ยอมรับข้อเสนอส่วนใหญ่ ยังไร้ความคืบหน้า วอนผู้บริหารประเทศ เร่งแก้ปัญหาทั้งเฉพาะหน้า และระยะยาว หวังปิดช่องโหว่น้ำท่วมแม่สายซ้ำซาก
หลังเสร็จสิ้นการแถลงนโยบายต่อสภาฯ ของ แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี พร้อม ๆ กับช่วงเวลาเดียวกันที่เกิดเหตุฝนถล่มจนน้ำท่วมอย่างหนักในพื้นที่ภาคเหนือ โดยเฉพาะที่ อ.แม่สาย จ.เชียงราย จนทำให้นายกฯ ต้องลงพื้นที่เยี่ยมผู้ประสบภัยน้ำท่วมที่ อ.แม่สาย ในวันที่ 13 ก.ย. ที่ผ่านมา ซึ่งในวันนั้น ชัยยนต์ ศรีสมุทร นายกเทศมนตรีตำบลแม่สาย ได้ยื่น 10 ข้อเสนอต่อนายกฯ อุ๊งอิ๊ง เพื่อให้เร่งแก้ไขปัญหาทั้งเรื่องเฉพาะหน้า และการแก้ปัญหาน้ำท่วมระยะยาว
ผ่านมา 1 สัปดาห์หลังการลงพื้นที่แม่สายของนายกรัฐมนตรี The Active พูดคุยกับ นายกเทศมนตรีตำบลแม่สาย ได้ย้ำถึงข้อเสนอ 10 ข้อที่ยื่นต่อ นายกฯ อุ๊งอิ๊ง ประกอบด้วย
- ขอให้ซ่อมแซมกำแพงป้องกันน้ำ แม่น้ำสายตลอดลำน้ำที่เสียหายเกือบทั้งหมด
- ขอให้ซ่อมแซมถนนที่ชำรุดบริเวณเกาะทราย เหมืองแดง และทุกโซนพื้นที่ที่ได้รับความเสียหายจากน้ำท่วม
- ขอให้เร่งปรับปรุง สร้างสะพานหน้าตลาดเหมืองแดงที่พังเสียหายจากน้ำท่วม ซึ่งตัดขาดการสัญจรของผู้ชาวบ้าน
- แก้ปัญหาจุดประปาหัวฝายที่ถูกตัดไฟฟ้า
- ขอให้มีระบบไปไฟฟ้าฉุกเฉินในพื้นที่น้ำท่วมซ้ำซาก เพราะที่ผ่านมาเมื่อน้ำท่วมก็จะถูกตัดไฟ แต่ขอให้มีไฟฟ้าแยกเฟส มีไฟฟ้าฉุกเฉิน ไฟส่องสว่าง
- การเร่งฟื้นฟูเมือง การของบฯ จัดการขยะ ขุดลอกแม่น้ำ ลำคลอง และพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน
- การเวนคืนพื้นที่โดยขอให้รัฐบาลเจรจากับทางเมียนมา ให้เร่งจัดการกับสิ่งก่อสร้างที่รุกล้ำลำน้ำสาย กลับไปสู่ที่ตั้งของแต่ละประเทศทั้ง 2 ฝั่ง พร้อมขุดลอกแม่น้ำสาย
- ขอให้มีผู้เชี่ยวชาญลงพื้นที่มาสนับสนุน สำรวจ ซ่อมแซม เมืองที่กำลังฟื้นฟู เนื่องจากเจ้าหน้าที่กองช่างของเทศบาลมีไม่เพียงพอ
- ของบประมาณขยายบ่อขยะของเทศบาลตำบลแม่สาย
- ขอความเร่งด่วนในการแก้ไขปัญหา เพราะไม่เช่นนั้นแม่สายจะเผชิญกับปัญหาเดิม ๆ
นายกเทศมนตรีตำบลแม่สาย บอกด้วยว่า จากข้อเสนอทั้ง 10 ข้อดังกล่าว มีเพียงข้อที่ 4 เท่านั้นที่ได้รับการแก้ไขไปแล้ว ส่วนข้ออื่น ๆ การแก้ไขปัญหายังไม่เห็นเป็นรูปธรรม ในขณะที่ข้อ 7 ซึ่งจำเป็นต้องเจรจากับประเทศเพื่อนบ้านให้จัดการกับสิ่งปลูกสร้างรุกล้ำลำน้ำ มองว่าเป็นเรื่องยากที่ต้องอาศัยเวลา แต่ก็จำเป็นต้องเริ่มเจรจาพูดคุย เพื่อการแก้ปัญหาน้ำท่วมในระยะยาว
“ยกเว้นข้อ 7 เท่านั้นที่อาจจะแก้ไม่ได้โดยทันที ส่วนข้ออื่น ๆ รัฐบาลสามารถทำได้อย่างเร่งด่วน อย่างกรณีของสะพานที่พังเสียหาย ซึ่งมีกรมชลประทานเป็นเจ้าของ ถ้าตามขั้นตอนปกติ ทางเทศบาลแม่สายต้องทำเรื่องไปถึงกรมชลประทาน เพื่อแจ้งว่ามีสะพานพัง ชำรุด ซึ่งแน่นอนว่าต้องรองบฯ เข้ามาจัดการ และเชื่อว่าไม่น่าจะทันงบฯ ปี 2568 ก็ต้องเป็นงบฯ ปี 2569 ตามวิธีการบริหารงบฯ ตามปกติ แต่ถ้าให้รอแบบนั้น ประชาชนรอไม่ได้ จึงจำเป็นที่เรื่องนี้ต้องอาศัยอำนาจของผู้บริหารประเทศ เพื่อของบฯ กลางมาดำเนินการโดยเร็ว ซึ่งเรื่องพวกนี้เกินอำนาจหน้าที่ของท้องถิ่น”
ชัยยนต์ ศรีสมุทร
นายกเทศมนตรีตำบลแม่สาย ยอมรับว่า บางเรื่องที่เสนอไปอาจกระทบต่อประชาชนบางส่วนที่อาจต้องถูกเวนคืนที่ทำมาค้าขาย ที่อยู่อาศัย แต่ก็ถือเป็นการแก้ปัญหาที่ยั่งยืนในระยะยาว เป็นสิ่งที่รัฐบาลต้องเร่งพิจารณาเพื่อไม่ให้เจอปัญหาน้ำท่วมซ้ำซาก