ภาคประชาสังคมเชียงราย ยื่น นายกฯ เร่งฟื้นเมือง วางมาตรการรับมือระยะยาว

เสนอจัดทำแผนฟื้นฟูเมืองระยะเร่งด่วน ให้ทันเปิดเมือง 1 พ.ย. นี้ เดินหน้าแผนฟื้นฟู เยียวยา ป้องกันภัยพิบัติในอนาคต ขณะที่ นายกฯ สั่งระดมทุกสรรพกำลังเคลียร์โคลน เผย​ จ่ายเงินเยียวยาแล้ว​ 3,000 ครัวเรือน​ ขณะที่ ก.คลัง เตรียมเสนอ Soft loan​ ฟื้นฟูกิจการ​ขนาดเล็ก​ -​ ซ่อมบ้าน​ วงเงิน​ 5 หมื่นล้าน​ พร้อมตั้ง ศปช. ส่วนหน้า ‘ธีรรัตน์’ นั่งบัญชาการในพื้นที่ ฟื้นฟูน้ำท่วมเหนือ

วันนี้ (27 ก.ย. 67) ผู้สื่อข่าว Thai PBS รายงานว่า แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี และคณะรัฐมนตรี ​เดินทางลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์หลังเกิดเหตุน้ำท่วม จ.เชียงราย

โดยทันทีที่นายกรัฐมนตรี ​และคณะ​ เดินทางมาถึง​ในเวลา​ 16.00 น. ได้ร่วมติดตามการแก้ไขปัญหาน้ำท่วม และดินโคลนถล่ม ณ ห้องประชุมท่าอากาศยานแม่ฟ้าหลวง ผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอร์เร้นท์​ ประชุมร่วมกับผู้ว่าราชการจังหวัดอีก​ 5 จังหวัด ที่ประสบอุทกภัยประกอบด้วย จ.ลำปาง, พะเยา, สุโขทัย, เชียงใหม่ และหนองคาย​

แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ประชุมระหว่างลงพื้นที่ จ.เชียงราย (ภาพ : ไทยคู่ฟ้า)

นายก​รัฐมนตรี​ กล่าวก่อนการประชุม ว่า​ ที่ผ่านมาได้ติดตามข้อมูลจาก ศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย วาตภัย และดินโคลนถล่ม​ (ศปช.) ทั้งในเรื่องน้ำท่วมและดินโคลนถล่ม ที่มีปัญหาอยู่ต่อเนื่อง และสั่งการกับผู้ที่เกี่ยวข้องเพื่อที่จะให้เข้ามาช่วยเหลือประชาชนโดยเร็วที่สุด รวมไปถึงการเยียวยาฟื้นฟูและการสาธารณสุขต่าง ๆ​ ที่ต้องตามมา

นอกจากยังมีการรับบริจาคเงิน และสิ่งของต่าง ๆ จากทางภาครัฐและเอกชน​ รวมไปถึงภาคประชาชน ต้องขอบคุณทุกภาคส่วน ที่ช่วยเหลือประชาชนกันอย่างเต็มความสามารถ ไม่ว่าจะขอความช่วยเหลือไปทางไหนก็ตามา​ ก็ได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี ทั้งปกครอง​ มั่นคง​ และอาสาสมัคร​ ทั่วประเทศ

นายกรัฐมนตรี ยังระบุด้วยว่า รัฐบาลเข้าใจถึงความเดือดร้อนของประชาชน เป็นอย่างดีไม่ว่าจะเป็นอิทธิพลของน้ำที่เข้ามาในพื้นที่เชียงราย ที่ค่อนข้างหนัก​ รวมถึงดินโคลนถล่ม เป็นสิ่งที่ประชาชนได้รับความลำบาก รัฐบาลได้มอบให้กระทรวงมหาดไทย เร่งรัดการจ่ายค่าเยียวยาให้กับประชาชน ที่ได้รับผลกระทบโดยเร็วที่สุด ซึ่งได้รับรายงานว่า มีบางส่วนได้รับเงินเยียวยาไปแล้วกว่า 3,000 ครอบครัว และหลังจากนี้จะค่อย ๆ พิจารณาตามความเหมาะสม และมีอีกหลายครอบครัวที่ได้รับผลกระทบ​ พร้อมกับชื่นชมเจ้าหน้าที่ที่สำรวจความเสียหายที่ใช้เวลาน้อยกว่า 24 ชั่วโมง

ส่วนพื้นที่ที่ดินโคลนติดค้างในบ้านเรือนได้ระดมสรรพกำลังจากทุกภาคส่วน แบ่งโซนความรับผิดชอบ​ เพื่อความทั่วถึงและชัดเจน ว่าส่วนใดได้รับการดูแลไปแล้วบ้าง และมอบหมายให้กระทรวงมหาดไทย​ กรม​ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) และผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย​ เป็นผู้ขับเคลื่อนในการแก้ไขปัญหาให้แล้วเสร็จ พร้อมขอให้ส่วนราชการอื่น ๆ สนับสนุนเครื่องจักรและเครื่องมือ​ อัตรากำลังพล เพื่อแก้ไขปัญหาอย่างเต็มกำลัง และขอบคุณทางกรุงเทพฯ ที่ส่งเครื่องจักรมาให้​ ในการช่วยเหลือกำจัดดิน

ขณะที่กระทรวงการคลัง เตรียมเรื่องซอฟท์โลน สำหรับการฟื้นฟูกิจการ และซ่อมแซมที่อยู่อาศัย​ รวมวงเงิน 50,000 ล้านบาท โดยมีเป้าหมายกลุ่ม Micro SME ขึ้นไป​ รวมไปถึงบุคคลธรรมดา และการกระทรวงพาณิชย์ได้มีการเตรียมอุปกรณ์ทำความสะอาดและซ่อมแซมให้กับผู้ประสบภัยจำนวนมาก​ รวมถึงสินค้าธงฟ้าในราคาประหยัด​ เพื่อให้ประชาชน สามารถซื้อสินค้าอุปโภคบริโภคที่จำเป็นได้ สำหรับประชาชนในพื้นที่จังหวัดอื่นๆที่ยังมีน้ำท่วม รัฐบาลมีความห่วงใยประชาชน ไปถึงผู้ว่าราชการจังหวัดร่วมประชุมในครั้งนี้เพื่อสรุปสถานการณ์​ หาแนวทางเยียวยาฟื้นฟูต่อไป​

ขณะที่ ภูมิธรรม​ เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ในฐานะ​ผู้อำนวย​การ ศปช.​ ได้เสนอให้ตั้ง ศปช. ส่วนหน้าในพื้นที่ภาคเหนือ โดยส่งให้รัฐมนตรีมาประจำอยู่ในพื้นที่​ จึงเสนอ​ ธีรรัตน์​ สำเร็จวานิช​ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย มาอยู่​ประจำในพื้นที่ เพื่อประสานงานและเร่งรัดการช่วยเหลือในทุกด้าน

ภาคประชาสังคมเชียงราย ยื่นข้อเสนอเร่งฟื้นเมือง-วางมาตรการรับมือภัยพิบัติระยะยาว

จากนั้น นายกรัฐมนตรี ได้เดินทางไปที่หอประชุมโรงเรียนเทศบาล 6 อ.เมืองเชียงราย เพื่อมอบเงินเยียวยาและให้กำลังใจผู้ประสบภัย โดยตัวแทนองค์กรภาคประชาสังคม ชุมชน นักวิชาการ ภาคธุรกิจและผู้ที่ได้รับผลกระทบใน จ.เชียงราย นำโดย เตือนใจ ดีเทศน์ อดีตสมาชิกวุฒิสภาคนแรกจากการเลือกตั้ง จ.เชียงราย ได้ยื่นข้อเสนอต่อนายกรัฐมนตรี เร่งฟื้นฟู เยียวยา และป้องกันภัยพิบัติ จ.เชียงราย

เตือนใจ ดีเทศน์ ตัวแทนภาคประชาสังคมเชียงราย ยื่นข้อเสนอต่อนายกรัฐมนตรี

โดยจากการหารือขององค์กรภาคประชาสังคม ชุมชน นักวิชาการ ภาคธุรกิจและผู้ที่ได้รับผลกระทบใน จ.เชียงราย ส่วนหนึ่ง มีข้อเสนอเบื้องต้นต่อนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการอำนวยการและบริหารสถานการณ์อุทกภัย วาตภัย และดินโคลนถล่ม (คอส.) และ รองนายกฯ ภูมิธรรม ในฐานะ ผอ.ศปช. ดังนี้

เหตุการณ์ภัยน้ำหลากถล่มเมืองเชียงราย เมื่อเดือนกันยายน 2567 ซึ่งเป็นปรากฏการณ์แบบสุดขั้ว (extream weather) กลายเป็นหายนะที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน น้ำกกไหลบ่าเข้าสู่บ้านเรือนในชั่วเวลาอันสั้น ประชาชนไม่มีเวลาได้เตรียมตัว เมื่อน้ำลดลง ทิ้งไว้คือโคลนและเศษซากปรักหักพัง เปรียบเสมือนสึนามิน้ำจืด สื่อมวลชนบางสำนักข่าวเรียกว่าสึนามิโคลน ซึ่งเป็นความเสียหายที่แสดงให้เห็นถึงภัยพิบัติที่รุนแรงขึ้นเรื่อยๆ ดังนั้นการดำเนินการทั้งเรื่องป้องกัน เยียวยาและฟื้นฟูจึงไม่สามารถใช้แนวทางเดิมเช่นเดียวกับปัญหาน้ำท่วมทั่วๆ ไปแบบที่ผ่านมาได้

ในการประชุมของภาคส่วนต่างๆ ในจังหวัดเชียงราย 2 ครั้งได้ข้อสรุปและข้อเสนอในเบื้องต้นต่อรัฐบาลดังนี้
 

  1. ภาคเอกชนเสนอให้ วันที่ 1 พฤศจิกายน 2567 เป็นวันเปิดเมืองเชียงราย โดยกว่า 1 เดือนที่เหลือให้ใช้เร่งเก็บขยะ-โคลน และเศษซากความเสียหายต่างๆออกให้แล้วเสร็จ และเริ่มต้นฟื้นฟูการท่องเที่ยว และภาคเศรษฐกิจของจังหวัดเชียงราย

  2. ออกมาตรการในการฟื้นฟูภาคธุรกิจและเอกชน ทั้งรายใหญ่และรายย่อย เช่น ด้านภาษี สินเชื่อ การยกเว้นจ่ายเงินสมทบประกันสังคม ทั้งในส่วนของนายจ้างและลูกจ้าง นอกจากนี้ควรมีมาตรการการดูแลลูกจ้างทั้งแรงงานชาวไทยและแรงงานข้ามชาติซึ่งเป็นกำลังสำคัญในการฟื้นฟูและพลิกฟื้นเศรษฐกิจของเมืองเชียงราย

  3. จัดตั้งศูนย์บัญชาการการฟื้นฟูในพื้นที่อย่างเร่งด่วน จัดการความร่วมมือระหว่างภาครัฐและชาวเชียงรายทุกภาคส่วน ทั้งนักวิชาการ ภาคเอกชน ประชาสังคม สร้างการสื่อสารระหว่างศูนย์แห่งนี้และชาวเชียงราย โดยมีการรายงานความคืบหน้าการฟื้นฟู เยียวยาทั้งภาพรวมของการปฏิบัติการ และรายพื้นที่ มีระบบ Data Center- One Chiang Rai

  4. กำหนดให้เชียงรายเป็นจังหวัดต้นแบบของการรับมือภัยพิบัติ ที่จะมีการติดตามการเกิดภัยตลอดทั้งปี โดยเป็นศูนย์เรียนรู้ทั้งภายในประเทศ และ ภัยพิบัติข้ามพรมแดน
  • จังหวัดต้องทำแผนที่เสี่ยงภัยทุกชนิดในพื้นที่ ทั้งน้ำหลาก ดินถล่ม ฯลฯ และมีการวางแผนตลอดทั้งปี

  • มีศูนย์เตือนภัยระดับ ชุมชน (Buttom Up) และมีการเตรียมความพร้อมของชุมชน
  1. รัฐต้องประสานความร่วมมือกับประเทศเพื่อนบ้าน ในการร่วมแก้ปัญหาภัยข้ามพรมแดน

  2. จัดทำระบบเตือนภัยล่วงหน้า realtime แจ้งเตือนผ่านโทรศัพท์มือถือและช่องทางอื่น ใช้ภาษาและรูปแบบที่ประชาชนในพื้นที่เสี่ยงภัยเข้าใจได้ง่าย

  3. มีมาตรการฟื้นฟูผู้ประสบภัยอย่างเร่งด่วน จัดตั้งกองทุนฟื้นฟูอาชีพ มีข้อมูลการให้ความช่วยเหลือที่มีประสิทธิภาพ เข้าถึงทุกกลุ่มเป้าหมาย ไม่ซ้ำซ้อน

  4. จัดทำแผนจัดการเมืองเชียงรายในระยะกลาง ผังเมืองการใช้พื้นที่ zoning พื้นที่รับน้ำ พื้นที่เสี่ยงภัย และกำหนดแบบแปลนสิ่งก่อสร้างที่เหมาะสมสอดคล้องกับอุทกภัยที่อาจเกิดขึ้นได้อีก


    ข้อเสนอแผนฟื้นฟูเมืองเชียงราย ในระยะเร่งด่วน


    1. จัดจ้างรถตักและจัดการตักและขนขยะน้ำท่วม โคลนออกจากถนนและซอยในชุมชนออกให้เร็วที่สุด ซึ่งการจัดการขยะในครั้งนี้เกินกำลังองค์กรท้องถิ่นที่จะรับมือได้ ให้มีการจัดการขยะหลังน้ำท่วมในรูปแบบการบูรณาการเชิงพื้นที่อย่างเป็นระบบ ตั้งแต่การคัดแยกขยะ การเก็บขน การนำไปกำจัดให้ถูกต้อง

    2. จัดส่งรถน้ำล้างถนน ซอย และบ้านเรือนประชาชนเพื่อให้ถนนปลอดโคลน ฝุ่น และทำให้ประชาชนมีบ้านและที่พักอาศัยสะอาด ปลอดภัยต่อสุขภาพ

    3. พิจารณามาตรการเยียวยาผู้ประสบภัยพิบัติน้ำท่วมดินโคลนถล่มเป็นกรณีพิเศษต่างจากอุทกภัยทั่วไป (การชดเชยความเสียหายของทรัพย์สิน, และการสูญเสียรายได้)

    4. จัดตั้งศูนย์บัญชาการการฟื้นฟูในพื้นที่ (มีแถลงการณ์ภายในจังหวัด ถึงความคืบหน้าการฟื้นฟู// สร้างระบบการสื่อสาร ทั้งภาพรวมของการปฏิบัติการ และ รายพื้นที่ )

    5. สำรวจผู้ได้รับผลกระทบและชดเชยเยียวยาให้ทั่วถึง (พิจารณากลุ่มผู้ตกหล่นที่ได้รับความเสียหายแต่ไม่อยู่ในเกณฑ์ที่ได้รับการชดเชย เช่น ผู้เช่าที่อยู่อาศัย หอพัก เป็นต้น)

    6. จัดการโคลนเพื่อให้ประชาชนกลับคืนสู่ที่พักอาศัย และระบบบำบัดน้ำเสีย

    7. จัดทำ zoning พื้นที่ในการจัดการ อาทิ สีแดงพื้นที่วิกฤติ เช่น กลุ่มตลิ่งทรุด ตัวอาคารได้รับความเสียหายร้ายแรง, สีส้มพื้นที่ต้องใช้เครื่องจักรเข้าไปดำเนินการ เช่น กำจัดโคลนและขยะ, สีเหลืองกลุ่มผู้ต้องได้รับความช่วยเหลือเป็นพิเศษในการฟื้นฟูบ้าน เช่น บ้านที่มีผู้สูงอายุ

    8. เร่งฟื้นฟูสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน (ระบบประปา, คุณภาพน้ำ,ไฟฟ้า, ถนน, สะพาน ฯลฯ)

    9. ตรวจสอบโครงสร้างความแข็งแรงของอาคาร รวมถึงระบบไฟฟ้าในชุมชนผู้ประสบภัยพิบัติ

    10. วางแผนการจัดการลุ่มน้ำภายในประเทศในพื้นที่อื่นที่ข้ามเขตการปกครองระดับจังหวัดร่วมกัน ทั้งในเขื่อน อ่างเก็บน้ำ ประตูระบายน้ำ ปริมาณฝน เพื่อวางแผนเตือนภัยและรับมือกับน้ำท่วม

    11. เร่งเจรจากับเมียนมาเรื่องระบบแจ้งเตือนภัยและการให้ความช่วยเหลือร่วมกัน

    12. ให้จังหวัดเชียงรายขออนุมัติงบประมาณจัดสรรเพื่อการฟื้นฟูเมืองเชียงรายเป็นกรณีพิเศษ

     
    ระยะกลาง

    1. ถอดบทเรียนน้ำท่วม โดยมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของภาครัฐ นักวิชาการ ภาคประชาสังคม และประชาชนร่วมกัน แบ่งเป็นการจัดการระดับชาติ การจัดการระดับลุ่มน้ำ และระดับท้องถิ่น/ชุมชน

    2. พัฒนาระบบแจ้งเตือนภัยอุทกภัยให้ตรงกลุ่มผู้ประสบภัย พร้อมทั้งบอกวิธีการรับมือ เช่น ปริมาณและระดับน้ำที่จะมา การระบายน้ำ ระยะเวลาท่วมขัง  รวมถึงพื้นที่เสี่ยงต่อภัยพิบัติดินโคลนถล่ม และการเสริมสร้างขีดความสามารถของผู้นำชุมชนและประชาชนในการรับมือกับภัยพิบัติ

    3. จัดตั้งหน่วยงานสำรวจจัดทำแผนที่ “ความเปราะบาง” ในการเกิดภัยพิบัติ ในระดับจังหวัดร่วมกับชุมชน และกำหนดจุดปลอดภัยในการอพยพหรือรวมพล

    4. สำรวจพื้นที่รุกล้ำลำน้ำ พื้นที่ระบายน้ำ (แก้มลิง) พื้นที่เสี่ยงดินโคลนถล่ม และกำหนดมาตรการในการป้องกัน

     
    ระยะยาว

    1. พิจารณางบประมาณสนับสนุนทางด้านเทคโนโลยีและศักยภาพของผู้ใช้งาน ด้านการช่วยเหลือกรณีเกิดภัยพิบัติ เช่น โดรนส่งอาหาร อุปกรณ์บังคับระยะไกลสำหรับการเข้าช่วยเหลือในพื้นที่อันตราย

    2. ด้านการจัดการข้อมูลเพื่อรับมือกับภัยพิบัติ

    3. พัฒนาระบบการแจ้งเตือนภัย

    4. ระบบการแจ้งข้อมูลขอรับการช่วยเหลือเร่งด่วนในช่วงประสบภัยพิบัติและส่งต่อข้อมูลไปยังผู้ให้ความช่วยเหลือ และการตรวจสอบว่าการช่วยเหลือไปถึง

    5. ระบบข้อมูลอุปกรณ์ในการให้ความช่วยเหลือและการประสานงานระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการอนุมัติเครื่องมือและอุปกรณ์มาช่วยเหลือในช่วงเร่งด่วน และมีการอนุมัติการใช้งบกลางของระดับจังหวัดในการสนับสนุนค่าเชื้อเพลิงและค่าใช้จ่ายอื่น เช่น เรือที่มีประสิทธิภาพสูงในการเข้าไปช่วยพื้นที่อันตราย

    6. ด้านการจัดการข้อมูลสิ่งของบริจาคให้ตรงกับผู้ต้องการและทั่วถึง

    • สนับสนุนการวิจัยและการศึกษาด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมในการรับมือกับภัยพิบัติ
    • การถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านการจัดการและรับมือกับภัยพิบัติไปยังทุกกลุ่ม และซักซ้อมแผนรับมือ
    • การจัดการผังเมืองและมาตรการในการป้องกันการรุกล้ำ รวมถึงการอนุญาตให้สร้างสถานที่ราชการในบริเวณที่เปราะบาง
     
    ทั้งนี้ จะมีการดำเนินการรับฟังความเห็นและข้อเสนอแนะจากภาคส่วนต่างๆ ในเชียงรายต่อไป เพื่อจัดทำข้อเสนอที่สมบูรณ์ยิ่งขึ้นในทุกมิติ ทั้งด้านศาสนา ศิลปวัฒนธรรม สุขภาพกาย สุขภาพจิตของประชาชนในเชียงราย

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active