วอน นายกฯ ส่งคนนั่งบัญชาการ งานฟื้นฟูเชียงราย

‘ผอ.มูลนิธิกระจกเงา’ ย้ำ ต้องหาคนนั่งหัวโต๊ะ เคาะ พร้อมวางแผนในพื้นที่ไม่ต่ำกว่า 2 สัปดาห์ เพราะปัญหายังหนักต้องรีบแก้ ชี้ ชุมชนตกหล่นอีกเพียบ เผย ชวน ‘ผู้ว่าฯ ชัชชาติ’ ให้คำแนะนำงานท่อระบายน้ำ ขณะที่ ว่าที่ ปลัด มท. ลงพื้นที่แม่สาย บูรณาการร่วมกับหลายส่วน แก้ปัญหา ยกระดับฟื้นฟู จ.เชียงราย

จากกรณีที่นายกรัฐมนตรี ระบุหลังการประชุม ครม. ว่า ได้มอบหมายให้ว่าที่ปลัดกระทรวงมหาดไทย ลงพื้นที่ไปดูแลปัญหาที่เชียงรายแล้ว แต่ยังไม่ชัดเจนว่าจะถึงขั้นให้ อรรษิษฐ์ สัมพันธรัตน์ อธิบดีกรมการปกครอง และว่าที่ปลัดกระทรวงมหาดไทยคนใหม่ เป็นผู้บัญชาการฟื้นฟูภัยพิบัติที่เชียงรายหรือไม่ ขณะที่นายกฯ ก็เตรียมลงพื้นที่เชียงราย เชียงใหม่ ในวันที่ 27 ก.ย. 67

ล่าสุด เมื่อช่วงบ่ายวันนี้ (26 ก.ย.67) อรรษิษฐ์ สัมพันธรัตน์ อธิบดีกรมการปกครอง และ ว่าที่ปลัดกระทรวงมหาดไทย รับมอบคำสั่ง จากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ลงพื้นที่ จ.เชียงราย พร้อมกับ คณะทำงานกรมการปกครอง, ปลัดอำเภอแม่สาย, นายอำเภอแม่สาย, นายกเทศมนตรีตำบลแม่สาย, รองอธิบดี ปภ. และอีกหลายหน่วยงาน ลงสำรวจเส้นทางชุมชนที่ได้รับผลกระทบใน อ.แม่สาย จ.เชียงราย โดยสำรวจเส้นทางเดียวกันกับที่ นายกรัฐมนตรี ผ่าน ชุมชนเกาะทราย โดยประเมินว่า สถานการณ์ยังไม่คลี่คลาย ยังต้องเร่งระดมสรรพกำลังจากส่วนกลาง เข้ามาเร่งแก้ปัญหาที่หนักในพื้นที่ เพราะเกินขีดความสามารถของจังหวัด

อรรษิษฐ์ สัมพันธรัตน์ อธิบดีกรมการปกครอง และ ว่าที่ปลัดกระทรวงมหาดไทย

เบื้องต้นประเมิน ว่า จะต้องระดมกำลังพล อส. หรือ กองอาสารักษาดินแดน กรมการปกครอง มาเพิ่มที่ จ.เชียงราย หลังจากนี้จะต้องรวบรวมข้อมูลว่า มีรถ เครื่องจักรทั้งรัฐ และเอกชนอยู่ตรงไหนบ้าง โดยเฉพาะ รถขุดโคลน จากทั่วประเทศมาที่จังหวัดเชียงราย

เช่นเดียวกับ การจ่ายเงินเยียวยาให้กับพี่น้องประชาชน โดยจากการหารือ พร้อมที่จะโอนเงินให้กับประชาชนได้ทันทีซึ่งเป็นความตั้งใจของนายกรัฐมนตรี

“ต่อจากนี้ ปลัด มท. จะทำงานร่วมกับ ผู้ว่าราชการจังหวัด บัญชาการส่วนหน้า เพื่อรายงานสถานการณ์ถึง นายกรัฐมนตรีได้โดยตรง และยืนยัน เวลา 6 เดือนนั้น นานเกินไป จะต้องเร่งให้เร็วขึ้น ภายใน 3 เดือน เพื่อบรรเทาความเดือนร้อนของประชาชน”

อรรษิษฐ์ สัมพันธรัตน์

ส่วนการบัญชาการหลังจากนี้ จะเป็นไปตาม พ.ร.บ.ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย โดยมี ปลัด มท. ในฐานะเป็น “รองผู้บัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ” บัญชาการสถานการณ์อย่างแท้จริง เพราะเกินกำลังท้องถิ่น มีอำนาจในการประสานงานกับทุกภาคส่วน ให้สามารถขับเคลื่อนให้งานเดินหน้าได้เร็ว มีคนสั่งการ และผู้รับผิดชอบชัดเจนไม่เกิดปัญหาต่างคนต่างทำ

สำหรับวันพรุ่งนี้ (27 ก.ย. 67) แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี พร้อมด้วย รมว.กระทรวงคมนาคม, มหาดไทย และ ว่าที่ ปลัด มท. จะลงพื้นที่มาอีกครั้ง เพื่อบูรณาการการทำงานร่วม ผู้ว่าราชการจังหวัด และท้องถิ่น จ.เชียงราย ต่อไป

ผอ.กระจกเงา ขอคนนั่งหัวโต๊ะ บัญชาการหลักฟื้นฟูเชียงราย

ขณะเดียวกัน สมบัติ บุญงามอนงค์ ผู้อำนวยการมูลนิธิกระจกเงา เปิดเผยกับ The Active โดยมองว่า ถ้าจะให้การฟื้นฟู จ.เชียงราย สำเร็จ เร่งคืนชีวิต สังคม เศรษฐกิจให้กลับคืนมาให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด จะต้องมีผู้บัญชาการหลัก ที่เป็นทั้งทางพฤตินัย และนิตินัย คนเดียวกันอยู่ในพื้นที่ และสามารถสื่อสารตรงถึงนายกรัฐมนตรีได้ แต่ตอนนี้ยังไม่เห็นผู้บัญชาการหลักที่มองภาพทั้งหมดได้ในพื้นที่ ที่มี 2 สถานะที่ว่า เพราะบางคนอาจจะมีสถานะทางพฤตินัย แต่ทางนิตินัยไม่ได้ และก็มีแนวโน้มที่จะเปลี่ยนตัวละคร เพราะถ้าทางหน่วยงานถอนกำลังก็จบ

ผอ.มูลนิธิกระจกเงา ยังคิดว่า ควรมีคนที่ นายกฯ ส่งตรงมา และก็อย่างที่ทราบกันว่าเป็นช่วงคาบเกี่ยวระหว่างการเปลี่ยนผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย ที่กำลังเกษียณ และเชียงรายมีพื้นที่ที่เกิดเหตุหลายพื้นที่ ในขณะที่แม่สายยังหนัก เป็นสเกลที่ใหญ่และซับซ้อนมาก ถึงวันนี้ก็ยังเดินหน้าได้ระดับนึงเท่านั้น ยังไม่ใกล้เคียงกับสิ่งที่เรียกว่าการฟื้นฟูสำเร็จ

สมบัติ บุญงามอนงค์ ผู้อำนวยการมูลนิธิกระจกเงา

“จำเป็นต้องมีทรัพยากร และทรัพยากรนั้นจะมาได้ก็ต่อเมื่อ มีคนสายตรงของนายกประจำการอยู่ในพื้นที่ และวิเคราะห์ขาดว่าต้องการทรัพยากรอะไรเพิ่มเติม และ เรียนถึงผู้มีอำนาจสูงสุดเพื่อที่จะสั่งการให้ จัดสรรทรัพยากรให้มาฟื้นฟู พื้นที่แม่สายได้อย่างสมส่วนครับ“

สมบัติ บุญงามอนงค์

สมบัติ ยังย้ำว่า หากเป็นผู้บัญชาการในพื้นที่ ตามกลไกราชการที่มีอยู่ ก็จะบัญชาการได้ภายใต้ทรัพยากรที่มีอยู่ในพื้นที่ ไม่สามารถขอการสนับสนุนจากภายนอกได้ อันนี้จึงเป็นช่องว่างที่ต้องมีคนที่ใหญ่กว่าคนในพื้นที่มาลง ส่วนตัวคิดว่าอาจต้องมีรัฐมนตรีสักคน หรืออาจเป็นรัฐมนตรีช่วยฯ ก็ได้ มาปักหลักอยู่สัก 2 อาทิตย์ หรือสักหนึ่งเดือน เพื่อให้การฟื้นฟูมีประสิทธิภาพ และก็สามารถรายงานตรงกับนายกฯ ได้ว่า ถ้าจะแก้ปัญหานี้ ให้รวดเร็วขึ้นจะต้องทำอย่างไร

ผอ.มูลนิธิกระจกเงา ยังระบุถึงความคืบหน้าของการช่วยเหลือฟื้นฟูทีมอาสาสมัครล้างบ้านมูลนิธิกระจกเงา ซึ่งอาสาสมัครทีมล้างบ้าน จะเน้นใช้แค่เครื่องมือที่ไม่ซับซ้อนนัก เช่น ใช้ปั้มน้ำ ใช้แรงงานเข้าไปทำงานในบ้าน แต่ขณะที่ล้างบ้าน ในบ้านนั้น พบว่า มีอุปสรรคนอกบ้าน คือ ตามถนน หรือซอย ซึ่งมีโคลนหนา หากไม่มีการเคลียร์ออกไป จะไม่สามารถ เอาโคลนจากในบ้านออกมาข้างนอกได้ และก็จะไหลกลับเข้าไปในบ้านอีก ซึ่งมีความยากมาก จึงยังมีหลายชุมชน ที่อยู่ตามตรอกซอกซอยเล็ก ยังเข้าไม่ถึงการช่วยเหลือตรงนี้เยอะพอสมควร

“ภารกิจของเครื่องจักรใหญ่น่าจะอยู่ช่วงท้ายแล้ว เพราะถนนเส้นหลัก ๆ ที่มีขนาดใหญ่ รถใหญ่ได้เข้าไปเคลียร์แล้ว ทีนี้เหลือซอยย่อยมหาศาลเลย นับอาจจะเป็น 100 ซอย ที่รถใหญ่ เข้าไม่ได้ แล้วโคลนก็หนามากเลย แล้วมันทำให้ไม่สามารถเข้าไปฟื้นฟูบ้านที่อยู่ในซอยย่อยได้“

สมบัติ บุญงามอนงค์

เทียบเชิญ ผู้ว่าฯ ชัชชาติ ให้คำแนะนำ จัดการท่อระบายน้ำ หลังน้ำลด

ผอ.มูลนิธิกระจกเงา เปิดเผยว่า ล่าสุด ชัชชาติ สิทธิพันธ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร โทร.มาหลังจากที่ส่งรถดูดโคลนมา 2 คัน ก็พูดถึงเครื่องจักร เช่น รถแบคโฮ ตนจึงบอกว่า รถของ กทม. มีขนาดใหญ่ไป ตอนนี้ที่ต้องการแค่รถเล็ก ผู้ว่าฯ ชัชชาติ ตอบรับทันที ว่าจะหาทาง ประสานกับภาคเอกชน ที่มีรถเหล่านี้จำนวนมาก เพื่อระดมมาพื้นที่ เพราะยังขาดอยู่ไม่ต่ำกว่า 50 คัน ขณะเดียวกัน กทม. จะส่งรถดูดโคลนมาเพิ่มอีก 1 คัน และส่งรถฉีดน้ำ รวมถึงบรรทุกน้ำขึ้นมาด้วย

แต่อีกเรื่องสำคัญมาก ๆ คืองานเส้นเลือดฝอย ระบบท่อระบายน้ำต่าง ๆ จึงขอออกบัตรเชิญ ผู้ว่าฯ ชัชชาติ อีกครั้ง มาในฐานะคนที่เห็นว่า มีความเข้าใจในเรื่องเส้นเลือดฝอยในระบบท่อระบายน้ำ

“สำคัญจริง ๆ เรื่องท่อระบายน้ำ หลังจากที่เราล้างบ้าน ขุดโคลน งานจบคืองานท่อระบายน้ำ ซึ่งไม่มีใครที่จะเชี่ยวชาญ เท่ากับ ผู้ว่าฯ ชัชชาติ แล้วใน กทม. แต่ผมได้เรียนเชิญ ท่านผู้ว่าฯ ชัชชาติ มาแล้ว ก็ยังแบ่งรับแบ่งสู้ อาจจะกลัวโดนตำหนิว่า ทำไมไปยุ่งงานจังหวัดอื่น ผมบอกว่า จริง ๆ คือการช่วยเหลือ อาจจะไม่ต้องลงมาถึงขั้นมาทำงาน แต่เป็นการลงมาให้คำแนะนำหน่อย“

สมบัติ บุญงามอนงค์

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active