สรุป #น้ำท่วม2567 วันนี้ (18 ก.ย. 67)

18 ก.ย. 67 นี้ จุดไหนเสี่ยง พื้นที่ได้รับผลกระทบ แนวทางรับมือ เยียวยาน้ำท่วม มีมาตรการอะไรน่าสนใจ The Active รวบรวมเอาไว้ให้แล้ว!

ปภ.รายงาน 10 จังหวัดยังประสบภัยน้ำท่วม เผย 1 เดือนที่ผ่านมา ท่วมแล้ว 30 จังหวัด ผลกระทบ 28,651 ครัวเรือน

Thai PBS New สรุป รายงานสถานการณ์น้ำท่วมระหว่างวันที่ 16 ส.ค. – 18 ก.ย. 2567 เกิดน้ำท่วมในพื้นที่ 30 จังหวัด จากกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ดังนี้

  • ภาคเหนือ ได้แก่ เชียงราย เชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน ตาก พะเยา น่าน ลำพูน ลำปาง แพร่ อุตรดิตถ์ สุโขทัย พิษณุโลก นครสวรรค์ เพชรบูรณ์
  • ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ได้แก่ เลย อุดรธานี หนองคาย บึงกาฬ หนองบัวลำภู
  • ภาคกลาง ได้แก่ ปราจีนบุรี อ่างทอง พระนครศรีอยุธยา
  • ภาคใต้ ได้แก่ ระยอง ชุมพร ภูเก็ต ยะลา นครศรีธรรมราช พังงา ตรัง สตูล

รวมทั้งสิ้น 151 อำเภอ 676 ตำบล 3,596 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 141,387 ครัวเรือน มีผู้เสียชีวิตรวม 45 คน และได้รับบาดเจ็บรวม 24 คน

ส่วน สถานการณ์น้ำท่วมในปัจจุบัน ยังมีน้ำท่วมในพื้นที่ 10 จังหวัด รวมพื้นที่ได้รับผลกระทบ 38 อำเภอ 181 ตำบล 912 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 28,651 ครัวเรือน ดังนี้

ภาคเหนือ จำนวน 3 จังหวัด

  • เชียงราย เกิดน้ำท่วมในพื้นที่ 2 อำเภอ ได้แก่ อ.แม่สาย และ อ.เมืองฯ รวม 7 ตำบล 43 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 8,968 ครัวเรือน มีผู้เสียชีวิต 14 คน บาดเจ็บ 2 คน ระดับน้ำลดลง
  • สุโขทัย เกิดน้ำท่วมในพื้นที่ อ.กงไกรลาศ รวม 3 ตำบล 20 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 361 ครัวเรือน ระดับน้ำลดลง
  • พิษณุโลก เกิดน้ำท่วมในพื้นที่ 3 อำเภอ ได้แก่ อ.พรหมพิราม อ.บางระกำ และอ.เมืองฯ รวม 7 ตำบล 15 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 576 ครัวเรือน ระดับน้ำทรงตัว

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จำนวน 3 จังหวัด

  • หนองคาย เกิดน้ำท่วมในพื้นที่ 5 อำเภอ ได้แก่ อ.สังคม อ.ศรีเชียงใหม่ อ.ท่าบ่อ อ.เมืองฯ และ อ.รัตนวาปี รวม 18 ตำบล 77 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 2,885 ครัวเรือน ระดับน้ำลดลง
  • อุดรธานี เกิดน้ำท่วมในพื้นที่ 5 อำเภอ ได้แก่ อ.นายูง อ.น้ำโสม อ.หนองหาน อ.เมืองฯ อ.โนนสะอาด รวม 12ตำบล 34 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 42 ครัวเรือน ระดับน้ำลดลง
  • บึงกาฬ เกิดน้ำท่วมในพื้นที่ 8 อำเภอ ได้แก่ อ.โซ่พิสัย อ.บึงโขงหลง อ.เซกา อ.พรเจริญ อ.ปากคาด อ.เมืองฯ อ. บุ่งคล้า และ อ.ศรีวิไล รวม 35 ตำบล 202 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 3 ครัวเรือน ระดับน้ำทรงตัว

ภาคกลาง จำนวน 2 จังหวัด

  • อ่างทอง เกิดน้ำท่วมในพื้นที่ อ.วิเศษชัยชาญ รวม 3 ตำบล 16 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 346 ครัวเรือน ระดับน้ำทรงตัว
  • พระนครศรีอยุธยา เกิดน้ำท่วมในพื้นที่ 6 อำเภอ ได้แก่ อ.บางบาล อ.ผักไห่ อ.เสนา อ.พระนครศรีอยุธยา อ.บางปะอิน และ อ.บางไทร รวม 77 ตำบล 391 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 12,617 ครัวเรือน ระดับน้ำทรงตัว

ภาคใต้ จำนวน 2 จังหวัด

  • ตรัง เกิดน้ำท่วมในพื้นที่ 2 อำเภอ ได้แก่ อ.เมืองฯ และ อ.วังวิเศษ รวม 4 ตำบล 11 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 102 ครัวเรือน ระดับน้ำทรงตัว
  • สตูล เกิดน้ำท่วมในพื้นที่ 5 อำเภอ ได้แก่ อ.ควนโดน อ.เมืองฯ อ.ท่าแพ อ.มะนัง และ อ.ละงู รวม 15 ตำบล 103 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 2,751 ครัวเรือน ระดับน้ำทรงตัว

นอกจากนี้ เมื่อเวลา 13.50 น. กระทรวงมหาดไทย โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ได้มีการประสานงาน โดยจัดเจ้าหน้าที่ติดตามเฝ้าระวังสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด 10 จังหวัด ภาคกลาง ได้แก่ อุทัยธานี ชัยนาท สิงห์บุรี อ่างทอง สุพรรณบุรี พระนครศรีอยุธยา ลพบุรี ปทุมธานี นนทบุรี และสมุทรปราการ รวมถึงกรุงเทพมหานคร เฝ้าระวังสถานการณ์ระดับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาเพิ่มสูงขึ้น ตั้งแต่วันที่ 20 กันยายน 2567

ด้าน ไชยวัฒน์ จุนถิระพงศ์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เปิดเผยว่า กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ในฐานะกองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกลาง (กอปภ.ก.) ได้รับแจ้งจากกรมชลประทานว่า ภาคเหนือตอนล่าง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง ภาคใต้ รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล จะมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางพื้นที่ และจากการคาดการณ์ปริมาณน้ำล่วงหน้า 1 – 7 วันข้างหน้า ในวันที่ 24 กันยายน 2567 ที่สถานี C.2 อ.เมืองนครสวรรค์ มีความจำเป็นต้องระบายน้ำผ่านท้ายเขื่อนเจ้าพระยา ทำให้พื้นที่ลุ่มต่ำนอกคันกั้นน้ำบริเวณคลองโผงเผง จังหวัดอ่างทอง คลองบางบาล จังหวัดพระนครศรีอยุธยา และตำบลหัวเวียง อำเภอเสนา ตำบลลาดชิด ตำบลท่าดินแดง อำเภอผักไห่ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา (แม่น้ำน้อย) อาจส่งผลกระทบต่อพื้นที่ชุมชน ตั้งแต่วันที่ 20 กันยายน 2567 เป็นต้นไป

อ่านเพิ่ม : รายงานสถานการณ์สาธารณภัย โดย กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กระทรวงมหาดไทย (18 ก.ย. 67)

เชียงรายเช็ก! กรมทางหลวง เตือน 5 เส้นทาง ดินสไลด์ทับ-ตอม่อสะพานทรุดตัว ไม่สามารถสัญจรได้

กรมทางหลวง สรุปสถานการณ์น้ำท่วม หลังทางหลวงในพื้นที่เชียงรายถูกน้ำท่วม ทำให้ไม่สามารถสัญจรได้ 5 แห่ง ดังนี้

1. ทางหลวงหมายเลข 1149 อ.แม่ฟ้าหลวง ผาบือ – ดอยช้างมูบ กม.ที่ 0+000 – 40+000

ดินสไลด์ทับเส้นทางสัญจร การจราจรผ่านไม่ได้ ไม่มีเส้นทางเลี่ยง


2. ทางหลวงหมายเลข 1334 อ.แม่ฟ้าหลวง ผาบือ – ดอยช้างมูบ กม.ที่ 4+000 – 30+000

ดินสไลด์ทับเส้นทางสัญจร การจราจรผ่านไม่ได้ ไม่มีเส้นทางเลี่ยง


3. ทางหลวงหมายเลข 1378 อ.แม่ฟ้าหลวง สามัคคีใหม่ – ห้วยปู กม.ที่ 2+000 – 6+000

ดินสไลด์ทับเส้นทางสัญจร การจราจรผ่านไม่ได้ ไม่มีเส้นทางเลี่ยง


4. ทางหลวงหมายเลข 1389 อ.แม่ฟ้าหลวง สถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าดอยตุง – วัดพระธาตุดอยตุง กม.ที่ 1+000 – 2+662

ดินสไลด์ทับเส้นทางสัญจร การจราจรผ่านไม่ได้ ไม่มีเส้นทางเลี่ยง


5. ทางหลวงหมายเลข 1098 อ.แม่จัน ท่าข้าวเปลือก – แก่นใต้ กม.ที่ 18+266 – 18+466

ตอม่อสะพานทรุดตัว รื้อถอนสะพานเหล็กชั่วคราว ปิดการจราจร ให้ใช้ทางเลี่ยง ทช.1063 แทน

กทม. เตรียมรับฝน คาดมีโอกาสเผชิญฝนตกหนักมากถึง 24 ก.ย. เสี่ยงน้ำขังบางพื้นที่

Thai PBS News รายงานสถานการณ์ความเสี่ยงในพื้นที่ กทม. ดังนี้

วันทนีย์ วัฒนะ ปลัดกรุงเทพมหานคร มีความกังวลว่าพื้นที่ใน กทม. อาจเกิด Rain Bomb หรือฝนตกแช่ในบางพื้นที่ จนทำให้พื้นที่ดังกล่าวมีน้ำท่วมขังจากระบบท่อระบายน้ำที่ยังไม่ได้รับการแก้ไข จึงขอความร่วมมือประชาชนให้ติดตามฟังการแจ้งเตือน เพื่อเตรียมรับมือกับสถานการณ์ไม่คาดคิดจากปริมาณฝน และขอความร่วมมือไม่ทิ้งขยะในแม่น้ำลำคลอง รวมถึงกากอาหารลงในท่อระบายน้ำ เนื่องจากจะเกิดตะกอนไขมันอุดตันท่อ

อย่างไรก็ตาม ทาง กทม. มั่นใจว่าจะไม่เกิดเหตุการณ์ซ้ำรอยเช่นเดียวกับปี 2554 เนื่องจากน้ำที่ท่วมอยู่ในบริเวณด้านบนของประเทศยังมีเขื่อนกักอยู่ รวมถึงเจ้าหน้าที่มีความพยายามอย่างเต็มที่ในการเตรียมรับมือกับปัญหาน้ำท่วม โดยขณะนี้พื้นที่ใต้เขื่อนจะมีการเช็กระดับน้ำที่ปล่อยลงมาจากเขื่อนเจ้าพระยา ซึ่งยังสามารถรองรับน้ำได้ ส่วนพื้นที่ริมแม่น้ำเจ้าพระยาในพื้นที่กทม. ได้มีการเสริมเขื่อนทรายกั้นน้ำในบริเวณที่ยังฟันหลอเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

ด้าน สมควร ต้นจาน ผอ.ส่วนพยากรณ์อากาศกลาง กรมอุตุนิยมวิทยา แย้งว่า ในพื้นที่ กทม. อาจจะยังไม่เกิด Rain Bomb เนื่องจากพฤติกรรมฝนตกที่เกิดขึ้นเป็นร่องมรสุมพัดผ่านภาคกลางตอนบน จึงเป็นการเผชิญกับฝนตกหนักมากที่ไม่ใช่ Rain Bomb ซึ่งฝนจะเกิดตามแนวร่องประกอบกับอิทธิพลจากพายุดีเปรสชันที่กำลังทวีความรุนแรงเป็นพายุโซนร้อนเข้าภาคอีสาน ทำให้ กทม. และปริมณฑล มีโอกาสเผชิญกับฝนตกหนักมากถึง 24 ก.ย.นี้

ส่วน สถานการณ์น้ำลุ่มเจ้าพระยา ทางกรมชลประทาน มีการรายงานข้อมูลเมื่อเวลา 07.00 น. ดังนี้

  • สถานี C2 อ.เมืองนครสวรรค์ ปริมาณน้ำไหลผ่าน 1,115 ลบ.ม.ต่อวินาที แนวโน้มลดลง ต่ำกว่าตลิ่ง 5 เมตร
  • สถานี C13 เขื่อนเจ้าพระยา จ.ชัยนาท ปริมาณน้ำไหลผ่าน 1,099 ลบ.ม.ต่อวินาที แนวโน้มลดลงระดับน้ำท้ายเขื่อน ต่ำกว่าตลิ่ง 5 ม.

อย่างไรก็ตาม แม้ 2 เขื่อนดังกล่าวยังคงระบายน้ำอัตราเดิม แต่ขอให้ประชาชนที่อาศัยอยู่ริมน้ำและพื้นที่นอกคันกั้นน้ำ เฝ้าระวังระดับน้ำจากฝนที่ตกเพิ่มในช่วงสุดสัปดาห์นี้ตามการคาดการณ์ของกรมอุตุนิยมวิทยา หากระดับน้ำเพิ่มสูงขึ้น และมีความจำเป็นต้องปรับเพิ่มการระบายน้ำผ่านเขื่อนเจ้าพระยา กรมชลประทานจะแจ้งให้ทราบเป็นระยะต่อไป

ชุมชนริมน้ำโขง ต้องเฝ้าระวังต่อเนื่อง! นครพนม น้ำเพิ่มสูง 5 ซม. ขณะที่หนองคาย-บึงกาฬ เตรียมรับมือ ‘ดีเปรสชัน’ ปลายสัปดาห์นี้

ในช่วงเช้าของวันนี้ Thai PBS News รายงานสถานการณ์แม่น้ำโขง อ.เมือง จ.นครพนม ที่ยังคงต้องเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด เนื่องจากปริมาณน้ำโขงเพิ่มขึ้นจนเข้าใกล้ระดับวิกฤตจากเมื่อวาน (17 ก.ย.) อีก 5 เซนติเมตร เป็น 11.87 เมตร (ระดับวิกฤต 12.00 เมตร) โดยปริมาณน้ำที่เพิ่มสูงขึ้น เริ่มไหลเข้าชุมชนริมน้ำโขงบางส่วน ส่วนประชาชนในพื้นที่มีการออกมาสังเกตการณ์อย่างใกล้ชิด และเร่งเก็บทรัพย์สินขึ้นที่สูง รวมถึงหาแนวทางป้องกันเพื่อรับมือกับน้ำที่มีแนวโน้มว่าจะเพิ่มขึ้นจากพายุ “ดีเปรสชัน” ในปลายสัปดาห์นี้

ด้าน สำนักงานเจ้าท่าภูมิภาคสาขานครพนม ออกประกาศให้นายเรือและผู้ควบคุมเรือระมัดระวังการเดินเรือโดยใช้อัตราเร็วอย่างปลอดภัย และสายตาตลอดเวลา รวมทั้งจัดวิธีการทุกอย่างที่มีอยู่ให้พร้อมทันที เพื่อให้สามารถคาดคะเนได้โดยสมบูรณ์ต่อการเสี่ยงภัยจากปริมาณน้ำที่เพิ่มขึ้นและเศษซากไม้ที่ลอยมาตามน้ำ

อย่างไรก็ตาม หนองคาย-บึงกาฬ ยังต้องเฝ้าระวัง แม้ว่าปริมาณน้ำจะเริ่มลดลงอย่างชัดเจน และดูเหมือนว่าสถานการณ์กำลังกลับเข้าสู่ภาวะปกติ แต่จากพายุที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในปลายสัปดาห์นี้เช่นเดียวนครพนม ประกอบกับน้ำเหนือที่รอการระบายสู่แม่น้ำโขง จึงเป็นไปได้ว่าปริมาณน้ำจะมีการเพิ่มสูงขึ้นอีกครั้ง

อุตุฯ เตือน ‘ดีเปรสชัน’ ทำฝนตกหนักถึงหนักมากทั่วไทย

กรมอุตุนิยมวิทยา ออกประกาศเรื่องพายุ “ดีเปรสชัน” ฉบับที่ 6 (198/2567) เมื่อเวลา 16.00 น. พายุดีเปรสชันบริเวณทะเลจีนใต้ตอนบน มีศูนย์กลางทางด้านทิศตะวันออกของจังหวัดดานัง ประเทศเวียดนาม ประมาณ 415 กิโลเมตร หรือที่ละติจูด 17.0 องศาเหนือ ลองจิจูด 112.0 องศาตะวันออก มีความเร็วลมสูงสุดใกล้ศูนย์กลางประมาณ 55 กิโลเมตรต่อชั่วโมง พายุนี้กำลังเคลื่อนตัวทางทิศตะวันตกค่อนทางเหนือเล็กน้อย ด้วยความเร็วประมาณ 20 กิโลเมตรต่อชั่วโมง มีแนวโน้มจะทวีกำลังแรงขึ้นเป็นพายุโซนร้อน

ทั้งนี้ ในช่วงวันที่ 20 – 21 ก.ย. 2567 จะเคลื่อนขึ้นฝั่งบริเวณประเทศเวียดนามตอนกลาง หลังจากนั้นจะอ่อนกำลังลงตามลำดับ ประกอบกับร่องมรสุมกำลังค่อนข้างแรงพาดผ่านภาคเหนือตอนล่าง ภาคกลาง และภาคตะวันออกเฉียงเหนือลักษณะเช่นนี้ทำให้ประเทศไทยมีฝนเพิ่มขึ้น

ในช่วงวันที่ 19 – 23 ก.ย. 2567 มีฝนตกหนักถึงหนักมาก และมีลมแรงในภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ภาคตะวันออก และภาคใต้

ขอให้ประชาชนในบริเวณดังกล่าวระวังอันตรายจากฝนตกหนักถึงหนักมากและฝนที่ตกสะสม ซึ่งอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลาก โดยเฉพาะพื้นที่ลาดเชิงเขา ใกล้ทางน้ำไหลผ่าน และพื้นที่ลุ่มไว้ด้วย

ในช่วงวันที่ 19 – 22 ก.ย. 2567 มรสุมตะวันตกเฉียงใต้กำลังแรงพัดปกคลุมทะเลอันดามัน ภาคใต้ และอ่าวไทย ลักษณะเช่นนี้ทำให้ภาคใต้มีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง ส่วนคลื่นลมบริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทยจะมีกำลังแรง

  • ทะเลอันดามันและอ่าวไทยตอนบน มีคลื่นสูง 2-4 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 4 เมตร
  • อ่าวไทยตอนล่าง มีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร

ขอให้ชาวเรือในบริเวณดังกล่าวเดินเรือด้วยความระมัดระวังและหลีกเลี่ยง
การเดินเรือในบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนอง ส่วนเรือบริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทยควรงดออกจากฝั่งในช่วงวันและเวลาดังกล่าวไว้ด้วย

จันจุดา พรศรี ผอ.กองพยากรณ์อากาศ กรมอุตุนิยมวิทยา ให้ข้อมูลเพิ่มเติมกับ Thai PBS News ว่าขณะนี้ยังต้องจับตาเส้นทางดีเปรสชันที่กำลังเข้าไทยช่วงปลายสัปดาห์นี้ที่อาจมีผลทำให้น้ำป่าไหลหลากจากเมียนมาลงมาที่แม่สาย จ.เชียงราย อีกครั้ง จึงไม่แนะนำให้ช่วงนี้ทำความสะอาดบ้าน

ดังนั้น ผลกระทบที่จะเกิดขึ้นจากอิทธิพลของพายุ “ดีเปรสชัน” จะเริ่มมีลมแรงตั้งแต่คืนพรุ่งนี้ (19 ก.ย.) และมีฝนตกหนักทั้งภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออกของไทย โดยเริ่มจากทางภาคอีสานก่อน เพราะพายุเข้าใกล้ชายฝั่งเวียดนามมากยิ่งขึ้น จากนั้นวันที่ 20 ก.ย. จะเคลื่อนเข้าภาคอีสานและขึ้นไปแนวภาคเหนือซีกตะวันออกแถวพะเยา แพร่ น่าน หลังจากนั้นถึงจะไล่ถึงภาคเหนือเกือบทุกจังหวัด

อ่านเพิ่ม : อิทธิพล ‘ดีเปรสชัน’ ซ้ำ เหนือ-จังหวัดริมโขง

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active