลหลากที่บ้านห้วยหินลาดใน ซึ่ง รศ.สุทธิศักดิ์ ให้คำตอบว่า จากประสบการณ์​ น้ำป่า ดินถล่มเกิดได้ไม่ว่าจะเป็นพื้นที่ป่าไม้สมบูรณ์ขนาดไหนก็เกิดได้ เมื่อฝนตกหนักระดับหนึ่งยังไงดินก็ไหล พร้อมทั้งยกตัวอย่างเปรียบเทียบ เช่นที่ เกาะที่จ.พังงา เป็นพื้นที่ป่าสมบูรณ์ไม่มีชุมชนอาศัยอยู่ ไม่มีที่ทำกิน แต่เมื่อเกิดฝนตกหนัก ก็ถล่มลงมา ก็พังได้ กรณีของขนอม พอพูดดินถล่ม คำถามคือดินถล่มจริงหรือไม่ เพราะเมื่อฝนตกหนักระดับหนึ่งน้ำก็ไหลลงไปตามร่องที่เกิดการกัดเซาะ เป็นทางน้ำ กรณีแบบนี้ไม่จำเป็นต้องมีดินสไลด์ลงมา ถ้าฝนตกหนัก ยังไงน้ำที่กัดเซาะก็ไหลลงมาได้

เมื่อถามว่ากรณีบ้านห้วยหินลาดในจัดการป่าได้ดี กับชุมชนที่ไม่จัดการป่า แตกต่างกันอย่างไร รศ.สุทธิศักดิ์ อธิบายโดยยกตัวอย่างถึงการคาดเข็มขัดนิรภัยขณะขับรถ

“หากขับด้วยความเร็วแค่ 40 – 60 ขับรถชน ก็อาจไม่ค่อยเป็นอะไร มีเข็มขัดนิรภัยช่วยเอาไว้ เข็มขัดนิรภัยก็เปรียบเหมือนรากไม้ที่คอยยึดดินเอาไว้ แต่ถ้าเมื่อไรที่รถชนเมื่อขับด้วยความเร็ว 180 ต่อให้คาดเข็มขัดนิรภัยยังไงก็ถึงตายได้ และหากไม่คาดเข็มขัดนิรภัยเลยบางทีขับแค่ 60 ก็คงตายโง่ ๆ ได้เลย เปรียบเทียบกันถ้าชุมชนไม่มีป่า ไม่ดูแลรักษาป่า สเตปถัดไปบริเวณลาดเขาก็จะมีดินไหลลงมาเต็มเลย”

รศ.สุทธิศักดิ์ ศรลัมพ์

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active