นำร่อง ‘ชุมชนเกาะลอย’ เชียงราย เร่งจัดเก็บขยะน้ำท่วมช่วงกลางคืน

หวังลดปัญหาจราจรช่วงกลางวัน เร่งจัดเก็บให้ทันก่อนขยะเน่า วอน นายกฯ สั่ง คณะทำงาน ระดมคน ทรัพยากร ช่วยพื้นที่ เสนอจัดการเชิงโครงสร้างบูรณาการข้อมูลน้ำกับเมียนมา พร้อมพัฒนาระบบเตือนภัยให้มีประสิทธิภาพ

หลังสถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่ จ.เชียงราย คลี่คลายลง ปัญหาที่ตามมานอกจากการจัดการดินโคลน ยังมีเรื่องขยะที่กองเต็มพื้นที่ โดยที่ ชุมชนเกาะลอย อ.เมืองเชียงราย จ.เชียงราย เวลานี้ได้นำร่องเก็บขยะน้ำท่วมช่วงเวลากลางคืน

วันนี้ (23 ก.ย. 67) สืบสกุล กิจนุกร อาจารย์สำนักนวัตกรรมสังคม มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง ให้สัมภาษณ์ในรายการตรงประเด็น ถึงแนวคิดดังกล่าวว่า ปัจจุบันงานเคลียร์พื้นที่ล้นมือชาวบ้าน และเจ้าหน้าที่อย่างมาก ทำให้เริ่มทดลองนำร่องในชุมชนเกาะลอย โดยระดมเงินทุน เพื่อจ้างรถแบคโฮ รถบรรทุก เพื่อตักขยะออกจากพื้นที่ในช่วงกลางคืน โดยใช้งบประมาณวันละ 11,000 บาท

สืบสกุล กิจนุกร อาจารย์สำนักนวัตกรรมสังคม มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง

สืบสกุล ระบุว่า ชุมชนในเขตเทศบาลนครเชียงราย มี 50 ชุมชน ซึ่งเกินกำลังของเทศบาล เนื่องจากเทศบาลมีรถขนขยะ 80 คัน ขนได้วันละ 1,000 ตันเท่านั้น ซึ่งไม่พอ และการขนขยะส่วนใหญ่ใช้เวลาเวลากลางวัน ในการทำงานตั้งแต่ 9.00 น. ถึง 16.00 น. ซึ่งรถขยะหรือรถตัก จะไปกีดขวางการจราจร ทำให้การช่วยเหลือในด้านอื่นติดขัด จึงเกิดเป็นข้อเสนอว่า รถตักและขนขยะควรทำงานตอนกลางคืน ตั้งแต่ 1 ทุ่ม ถึงเที่ยงคืน เพื่อหลีกเลี่ยงการจราจรที่ติดขัดในตอนกลางวัน ตอนนี้ดำเนินการมา 3 คืน ใน 3 ซอย ไม่ให้มีขยะหลงเหลือ ทำให้การจราจรช่วงกลางวันดีมากขึ้น

“ชาวบ้านดีใจที่ตื่นขึ้นมาตอนเช้า เปิดประตูบ้านแล้วไม่เจอขยะ ทำให้เขามีแรงใจในการทำความสะอาดบ้าน ล้างถนน เก็บกวาดบ้านของตัวเองมากขึ้น”

สืบสกุล กิจนุกร

เร่งจัดเก็บ ก่อนขยะเน่า

สืบสกุล บอกด้วยว่า หลังจากนี้จะเดินหน้าทำต่ออีก 3 คืนใน 3 ซอย แต่มีข้อจำกัดคือ ยังต้องการทรัพยากรอีกจำนวนมาก เนื่องจากทั้งในเขตชุมชนเกาะลอย และชุมชนเทิดพระเกียรติ ซอยเล็ก ซอยน้อย มีจำนวนมาก และขยะมีจำนวนมากเช่นกัน แต่ละซอยเชื่อมถึงกัน หากไม่เร่งกำจัดขยะในตอนกลางคืน จะทำให้ขยะเน่าเหม็นมากขึ้น 

“ความสำคัญของการจัดเก็บขยะตอนกลางคืน เพราะว่า ต้องแข่งกับเวลา เพราะปล่อยเวลาผ่านไปการฟื้นฟูเชียงรายจะยากมากขึ้น เพราะชุมชนเกาะลอย มีความสำคัญ มี 50 หอพัก พื้นที่เดินทางเข้าออกตัวเมืองง่าย และยังเป็นแหล่งที่พักอาศัย มีโรงแรมขนาดใหญ่ เป็นแหล่งท่องเที่ยวแหล่งหนึ่ง ถ้าชุมชนไม่สามารถจัดการขยะได้ ไม่ว่าจะการล้างโคลน การทำความสะอาดบ้าน ก็จะกินเวลายาวนานขึ้น” 

สืบสกุล กิจนุกร

สืบสกุล บอกด้วยว่า ในการเก็บขยะกลางคืน ใช้ทีมงานเพียง 4 คน ประกอบกด้วย รถตัก 1 คัน 1 คน, รถดั้ม 3 คัน 3 คน และผู้นำชุมชน 1 คน ที่คอยชี้จุด แต่ตอนนี้ยังมีช่องว่างตรงที่ อยากเปลี่ยนการขนขยะจากกลางวันเป็นกลางคืนเท่านั้น ที่สำคัญการจะขยายจากพื้นที่นี้ไปบริเวณอื่น มีเงื่อนไขสำคัญคือ จิตอาสา รถตัก รถดั้ม มาร่วมทำงาน อยากให้ใน 1 ซอยใช้ประมาณ 2 ทีม ต้นซอยและท้ายซอย จะทำให้ทำงานได้รวดเร็วยิ่งขึ้น

ประชาชนพร้อม แต่รัฐอาจไม่พร้อม ?

นอกจากนี้ สืบสกุล ยังบอกอีกว่า การแก้ไขปัญหาในพื้นที่เวลานี้ประชาชนพร้อมทั้งแรงกายแรงใจ แต่ภาครัฐยังไม่พร้อม ซึ่งท้องถิ่นทุกที่ พยายามอย่างสุดกำลัง แต่อาจเกินกำลังขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ของพื้นที่นั้น ๆ ดังนั้น มองว่าคณะกรรมการที่นายกฯ แต่งตั้ง ต้องสั่งการเร่งระดมทรัพยากรความช่วยเหลือจากจังหวัดอื่น เทศบาลอื่นที่ไม่ได้รับผลกระทบอุทกภัยเข้ามาช่วยพี่น้องชาวเชียงรายให้เร็วที่สุด 

“ตอนนี้มันพ้นอำนาจของผู้ว่าราชการจังหวัด พ้นอำนาจของนายกเทศมนตรี พ้นอำนาจของนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด อยากให้มีส่วนกลางมาประสานงาน และระดม ทรัพยากรจากภาครัฐและเทศบาลอื่นๆมาช่วยกัน”

สืบสกุล กิจนุกร

 5 ข้อเสนอ ในการจัดการเชิงโครงสร้าง 

  1. ต้องสร้างความร่วมมือข้ามพรมแดนกับประเทศเพื่อนบ้าน ประเทศเมียนมา กลุ่มชาติพันธุ์ในรัฐฉาน ในเรื่องน้ำเพราะน้ำท่วมที่แม่สาย คือมาจากแม่น้ำกก ต้นน้ำอยู่ที่รัฐฉาน แต่เราไม่มีข้อมูลปริมาณน้ำและการเดินทางของน้ำ จึงต้องสร้างความร่วมมือเพื่อให้เกิดความรู้ความเข้าใจเรื่องปริมาณน้ำ

  2. ต้องติดตั้งระบบเตือนภัยล่วงหน้าที่เข้มแข็งมากกว่านี้ เพราะหลายพื้นที่สับสน เวลาไปถามชาวบ้านว่าการแจ้งเตือนหรือไม่ ชาวบ้านบอกว่าแจ้ง บางก็บอกว่าไม่แจ้ง ซึ่งเรื่องนี้สะท้อนให้เห็นถึงระบบเตือนภัยที่อ่อนแอ

  3. ต้องทำการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น โดยเฉพาะเรื่องงบประมาณ บุคลากร เครื่องมือ เครื่องจักร องค์ความรู้ เทคโนโลยี และระเบียบที่เกี่ยวข้อง เพราะเทศบาลทุกแห่งที่ประสบอุทกภัยในพื้นที่เชียงราย มีความเข้มแข็งและทำงานอย่างรวดเร็วมาก เงินเยียวยาถึงมือชาวบ้านแล้ว แต่มีอยู่อย่างจำกัด

  4. ต้องมีการเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัด เพราะผู้ว่าทุกวันนี้มาจากการแต่งตั้ง ไม่นานก็ต้องย้ายหรือเกษียณ ทำให้การทำงานช้าทัน ต่อสถานการณ์

  5. ต้องเปลี่ยนความเข้าใจเรื่องน้ำท่วมใหม่ เพราะตอนนี้รัฐมองว่าน้ำท่วมคือน้ำ โดยเฉพาะน้ำ น้ำลดก็จบ แต่น้ำท่วมครั้งนี้มันคือโคลนและขยะที่รวมอยู่ในน้ำด้วย

“ตอนนี้รัฐบาลต้องสั่งการให้คณะทำงานลงมาสนับสนุนงานนี้ เพราะเชื่อว่าหากทำได้ การเก็บขยะในตัวเมืองเชียงรายจะจบลงในเวลา 1 เดือน แต่ถ้าหากปล่อยให้เทศบาลเทศบาลนครเชียงราย หรือท้องถิ่นอื่น ๆ ทำเอง หรือ ภาคประชาสังคมทำเอง คงอีกหลายเดือน นอกจากนี้ยังเป็นห่วงว่าจะมีฝนตกลงมาอีกในพื้นที่ โดยเฉพาะในซอยที่อยู่พื้นที่ต่ำ ซึ่งตอนนี้ยังมีน้ำท่วมขังในซอย และยังมีโคลนอยู่ ซึ่งหากมีฝนตกลงมาก็จะทำให้น้ำท่วมขังมากขึ้น ถ้าเราไม่มีข้อมูลปริมาณน้ำฝนในพื้นที่ต้นน้ำในรัฐฉาน ก็จะยิ่งกังวลมากขึ้นเพราะมวลน้ำมาจากที่นั่น”

สืบสกุล กิจนุกร

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active