เมื่อ ‘อคติเหมารวม’ ผลักชุมชนดูแลป่า เป็นตัวต้นเหตุ ‘ภัยพิบัติ’ ?

วอนอย่างตั้งแง่ โยง ‘ชุมชนชาติพันธุ์’ ทำลายป่า เปลี่ยนภูเขาเป็นพื้นที่เกษตรกรรม ย้ำชัดกรณี ‘ห้วยหินลาดใน’ แม้ดูแล จัดการป่าอย่างดี แต่ก็หนีไม่พ้นภัยพิบัติรุนแรงเกินต้าน จี้รัฐถึงเวลาทบทวนกฎหมาย ทลายข้อจำกัด เปิดช่องชุมชนเขตป่า ท้องถิ่น สร้างกลไกรับมืออย่างเข้มแข็ง

จากข้อสังเกตในโลกออนไลน์ ตั้งคำถามถึง พื้นที่ป่าภาคเหนือที่ลดลง โดยมองว่า มาจากการตัดไม้ทำลายป่า เปลี่ยนภูเขามาเป็นพื้นที่เกษตรกรรม เป็นสาเหตุสำคัญของการเกิดอุทกภัย และดินถล่มครั้งใหญ่ใน จ.เชียง ราย, เชียงใหม่, ลำปาง, แพร่, น่าน และพะเยา ในรอบนี้ สอดคล้องกับช่วงเวลาที่เกิดสถานการณ์ น้ำป่าไหลหลาก จนส่งผลกระทบต่อชุมชนชาติพันธุ์ ในพื้นที่ อ.เวียงป่าเป้า จ.เชียงราย เมื่อวันที่ 23 ก.ย. ที่ผ่านมา  

ทั้งนี้มีความพยายามอธิบายปรากฎการณ์น้ำป่าไหลหลากที่เกิดขึ้นดังกล่าว อาจไม่ได้มาจากการทำลายป่า เพื่อทำพื้นที่เกษตรกรรมอย่างเดียว รวมทั้งไม่สามารถเหมารวมว่าทุกพื้นที่ที่เกิดน้ำป่า เพราะการทำลายป่าทั้งหมด อย่างสถานการณ์น้ำป่าในหลายจุดเมื่อวานนี้ (23 ก.ย. 67) ก็มาจากปัจจัยฝนที่หนักเกินกว่าจะรับมือ โดยเฉพาะ ชุมชนปากเกอะญอ บ้านห้วยหินลาดใน ที่ถูกน้ำป่าถล่มทั้ง ๆ ที่เป็นหนึ่งในชุมชนในเขตป่า ที่บริหารจัดการ ดูแลทรัพยากรป่าได้อย่างเป็นระบบ

ชุมชนห้วยหินลาดใน (24 ก.ย. 67 ภาพ : มูลนิธิกระจกเงา)

สำหรับ บ้านห้วยหินลาดใน เป็นชุมชนปกาเกอะญอ มีอายุไม่ต่ำกว่า 150 ปี โดยที่มาของชื่อหมู่บ้านเรียกตามลักษณะของลำห้วยที่เป็นหินลาดลงตามห้วย พื้นที่โดยรอบชุมชนเป็นป่าที่อุดมสมบูรณ์ ถูกจัดให้เป็นพื้นที่ป่าต้นน้ำชั้น 1A เป็นต้นน้ำของแม่น้ำลาว เป็นแหล่งกำเนิดของลำห้วยน้อยใหญ่ถึง 14 สาย มีวัฒนธรรมประเพณี ระบบความเชื่อ โดยการสืบสานผ่านการใช้ชีวิตประจําวันที่ยังคงอยู่ในปัจจุบัน โดยได้รับการสถาปนาเป็นพื้นที่คุ้มครองและส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ แห่งแรกของประเทศไทย เมื่อวันที่ 6 มีนาคม 2556

บ้านห้วยหินลาดใน มีพื้นที่ใช้ประโยชน์ประมาณ 10,000 ไร่ ในจำนวนนี้ เป็นป่าชุมชนประมาณ 5,800 ไร่ พื้นที่ทำกินและอยู่อาศัย ประมาณ 1,600 ไร่ แบ่งเป็นที่ทำกินในรูปแบบวนเกษตร ประมาณ 700 ไร่ สำหรับทำนา ปลูกชา กาแฟ ผลไม้ ซึ่งส่วนใหญ่ปลูกแซมกับไม้ป่า บริเวณร่องห้วยด้านทิศตะวันตกเฉียงใต้ของหมู่บ้าน ส่วนที่เหลืออีกประมาณ 800 ไร่ เป็นไร่หมุนเวียน ใช้ประโยชน์ในรอบหมุนเวียน แต่ละปีเพียง 60 ไร่เท่านั้น

ประเสริฐ ตระการศุภกร ผู้อำนวยการสมาคมปกาเกอะญอเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน ให้ข้อมูลกับ The Active ว่า ชุมชนห้วยหินลาดใน ได้รับการยอมรับว่ามีป่าที่อุดมสมบูรณ์ และมีการจัดการป่าที่ดีในลำดับต้น ๆ ของประเทศ แต่เหตุที่ยังเกิดน้ำป่าไหลหลาก อาจต้องพิจารณาหลายปัจจัย ทั้งสภาพภูมินิเวศที่เป็นไหล่เขา ซึ่งจะมีน้ำหลากมาตามร่องน้ำเป็นปกติ

แต่ปัจจัยสำคัญมาจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่ทำให้มีฝนตกหนัก แม้สภาพป่าที่อุดมสมบูรณ์จะอุ้มน้ำได้ดี แต่เมื่อเต็มความจุ น้ำส่วนเกินก็จะหลากลงมา ซึ่งสถานการณ์ในปีนี้ถือว่ารุนแรงมากกว่าปกติ

ส่วนการเหมารวมว่าเหตุการณ์น้ำป่าที่เกิดขึ้น มาจากการทำลายป่า และใช้ประโยชน์ที่ดินของกลุ่มชาติพันธุ์นั้น ผอ.สมาคมปกาเกอะญอเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน มองว่า ส่วนหนึ่งเป็นเพราะอคติทางชาติพันธุ์ที่มองแบบเหมารวมอยู่แล้ว น้ำท่วมในปีนี้ไม่ได้เกิดแค่ที่ใดที่หนึ่ง และแต่ละเหตุการณ์ ก็มีเหตุผลเฉพาะของแต่ละพื้นที่

“การดูแลทรัพยากรธรรมชาติทำคนเดียวอาจไม่พอ เพราะแม้ว่าบ้านห้วยหินลาดใน จะดูแลป่าได้ดี แต่ก็เป็นเพียงป่าผืนเดียวเล็ก ๆ ไม่สามารถการันตีได้ว่าพื้นที่รอบ ๆ มีการใช้ประโยชน์ที่ดินอย่างไร จึงเป็นโจทย์สำคัญที่ทุกภาคส่วนต้องช่วยกันคิดต่อหลังจากนี้ ว่าทุกคนจะมีส่วนช่วยกันได้อย่างไร”

ประเสริฐ ตระการศุภกร

ขณะที่ ธนากร อัฏฐ์ประดิษฐ์ ที่ปรึกษาประจำคณะกรรมาธิการการที่ดินฯ สภาผู้แทนราษฎร ยอมรับว่า ชุมชนบ้านห้วยหินลาดใน ไม่ต่างจากชุมชนชาติพันธุ์อื่น ๆ ที่ต้องอยู่ภายใต้เงื่อนไขด้านกฎหมายที่ดิน ป่าไม้ แต่ถึงแม้จะเต็มไปด้วยข้อจำกัดต่าง ๆ ชุมชนห้วยหินลาดใน ก็ยังสามารถสร้างระบบดูแล จัดการทรัพยากรป่าได้อย่างเป็นรูปธรรม จนทำให้ที่นี่เป็นพื้นที่ระดับ Top ของการจัดการป่าไม้ที่ได้รับการยอมรับ

ส่วนคลิปภาพน้ำป่าไหลหลากอย่างรุนแรงถล่มชุมชน จนโลกออนไลน์ นำไปตั้งคำถาม หยิบเอาประเด็นน้ำป่ารอบนี้ มาจับพะชนแกะ เชื่อมโยงเรื่องการบุกรุก ถางป่า จึงถือว่าไม่เป็นธรรมกับชุมชนห้วยหินลาดใน และชุมชนชาติพันธุ์อื่น ๆ ที่ดูแลรักษาทรัพยากรป่าเป็นอย่างดี โดยประเด็นนี้ไม่สามารถหยิบเรื่องการทำลายป่าจากพื้นที่ที่มีปัญหา มาเหมารวมสร้างมายาคติเชิงลบต่อชุมชนชาติพันธุ์ได้

“ชุมชนห้วยหินลาดใน ใช้พื้นที่ ใช้ประโยชน์จากป่าน้อยมาก พื้นที่อยู่อาศัยก็เพียงเล็ก ๆ ระบบการทำไร่หมุนเวียนก็ไม่ได้บุกรุก ทำลายป่าเลย เหตุการณ์ทั้งหมดที่เกิดขึ้น เกิดภายใต้เงื่อนไขที่เปลี่ยนไป จนชาวบ้านไม่มีปัญญา รับมือน้ำป่าที่ไหลหลากมากมายขนาดนี้ ชาวบ้านรับไม่ไหว แม้พวกเขาจะดูแลป่าอย่างเข้มงวด แต่ฝนตกหนักก็อาจไม่คาดคิดว่าจะเจอน้ำหลากมากมายขนาดนี้”

ธนากร อัฏฐ์ประดิษฐ์

ปรึกษาประจำคณะกรรมาธิการการที่ดินฯ เสนอว่า การประเมินหลังจากนี้ ภาครัฐต้องขยับการรับมือ โดยเฉพาะการให้ชุมชนมีสิทธิ ให้ท้องถิ่นมีอำนาจจัดการพื้นที่ แต่สิ่งที่เกิดขึ้นตอนนี้คือไม่ว่าจะขยับทางไหน ก็ติดข้อจำกัดไปหมด ดังนั้นเมื่อตัวแปรเกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วของสภาพอากาศ ที่คาดเดาได้ยาก การตั้งรับภัยพิบัติด้วยเงื่อนไขเดิม ๆ จึงต้องทบทวน เรื่องไหนที่ติดอุปสรรคกฎหมาย ทำให้ชุมชนเขตป่าไม่สามารถทำอะไรได้ รัฐก็ควรพิจารณาปรับแก้ เพื่อเอื้อให้ชุมชนสามารถออกแบบการรับมือภัยพิบัติได้อย่างรวดเร็ว เพื่อลดความเสี่ยงชีวิต ทรัพย์สิน ของประชาชนให้ได้มากที่สุด

สอดคล้องกับ เตือนใจ ดีเทศน์ ผู้ก่อตั้งมูลนิธิพัฒนาชุมชนและเขตภูเขา และอดีตกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ระบุถึง ผลกระทบน้ำป่าไหลหลาก และดินโคลนถล่ม ที่ยังเกิดขึ้นกับชุมชนชาติพันธุ์ในพื้นที่สูง อย่างกรณีล่าสุดกับ ชุมชนปกาเกอะญอ บ้านห้วยหินลาดใน และ ชุมชนลาหู่ บ้านห้วยทรายขาว ซึ่งเป็นชุมชนที่รักษาป่าเป็นหมื่น ๆ ไร่ มีวิถีชีวิต และอาชีพที่สอดคล้องกับธรรมชาติ เช่น ปลูกชาป่า ปลูกไผ่ และมีความเคารพธรรมชาติมาเนิ่นนาน จนได้รับรางวัลทั้งระดับชาติ และระดับโลกหลายรางวัล แต่เหตุการณ์ภัยพิบัติที่เกิดขึ้น ก็สะท้อนว่า เป็นปัญหาจากสภาวะโลกรวน ฝนที่หนักเกินไป จนทำให้น้ำเกิดน้ำถล่มไหลหลากลงมา

และยังสะท้อนให้เห็นภาพรวมของปัญหาการแจ้งเตือนภัย ของชุมชนที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกล สะท้อนข้อจำกัดกฎหมาย นโยบาย เพราะในพื้นที่ชุมชนชาติพันธุ์ที่ส่วนใหญ่อยู่พื้นที่เตรียมประกาศเขตอุทยานฯ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า ต่าง ๆ มีข้อจำกัดการมีไฟฟ้า ที่จำเป็นต่อการมีสัญญานอินเตอร์เน็ต หรือการสื่อสารเพื่อรับรู้สถานการณ์ และการแจ้งเตือนภัย

“ยกตัวอย่าง บ้านห้วยหินลาดใน ขอไฟฟ้ามาตั้งนาน ไม่มีไฟฟ้า ไวไฟเข้าไม่ได้ กลายเป็นว่าหมู่บ้านที่รักษาป่าดี กลับจะถูกประกาศเป็นพื้นที่อุทยานแห่งชาติ แล้วจำกัดการพัฒนาต่าง ๆ ออกไป ซึ่งไม่ยุติธรรมสำหรับชุมชนที่รักษาป่าอย่างดี หลายพื้นที่ ที่อยู่ในเขตพื้นที่ประกาศเขตอุทยานฯ กลายเป็นว่าการพัฒนาต่าง ๆ เข้าไม่ได้เลย ไม่ว่าเป็นถนน ไฟฟ้าพลังแสงอาทิตย์ เพื่อเข้าถึงระบบสื่อสารสมัยใหม่ การเตือนภัย รัฐจึงต้องทบทวนนโยบายนี้ อย่าจำกัดสิทธิในการพัฒนา กับชุมชนที่รักษาป่า พื้นที่อนุรักษ์ทั้งหลาย เพราะเป็นเรื่องใหญ่มากในการเตือนภัย เพื่อชี้เป้า ดำเนินการป้องกันไม่ให้เกิดความเสียหายในอนาคต“

เตือนใจ ดีเทศน์

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active