อุทกภัยถล่มเมืองเชียงราย เป็นภัยพิบัติใหญ่ลำดับ 3 ในชีวิต ที่เคยเจอ

‘สมบัติ บุญงามอนงค์’ ผอ.มูลนิธิกระจกเงา ชี้ น้ำลด ปัญหาใหญ่ผุด ต้องเร่งจัดการ ทั้งโคลน ขยะ ฝุ่น เพื่อให้การฟื้นฟูชีวิต เศรษฐกิจ และสุขภาพประชาชนกลับมาเร็วที่สุด ย้ำ หากไม่เร่งระดมสรรพกำลังและทรัพยากร อาจต้องใช้เวลานานกว่า 3 เดือน

วันนี้ (21 ก.ย. 2567) สมบัติ บุญงามอนงค์ ผู้อำนวยการมูลนิธิกระจกเงา ซึ่งขณะนี้ยกภาระงานทั้งหมด ลงพื้นที่จังหวัดเชียงราย เพื่อการวางแผนและติดตามการทำงานของ “ศูนย์อาสาสมัครมูลนิธิกระจกเงา“ ที่ทำการชั่วคราวตั้งอยู่ที่หอประชุมกาสะลองคำ มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย

สมบัติ ระบุกับ The Active ว่า สาเหตุที่จัดลำดับความสำคัญมาดูแลงานที่นี่ เพราะปัญหาอุทกภัยน้ำท่วมถล่มเมืองเชียงรายครั้งนี้ เป็นปัญหาที่ส่งผลกระทบอย่างหนักต่อประชาชนในพื้นที่ ส่วนตัวจากประสบการณ์การทำงานในการช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติ มองว่า อุทกภัยถล่มเมืองเชียงราย เป็นภัยพิบัติใหญ่ลำดับที่ 3 ในชีวิตเท่าที่เคยเจอ ซึ่งรองจากสึนามิ เมื่อปี 2547 ที่มีการสูญเสียชีวิตของผู้คนจำนวนมาก และน้ำท่วมใหญ่ในปี 2554 ที่มีผลกระทบเป็นวงกว้าง

สำหรับเหตุผลที่มองว่าเหตุการณ์น้ำท่วมเชียงรายใหญ่เป็นอันดับ 3 เพราะน้ำที่มาไม่ใช่น้ำเอ่อ แต่เป็นน้ำหลาก ที่มาเร็ว แรง ส่งผลกระทบ สร้างความสูญเสียอย่างหนักต่อบ้านเรือนประชาชน และเศรษฐกิจในพื้นที่ ซึ่งบางคนเข้าใจว่าน้ำลดแล้วปัญหาจะค่อย ๆ คลี่คลาย แต่จริง ๆ ไม่ใช่ กลายเป็นว่าปัญหาใหญ่ตามมา ทั้งดินโคลน ขยะ และฝุ่น

อาสาสมัคร

การทำงานของ “ศูนย์อาสาสมัครมูลนิธิกระจกเงา“ จึงวางส่วนการทำงานและการจัดการไว้หลัก ๆ 3 ส่วน

  1. การกระจายของบริจาค ของจำเป็นในชีวิตประจำวัน ที่นอน อุปกรณ์เครื่องครัว ไปกับรถพุ่มพวงในชุมชนต่าง ๆ
  2. การระดมอุปกรณ์และสิ่งของจำเป็นเพื่อจัดการที่อยู่อาศัย ให้กับชาวบ้านที่ต้องใช้แรงกำลังของตนเองในการจัดการบ้านเรือน รวมถึงอุปกรณ์ทำความสะอาดต่าง ๆ
  3. ระดมเครื่องจักรใหญ่ในการดูดโคลน ซึ่งเป็นปัญหาใหญ่ที่ทำให้ประชาชนยังกลับเข้าที่อยู่อาศัยหรือใช้ชีวิตปกติไม่ได้ บางจุดโคลนยังท่วมถนนสูงเท่ากับตัวบ้าน การนำโคลนออกจากบ้านจึงทำไม่ได้ หรือบางจุด ล้างดินโคลนออกจากบ้าน ก็ลงท่ออุดตัน ดังนั้น นี่คือปัญหาใหญ่ที่ต้องเร่งจัดการ

สำหรับเครื่องจักรที่จำเป็นอย่างมากในการจัดการโคลน คือ รถแบคโฮ รถดัมพ์ รถตักล้อยาง รถไถ รถขนน้ำ และรถดูดโคลน

ซึ่งตอนนี้ทางมูลนิธิกระจกเงา มีเครื่องจักรหนักที่อาสาสมัครประสานเข้ามาช่วยเหลือ กระจายในพื้นที่ คือ รถแบคโฮ 5 คัน รถตักดิน 1 คัน รถดัมพ์ 1 คัน และรถดูดโคลนของ กทม. 2 คัน ซึ่งต้องยอมรับว่าไม่เพียงพอ รวมถึงกำลังคนด้วย

ข้อเสนอของทางออกเรื่องนี้ สมบัติ อยากให้มีการระดมเครื่องจักรเข้ามาช่วยภารกิจในพื้นที่ให้เพียงพอกับขนาดปัญหา ทั้งรัฐและเอกชน ยิ่งถ้ามีการจัดการค่าน้ำมันและค่าที่พัก ของคนคุมเครื่องจักรด้วยจะดีมาก แต่หากไม่ได้ มูลนิธิกระจกเงา ก็มีงบประมาณช่วยสนับสนุนในส่วนนี้

ส่วนกรณีที่ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่ากระทรวงมหาดไทย อย่าง อนุทิน ชาญวีรกูล ลงพื้นที่ จ.เชียงราย รอบล่าสุด สมบัติ มองว่าในฐานะที่ รมว.มหาดไทย มาจากภาคธุรกิจก่อสร้าง และการควบคุมเครื่องจักรหลายอย่างเป็นหน้าที่ของมหาดไทยโดยตรง จึงไม่ใช่แค่การสั่งการเพื่อขนเครื่องจักรมาให้พอกับปัญหาของพื้นที่เท่านั้น ควรต้องประสานเชื่อมโยงกับภาคประชาชนและเอกชน

“ไม่ใช่แค่การวางบทบาทล้างโคลนที่สาธารณะ เช่น ถนนหนทาง แต่ต้องรวมไปถึงการล้างและจัดการโคลนบ้านเรือนประชาชนด้วย”

ส่วนเรื่องกำลังคน ทั้งกองกำลังทหาร ตำรวจ ป่าไม้ นักศึกษา อาชีวะ ตอนนี้มีมาช่วยเหลือบ้างแล้ว แต่ต้องการให้สามารถอยู่ยาว เพื่อช่วยแก้ปัญหาให้มากขึ้น

อาสาสมัคร

สำหรับประเด็นที่รัฐถูกตั้งข้อสังเกตว่าการมีอาสาสมัครมาทำงานจำนวนมาก สะท้อนความล้มเหลวของรัฐหรือไม่ สมบัติ มองว่า ในสังคมประชาธิปไตย ต่อให้รัฐมีสถานะมั่นคง จัดการปัญหาได้ดีขนาดไหน ประชาชนก็ต้องการมีส่วนร่วม เพียงแต่ปัญหาครั้งนี้มันใหญ่มาก ที่บอกเป็นอันดับ 3 ในประเทศในชีวิตที่เจอมา อาสาสมัครยิ่งต้องการเข้ามาเติมเต็มช่วยการทำงานกับรัฐให้เข้มแข็งมากขึ้น ครั้งนี้รัฐอาจไม่ได้ล้มเหลว แต่รัฐมีความสามารถที่จำกัดเมื่อเทียบกับขนาดปัญหา


เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active