สรุป #น้ำท่วม2567 วันนี้ (20 ก.ย. 67)

20 ก.ย. 67 นี้ จุดไหนเสี่ยง พื้นที่ได้รับผลกระทบ แนวทางรับมือ เยียวยาน้ำท่วม มีมาตรการอะไรน่าสนใจ The Active รวบรวมเอาไว้ให้แล้ว!

น้ำโขง ‘นครพนม’ ลดแล้ว ปภ. เตรียม 4 มาตรการรับมือฝนตกอย่างต่อเนื่อง

Thai PBS News รายงานสถานการณ์ฝั่งน้ำโขง ในส่วนของ จ.นครพนม โดยเมื่อเวลา 07.00 น. จ.นครพนม รายงานจุดวัดน้ำ ที่สถานีวัดน้ำหนองแสง เขตเทศบาลเมือง ลดลงจากเมื่อวานนี้ 18 เซนติเมตร ซึ่งปัจจุบันอยู่ที่ 11.60 เมตร ต่ำกว่าระดับวิกฤต 40 เซนติเมตร (ระดับวิกฤติ 12.00 เมตร) จึงทำให้พื้นที่บางส่วนอยู่ในสภาวะปกติ แต่ยังมีฝนพรำอย่างต่อเนื่อง

อย่างไรก็ตาม แม้น้ำโขงจะลดลงต่ำกว่าระดับวิกฤตแล้ว แต่จุดลุ่มต่ำอย่างบริเวณ ถ.ชยางกูร ซึ่งเป็นถนนเลียบน้ำโขงในตัวพื้นที่เทศบาลเมืองนครพนม ยังคงมีน้ำโขงเอ่อท่วมถนนอยู่บางช่วงและทำให้รถ 4 ล้อ ไม่สามารถสัญจรผ่านได้

ทั้งนี้ยังมีการแจ้งเตือนภัยสถานการณ์พายุซูลิกตามที่กรมอุตุนิยมวิทยาคาดการณ์ตลอดวันนี้ และยังต้องเฝ้าระวังอันตรายจากฝนตกหนักถึงหนักมาก ตั้งแต่วันนี้ จนถึง 23 ก.ย. 67

ขณะที่กองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) นครพนม ได้สั่งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดำเนินการ 4 มาตรการเร่งด่วน ดังนี้

  1. แจ้งเตือนประชาชนในพื้นที่เสี่ยงภัยให้ทราบล่วงหน้า และเฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยงภัยฝนตกหนัก ส่วนสถานที่ ท่องเที่ยวทางธรรมชาติ โดยเฉพาะถ้ำ น้ำตก ถ้ำลอด หากมีฝนตกหนัก เสี่ยงเกิดภัย ให้หน่วยงานที่รับผิดชอบประกาศแจ้งเตือนและปิดกั้นพื้นที่

  2. เตรียมพร้อมกำลังพลและเครื่องมือเครื่องจักรกลที่ใช้งานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยให้พร้อมช่วยเหลือ 24 ชั่วโมง

  3. หากเกิดผลกระทบพื้นที่สาธารณะ ให้หน่วยงานที่รับผิดชอบเข้าเร่งแก้ไข

  4. หากเกิดสถานการณ์ในพื้นที่ใด ๆ ให้ฝ่ายเกี่ยวข้องรีบรายงานต่อกองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดนครพนมรับทราบเร่งด่วน

‘ทะเลตรัง’ รุนแรงสุดในรอบ 30 ปี ความเสียหายขยายเพิ่ม 2 อำเภอ

พายุฝนและคลื่นลมแรงยังคงซัดเข้าหาชายฝั่งทุกแห่งใน จ.ตรัง โดย Thai PBS News รายงานว่า ขณะนี้ชายฝั่งทะเลตรังมีคลื่นและทรายปนโคลนจำนวนมากขึ้นสู่ชายฝั่งบริเวณหาดปากเมง เขตอุทยานแห่งชาติหาดเจ้าไหม ต.ไม้ฝาด อ.สิเกา ไปจนถึงถนนสายหาดปากเมง-หาดฉางหลาง เป็นระยะทางประมาณ 3 กิโลเมตร เช่นเดียวกับเกาะลิบง เกาะมุกด์ อ.กันตัง และเกาะสุกร อ.ปะเหลียน จนเรียกได้ว่าพายุในครั้งนี้ สร้างความเสียหายรุนแรงที่สุดในรอบ 30 ปี

ส่วนสถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่ จ.ตรัง บริเวณชุมชนวัดแจ้ง พบว่า ขณะนี้ระดับน้ำท่วมในชุมชนอยู่ที่ 50-80 ซม. และลึกสุดกว่า 1 เมตร กระทบแล้วกว่า 60 ครัวเรือน โดยประมาณ 20 ครัวเรือนได้อพยพข้าวของไปพักอาศัยชั่วคราวภายในวัดแจ้ง ส่วนที่เหลือยังอาศัยอยู่ที่บ้าน เตรียมพร้อมอพยพไปอยู่วัด หากฝนตกหนักและปริมาณน้ำเพิ่มขึ้น

อุดมพร กาญจน์ หัวหน้าสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) จ.ตรัง ได้ทำหนังสือรายงานเหตุด่วนสาธารณภัย ถึงอธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ว่า ขณะนี้ความเสียหายจากน้ำท่วมได้ขยายพื้นที่ไปถึง อ.เมือง และอ.กันตัง ทำให้ชาวบ้านเดือดร้อนถึง 7 ตำบล 1 เทศบาล กว่า 250 ครัวเรือน

อุตุฯ เตือน ‘ซูลิก’ เข้าไทยแล้ว คาด ฝนตกหนักถึงหนักมากทั่วไทย

กรมอุตุนิยมวิทยา ออกประกาศเรื่อง พายุ “ซูลิก” ฉบับที่ 13 (205/2567) เมื่อเวลา 10.00 น. ถึงการเคลื่อนตัวของพายุดีเปรสชัน ‘ซูลิก’ ที่ได้เข้าปกคลุมภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย ทำให้ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ภาคตะวันออก และภาคใต้ มีฝนตกหนักถึงหนักมากกับมีลมแรง โดยจังหวัดที่คาดว่าจะมีฝนตกหนักถึงหนักมากมีดังนี้

วันที่ 20 ก.ย. 67

  • ภาคเหนือ : แม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ ลำปาง ลำพูน น่าน แพร่ สุโขทัย อุตรดิตถ์ กำแพงเพชร พิจิตร ตาก พิษณุโลก และเพชรบูรณ์

  • ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ : เลย หนองคาย บึงกาฬ หนองบัวลำภู อุดรธานี สกลนคร นครพนม ชัยภูมิ ขอนแก่น มหาสารคาม และกาฬสินธุ์

  • ภาคกลาง : นครสวรรค์ ชัยนาท สิงห์บุรี อ่างทอง ลพบุรี สระบุรี และพระนครศรีอยุธยา

  • ภาคตะวันออก : นครนายก ปราจีนบุรี สระแก้ว ระยอง จันทบุรี และตราด

  • ภาคใต้ : เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช ระนอง พังงา ภูเก็ต กระบี่ ตรัง และสตูล  

 

วันที่ 21ก.ย. 67

  • ภาคเหนือ : แม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ เชียงราย ลำพูน ลำปาง พะเยา น่าน แพร่ อุตรดิตถ์ ตาก สุโขทัยกำแพงเพชร พิจิตร พิษณุโลก และเพชรบูรณ์

  • ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ : เลย หนองคาย บึงกาฬ หนองบัวลำภู อุดรธานี สกลนคร นครพนม ชัยภูมิ ขอนแก่น มหาสารคาม และนครราชสีมา

  • ภาคกลาง : นครสวรรค์ อุทัยธานี ชัยนาท ลพบุรี สระบุรี กาญจนบุรี ราชบุรี รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล

  • ภาคตะวันออก : นครนายก ปราจีนบุรี สระแก้ว ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ระยอง จันทบุรี และตราด

  • ภาคใต้ : ระนอง พังงา ภูเก็ต และกระบี่

วันที่ 22-23ก.ย. 67

  • ภาคเหนือ : แม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ เชียงราย ลำพูน ลำปาง พะเยา น่าน แพร่ อุตรดิตถ์ ตาก สุโขทัยกำแพงเพชร พิจิตร พิษณุโลก และเพชรบูรณ์

  • ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ : เลย หนองคาย บึงกาฬ หนองบัวลำภู อุดรธานี สกลนคร นครพนม ชัยภูมิ ขอนแก่น กาฬสินธุ์ มุกดาหาร มหาสารคาม ร้อยเอ็ด ยโสธร อำนาจเจริญ นครราชสีมา บุรีรัมย์ สุรินทร์ ศรีสะเกษ และอุบลราชธานี 

  • ภาคกลาง : จังหวัดนครสวรรค์ อุทัยธานี ชัยนาท สิงห์บุรี อ่างทอง ลพบุรี สระบุรี สุพรรณบุรี พระนครศรีอยุธยา กาญจนบุรี ราชบุรี นครปฐม สมุทรสาคร สมุทรสงคราม รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล

  • ภาคตะวันออก : นครนายก ปราจีนบุรี สระแก้ว ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ระยอง จันทบุรี และตราด

  • ภาคใต้ : ระนอง และพังงา

ทั้งนี้ ขอประชาชนในบริเวณดังกล่าวระวังอันตรายจากฝนตกหนักถึงหนักมากและฝนที่ตกสะสม ซึ่งอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลาก โดยเฉพาะพื้นที่ลาดเชิงเขา ใกล้ทางน้ำไหลผ่าน และพื้นที่ลุ่มไว้ด้วย

สำหรับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้กำลังแรงพัดปกคลุมทะเลอันดามัน ภาคใต้ และอ่าวไทย ส่งผลให้ภาคใต้มีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง ส่วนคลื่นลมบริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทยจะมีกำลังแรง

  • ทะเลอันดามันและอ่าวไทยตอนบนมีคลื่นสูง 2-4 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 4 เมตร

  • อ่าวไทยตอนล่างมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนอง
    คลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร

จึงขอให้ชาวเรือในบริเวณดังกล่าวเดินเรือด้วยความระมัดระวังและหลีกเลี่ยงการเดินเรือในบริเวณที่มีฝน ฟ้าคะนอง ส่วนเรือบริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทยควรงดออกจากฝั่งในช่วงวันและเวลาดังกล่าวไว้ด้วย

กรมทรัพยากรธรณี เตือน 34 จังหวัด เฝ้าระวังดินถล่ม-น้ำป่าไหลหลาก

Thai PBS News รายงานว่า กรมทรัพยากรธรณี กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ขอให้อาสาสมัครเครือข่ายในพื้นที่ เฝ้าระวังภัยแผ่นดินถล่มและน้ำป่าไหลหลาก ในวันที่ 20-22 ก.ย. 67 และขอให้เครือข่ายฯ ทธ. วัดปริมาณน้ำฝนอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ ศูนย์ปฏิบัติการธรณีพิบัติภัย จะติดตามสถานการณ์อย่างต่อเนื่อง โดยมีจังหวัดที่ต้องเฝ้าระวัง ดังนี้

  • ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ได้แก่ เลย หนองคาย หนองบัวลำภู อุดรธานี ชัยภูมิ ขอนแก่น นครราชสีมา ศรีสะเกษ อุบลราชธานี

  • ภาคเหนือ ได้แก่ แพร่ น่าน พะเยา อุตรดิตถ์ เชียงใหม่ เชียงราย ลำพูน ลำปาง ตาก แม่ฮ่องสอน

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active