กลไกชุมชนจัดการภัยพิบัติ ตัวช่วย ลดสูญเสีย ‘ห้วยหินลาดใน’

ชาวบ้าน เผย ฝนกระหน่ำต่อเนื่อง ส่งสัญญาณน้ำป่าแรง เร่งแจ้งเตือนกันเองในชุมชน อพยพขึ้นที่สูง พร้อมจัดทีมส่วนหน้า คอยประสานความช่วยเหลือจากภายนอก ภาคประชาชน ยอมรับ กลไกชุมชนเข้มแข็ง ต้นแบบเปลี่ยนบทบาทจาก ‘ผู้ประสบภัย’ เป็น ‘ผู้จัดการภัยพิบัติ’

ภายหลังเกิดสถานการณ์น้ำป่าไหลหลาก ส่งผลให้ชุมชนชาติพันธุ์หลายพื้นที่ใน อ.เวียงป่าเป้า จ.เชียงราย ได้รับผลกระทบ ล่าสุดวันนี้ (24 ก.ย. 67) ศิรินทร์ทิพย์ สิริจริยา ตัวแทนเยาวชนบ้านห้วยหินลาดใน หนึ่งในชุมชนชาติพันธุ์ที่ได้รับผลกระทบจากน้ำป่า เปิดเผยกับ The Active ว่า สิ่งที่ผู้คนในชุมชนต้องเร่งทำเวลานี้ คือ การขนย้ายข้าวออกจากยุ้ง และเร่งขนย้านข้าวของภายในบ้าน โดยเฉพาะบ้านหลังที่อยู่ติดริมลำห้วยออกมาจากพื้นที่ก่อน เพราะมีความเป็นได้ที่อาจจะเกิดน้ำป่าไหลท่วมซ้ำอีก แต่อาจไม่หนักเท่าครั้งแรก เพราะเริ่มมีสัญญานว่าน้ำในลำห้วยต่าง ๆ ค่อย ๆ เพิ่มระดับสูงขึ้น

สำหรับความเสียหายของ บ้านห้วยหินลาดใน ล่าสุดเท่าที่ประเมินคร่าว ๆ พบว่า มีดินสไลด์ปิดทางเข้าออกชุมชน ทำให้การสัญจรทำได้อย่างยากลำบาก ขณะที่ข้าวของชาวบ้านเสียหายเป็นบางส่วน เช่นเดียวกับข้าวในยุ้ง ที่กำลังช่วยกันขนออกจากพื้นที่เสี่ยง นอกจากนั้นมี บ้านเรือนเสียหาย 7 หลัง โรงเรียน หอประชุม ก็เสียหาย มีรถยนต์ถูกพัดหายไป 2 คัน เสียหาย 5 คัน รถจักรยานยนต์เสียงหาย 2 คัน ขณะเดียวกันพื้นที่นา ก็เสียหายค่อนข้างมาก ส่วนพื้นที่ไร่หมุนเวียน ยังไม่ได้ประเมินว่าเสียหายแค่ไหน

ตัวแทนเยาวชนบ้านห้วยหินลาดใน ระบุด้วยว่า ขณะนี้ยังต้องการความช่วยเหลืออีกหลายทาง แต่สำหรับในพื้นที่เองก็พยายามช่วยเหลือกันเองอย่างเต็มที่ โดยการแบ่งทีมสแตนบายอยู่ภายนอกชุมชน ในจุดที่มีสัญญาณโทรศัพท์ จะได้ติดต่อประสานความช่วยเหลือกับภายนอกได้ ส่วนภายในชุมชนต้องใช้วิทยุสื่อสารกัน สิ่งที่ชุมชนต้องการมากที่สุดตอนนี้ คือ น้ำ เนื่องจากระบบประปาภูเขาโดนน้ำพัดเสียหายทั้งหมด ส่วนแทงค์น้ำที่เก็บไว้ใช้ในหมู่บ้านตอนนี้ใช้ใกล้หมดแล้ว รวมถึงอาหารแห้งต่าง ๆ ก็ยังเป็นสิ่งที่ชุมชนต้องการได้รับสนับสนุนเป็นอย่างมาก

“จริง ๆ แล้วลูกหลานปกาเกอะญอ จะถูกสั่งสอน และบอกกล่าวจากผู้อาวุโสในหมู่บ้าน ให้ระวังเรื่องภัยพิบัติต่าง ๆ มาตลอด อย่างครั้งนี้ ก็สังเกตว่าฝนตกหนักมากตั้งแต่วันที่ 22 ก.ย. มาจนถึงช่วงเช้าวันที่ 23 ก.ย. ยิ่งตกหนักเข้าไปอีก ในช่วงนั้นชาวบ้านรู้แล้วต้องรีบหนีขึ้นที่สูง เพราะเมื่อไรที่ฝนตกนาน ตกหนัก ก็จะพัดเอาดิน เอาน้ำหลากลงมา ชาวบ้านจึงหนีกันได้ทันไม่เกิดความสูญเสียต่อชีวิต แม้มีข้าวของเสียหายบ้าง แต่ก็เอาชีวิตรอดได้”

ศิรินทร์ทิพย์ สิริจริยา

ปรับบทบาท ‘ผู้ประสบภัย’ เป็น ‘ผู้จัดการภัยพิบัติ’

ขณะที่ สุริยันต์ ทองหนูเอียด ที่ปรึกษาขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (พีมูฟ) เปิดเผยกับ The Active ด้วยว่า บ้านห้วยหินลาดใน เป็นชุมชนที่มีความเข้มแข็ง มีศักยภาพทั้งการจัดการทรัพยากร และรับมือกับภัยธรรมชาติ และการรับมือปัญหาไฟป่า โดยใช้กลไกชุมชนเข้ามาจัดการอย่างเป็นรูปธรรม แต่เหตุการณ์น้ำป่าที่เกิดขึ้นรอบนี้ ต้องยอมรับว่า หนักมากเกินกว่าที่ชาวบ้านจะรับมือได้ อย่างน้อยประสบการณ์ และรูปแบบของการกลไกระบบจัดการไฟป่า ก็สามารถนำมาประยุกต์ใช้ และช่วยให้ผลกระทบจากน้ำป่ารอบนี้ไม่มีผู้บาดเจ็บ และถึงขั้นสูญเสียชีวิต

ที่สำคัญคือ กลไกรับมือภัยพิบัติที่ผู้คนในชุมชนได้เรียนรู้ สามารถช่วยให้พวกเขาไม่ได้ตกอยู่ในสถานะของผู้ประสบภัย ที่ต้องรอคอยความช่วยเหลือเพียงอย่างเดียว แต่ยังสามารถพลิกบทบาทมาเป็น ผู้จัดการภัยพิบัติ ได้ด้วยตัวเองเช่นกัน

“ชาวบ้านไม่ได้รอแค่ให้คนมาแจกข้าวกล่อง แต่ลุกขึ้นมาทำให้ชุมชนเป็นศูนย์กลางช่วยเหลือกันเอง คือ เป็นการรับมือที่มาจากการยกระดับชุมชนเพื่อจัดการภัยพิบัติ จากศักยภาพที่ชุมชนมี แต่ถึงอย่างนั้นภัยพิบัติที่เกินเงื่อนไขชุมชนจะรับมือได้ไหว เรื่องบางเรื่องก็ยังจำเป็นที่ชาวบ้านต้องการความช่วยเหลือ จากภายนอกอย่างเร่งด่วนเช่นกัน”

สุริยันต์ ทองหนูเอียด

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active