สำรวจเกณฑ์ เคลมประกัน ‘รถยนต์ถูกน้ำท่วม’

คปภ. ระบุ สามารถเคลมค่าเสียหายกับบริษัทประกันได้ 5 ระดับ ตั้งแต่ 8,000 บาท ไปจนถึงคืนทุนประกัน กรณีท่วมทั้งคัน

เหตุการณ์น้ำท่วม อ.เมืองเชียงราย จ.เชียงราย (13 ก.ย. 67)

จากกรณีเหตุการณ์น้ำท่วมในหลายพื้นที่ของ จ.เชียงราย และ จ.หนองคาย ส่งผลให้ทรัพย์สินประชาชนได้รับความเสียหายจำนวนมากโดยเฉพาะ รถยนต์ ทั้งนี้ข้อมูลจาก สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) ที่ The Active รวบรวมมา พบว่า เกณฑ์มาตรฐานที่ คปภ. กำหนดให้บริษัทประกันภัยต้องใช้พิจารณาจ่ายค่าซ่อมรถถูกน้ำท่วม มีอยู่ 5 ระดับ ได้แก่

  • ระดับ A น้ำท่วมถึงพื้นรถยนต์ ประเมินค่าซ่อม 8,000-10,000 บาท

  • ระดับ B น้ำท่วมถึงเบาะนั่ง ประเมินค่าซ่อม 15,000-20,000 บาท

  • ระดับ C น้ำท่วมถึงส่วนล่างของคอนโซลหน้า ประเมินค่าซ่อม 25,000-30,000 บาท

  • ระดับ D น้ำท่วมถึงส่วนบนของคอนโซลหน้า ประเมินค่าซ่อม เริ่มต้นที่ 30,000 บาทขึ้นไป

  • ระดับ E รถยนต์จมน้ำทั้งคัน ในกรณีนี้บริษัทจะคืนทุนประกันภัยให้กับผู้เอาประกันภัยหรือผู้รับประโยชน์

สำหรับ การคืนทุนประกัน นั้น หากบริษัทประกันประเมินแล้วว่าจะต้องจ่ายค่าซ่อมเกินกว่า 70% ของราคารถ ณ ปัจจุบัน โดยบริษัทจะจ่ายเงินทั้งก้อนเต็มจำนวนตามที่ระบุไว้ในกรมธรรม์ให้กับผู้เอาประกัน ซึ่งทุนประกันชั้น 1 ส่วนใหญ่จะอิงกับราคารถยนต์ในปัจจุบัน ส่วนประกันชั้น 2 ชั้น 3 จะกำหนดไว้แบบตายตัวให้เลือกตั้งแต่ก่อนทำประกัน เช่น 100,000 บาท 200,000 บาท เป็นต้น

เหตุการณ์น้ำท่วม อ.เมืองเชียงราย จ.เชียงราย (13 ก.ย. 67)

ส่วนขั้นตอนการเคลมค่าเสียหายรถถูกน้ำท่วม คปภ. แจ้งว่า ผู้เอาประกัน หรือญาติของผู้เอาประกัน ตรวจสอบรถตนเองว่าทำประกันไว้กับบริษัทไหน และโทร. ติดต่อบริษัทดังกล่าว จากนั้นแจ้งขอเคลมค่าเสียหายได้ทันที โดยส่วนใหญ่ประกันชั้น 1 จะครอบคลุมความเสียหายจากน้ำท่วม แต่ประกันชั้น 2 และชั้น 3 ผู้เอาประกันจะตรวจสอบก่อนว่ากรมธรรม์ประกันภัยที่ได้ซื้อไว้กับบริษัทประกันให้ความคุ้มครองภัยน้ำท่วมหรือไม่

คณานุสรณ์ เที่ยงตระกูล ผู้ช่วยเลขาธิการ สายคุ้มครองสิทธิประโยชน์ สำนักงาน คปภ. เปิดเผยกับ The Active ว่า หลักเกณฑ์พิจารณาค่าเสียหายรถถูกน้ำท่วมดังกล่าว ไม่ใช่การกฎหมายบังคับแต่เป็นการขอความร่วมมือบริษัทประกัน เพื่อความรวดเร็วในการเคลมเท่านั้น โดย คปภ. ได้พูดคุยกับ สมาคมประกันวินาศภัยไทย แล้วและขอให้รวบรวมรายการความเสียหายเหตุน้ำท่วมของทุกบริษัทประกันรายงานต่อ สำนักงาน คปภ. เพื่อให้ตรวจสอบได้ดำเนินตามมาตรการที่ร้องขอหรือไม่

มันไม่ใช่กฎหมาย เป็นเกณฑ์ขอความร่วมมือ แต่เชื่อว่าทุกบริษัทใช้เกณฑ์นี้ เพราะเราได้เชิญสมาคมประกันวินาศภัยไทย มาร่วมประชุมที่สำนักงาน คปภ.แล้วว่าใช้เกณฑ์นี้ แล้วสำนักงาน คปภ. ได้มีหนังสือถึงสมาคมฯ ให้รวบรวมรายการความเสียหายรถที่น้ำท่วมของทุกบริษัท รายงานต่อสำนักงาน คปภ.ด้วย เพื่อให้ตรวจสอบว่า สิ่งที่เรามีมาตรการร่วมกันออกไป ได้ดำเนินการอย่างไรบ้าง ไม่ใช่แค่พูดเฉย ๆ พูดแล้วเราก็ให้บริษัทรายงานมา เราก็จะไปตรวจสอบด้วยว่า บริษัทได้ทำตามที่เราตกลงกันไว้หรือไม่”

คณานุสรณ์ เที่ยงตระกูล

ทั้งนี้หากการเคลมรถน้ำท่วมมีปัญหา ผู้เอาประกันสามารถติดต่อขอความช่วยเหลือที่ สายด่วน คปภ. 1186 และสำนักงาน คปภ. ในพื้นที่ จ.เชียงราย โทร. 053-717-719 และ 053-719-397 สำนักงาน คปภ. หนองคาย โทร. 0-4241-4773

เหตุการณ์น้ำท่วม อ.แม่สาย จ.เชียงราย (14 ก.ย. 67)

ส่วน รถจักรยานยนต์ สำนักงาน คปภ. ได้ประสานกับบริษัท กลางคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ จำกัด ซึ่งพร้อมช่วยเหลือซ่อมแซมรถจักรยานยนต์ให้กับมาใช้งานได้ รวมไปถึงการเปลี่ยนถ่ายของเหลว ซึ่งล่าสุดได้เข้าไปตั้งพื้นที่กางเต้นท์ใน จ.เชียงราย และ อ.แม่สายแล้ว

นอกจากนั้นประกันภัยที่เกี่ยวกับอาคาร หากเป็นอาคารที่เข้าเงื่อนไขดังกล่าวประกอบด้วย อาคารสูง, อาคารขนาดใหญ่, อาคารขนาดใหญ่พิเศษ, อาคารชุมนุมคน, โรงแรมตามกฎหมายว่าด้วยโรงแรม, สถานบริการตามกฎหมายว่าด้วย สถานบริการ รวมถึงป้ายหรือสิ่งที่สร้างขึ้นสำหรับติดหรือตั้งป้ายที่สูงจากพื้นดินตั้งแต่ 15 เมตรขึ้นไป หรือมีพื้นที่ตั้งแต่ 50 ตารางเมตรขึ้นไป หรือป้ายที่ติดหรือตั้งบนหลังคา หรือดาดฟ้าของอาคารหรือส่วนหนึ่งส่วนใดของอาคารที่มีพื้นที่ตั้งแต่ 25 ตารางเมตรขึ้นไป จะต้องจัดให้มีการประกันภัยความรับผิดตามกฎหมายต่อชีวิต ร่างกาย และทรัพย์สินของบุคคลภายนอก ทั้งนี้หากอาคารดังกล่าวไม่ปฏิบัติตามจะมีบทลงโทษจำคุกไม่เกิน 3 เดือน หรือปรับไม่เกิน 60,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

สำหรับการประกันอัคคีภัยสำหรับที่อยู่อาศัย จะให้ความคุ้มครองสิ่งปลูกสร้างหรือตัวอาคารใช้เป็นที่อยู่อาศัย (ไม่รวมฐานราก) ทรัพย์สินภายในบ้าน สิ่งที่ติดกับตัวอาคาร หรือเครื่องมือเครื่องใช้ภายในบ้าน โดยให้ความคุ้มครองไฟไหม้ ฟ้าผ่า ระเบิด ภัยจากยวดยานพาหนะ ภัยจากอากาศยาน ภัยจากน้ำที่เกิดจากการรั่วซึมภายในอาคาร (ไม่รวมน้ำท่วม) รวมถึง ภัยธรรมชาติ 4 ภัย ได้แก่ ภัยน้ำท่วม, ภัยลมพายุ, ภัยลูกเห็บ และภัยแผ่นดินไหว

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active