สรุป #น้ำท่วม2567 วันที่ 21 ก.ย. 67

21 – 23 ก.ย. ทุกภาคทั่วไทย ฝนหนักถึงหนักมาก อุตุฯ เตือน ติดตามสถานการณ์ใกล้ชิด ส่วนวันนี้ (21 ก.ย.) “ซูลิก” กระทบ “เลย” ทำน้ำป่าไหลหลากเข้าท่วมหมู่บ้าน ผู้ว่าฯ กำชับ 14 อำเภอ เฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยงดินโคลนถล่ม

วันนี้ (21 ก.ย. 67) จุดไหนเสี่ยง พื้นที่ได้รับผลกระทบ แนวทางรับมือ เยียวยาน้ำท่วม มีมาตรการอะไรน่าสนใจ The Active รวบรวมเอาไว้ให้แล้ว!

เริ่มต้นที่ กรมอุตุนิยมวิทยา ออกประกาศเรื่อง ฝนตกหนักถึงหนักมากบริเวณประเทศไทย และคลื่นลมแรงบริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทยตอนบน ฉบับที่ 2 มีผลกระทบถึงวันที่ 23 กันยายน 2567

โดยช่วงวันที่ 21-23 ก.ย. 67 ประเทศไทยมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่งในภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล และภาคตะวันออก ส่วนภาคใต้มีฝนตกหนักบางพื้นที่

ทั้งนี้ เนื่องจากร่องมรสุมกำลังค่อนข้างแรงพาดผ่านภาคเหนือ ภาคกลาง และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ประกอบกับมีหย่อมความกดอากาศต่ำปกคลุมด้านตะวันออกของภาคเหนือตอนล่าง ในขณะที่มรสุมตะวันตกเฉียงใต้กำลังค่อนข้างแรงพัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทยตอนบน ขอให้ประชาชนในบริเวณดังกล่าวระวังอันตรายจากฝนตกหนักถึงหนักมาก และฝนที่ตกสะสม ซึ่งอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน และน้ำป่าไหลหลาก โดยเฉพาะพื้นที่ลาดเชิงเขาใกล้ทางน้ำไหลผ่าน และพื้นที่ลุ่มไว้ด้วย

โดยจังหวัดที่คาดว่าจะมีฝนตกหนักถึงหนักมาก มีดังนี้

วันที่ 21 กันยายน 2567 

ภาคเหนือ : จังหวัดแม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ เชียงราย ลำพูน ลำปาง พะเยา น่าน แพร่ อุตรดิตถ์ ตาก สุโขทัย กำแพงเพชร พิจิตร พิษณุโลก และเพชรบูรณ์

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ : จังหวัดเลย หนองคาย บึงกาฬ หนองบัวลำภู อุดรธานี สกลนคร ชัยภูมิ ขอนแก่น และนครราชสีมา

ภาคกลาง : จังหวัดนครสวรรค์ อุทัยธานี ชัยนาท ลพบุรี สระบุรี กาญจนบุรี ราชบุรี พระนครศรีอยุธยา รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล

ภาคตะวันออก : จังหวัดนครนายก ปราจีนบุรี สระแก้ว ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ระยอง จันทบุรี และตราด

ภาคใต้ : จังหวัดชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช ระนอง พังงา ภูเก็ต และกระบี่

วันที่ 22 กันยายน 2567

ภาคเหนือ : จังหวัดแม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ เชียงราย ลำพูน ลำปาง พะเยา น่าน แพร่ อุตรดิตถ์ ตาก สุโขทัย กำแพงเพชร พิจิตร พิษณุโลก และเพชรบูรณ์

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ : จังหวัดเลย หนองคาย บึงกาฬ หนองบัวลำภู อุดรธานี สกลนคร นครพนม ชัยภูมิ ขอนแก่น กาฬสินธุ์ มุกดาหาร มหาสารคาม ร้อยเอ็ด ยโสธร อำนาจเจริญ นครราชสีมา บุรีรัมย์ สุรินทร์ ศรีสะเกษ และอุบลราชธานี

ภาคกลาง : จังหวัดนครสวรรค์ อุทัยธานี ชัยนาท ลพบุรี สระบุรี พระนครศรีอยุธยา กาญจนบุรี ราชบุรี นครปฐม สมุทรสาคร สมุทรสงคราม รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล

ภาคตะวันออก : จังหวัดนครนายก ปราจีนบุรี สระแก้ว ชลบุรี ระยอง จันทบุรี และตราด

ภาคใต้ : จังหวัดระนอง และพังงา

วันที่ 23 กันยายน 2567

ภาคเหนือ : จังหวัดแม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ เชียงราย ลำพูน ลำปาง พะเยา น่าน แพร่ อุตรดิตถ์ ตาก สุโขทัย กำแพงเพชร พิจิตร พิษณุโลก และเพชรบูรณ์

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ : จังหวัดเลย หนองคาย บึงกาฬ หนองบัวลำภู อุดรธานี สกลนคร นครพนม ชัยภูมิ ขอนแก่น กาฬสินธุ์ มุกดาหาร มหาสารคาม ร้อยเอ็ด ยโสธร อำนาจเจริญ นครราชสีมา บุรีรัมย์ สุรินทร์ ศรีสะเกษ และอุบลราชธานี 

ภาคกลาง : จังหวัดนครสวรรค์ อุทัยธานี ชัยนาท สิงห์บุรี อ่างทอง ลพบุรี สระบุรี สุพรรณบุรีพระนครศรีอยุธยา กาญจนบุรี ราชบุรี นครปฐม สมุทรสาคร สมุทรสงคราม รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล

ภาคตะวันออก : จังหวัดนครนายก ปราจีนบุรี สระแก้ว ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ระยอง จันทบุรี และตราด

ภาคใต้ : จังหวัดระนอง

ในช่วงวันที่ 21-22 ก.ย. 67 คลื่นลมบริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทยมีกำลังค่อนข้างแรง โดยทะเลอันดามันและอ่าวไทยตอนบนมีคลื่นสูง 2-3 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 3 เมตร ส่วนอ่าวไทยตอนล่างมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร ขอให้ชาวเรือในบริเวณดังกล่าวเดินเรือด้วยความระมัดระวังและหลีกเลี่ยงการเดินเรือในบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนอง ส่วนเรือเล็กบริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทยตอนบนควรงดออกจากฝั่งในช่วงวันและเวลาดังกล่าวไว้ด้วย

จึงขอให้ประชาชนติดตามประกาศจากกรมอุตุนิยมวิทยา และสามารถติดตามข้อมูลที่เว็บไซต์กรมอุตุนิยมวิทยา หรือที่ 0-2399-4012-13 และ 1182 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง

“ซูลิก” อ่อนกำลัง ทำฝนหนักทั่วไทย ‘เลย’ น้ำป่าหลากไหลเข้าท่วมหมู่บ้าน

ขณะที่ จังหวัดเลยมีฝนตกหนักในหลายพื้นที่ และยังคงตกพรำสลับแรงตลอดทั้งวัน ส่งผลให้แม่น้ำสาขาสูงขึ้น และบางจุดมีน้ำป่าไหลเข้าเอ่อหมู่บ้าน เช่น บ้านผาเจริญ ตำบลท่าสะอาด อำเภอนาด้วง จังหวัดเลย น้ำป่าไหลเข้าท่วมบ้านเรือนประชาชน ไหลท่วมถนนกลาง โดยระดับน้ำสูง ประมาณ 50-60 เซนติเมตร

ชัยพจน์ จรูญพงศ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดเลย กล่าวว่า ได้รับการแจ้งเตือนจากกรมอุตุนิยมวิทยา ว่าจังหวัดเลยจะมีฝนในระหว่างวันที่ 21 – 25 กันยายน 2567 หนักถึงปานกลาง ในขณะมีฝนตกลงมาในจังหวัดเลยตลอดทั้งวัน ซึ่งฝนตกทำให้ดินอาจจะอุ้มน้ำฝนไว้ ความเสี่ยงในเรื่องน้ำป่าไหลหลาก หรือดินโคลนถล่ม พร้อมกำชับนายอำเภอทั้ง 14 อำเภอ ให้ลงไปดูในพื้นที่เสี่ยง ถ้าดินอุ้มน้ำอาจสไลด์ได้ เพื่อความปลอดภัยของพี่น้องประชาชนถ้าเห็นสิ่งผิดปกติ เช่นมีดินไหลเล็กน้อยต้องแจ้งเตือนพี่น้องประชาชนให้ทราบก่อน เพื่อจะได้เคลื่อนย้ายไปอยู่ในที่ปลอดภัย พร้อมได้เน้นย้ำทางอำเภอ ขอให้ได้ให้ความสำคัญกับหมู่บ้าน ชุมชน ที่เป็นพื้นที่เสี่ยงดินถล่มด้วย เนื่องจากฝนได้ตกในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง และพื้นดินได้ชุ่มน้ำแล้ว เพื่อเป็นการลดผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นต่อไป

ไม่มีเหตุ “น้ำท่วม” ใหม่ในรอบ 24 ชม. สถานการณ์เหลือ 10 จว. สธ. กำชับเฝ้าระวังโรคติดต่อหลังน้ำลด

นพ.วีรวุฒิ อิ่มสำราญ ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข เขตสุขภาพที่ 8 เป็นประธานการประชุมทางไกลเตรียมความพร้อมด้านการแพทย์และสาธารณสุขกรณีสถานการณ์อุทกภัย วาตภัย และดินโคลนถล่ม ครั้งที่ 5/2567 ร่วมกับกองสาธารณสุขฉุกเฉิน กรมสุขภาพจิต กรมควบคุมโรค และสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด พร้อมกล่าวว่า จากการรายงานข้อมูลระหว่างวันที่ 17 สิงหาคม -20 กันยายน 2567 สถานการณ์ลดลงเหลือ 10 จังหวัด ได้แก่ พิษณุโลก พิจิตร พระนครศรีอยุธยา นครนายก หนองคาย บึงกาฬ นครพนม อุดรธานี สตูล และตรัง ไม่มีสถานการณ์ใหม่เพิ่มเติมในรอบ 24 ชั่วโมง ผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตคงเดิม คือ 47 ราย และ 816 รายตามลำดับ ไม่มีสถานบริการสาธารณสุขได้รับผลกระทบเพิ่มเช่นกัน รวมยังมีสถานบริการสาธารณสุขรับผลกระทบสะสม 67 แห่ง ใน 11 จังหวัด ซึ่งทั้งหมดเปิดบริการได้ตามปกติ

นพ.วีรวุฒิกล่าวต่อว่า ส่วนการดูแลผู้ประสบภัยและประชาชน ได้จัดทีมปฏิบัติการด้านการแพทย์และสาธารณสุข 2,359 ทีม ให้บริการด้านการแพทย์และสาธารณสุขสะสม 136,669 ราย ให้บริการสุขภาพจิตสะสม 26,318 ราย พบมีภาวะเครียดสูง 589 ราย ส่งพบแพทย์ 148 ราย และดูแลช่วยเหลือกลุ่มเปราะบางเพิ่ม 375 ราย สะสมรวม 20,569 ราย สนับสนุนยาและเวชภัณฑ์รวม 170,441 ชุด สำหรับโรคติดต่อสำคัญที่เกี่ยวข้องกับฤดูฝน/น้ำท่วม เช่น ไข้เลือดออก ไข้หวัดใหญ่ โรคฉี่หนู เป็นต้น พบว่ายังไม่มีการระบาดในพื้นที่ ทั้งนี้ได้กำชับให้จังหวัดที่มีสถานการณ์เข้มงวดเรื่องการควบคุมป้องกันโรคและสื่อสารความรู้สุขภาพแก่ประชาชน

พม. เร่งเยียวยา กลุ่มเปราะบาง พื้นที่น้ำท่วม “เชียงราย-เชียงใหม่”

วราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ พร้อมด้วย อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ลงพื้นที่ตรวจติดตามเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานในการฟื้นฟูช่วยเหลือผู้ประสบภัยในพื้นที่จ.เชียงใหม่ และจ.เชียงราย เพื่อร่วมกิจกรรม Big Cleaning และศูนย์บริการซ่อมเครื่องใช้ไฟฟ้า (Fix it Center) ในพื้นที่ที่ประสบภัย และเร่งกู้คืนระบบประปา ไฟฟ้า และระบบการระบายน้ำในเขตเทศบาลนครเชียงราย

โดยหน่วยงาน ทีม พม.หนึ่งเดียว จ.เชียงใหม่ ได้ทำงานร่วมกับภาคีเครือข่าย ให้ความช่วยเหลือต่างๆ แก่กลุ่มเปราะบางผู้ประสบภัยพิบัติพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ โดยร่วมกับ อบต.ดอยลาง อบต.ท่าตอน เทศบาลตำบล(ทต.)แม่อาย ทต.ม่อนปิ่น ทต.สันทราย กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน

และอาสาสมัครพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (อพม.) ลงพื้นที่เยี่ยมบ้าน และจัดทำข้อมูลกลุ่มเปราะบางในระบบ พม. Smart ที่เป็นผู้ประสบภัยน้ำท่วม ดินถล่ม ในพื้นที่อำเภอฝาง 50 ครอบครัว อำเภอแม่อาย 100 ครอบครัว เพื่อช่วยเหลือครอบครัวละ 3,000 บาท ภายใน 30 ก.ย. นี้

รวมถึงมอบเสื้อผ้า ถุงยังชีพ จากสมาคมคนตาบอดให้แก่ผู้ประสบภัยพิบัติ พร้อมเยี่ยมผู้บาดเจ็บที่โรงพยาบาล และเยี่ยมบ้านครอบครัวผู้เสียชีวิต รวม 9 ราย เพื่อช่วยเหลือตามหลักเกณฑ์ของมูลนิธิราชประชานุเคราะห์ฯ และกระทรวงต่อไป

สำหรับการฟื้นฟูและเยียวยาผู้ประสบภัยของกระทรวง พม. ประกอบด้วย 1. ประเภทการสงเคราะห์ (เงินสงเคราะห์) ได้แก่ เงินอุดหนุนเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบปัญหาทางสังคมกรณีฉุกเฉิน เป็นเงินหรือสิ่งของไม่เกิน 3,000 บาทต่อครอบครัว

การสงเคราะห์ครอบครัวผู้มีรายได้น้อยและไร้ที่พึ่ง ช่วยเหลือเป็นเงินหรือสิ่งของ 3,000 บาทต่อครอบครัว เงินสงเคราะห์และฟื้นฟูสมรรถภาพคนพิการ ช่วยเหลือเป็นเงินหรือสิ่งของ 3,000 บาทต่อครอบครัว เงินอุดหนุนผู้สูงอายุประสบภาวะยากลำบาก ช่วยเหลือเป็นเงินหรือสิ่งของ 3,000 บาทต่อครอบครัว

การคุ้มครอง การส่งเสริมและสนับสนุนการจัดที่พักอาศัย อาหารและเครื่องนุ่งห่มให้ผู้สูงอายุตามความจำเป็นอย่างทั่วถึง หรือเข้ารับบริการหรืออุปการะในศูนย์บริการผู้สูงอายุ สถานสงเคราะห์ เรื่องอาหารและเครื่องนุ่งห่ม 3,000 บาทต่อคน การสงเคราะห์เด็กในครอบครัวยากจน ช่วยเหลือเป็นเงิน 1,000-3,000 บาทต่อครอบครัว

การสงเคราะห์เด็กแบบครอบครัวอุปถัมภ์ ช่วยเหลือเป็นเงินค่าเลี้ยงดูเด็ก 2,000-4,000 บาทต่อเดือน ตามหลักเกณฑ์หรือช่วยเหลือเป็นสิ่งของ 500-1,000 บาท เงินสนับสนุนจากกองทุนคุ้มครองเด็ก เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับกายอุปกรณ์ กรณีเด็กพิการ ค่าเครื่องอุปโภคบริโภคสำหรับเด็ก และการสงเคราะห์เด็กแบบครอบครัวอุปถัมภ์

โดยวงเงินการช่วยเหลือแล้วแต่กรณีตามหลักเกณฑ์ เงินสงเคราะห์สตรีและครอบครัวเฉพาะกรณีสตรีที่ผ่านการฝึกอาชีพ ช่วยเหลือเป็นเงินไม่เกิน 3,000 บาทต่อครอบครัวประเภทบริการปรับสภาพแวดล้อมที่อยู่อาศัย การปรับสภาพแวดล้อมและสิ่งอำนวยความสะดวกของผู้สูงอายุหลังละไม่เกิน 40,000 บาท

การปรับสภาพแวดล้อมที่อยู่อาศัยสำหรับคนพิการหลังละไม่เกิน 40,000 บาท โครงการพัฒนาที่อยู่อาศัยชั่วคราว กรณีภัยพิบัติของ พอช. ช่วยเหลือกลุ่มผู้ด้อยโอกาสไม่เกิน 18,000 บาทต่อครัวเรือน

ส่วนประเภทบริการให้เงินกู้ยืม กองทุนส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการชำระชำระคืนภายใน 5 ปี ไม่มีดอกเบี้ย รายบุคคลรายละไม่เกิน 60,000 บาท รายกลุ่มกลุ่มละไม่เกินหนึ่งล้านบาท กองทุนผู้สูงอายุชำระคืนภายใน 3 ปี ไม่มีดอกเบี้ย รายบุคคลรายละไม่เกิน 30,000 บาท

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active