กรมสุขภาพจิตส่งทีม(MCATT)เยียวยาใจชาวเชียงราย พบเครียดสูง กว่า 200 คน

ยังไม่มีรายงานพบภาวะซึมเศร้า เสี่ยงทำร้ายตัวเอง แนะติดตามข่าวสารอย่างเหมาะสมจากสื่อ ทำกิจกรรมลดความเครียด แนะใช้ตัวช่วยประเมินความเครียดเบื้องต้น “Chatbot  Psyjai รักเชียงราย”

14 ก.ย. 67 จากเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ จ.เชียงราย มีประชาชนได้รับผลกระทบสูญเสียทั้งชีวิต และทรัพย์สิน มีประชาชนไม่สามารถพักอาศัยอยู่ในบ้านเรือนของตัวเองได้ ต้องอพยพย้ายมาอยู่ในศูนย์พักพิงชั่วคราว ท่ามกลาง ความหวาดหวั่น หวาดกลัว วิตกกังวล และความรู้สึกต่างๆ ที่ส่งผลต่อสภาพจิตใจของประชาชน

กรมสุขภาพจิต ส่งทีม MCATT: Mental Health Crisis Assessment and Treatment Team คือ ทีมที่ทำหน้าที่ประเมิน และดูแลจิตใจในสถานการณ์วิกฤต ซึ่งมีอยู่ในทุกอำเภอของประเทศไทย นำทีมเชิงรุกส่วนหน้าโดย ทีมงาน รพ.สวนปรุง สถาบันพัฒนาการเด็กราชนครินทร์และศูนย์สุขภาพจิตปฏิบัติการอยู่ที่ในศูนย์พักพิงจากเหตุอุทกภัยจ.เชียงราย วัดพรมวิหาร คู่ขนานกับ การทำงานเชิงรุกเข้าถึงบ้านประชาชนที่กำลังรอการฟื้นฟูช่วยเหลือ

โดยสถานการณ์ภาพรวมข้อมูลสะสมวันที่ 11 – 12 ก.ย.67 ในศูนย์พักพิงชั่วคราว จำนวน 15 แห่ง มีผู้ได้รับผลกระทบ จำนวน 3,081 คน ทีม MCATT  ได้ประเมินสุขภาพใจทั้งจากการสังเกต และประเมินด้วย Mental  Health Check in พบ

  • กลุ่มเสี่ยงต่อปัญหาสุขภาพจิต  จำนวน 402 คน 
  • เครียดปานกลาง – สูง 217 คน

ยังไม่มีรายงานพบภาวะซึมเศร้าหรือเสี่ยงทำร้ายตัวเอง มีผู้ป่วยจิตเวชรับยา  2 คน โดยทีมได้ดำเนินการดูแลทุกกลุ่มตามแนวทางการดูแลกลุ่มเสี่ยงสูง เสี่ยงปานกลาง และกลุ่มที่ไม่มีความเสี่ยง ร่วมกับมีการวางแผนจัดกิจกรรมส่งเสริมสุขภาพจิตให้กับประชาชนในศูนย์พักพิงเพื่อให้รู้สึกผ่อนคลาย เช่น การจัดกิจกรรมสันทนาการ
เกมต่างๆ การสอนสุขจิตศึกษา กำชับให้จัดกิจกรรมมีความเหมาะสมตามกลุ่มวัย โดยเฉพาะเด็ก และผู้สูงอายุ เพศ และคำนึงถึงความพร้อมของผู้ประสบภัย

องค์ประกอบทีม MCATT

โดยทีมยียวยาจิตใจจะประกอบด้วยจิตแพทย์ 1 หรือจิตแพทย์เด็ก 1 คน, พยาบาลจิตเวช 2-3 คน, นักจิตวิทยา 1-2 คน, นักสังคมสงเคราะห์ 1-2 คน, เภสัชกร 1 คน สหวิชาชีพอื่นๆเช่น นักกิจกรมบำบัด 1 คน, นักวิชาการสาธารณสุข 1 คน, เจ้าหน้าที่เกี่ยวข้องเช่น นักวิเคราะห์, นักคอมพิวเตอร์และทีมสนับสนุนเวลานี้ในพื้นที่ภาคเหนือมี MCATT 10 ทีมเป็นทีมของจ.เชียงราย, เชียงใหม่,ลำปาง, และทีมงานจากรมสุขภาพจิต

หลักการปฐมพยาบาลสุขภาพจิต 

หลักการปฐมพยาบาลช่วยเหลือจะถูกแบ่งประเมินเป็น 4 กลุ่มประกอบด้วย

  • กลุ่มผู้ได้รับความสูญเสียทางเศรษฐกิจ
  • กลุ่มเปราะบาง เช่น เด็ก ผู้สูงอายุ
  • กลุ่มอาสากู้ภัย บุคลากร ที่มีความเครียดจากความรู้สึกผิด ช่วยเหลือเคสไม่สำเร็จ
  • ประชาชนทั่วไปที่เครียดจากการเสพข่าวสาร

เน้นย้ำ ผู้ป่วยเดิมควรต้องสำรองยาไว้ติดตัวเสมอ เพื่อป้องกันการขาดยา สังเกตอาการผิดปกติ ไม่ติดตามข่าวสารจากหลากหลายสื่อมากเกินไป ควรติดตามข่าวสารอย่างเหมาะสมจากสื่อ หรือ หน่วยงานที่น่าเชื่อถือ อาทิ สถานีโทรทัศน์ส่วนกลาง หรือ เพจเฟซบุ๊กของจังหวัด/อำเภอหรือป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยในพื้นที่ หากต้องการขอความช่วยเหลือ แจ้งได้ที่ สายด่วน ปภ. (ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย) โทร.1784 หรือ 1669 ตลอด 24 ชั่วโมง

Chatbot Psyjai เชียงราย กู้ใจออนไลน์ เมื่อการเข้าถึงพื้นที่ยากลำบาก

นอกจากช่องทางการดูแลช่วยเหลือทางใจ จากทีมเยียวยาจิตใจ (MACTT) แล้ว ยังมีการช่วยเหลือผ่านทางออนไลน์กับ “Chatbot  Psyjai รักเชียงราย”  ซึ่งเป็นทีมงานที่สร้างนวัตกรรม Chatbot ประเมินสุขภาพจิตตั้งแต่ยุคโควิด19 และยังคงพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อเป็นทางเลือกให้ประชาชนที่ต้องการความช่วยเหลือ

พณิดา โยมะบุตร นักจิตวิทยาคลีนิก สาขาจิตวิทยาคลินิก ภาควิชาจิตเวชศาสตร์ คณะแพทย์ศาสตร์ศิริราชพยาบาล ม.มหิดล และ Chief Psychological Researcher ศูนย์เทคโนโลยีและนวัตกรรมด้านสุขภาพจิตประเทศไทย ผู้พัฒนาแชทบอทจับใจ ให้ข้อมูลกับ The Active ว่า จุดเริ่มต้นมาจากแนวคิดควรมีตัวช่วยให้ประชาชนที่ยังพอมีโทรศัพท์ หรืออินเตอร์เน็ต ได้เข้าถึงการช่วยเหลือเบื้องต้น ในระหว่างที่การเดินทางเข้าพื้นที่ยากลำบาก

เวลานี้บ้านนักจิตวิทยา ซึ่งเป็นผู้ให้ความช่วยเหลือก็ประสบปัญหาอุทกภัยเช่นกัน การเข้าถึงพื้นที่การช่วยเหลืออาจจะไม่ทั่วถึง ผุดไอเดียสร้างบทสนทนาเชิงจิตวิทยา ที่เหมาะกับการฮีลใจคนที่กำลังเผชิญภาวะวิกฤตและความสูญเสียได้ใช้ประโยชน์มากขึ้นโดยได้เพิ่มเติมฟังก์ชันที่สามารถพูดคุย ประเมินความเครียดจากการสูญเสีย วิตกกังวลจากเหตุการณ์อุทกภัยได้ โดยอาศัยบทสนทนาที่เฉพาะเจาะจงมากขึ้น เช่น การชวนคุยเรื่องการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า, ความต้องการเบื้องต้น, สภาพจิตใจของผู้ประสบภัย ฯลฯ

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active