‘ทีมตอบโต้ภัยพิบัติ’ ชี้ ระบบราชการทำเสียเวลาครึ่งวัน กว่าจะได้ช่วยชาวบ้าน

ฟ้องต่อหน้า นายกฯ อุ๊งอิ๊ง ในวงถอดบทเรียนน้ำท่วมแม่สาย เสนอใช้แอปรายงานตัวให้รวดเร็วขึ้น ขณะเดียวกัน กู้ภัย – มูลนิธิ แนะรัฐ ยกเว้นภาษี​ให้องค์กรการกุศล​ ส่วนคนแม่สาย ย้ำระบบเตือนภัยขาดความเชื่อถือ ด้าน นายกฯ ขอบคุณทุกฝ่ายทำงานเต็มที่ อยากเห็นชาวบ้านทุกข์ให้น้อยที่สุด ​

วันนี้ (20 ก.ย. 67) ในงาน “ประสานพลัง ประสานใจ” ณ ตึกสันติไมตรี (หลังนอก) ทำเนียบรัฐบาล ผู้สื่อข่าว Thai PBS รายงานว่า แพทองธาร​ ชิน​วัตร​ นายกรัฐมนตรี พูดคุยหารือร่วมกับคณะจิตอาสา 12 องค์กร และภาคเอกชน​ อาทิ​ สมาคมเจ็ตสกีแห่งประเทศไทย และอาสาสมัครกู้ภัยจากมูลนิธิ​ต่าง ๆ

นายกฯ​ ขอบคุณทุกฝ่ายที่ให้ความร่วมมือกับภาครัฐ ยืนยันว่าหากมีข้อมูลอะไรที่จะบอกกับรัฐบาลให้ช่วยสนับสนุน​ ก็พร้อมและยินดีช่วยเหลือผลักดัน หากมีอะไรที่รัฐบาลต้องปรับปรุงตรงไหนได้​ ก็ขอให้แชร์กันตรงนี้เลย

จากนั้นเปิดโอกาสให้หน่วยงานต่าง ๆ ได้เสนอแนะ แชมป์​ – กษิดิศ ธีระประทีป แชมป์โลกเจ็ตสกี ตัวแทนจากสมาคมเจ็ตสกีฯ ร่วมแลกเปลี่นเป็นคนแรก โดยบอกว่า จิตอาสา​ ที่เข้าไปช่วยพี่น้องชาวแม่สายในเฟสที่ 1 ทุกทีมทำได้ดี สามารถช่วยชีวิตชาวบ้านได้ค่อนข้างเยอะ ที่สำคัญกองทัพไท​ย​ เป็นหน่วยงานที่ปิดทองหลังพระ​ ช่วยเหลือชาวบ้านได้ค่อนข้างเยอะ โดยเฉพาะในช่วงยามวิกาล หรือยามกลางคืน จิตอาสาจะไม่กล้าเข้าพื้นที่​ แต่กองทัพไทย​ยังคงลงพื้นที่ช่วยประชาชน​ 

ขณะที่เฟส 3 เรื่องของการป้องกัน อยากเสนอให้ทำเขื่อนริมแม่น้ำสาย​ โดยการใช้เข็มตัว L ต่อกันทั้งสองฝั่ง และเอาดินเหนียวใส่ตรงกลาง มีแนวยาวประมาณ 2 กิโลเมตร​ ตั้งแต่ด่านแม่สายแห่งที่ 1 ไปด่านแม่สายแห่งที่ 2  เชื่อว่า​จะสามารถแก้ไขปัญหาและป้องกันน้ำท่วมได้​ พร้อมให้ยกระดับถนนตรงเกาะทราย​ และทำบังเกอร์​ ป้องกันน้ำกัดเซาะถนน จึงอยากเสนอแผนนี้ให้กับคณะกรรมการน้ำ​ผ่าน นายกฯ หากแผนนี้เห็นชอบ​ ก็จะเสนอตัวเข้าไปช่วย​ เพราะตัวเองก็เป็นวิศวกรด้วย​

นายกฯ​ บอกว่า เท่าที่ลงพื้นที่เจ็ตสกีสำคัญมาก เพราะเครื่องมือใหญ่​ไม่สามารถเข้าไปช่วยชาวบ้านได้​ แต่เจ็ตสกีเข้าไปได้​ จึงได้พูดคุยกับ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม​ ว่า​ อาจจำเป็นต้องจัดซื้อหรือไม่​

จากนั้น​ ตัวแทนทีมตอบโต้ภัยพิบัติ​ ได้เสนอ​รัฐบาลให้เป็นตัวกลาง​ จัดทำแอปพลิเคชัน​ “กู้ภัยแห่งชาติ” ทั้งไว้ขอความช่วยเหลือ และรายงานตัวหน่วยกู้ภัย เพราะที่ผ่านมาต้องไปรายงานตัวที่หน่วยงานราชการ​ เสียเวลาไปแล้วครึ่งวัน​ ซึ่งหากรายงานผ่าน แอปพลิเคชัน​ นี้ได้​ จะได้สามารถเข้าหน้างานทำงานได้ทันที

ตัวแทนมูลนิธิเพชรเกษม​ ให้ความเห็นว่า​ เหตุการณ์ภัยพิบัติครั้งนี้​ ภาคเอกชนทุกหน่วยงานเป็นแขนขาให้กับรัฐบาล​ ตนจึงอยากเสนอให้รัฐบาล ยกเว้นภาษีให้กับองค์กรการกุศลเพราะองค์กรการกุศล ทำเพื่อประชาชนทำเพื่อประเทศ ขอให้พิจารณา และอนุเคราะห์ว่าองค์กรไหนเข้าเกณฑ์อย่างไร อยากให้ดูแลในส่วนนี้ เพราะอาสาสมัคร​ ไม่ได้ต้องการอะไรทำเรื่องหัวใจที่ยิ่งใหญ่ ซึ่งช่วงนี้ยังคงต้องเฝ้าระวังเพราะยังเป็นน้ำ และยังมีพายุที่จะเข้ามา ขณะเดียวกัน ก็ติดปัญหาเรื่องการบริหารจัดการ โดยเฉพาะการจราจรเพราะขณะนี้มีคนเอาของบริจาคไปจำนวนมาก 

จากนั้น ตัวแทนกู้ภัยจาก อ.แม่สาย ได้สะท้อนปัญหา เรื่องการแจ้งเตือนภัยพิบัติ ซึ่งเกิดขึ้นบ่อยจนประชาชนไม่มีความมั่นใจ และไม่มีความน่าเชื่อถือ เมื่อน้ำมาจริงทำให้ประชาชนตั้งตัวไม่ทัน และกู้ภัยใน อ.แม่สาย เอง มีอยู่เพียง 3 หน่วย และที่สำคัญคือขาดเครื่องมืออุปกรณ์ช่วยเหลือประชาชน ซึ่งในวันแรกที่น้ำมาเจ้าหน้าที่​ทุกคนก็เข้าช่วยเหลืออย่างเต็มกำลัง แต่ไม่มีเรือ หรือ เจ็ตสกี รวมไปถึงอุปกรณ์ช่วยเหลือต่าง ๆ จะต้องรอหน่วยใหญ่ ๆ ลงไปถึงพื้นที่ จึงสามารถนำเครื่องมือมาช่วยประชาชนได้

ขณะที่ ภูมิธรรม เวชย​ชัย​ รองนายก​รัฐมนตรี ​และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม บอกว่า สิ่งที่นายกฯ สั่งการเป็นอันดับแรก คือการช่วยชีวิตคนเป็นเรื่องสำคัญที่สุด เพราะสิ่งอื่นที่เสียหายสามารถหาได้แต่ชีวิตหาไม่ได้  สิ่งที่ทำตอนนี้ ไม่ได้ทำเฉพาะพื้นราบแต่ยังทำบนดอยด้วยเพราะถูกตัดขาดโดยมีการส่งอาหารทางเฮลิคอปเตอร์ และมีการแบ่งพื้นที่การทำงานในหลายส่วน 

“เมื่อคืนนี้ได้รับรายงานว่า ปัญหาเรื่องดินโคลนยังเป็นปัญหาสำคัญ เพราะมีดินโคลน เข้าไปอยู่บ้านเรือนประชาชน มากถึง 500 – 1000 ครัวเรือน หากไม่รีบจัดการ ก็จะเป็นโคลนที่แห้งและจะจัดการยาก จึงได้มีการประสานงาน 4 หน่วยงานเมื่อคืนนี้ ผ่านทางกองทัพไทย รวมถึงกระทรวงคมนาคม กระทรวงมหาดไทย ซึ่งขณะนี้ได้นำกำลังพลขึ้นไป เพราะหากนำเครื่องจักรใหญ่เข้าไปก็จะจัดการยากเพราะโคลนเข้าไปอยู่ภายในบ้านของประชาชน”

ภูมิธรรม เวชย​ชัย​

ส่วนเรื่องกฎระเบียบนั้น ภูมิธรรม ยอมรับว่า ต้องคำนึงถึงเรื่องกฎหมาย แต่จะไม่ให้เป็นปัญหา และอุปสรรคในการเข้าไปช่วยเหลือประชาชน อะไรที่เข้าทำได้ก่อนก็ให้ทำไปก่อน 

“วันนี้การช่วยเหลือประชาชน แม้จะมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์บ้างเป็นเรื่องธรรมดา แต่ต้องขอบคุณทุกภาคส่วนที่มาร่วมมือกันทั้ง ภาคเอกชน หน่วยงานราชการ องค์กร จิตอาสา เราใช้กำลังทั้งหมดเพื่อเข้าช่วยเหลือประชาชน  แต่วันนี้เราก็ยังอยากได้ความช่วยเหลือโดยเฉพาะจากภาคเอกชน ส่วนเรื่องการเยียวยาคาดว่าภายในหนึ่งสัปดาห์จะได้ความชัดเจน”

ภูมิธรรม เวชย​ชัย​
แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี

รองนายกฯ ยังชี้แจง ถึงสถานการณ์ในช่วงแรกที่เกิดภัยพิบัติว่ารัฐบาลยังไม่มีอำนาจเต็มในการสั่งการ​ แต่นี่ไม่ใช่เงื่อนไข ได้มีการหารือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและกองทัพของ​ ว่า นายกรัฐมนตรี​ มีความเป็นห่วง​ แต่ยังไม่มีอำนาจสั่งการ​ จะจัดการหารือกับทหาร เขาก็ยืนยันว่าจะต้องส่งอยู่แล้ว และส่งไปทันทีในวันที่ 10 กันยายน​ ที่ผ่านมา

จากนั้น นายกรัฐมนตรี ได้ระบุทิ้งท้าย เชื่อว่าทุกหน่วยได้ทำงานเต็มที่ ตามหน้าที่แตกต่างกันไป ทุกส่วนสำคัญไม่ว่าจะเป็นหน้างาน หรือเบื้องหลัง อยากให้ความทุกข์ของพี่น้องประชาชนสั้นที่สุด ขณะที่การเยียวยา ก็อยากจะให้ฟื้นฟู กลับมาสู่สภาพเดิมเร็วที่สุด ทั้งหมดคือศูนย์รวมน้ำใจคนไทย เพื่อที่จะช่วยคนไทยด้วยกันเอง

“วันนี้เรามาร่วมกันเพราะมีจิตใจตรงกันที่อยากจะช่วยเหลือคนไทยด้วยกัน เพราะฉะนั้นไม่มีใครทำมากทำน้อยกว่ากัน แต่ทุกคนตั้งใจที่จะช่วยจริง ๆ แม้จะแค่ส่งกำลังใจ แต่ก็เป็นสิ่งดี ๆ ที่ทุกคนมีกำลังใจทำงานต่อไป ให้กำลังใจพี่น้องประชาชน ที่ประสบภัยแล้วก็อยากให้กำลังใจคนช่วยเหลือหน้างานเพราะรู้ว่า 10 กว่าวันที่ผ่านมาเหนื่อยกันมาก ๆ”  

ภูมิธรรม เวชย​ชัย​

นายกรัฐมนตรี ยังระบุด้วยว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และ สมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินี ฝากพระราชกระแสความห่วงใย พระราชทานโรงครัวพระราชทานมาด้วย และภัยธรรมชาติที่เกิดขึ้นคนไทยก็ยังรักกัน

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active