แนะ ตั้ง ‘กองทุนชุมชน’ รับมือภัยพิบัติ อุดช่องว่างเยียวยาซ้ำซาก-ไม่เป็นธรรม

ที่ปรึกษาพีมูฟ แนะ ต้องกระจายอำนาจให้ท้องถิ่น ขยายการอนุมัติงบฯ ผ่าน ปภ. ปีละ 20 ชุมชน ให้ครอบคลุม พื้นที่เสี่ยง 40,000 ชุมชน

หลังจากที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เคาะใช้งบฯ กลาง กลุ่มงบประมาณ เงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น 3,045 ล้านบาท ช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย 57 จังหวัด 338,391 ครัวเรือน โดยแบ่งช่วยเหลือรายกรณี

การจ่ายเงินช่วยเหลือจะแยกเป็นแต่ละกรณี

  1. กรณีที่อยู่อาศัยประจำอยู่ในพื้นที่น้ำท่วมขัง ติดต่อกันเกิน 24 ชม. แต่ไม่เกิน 7 วัน และทรัพย์สินได้รับความเสียหาย หรือ ที่อยู่อาศัยประจำถูกน้ำท่วมขังเกินกว่า 7 วัน แต่ไม่เกิน 30 วัน กรณีแบบนี้ให้ความช่วยเหลือ ครัวเรือนละ 5,000 บาท

  2. กรณีที่พักอาศัยอยู่ในพื้นที่น้ำท่วมขัง ติดต่อกันเกินกว่า 30 วัน แต่ไม่เกิน 60 วัน ให้ความช่วยเหลือ ครัวเรือนละ 7,000 บาท

  3. กรณีที่พักอาศัยอยู่ในพื้นที่น้ำท่วมขัง ติดต่อกันเกินกว่า 60 วัน ขึ้นไป ให้ความช่วยเหลือ ครัวเรือนละ 9,000 บาท

โดยพื้นที่ซึ่งได้รับผลกระทบ พื้นที่ประกาศเขตพื้นที่ประสบสาธารณภัย พื้นที่ประกาศเขตการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน ได้รับความช่วยเหลืออย่างทั่วถึง และสามารถดำรงชีวิตเข้าสู่ภาวะปกติโดยเร็ว

ขณะที่ บ้านหลังที่มีความเสียหาย 70% จะไดรับเงินเยียวยา 230,000 บาท เป็นอย่างน้อย โดย แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี กำชับให้แต่ละหน่วยงานดูเรื่องเอกสารที่ไม่ทำให้เสียเวลา และชาวบ้านต้องได้รับเงินอย่างรวดเร็วนั้น

ไมตรี จงไกรจักร์ ผู้จัดการมูลนิธิชุมชนไทย ในฐานะที่ปรึกษาขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (พีมูฟ) ผู้ผลักดันนโยบายด้านพิบัติ ให้ความเห็นว่า ระเบียบการคลังของรัฐมีอยู่แล้ว เป็นมาตรการที่ช่วยบรรเทาสถานการณ์ ตามมติ ครม. แต่ที่ผ่านมาการรับเงินเยียวยาไม่เกินบ้านละ 10,000 บาทเท่านั้น และมักจะมีปัญหาข้อร้องเรียนมาโดยตลอด ทั้งที่มติ ครม. ออกมาเยียวยาสูงกว่า 2 แสนบาท จึงอยากให้ภาครัฐปฏิบัติให้ตรงกับข้อกำหนดในเชิงนโยบาย เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงเกณฑ์การจ่ายเงินที่เป็นไปตามมาตรฐานจริยธรรม

แนะรัฐตั้ง ‘กองทุนระดับตำบล’ และ ให้อำนาจ ปภ. ท้องถิ่น จัดการภัยพิบัติ

นอกจากนี้ ไมตรี ยังมองว่า ภายใต้สภาพอากาศโลกรวน รัฐควรปรับการทำงาน อุดช่องหว่างของ 3 หน่วยงาน ให้บูรณาการการทำงานกันได้อย่างเป็นระบบ ทั้งน้ำบนดิน, การพยากรณ์-คาดการณ์ล่วงหน้า, และศูนย์เตือนภัย ของกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย พร้อมย้ำ การบูรณาการ 3 หน่วยงานที่สอดคล้อง และแจ้งเตือนประชาชนอย่างทันท่วงทีเป็นสิ่งที่สำคัญ

“จุดอ่อนอีกอย่าง คือ รัฐไม่เคยปรับทำให้ประชาชน เห็นข้อมูลที่แท้จริงจากภาครัฐ ประชาชนวิ่งหาข้อมูลกันเอง ซึ่งไม่รู้จะเชื่อที่ไหน จึงไม่มั่นใจเรื่องการอพยพเคลื่อนย้าย ปัจจัยสำคัญที่มีผู้ประสบภัย สูญเสียแบบนี้ทุกครั้ง ตลอด 20 ปีที่ติดตามเรื่องนี้มาตลอด”

ไมตรี จงไกรจักร์ 
ไมตรี จงไกรจักร์ ผู้จัดการมูลนิธิชุมชนไทย

ผู้จัดการมูลนิธิชุมชนไท ยังมองว่า ประเทศไทยเชื่อในระบบรัฐ มีระบบการแจ้งเตือนเป็นขึ้นตอน ตั้งแต่ แจ้งมาที่ผู้ว่าฯ แล้วผู้ว่าฯ แจ้งไปที่นายอำเภอ แจ้งกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน อบต. เทศบาล แต่เป็นการแจ้งข้อมูลที่ไม่ได้ยืนยันชัดเจนว่า อพยพที่ไหนอย่างไร ประชาชนไม่ได้รับรู้ข้อมูลนั้น ระบบการแจ้งเตือนไม่ทั่วถึง และไม่ทันหน่วยงานแจ้งให้คนอพยพต้องใจกล้าพอ

อีกจุดอ่อน คือ ไทยมี คณะกรรมป้องกันสาธารณภัยระดับจังหวัด ระดับตำบล ระดับอำเภอ แต่คณะกรรมการชุดนี้ไม่ได้ประชุม ประเมินและตัดสินใจร่วมกัน จึงกลายเป็นภาระของหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่ง ขณะที่ในต่างประเทศ มี SMS ถึงประชาชนทุกคนในพื้นที่ทันที

“คำถาม คือ เพราะอะไรประชาชนไม่เชื่อการแจ้งจากภาครัฐ หรือ เพราะไม่มีประสิทธิภาพหรือเปล่า ? ควรสถาปนาหน่วยงานที่จะแจ้งเตือนประชาชน ให้ประชาชนเชื่อถือได้ในอนาคต พร้อมที่จะอุดช่องว่างสำคัญ ประเทศไทยมีพื้นที่เสี่ยงประมาณ 40,000 หมู่บ้าน แต่เวลารัฐบาลมีงบประมาณผ่าน ปภ.ปีละ 20 ชุมชนเท่านั้น”

ไมตรี จงไกรจักร์

ข้อเสนอแนะแก้ปัญหาเยียวยาซ้ำซาก

  • ท้องถิ่น ชุมชน ร่วมจัดทำแผนจัดการภัยพิบัติ จัดหาเครื่องมืออุปกรณ์ รัฐส่วนกลางสนับสนุน ใช้หอกระจายข่าวระดับตำบล เป็นการเรียนรู้ของประชาชน ถ้าไม่ทำ เราก็จะมีปัญหา ประชาชนเป็นผู้สบภัยมาตลอด ช่วยคนบนหลังคามาตลอด

  • สถาปนาหน่วยงานแจ้งเตือนภัยประชาชน

  • จัดระบบแจ้งเตือนประชาชน ให้ทุกคนรับรู้ในพื้นที่เสี่ยงภัย ใช้กันทั่วโลก ยกเว้นไทยไม่กล้าบอกประชาชน ถ้าประชาชนรู้และไม่รู้มากพอจะทำให้เกิดความโกลาหล เพราะยังไม่เคยแจ้งเตือน จึงคิดอย่างเดียวว่าประชาชนมีปัญหา เตรียมพร้อมประชาชนให้รับรู้เรื่องนี้

  • ตามนโยบายภัยพิบัติของพีมูฟข้อเสนอผลักดันรัฐบาลต้องส่งเสริมให้เกิด กองทุนตำบลด้านภัยพิบัติ คล้ายกับกองทุนด้านสุขภาพ รัฐบาลส่วนกลาง อปท. ต้องทำเรื่องนี้ จัดทำแผนรับมือตำบล ให้ความรู้ประชาชน จัดหาเครื่องมือ

  • คณะกรรมการ ใน กม.มีแล้ว ทุกระดับ ชาติ จังหวัด อำเภอ ตำบล เพิ่มองค์ประกอบผู้เชี่ยวชาญด้านภัยพิบัติเข้าไป

  • ขณะที่กฎหมายของ ปภ. มีข้อจำกัด กระจายอำนาจเตรียมพร้อมรับมือภัยพิบัติ เขียนให้มีหน้าที่เรื่องนี้ กระจายอำนาจให้ท้องถิ่นมีอำนาจความพร้อม รัฐบาลให้งบฯ ผ่าน ปภ. ปีละ 20 ชุมชน แต่เรามีพื้นที่เสี่ยง 40,000 ชุมชน ต้องปรับปรุงกฎหมายให้เอื้อ

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active