ยกระดับแผนเตือนภัย หลังคนพิการ จ.เชียงราย เสียชีวิตจากน้ำท่วม

‘วราวุธ’ สั่ง พมจ. ทำงานเชิงรุก ให้เจ้าหน้าที่รู้พิกัดล่วงหน้า ลงพื้นที่ช่วยเหลือทันท่วงที ลดโอกาสสูญเสีย

จากสถานการณ์อุทกภัย และดินถล่ม พื้นที่ จ.เชียงราย ตั้งแต่วันที่ 9 – 14 ก.ย. 67 กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) กระทรวงมหาดไทย รายงานสรุปมีผลกระทบ 9 อำเภอ 34 ตำบล 153 หมู่บ้าน 1 เทศบาลนคร (52 ชุมชน) มี ผู้เสียชีวิตรวม 10 คน บาดเจ็บ 2 คน เสียหาย 52,688 ครัวเรือน ประปาใช้ไม่ได้

ในจำนวนผู้เสียชีวิต พบว่ามี คนพิการอย่างน้อย 1 คน ที่ติดอยู่ในบ้านออกมาไม่ได้ ลักษณะเป็นบ้านชั้นเดียวยืนแช่น้ำถึงคอ และอีกจำนวนหนึ่ง ที่ไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ ต้องรอเจ้าหน้าที่ และอาสาสมัครกู้ภัยฝ่ากระแสน้ำเข้าไปช่วยเหลืออยู่หลายวัน

อนุกูล ปีดแก้ว ปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) เป็นประธานการประชุมติดตามสถานการณ์อุทกภัย จ.เชียงราย – เชียงใหม่ และจังหวัดใกล้เคียงที่ได้รับผลกระทบ รวมถึงการช่วยเหลือกลุ่มเปราะบางที่ประสบภัย การเตรียมแผนรองรับของจังหวัดรับน้ำจากแม่น้ำโขง ระบุว่า ที่ประชุมได้เตรียมความพร้อมในการช่วยเหลือผู้ประสบภัย โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบาง ทั้งเด็กเล็ก ผู้สูงอายุ และคนพิการ รวมถึงผู้ป่วยติดเตียง ซึ่งในขณะนี้ ช่วงที่เกิดอุทกภัยในพื้นที่ต่าง ๆ ทางคณะผู้บริหารกระทรวง พม. จะยังไม่ลงพื้นที่ที่เกิดภัยต่าง ๆ นั้น เนื่องจากต้องการให้เจ้าหน้าที่ พม. ในพื้นที่ได้ทำงานในการร่วมกันช่วยเหลือพี่น้องประชาชนอย่างเข้มแข็งจริงๆ จึงไม่ลงพื้นที่ไปเป็นภาระหรือว่าไปรบกวนจนเกินไป

อย่างไรก็ตาม วราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวง พม. ได้กำชับอย่างต่อเนื่องให้ผู้บริหารกระทรวง พม. ทุกคนติดตามต่อเนื่องและรับฟังสิ่งที่พื้นที่ต้องการความช่วยเหลือและสนับสนุนการวางแผนร่วมกันในการที่จะช่วยเหลือทั้งในพื้นที่ที่เกิดภัยขึ้นแล้ว และพื้นที่ที่จะเกิดภัย โดยให้ไปเพื่อวางแผนการช่วยเหลือล่วงหน้า สำหรับผู้ประสบภัยที่ถูกนำเสนอผ่านสื่อต่าง ๆ และกรณีที่วิกฤตต่าง ๆ นั้น ได้ให้หน่วยงานในพื้นที่หรือทีม พม. หนึ่งเดียวจังหวัด เข้าไปทำงานสนับสนุนเพื่อติดตามผู้ประสบภัยเหล่านี้ว่ามีความเป็นอยู่อย่างไร เพื่อนำมาวางแผนในเรื่องการฟื้นฟูเยียวยาระยะยาวต่อไป และฝากถึงสื่อมวลชน ว่า สามารถเชื่อมต่อการดูแลกลุ่มเปราะบางให้กับทีม พม. หนึ่งเดียวจังหวัดในพื้นที่ได้ทุกจังหวัดที่เกิดภัย

ปลัด พม. บอกด้วยว่า สำหรับการวางแผนการช่วยเหลือในกลุ่มจังหวัดที่พื้นที่ที่ยังไม่เกิดภัย วันนี้ไม่อยากที่จะช่วยผู้ประสบภัยตามไล่หลังเมื่อเกิดภัย พร้อมประสานนักสังคมสงเคราะห์ นักจิตวิทยา และนักพัฒนาสังคม ทีมสหวิชาชีพ ลงพื้นที่เข้าไปสร้างความเข้าใจเพื่อย้ายจากพื้นที่เสี่ยงภัยออกไปอยู่ในพื้นที่ที่เหมาะสม

“ที่ผ่านมา เราทำงานลักษณะไล่ตามหลัง ซึ่งทุกส่วนราชการมีข้อจำกัดในเรื่องนี้ แต่ว่าจากนี้ไป เราต้องการให้กลุ่มเปราะบางรู้พิกัดล่วงหน้า เพื่อที่จะให้หน่วยปฏิบัติการได้ลงพื้นที่เจ้าไปช่วยเหลือ เช่น เราพิกัดว่าผู้สูงอายุ คนพิการ เด็กเล็กในครอบครัวอยู่ที่ไหนบ้างในพื้นที่ที่เกิดภัย เมื่อเราทราบล่วงหน้าจะสามารถรวางแผนช่วยเหลือ ให้สามารถที่จะผ่านสถานการณ์ภัยพิบัติที่อาจจะเกิดขึ้นได้”

อนุกูล ปีดแก้ว

จากสถานการณ์ที่เกิดปัญหาอุทกภัยอย่างหนัก ในช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา โดยเฉพาะภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ตามเส้นทางของลำน้ำโขงนั้น รมว.พม. ได้เปิดพื้นที่ที่อยู่ภายใต้การดูแลของกระทรวง พม. คือ ศูนย์-สถาน-บ้าน-นิคม ต่างๆ อาทิ ศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่ง บ้านเอื้ออาทร ศูนย์พัฒนาราษฎรบนพื้นที่สูง บ้านพักเด็กและครอบครัว เป็นต้น รวมทั้งหมด 34 แห่ง เพื่อให้พี่น้องประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนจากปัญหาอุทกภัย สามารถเข้ามาพักพิงที่ศูนย์แห่งนี้ได้ตลอด 24 ชั่วโมง

รวมถึงพื้นที่ตั้งศูนย์พักพิงชั่วคราว จำนวน 34 แห่ง ใน 13 จังหวัด ของภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ได้แก่ จังหวัดเชียงราย เชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน ลำพูน ลำปาง พะเยา น่าน หนองคาย เลย มุกดาหาร บึงกาฬ อุบลราชธานี นครพนม ซึ่งจะสามารถรองรับผู้ประสบภัยได้ 1,475 คน ซึ่งทั้งหมดเป็นจังหวัดที่เราได้ขอให้เตรียมความพร้อม เนื่องจากลำน้ำโขงในขณะนี้สถานการณ์น้ำมาถึงที่จังหวัดหนองคาย และจะถึงจังหวัดเลย ไปจนถึงจังหวัดมุกดาหาร บึงกาฬ และอุบลราชธานี

ทั้งนี้ พม. ยังขอเชิญชวนทุกภาคส่วนของสังคม และประชาชน ร่วมสนับสนุนทรัพยากรต่าง ๆ ผ่านศูนย์รับบริจาคกระทรวง พม. เพื่อช่วยเหลือบรรเทาความเดือดร้อนพี่น้องกลุ่มเปราะบาง ที่กระทรวง พม. รับผิดชอบ โดยสามารถติดต่อศูนย์รับบริจาคกระทรวง พม. ได้ที่ โทร. 0-2659-6418 และ 0-2659-6419 หรือ Facebook : ศูนย์รับบริจาคกระทรวง พม. ในขณะเดียวกัน หากพี่น้องประชาชนประสบปัญหาความเดือดร้อนจากอุทกภัย สามารถโทรขอความช่วยเหลือเร่งด่วนได้ที่ ศูนย์เร่งรัดจัดการสวัสดิภาพประชาชน (ศรส.) ผ่านฮอตไลน์ พม. 1300 ตลอด 24 ชั่วโมง

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active