ทีมแพทย์ฉุกเฉินลุยน้ำท่วมเชียงราย ฝ่าดินโคลนช่วยชีวิต-ทำคลอดกลางวิกฤต!

ทีม MERT ระดมกำลังช่วยผู้ประสบภัยน้ำท่วมใหญ่เชียงราย ทั้งปฏิบัติการฟอกไตเคลื่อนที่ ทำคลอดฉุกเฉิน ส่งเฮลิคอปเตอร์เร่งช่วยเหลือผู้ป่วยในพื้นที่ห่างไกล ขณะที่ยอดผู้เสียชีวิตจากน้ำท่วมและดินถล่มเชียงใหม่-เชียงรายพุ่ง 16 คน!

วันนี้ (15 ก.ย. 67) The Active เกาะติดปฏิบัติการทีมแพทย์สนามฉุกเฉินระดับตติยภูมิ (Medical Emergency Response Team) หรือทีม MERT ซึ่งเป็นบุคลากรทางการแพทย์จากส่วนกลาง ลงไปสนับสนุนการดูแลช่วยเหลือผู้ป่วยในพื้นที่ จ.เชียงราย ที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ 

ปฏิบัติการนี้เริ่มต้นช่วงเช้ามืดของวันที่ 13 ก.ย. 2567 รถบรรทุก รถพยาบาล ลำเลียงวัสดุอุปกรณ์ทางการแพทย์ยา เวชภัณฑ์ รวมถึงบุคลากรจำนวน 23 คน ประกอบด้วย 

  • แพทย์ 4 คน
  • พยาบาล 8 คน 
  • เภสัช 1 คน 
  • นักปฏิบัติการฉุกเฉิน 1 คน 
  • เจ้าหน้าที่กู้ชีพ 7 คน 
  • เจ้าหน้าที่สื่อสาร 1 คน 
  • ช่างเทคนิค 1 คน 

เป็นบุคลากรจากกรมการแพทย์ คือ โรงพยาบาลราชวิถี โรงพยาบาลเลิดสิน โรงพยาบาลนพรัตนราชธานี และ กองวิชาการแพทย์ ทั้งนี้ ได้รับการสนับสนุนจากมูลนิธิร่วมกตัญญู ด้วยเบื้องต้นคาดว่าได้รับภารกิจในการปฏิบัติงาน จำนวน 5 วัน ขึ้นอยู่กับสถานการณ์และภารกิจที่ได้รับมอบหมายในพื้นที่ 

โดยทีม MERT จากส่วนกลางเดินทางมาถึงสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเชียงรายช่วงค่ำ วันที่ 13 ก.ย. มีการประชุมวางแผนงานร่วมกับ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเชียงราย ชี้แจงสถานการณ์ปัจจุบัน และวางแผนจุดที่ต้องการทีมไปเสริม โดยให้ไปปักหลักโรงพยาบาลวัดห้วยปลากั้ง อ.เมือง จ.เชียงราย 

ต่อมาเช้าวันที่ 14 ก.ย.มีการวางแผนปรับการทำงานเชิงรุก แบ่งทีม MERT เป็น 2 ทีมลงพื้นที่กระจายไปยังศูนย์พักพิงต่างๆที่อยู่ในอ.เชียงราย ที่มีผู้ป่วยผู้สูงอายุและเด็กเล็กอาศัยอยู่

ทีมแรกนำโดย นายแพทย์เกษมสุข โยธาสมุทร รองผู้อำนวยการ กองวิชาการแพทย์ กรมการแพทย์ ไปที่ศูนย์พักพิงของมูลนิธิ ซี.ซี.เอฟ. เพื่อเด็กและเยาวชน ในพระราชูปถัมภ์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ซึ่งในพื้นที่ยังมีการตัดกระแสไฟฟ้า มีชาวบ้าน ต.ริมกก อาศัยอยู่ ราว 150 ขณะที่น้ำยังท่วมบ้านไม่สามารถกลับไปได้ แต่ชาวบ้านส่วนใหญ่เลือกที่จะอยู่ศูนย์พักพิงนี้เพราะใกล้กลับบ้าน สามารถเดินกลับไปดูที่บ้านได้

ที่นี่พบผู้ป่วยที่เป็นผู้สูงอายุหลายคน คุณตาวัย 91 ปีลูกสาวพาอพยพ มาอยู่ศูนย์พักพิงมีเพียงเสื้อผ้าชุดเดียวไม่ได้พกยาติดตัวมาด้วย ทำให้คุณหมอต้องตรวจร่างกายวัดความดัน และจ่ายยาที่จำเป็นให้ พร้อมทำประวัติส่งโรงพยาบาลต้นสังกัด 

อีกรายเป็นชายวัย 61 ปีป่วยเป็นไตเรื้อรัง เจาะเส้นเตรียมพร้อมฟอกไตครั้งแรก แต่ต้องเลื่อนออกไปก่อนเพราะน้ำท่วม เขาไม่ได้หยิบยามาด้วย จมหายไปกับน้ำ พร้อมกับใบแพทย์นัด ซึ่งญาติต้องพาไปติดต่อใหม่หลังน้ำลด ทีมคุณหมอช่วยจ่ายยาเท่าที่จำเป็นโดยเฉพาะยาทาแผลที่ดูเหมือนจะมีอาการหนักมากขึ้นจากภาวะของการป่วยโรคไต และกำชับให้ กินน้ำน้อยไม่งั้นน้ำจะท่วมปอด 

นอกจากนี้ยังมีผู้สูงอายุอีกหลายคนที่คุณหมอไปตรวจแต่ทั้งหมดยังไม่ใช่เคสฉุกเฉินที่ต้องส่งโรงพยาบาลทันทีสามารถดูแลตัวเองได้อยู่ภายในศูนย์พักพิง โดยชาวบ้านที่เป็นผู้สูงอายุ ต่างรู้สึกดีใจและอุ่นใจที่มีหมอมาตรวจสุขภาพ เพราะหลายคนก็รู้สึกเวียนวยคล้ายจะเป็นลมอยู่บ่อยๆ 

นายแพทย์เกษมสุข โยธาสมุทร

นายแพทย์เกษมสุข โยธาสมุทร  ในฐานะหัวหน้าทีม MERT บอกว่า การทำงานมีการวางแผนกันอย่างเป็นระบบในระดับกระทรวงซึ่งคอยติดตามการทำงาน หลังจากในระดับพื้นที่จังหวัดเชียงรายประสานร้องขอมา ก็จัดหาทีมที่พร้อมออกปฏิบัติการแสดงความจำนง กระทรวงก็จะประสานกับพื้นที่ว่าตรงไหนที่ต้องการทีมเข้าไปเสริมตรงนั้น 

“ทีมที่อยู่แรกๆโดยเฉพาะทีมหมอในพื้นที่ ก็มีงานปกติในการดูแลผู้ป่วยทั่วไปอยู่แล้ว และเมื่อมีงานที่สาธารณภัยที่เสริมมา ก็ต้องขยายกำลังที่ต้องดูแลเพิ่มเติม ถ้าเขาดูเองนานๆก็มีสิทธิ์ที่จะเหนื่อยล้าได้” 

นพ.เกษมสุข โยธาสมุทร กล่าว

ช่วงบ่ายวันเดียวกัน มี ทีมMERT. อีกทีม นำทีมโดย แพทย์หญิงนฤมล สวรรค์ปัญญาเลิศ นายแพทย์ทรงคุณวุฒิ กรมการแพทย์ เดินทางขึ้นเขา ไปที่ ต.แม่ยาว อ.เมือง ซึ่งถูกกระแสน้ำไหลเชี่ยวพัดพาดินโคลนทับถม บ้านพังเสียหายหลายหลัง บางหลังถูกน้ำพัดหายไปทั้งหลัง ถูกดินสไลด์ปิดทางเข้าออก ทำให้ชาวบ้านซึ่งเป็นชาวกะเหรี่ยง ถูกตัดขาดจากโลกภายนอกมาเป็นระยะเวลา 4 วัน เมื่อวานนี้เป็นครั้งแรกที่พวกเขาได้รับการช่วยเหลือจากอาสาสมัครและทีมแพทย์ที่เข้าไปอย่างเร่งด่วน ซึ่งการเดินทางเข้าไปยังหมู่บ้านเหล่านี้ยังคงค่อนข้างยากลำบาก ต้องใช้รถขับเคลื่อน 4 ล้อเท่านั้น 

เมื่อเข้าไปถึงในส่วนจุดที่ลึกสุดก็คือหมู่บ้านสามเส้า มีชาวกะเหรี่ยงในหมู่บ้านเดินทางเข้ามาพบหมอเป็นจำนวนมากส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุและเด็กเล็ก 

ชายรายหนึ่งมีอาการท้องป่องผิดปกติ แต่ไม่แต่ยังถือว่าเป็นเคสฉุกเฉินหมอจึงบันทึกข้อมูลให้รพ.สต.ในพื้นที่ติดตามและส่งตรวจที่โรงพยาบาลหลังน้ำลดเข้าสู่ภาวะปกติ

นอกจากนี้ยังมีพ่อแม่พาเด็กเล็กมาดูอาการ อย่างเด็กชายวัย 5 เดือนมีผื่นขึ้นตามตัว และมีกลุ่มชายวัยรุ่นหลายคนที่มีแผลที่เท้าเพราะต้องลุยน้ำ บางคนปล่อยทิ้งไว้จะแผลขึ้นหนอง ขณะที่ผู้สูงอายุหลายคนที่ป่วยโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง เช่นเบาหวานความดัน ยังมียาเดิมเพียงพอที่จะกิน  

”ทุกคนภูมิใจที่ได้มาช่วยเหลือคน เพราะเมื่อมาถึงพื้นที่ ทีมแพทย์ เห็นชาวบ้านหลังจากได้รับการรักษาแล้วชาวบ้านดีใจ ว่าไม่ถูกทอดทิ้ง ยังมีหมอมาดูแล“

พญ.นฤมล สวรรค์ปัญญาเลิศ หน.กลุ่มฉุกเฉินทางการแพทย์ นายแพทย์ทรงคุณวุฒิ กรมการแพทย์ กล่าว
พญ.นฤมล สวรรค์ปัญญาเลิศ

น้ำท่วมไปฟอกไตลำบาก ส่งรถฟอกเลือดเสริม 

จากรายงานของศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินด้านการแพทย์และสาธารณสุข (PHEOC) กระทรวงสาธารณสุข ที่ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด  พบประชาชนที่ป่วยโรคไตเรื้อรังอาจมีปัญหาการฟอกเลือดที่ต้องดำเนินการต่อเนื่อง กรมการแพทย์ได้ส่งรถฟอกไตเคลื่อนที่โรงพยาบาลนพรัตนราชธานี ให้บริการช่วยเหลือผู้ป่วยโรคไตที่จำเป็น

แพทย์หญิงอัมพร เบญจพลพิทักษ์ อธิบดีกรมการแพทย์ บอกว่า ขณะนี้ศูนย์ฟอกเลือดในพื้นที่ถูกน้ำท่วมไม่สามารถให้บริการได้เพียงพอกับจำนวนผู้ป่วย หากไม่ได้รับการฟอกเลือดที่เพียงพออาจเจ็บป่วยรุนแรงหรือเสียชีวิตได้ 

รถฟอกเลือดเคลื่อนที่นี้มีเครื่องไตเทียม (hemodialysis unit) 2 ชุด และ เครื่องผลิตน้ำบริสุทธิ์เพื่อการฟอกเลือดในตัว สามารถให้บริการฟอกเลือดกับผู้ป่วยไตวายได้วันละ 4-6 คน 

ทำคลอดฉุกเฉิน ใช้ ฮ.ส่งต่อ รพ.เชียงรายฯ 

เมื่อวานนี้ (14 ก.ย 67) The Active ยังได้รับข้อมูลจากหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ เขตสุขภาพที่ 1 ด้วยว่ามีการจัดหน่วย sky doctor รับผู้ป่วยหญิงวัย 16 ปี พร้อมทารก ที่บ้านจะนู ม.8 ต.ห้วยชมพู อ.เมือง จ.เชียงราย นำส่งโรงพยาบาลเชียงรายประชานุเคราะห์ หลังได้รับการทำคลอดฉุกเฉิน ซึ่งทั้งมารดาและทารกปลอดภัยดี ปฏิบัติการครั้งนี้ ได้รับการสนับสนุนเฮลิคอปเตอร์จาก ฝูงบิน 416 เชียงราย และการสนับสนุนเวชภัณฑ์ระหว่างทางจาก รพ.กรุงเทพ เชียงราย 

น้ำท่วม-ดินโคลนถล่ม “เชียงใหม่-เชียงราย” เสียชีวิตแล้ว 16 คน 

นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ให้ข้อมูลระหว่างวันที่ 8-13 กันยายน 2567 ว่า พบมีสถานการณ์ใน 2 จังหวัด ได้แก่ 

  1. เชียงใหม่ คือ อ.แม่อาย และ อ.ฝาง ผู้ได้รับผลกระทบสะสม 2,978 ครัวเรือน เป็นบุคลากรทางการแพทย์ 109 ราย ผู้บาดเจ็บสะสม 3 คน เสียชีวิตสะสม 6 คน รพ.สต.ได้รับผลกระทบ 1 แห่ง คือ รพ.สต.บ้านท่ามะแกง ซึ่งยังต้องปิดให้บริการ มีการเปิดศูนย์พักพิง 7 แห่ง (แม่อาย 6 แห่ง ฝาง 1 แห่ง)
  2. เชียงราย ได้แก่ อ.แม่สาย อ.แม่จัน อ.แม่ฟ้าหลวง และ อ.เมือง ผู้ได้รับผลกระทบ 24,925 ครัวเรือน เป็นบุคลากรทางการแพทย์ 308 คน ผู้บาดเจ็บสะสม 133 คน เสียชีวิตสะสม 10 คน รพ.สต.ได้รับผลกระทบ 5 แห่ง ได้แก่ รพ.สต.แม่สาย รพ.สต.โป่งผา รพ.สต.สามัคคีใหม่ รพ.สต.ป่ายาง และ รพ.สต.รอบเวียง แต่ยังสามารถเปิดให้บริการได้ตามปกติ มีการเปิดศูนย์พักพิง 22 แห่ง (เมือง 12 แห่ง  แม่สาย 7 แห่ง แม่จัน เวียงชัย และแม่ฟ้าหลวง อำเภอละ 1 แห่ง) 

ภาพรวมทั้ง 2 จังหวัดมีผู้เสียชีวิตสะสม 16 คน สาเหตุมาจากดินถล่ม พลัดตกน้ำ/จมน้ำ และถูกกระแสน้ำพัด ผู้บาดเจ็บสะสม 136 คน สถานบริการสาธารณสุขได้รับผลกระทบรวม 6 แห่ง บุคลากรทางการแพทย์ได้รับผลกระทบรวม 417 คน

เปิดศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินด้านการแพทย์และสาธารณสุข (PHEOC) แล้วทั้ง 2 จังหวัด ส่วนกลางและสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดสนับสนุนยาและเวชภัณฑ์ (ชุดตรวจโรคฉี่หนู รองเท้าบูท ยากันยุง) รวม 9,000 ชุด

ทั้งนี้ จากการคาดการณ์ของสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) และกรมอุตุนิยมวิทยา วันที่ 13-18 กันยายน 2567 จะมีปริมาณฝนตกเพิ่มขึ้น และตกหนักมากบางพื้นที่ อ.จอมทอง และ อ.ฮอด จ.เชียงใหม่ เสี่ยงน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลากและน้ำท่วมขัง ได้กำชับนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่ เฝ้าระวังติดตามสถานการณ์ พร้อมสื่อสารเตือนภัยประชาชนทั้งโรคที่มากับน้ำท่วมและภัยสุขภาพ โดยเฉพาะโรคฉี่หนู รวมถึงบริหารจัดการกลุ่มผู้ป่วยโรคเรื้อรังไม่ให้ขาดยา และดูแลกลุ่มเปราะบาง 

ส่วนที่จังหวัดหนองคาย ระดับน้ำยังสูงขึ้น ล่าสุดได้รับรายงานสถานบริการได้รับผลกระทบ 2 แห่ง คือ โรงพยาบาลหนองคาย และโรงพยาบาลศรีเชียงใหม่ ตัองปรับการให้บริการเฉพาะผู้ป่วยฉุกเฉินเท่านั้น เพื่อความปลอดภัยในการเดินทางของประชาชนและบริหารจัดการทรัพยากรทางการแพทย์ไว้รองรับสถานการณ์ได้อย่างเหมาะสม

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active