ถามหา งบฯ ฟื้นฟูน้ำท่วมเชียงราย แค่เงินเยียวยา ไม่พอ!

วงหารือหลายภาคส่วนในเชียงราย จี้ รัฐต้องเห็นความสำคัญมากกว่านี้ เร่งแก้ปัญหาอย่างเป็นระบบ ทั้งฟื้นฟูเฉพาะหน้า วางมาตรการรับมืออนาคต ย้ำ เยียวยา ช่วยเหลือต้องไม่ใช้งบฯ ช่วยน้ำท่วมปกติ หวังร่วมกันพลิกวิกฤต เป็นโอกาสรับมือภัยพิบัติภาคเหนือ

เมื่อวันที่ (24 ก.ย. 67) ในวงหารือ เสียงชาวเชียงรายหลังภัยพิบัติน้ำท่วมใหญ่เมืองเชียงราย ที่นำคุยโดย เตือนใจ ดีเทศน์ ผู้ก่อตั้งมูลนิธิพัฒนาชุมชนและเขตภูเขา และอดีตกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ย้ำว่า เหตุการณ์ภัยพิบัติ น้ำท่วม ดินโคลนถล่มใน จ.เชียงราย เป็นสถานการณ์ที่ใหญ่ และหนัก เหมือนกับสึนามิ ซึ่งไม่เคยเกิดขึ้นที่ไหนมาก่อน รัฐบาลควรให้ความสำคัญสถานการณ์ภัยพิบัติที่ใหญ่หลวงครั้งนี้

ตอนนี้รายงานของ ปภ.เชียงราย ก็พบว่ากระทบมากถึง 11 อำเภอ พื้นที่เป็นแสนไร่ และความเสียหายมหาศาลมาก แต่ คณะรัฐมนตรี (ครม.) กลับตั้งงบฯ ไว้ 3,000 ล้านบาท จึงมีคำถามว่าเป็นไปได้อย่างไร เพราะความเสียหายขนาดนี้ หรือแม้การลงมาเยี่ยมของ แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้อง ควรจะมาอย่างมีหลักการว่า รัฐบาลจะช่วยแก้ไขอย่างไรให้ทันกับสถานการณ์ที่เป็นอยู่เฉพาะหน้า การฟื้นฟูเยียวยา ชดเชยค่าเสียหาย รวมทั้งแผนระยะยาว ต้องดูสาเหตุเลย

เตือนใจ ระบุด้วยว่า อย่างที่นักวิชาการชี้ ควรทำความร่วมมือกับประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งต้นน้ำแม่สาย แม่กก ไม่รู้ต้นน้ำเป็นอย่างไร ไม่เหมือนกับแม่น้ำโขง ที่มีองค์กรเกาะติดมาอย่างต่อเนื่อง แต่สายอื่น อย่างแม่น้ำลาว แม่น้ำแม่สรวย และอีกหลายสายยังไม่มีตรงนี้

“เวทีวันนี้จะให้ข้อเสนอกับรัฐบาล เป็นมาตรการเร่งด่วน และมาตรการระยะกลาง ระยะยาว และคิดว่าเราต้องการเทคโนโลยี นวัตกรรมที่ต้องแก้ปัญหาโดยเฉพาะขยะและโคลน แค่มองไปสองข้างทางเรายังเห็นโคลนและถุงขยะสีดำเต็มไปหมด เราจะจัดการอย่างไร “

เตือนใจ ดีเทศน์

เตือนใจ บอกอีกว่า ได้คุยกับอธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ก็ขอความช่วยเหลืออย่างเร่งด่วนว่าจะมีนวัตกรรม เทคโนโลยี อย่างไรที่จัดการถึงถุงขยะเหล่านี้ จะทิ้งโดยไม่จัดการไม่ได้ และการจัดการภัยพิบัติทั้งหลายต้องมีแผนระยะยาว เช่น โคลนถล่มเพราะอะไร เป็นเพราะระบบการปลูกพืชที่ไม่สอดคล้องกับระบบนิเวศหรือไม่ ก็คุยกันว่า การปลูกยางพาราในพื้นที่ต้นน้ำลำธารที่มีความลาดชันสูง รวมทั้งข้าวโพด ซึ่งอายุสั้นเชิงเดี่ยว อันนี้ต้องแก้ไขอย่างดีวนที่สุด แล้วก็ภาคธุรกิจที่ส่งเสริมชาวบ้านจะต้องออกมารับผิดชอบ

“เมื่อประชาชนได้รับผลกระทบ ระบบนิเวศโดยรวมของประเทศเสียหายขนาดนี้ ภาคธุรกิจจะอยู่เฉย ๆ ได้อย่างไร ท่านเป็นผู้สร้างปัญหา โดยหลักการผู้สร้างปัญหา ต้องเป็นผู้ชดเชยเยียวยาและรับผิดชอบด้วย”

เตือนใจ ดีเทศน์

ซัดเสียหายหนัก เพราะ ‘ระบบเตือนภัย’ ไร้ประสิทธิภาพ

ขณะเดียวกันมีเสียงสะท้อนจากอาสาสมัคร ตัวแทนชาวบ้าน ภาคประชาชน เอกชน รวมถึง นักวิชาการ ซึ่งเป็นทั้งผู้คอยให้ความช่วยเหลือ และผู้ประสบภัยเองด้วย ต่างเห็นตรงกันว่า ปัญหาสำคัญที่ทำให้เกิดความเสียหายหนัก โดยไม่มีการย้ายข้าวของอพยพได้ทัน และติดอยู่ในพื้นที่น้ำท่วมกันจำนวนมาก มาจากกการไม่มีระบบเตือนภัยที่มีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะบนพื้นที่ห่างไกลบนดอย หรือชุมชนชาติพันธุ์ในพื้นที่สูง ทำให้เตรียมตัวไม่ทัน เสียหายหนักบ้านหายเป็นหลัง

และเมื่อน้ำลด ซึ่งเกิดปัญหาใหญ่ที่ต้องจัดการในเวลานี้ ทั้งดินโคลนที่บางจุดสูงและหนามาก และขยะจากข้าวของที่เสียหาย ซึ่งการจัดการแก้ปัญหาท้องถิ่นทำอย่างเต็มที่ แต่เกินกำลังของท้องถิ่นและประชาชนในพื้นที่ ต้องอาศัยทรัพยากร ทั้งคน เครื่องจักรที่ให้เพียงพอกับขนาดของปัญหา แต่กลับไม่มีเห็นการสั่งการ หรือการวางระบบตรงนี้ และที่ช่วยเหลือกันในตอนนี้ ส่วนใหญ่ชาวบ้านและภาคประชาชน เอกชน ระดมเงินมาเพื่อจ้างคน เครื่องจักร ในการเร่งแก้ปัญหา ซึ่งจะให้เป็นภาระประชาชนต้องแบกรับกันเองไม่ได้

ถามหางบฯ แก้ไขปัญหาของ จ.เชียงราย แค่งบฯ ชดเชยเยียวไม่พอ!

อริศรา เหล็กคำ อาจารย์ประจำสำนักวิชานิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง สรุปการหารือเบื้องต้น ว่า ในช่วงเวลาสำคัญและยังมีปัญหาหนัก คือช่วงของการฟื้นฟูในเวลานี้ น้ำของเชียงรายลดแล้ว แต่ชาวบ้านยังกลับเข้าไปในบ้าน ในพื้นที่ของตนเองไม่ได้ เช่น แม่สายยังมีโคลนหนาเต็มไปหมด หรือว่าบางพื้นที่ทนอยู่กับสภาพโคลน สิ่งสกปรก เครื่องจักรไม่พอ ต้องการรถดูดโคลนจำนวนมาก เกินกำลังของท้องถิ่น ต้องระดมจากพื้นที่อื่นมาช่วยเหลือโดยเร็ว

รวมถึงระบบประปายังไม่สามารถใช้การได้ปกติ ดังนั้นสิ่งที่ต้องฟื้นฟูอันดับแรก คือ การให้ประชาชนกลับเข้าอยู่บ้านให้เร็วที่สุด ระบบน้ำสาธารณูปโภคต่าง ๆ ต้องแก้ไข และที่ยังไม่เห็น คือ การตั้งงบประมาณแก้ไขปัญหาของ จ.เชียงราย

“เรื่องงบประมาณของเชียงรายในการจัดการ การฟื้นฟูเมืองหลังจากนี้ งบประมาณในการขอความช่วยเหลือชุมชนตอนนี้ เขาได้ชดเชยรายได้เท่านั้น ไม่เพียงพอ อาจจะต้องมีงบประมาณจำนวนมากที่จะมาช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่ จ.เชียงราย ที่มากกว่าปกติ เช่นเปรียบเทียบกับสึนามิ ที่ได้รับการช่วยเหลือหลักหมื่นหลักแสนขึ้น แต่ตอนนี้การช่วยเหลือในเชียงรายยังอยู่ในหลักพัน ไม่สอดคล้องกับความเสียหายที่เกิดขึ้น ไม่เพียงพอในการกลับมาใช้ชีวิตได้ ซึ่งยังไม่เห็นการตั้งงบประมาณของจังหวัดอาจจะเพราะ เป็นช่วงเปลี่ยนผ่านงบประมาณ อันนี้อาจจะเป็นเรื่องสำคัญของผู้บริหารชุดใหม่ที่จะเข้ามา ในการเตรียมของบประมาณเพื่อมาฟื้นฟูแก้ปัญหาในพื้นที่ “

อริศรา เหล็กคำ

อริศรา บอกอีกว่า หลังจากนี้คือการฟื้นฟูเมือง ทำความสะอาด การคืนรายได้ คืนอาชีพให้ประชาชน ระบบเศรษฐกิจที่มองเห็นว่า หลายคนมีหนี้สินจากภัยพิบัติครั้งนี้ มันอาจต้องมองเรื่องการช่วยเหลือตรงนี้ด้วย รวมถึงการท่องเที่ยวที่กำลังเข้ามา

แต่ในช่วงนี้ ในพื้นที่อื่น ๆ ชุมชนห่างไกลในพื้นที่สูง ยังเจอปัญหาน้ำป่าไหลหลาก ดินโคลนถล่ม สิ่งที่สำคัญคือกระบวนการรับมือ การแจ้งเตือนภัย แจ้งให้เข้าถึงข้อมูลและต้องครอบคลุมทั่วถึงด้วย ให้ถึงชาวบ้านได้รับรู้ว่า พอน้ำจะมา จะถึงระดับไหนในหมู่บ้าน เขาควรต้องวางแผนรับมืออย่างไร อพยพคนเปราะบาง ผู้ป่วย ผู้สูงอายุ และหากน้ำจะขังในบ้านแค่ไหน ประชาชนต้องเตรียมอะไรบ้าง

วงหารือยังอยากให้ ภัยพิบัติครั้งใหญ่ที่ไม่เคยเกิดขึ้นและเสียหายหนักแบบนี้ในเชียงราย เป็นพื้นที่นำร่อง หรือเป็นการพลิกวิกฤตเป็นโอกาส เพื่อสร้างการรับมือภัยพิบัติในภาคเหนือ

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active