‘เสรี’ วิเคราะห์ใช้เวลาประมาณ 10 วัน น้ำท่วมเชียงราย ระบายหมด

คาดการณ์มวลน้ำกว่า 350 ล้านลูกบาศก์เมตร จากประเทศเมียนมา กำลังทยอยไหลมาสมทบในแม่น้ำกก ระบายลงสู่แม่น้ำโขง หวังน้ำระบายได้สูงสุด 40 ล้าน ลบ.ม.ต่อวัน ถึงจะลดลงต่อเนื่อง หนุนรัฐถึงเวลาสร้างชุมชนเข้มแข็งจัดการ รับมือน้ำท่วม น้ำแล้ง

รศ.เสรี ศุภราทิตย์ ผู้เชี่ยวชาญคณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (IPCC) ให้สัมภาษณ์ในรายการตรงประเด็น ระบุว่า ปัจจุบัน ระดับนำสถานีแม่ฟ้าหลวงเริ่มลดลงแล้ว แต่ก็ยังสูงกว่าตลิ่งกว่า 3 เมตร กว่าน้ำจะลดลงมาอาจใช้เวลา จริง ๆ แล้ว ปริมาณน้ำหลากที่อยู่ในเมียนมา หรือบริเวณน้ำกกตอนบน ซึ่งครอบคลุมพื้นที่ 30% ที่จะทำให้เชียงรายท่วม

จากการคาดการณ์ฝนที่ตกลงมาก่อนหน้านี้ของเชียงรายประมาณ 100-220 มิลลิเมตรต่อวัน แม้ว่าเมียนมาจะมีรายงานไม่ชัดเจน แต่ก็มีการประเมินฝนที่เมียนมาอยู่ประมาณ 300-400 มิลลิเมตร ถ้าตกหนักในเวลาประมาณ 3 วัน ปริมาณน้ำจะอยู่ที่ประมาณ 1,000 ล้าน ลบ.ม. แน่นอน ก็คือว่าถ้าน้ำกก อย่างเดียวเข้ามาประมาณ 300 ล้าน ลบ.ม. มาอยู่ที่เชียงราย

อีกนานไหม ? น้ำจะหมด

รศ.เสรี บอกว่า หากเวลานี้ไม่มีฝนมาเติม จ.เชียงราย จะมีแนวโน้มน้ำลดลงระดับเท่ากับคันกั้นน้ำ แล้วกลับเข้าสู่เหตุการณ์ปกติ ประมาณ 10 วัน แต่ไม่รวมน้ำค้างทุ่งที่ต้องสูบออก แต่ถ้ามองดี ๆ ยังเหลือน้ำที่อยู่ในเมียนมา 700 ล้าน ลบ.ม. และอยู่ที่เชียงรายแล้ว 300 ล้าน ลบ.ม. หากเมียนมาปล่อยน้ำตามธรรมชาติ เขาก็จะมีน้ำค้างทุ่งครึ่งหนึ่ง ที่เหลือประมาณ 350 ล้าน ลบ.ม. จะค่อย ๆ ทยอยไหลมาตามลำน้ำธรรมชาติมายังไทย

ปากแม่น้ำกก ไหลจาก อ.เมืองเชียงราย ไหลลงแม่น้ำโขง บริเวณท่าเรือพาณิชย์เชียงแสน 2 อ.เชียงแสน (13 ก.ย. 67)

สำหรับการระบายน้ำออกในแม่น้ำกกไปแม่น้ำโขง หากระบาย 500 ลบ.ม.ต่อวินาที แน่นอนว่าะดับสูงสุดเมื่อวันที่ 12 ก.ย. 67 ช่วง ตี 2 สูงกว่าคันกั้นน้ำประมาณ 3 เมตรเศษ ๆ ระดับนี้ก็จะยังทรงตัวเพราะเมื่อมีน้ำมาเติม แล้วน้ำก็ออก นั้นหมายความว่า หากมีการระบายน้ำดีทีสุดระบายอยู่ที่ 500 ลบ.ม.ต่อวินาที หรือระบายวันละ 40 ล้าน ลบ.ม.ต่อวัน จะใช้เวลา 10 วัน

ทำไม ? ประชาชนรับมือไม่ทัน

รศ.เสรี ระบุด้วยว่า เพราะขาดการประเมินล่วงหน้า มีแต่การประเมินปัจจุบันเพื่อแก้ปัญหาเฉพาะหน้า แต่ภาพฉากทัศน์อนาคตไม่มี อย่างสนามบินตอนแรกไม่ท่วม แต่หากมีภาพอนาคตก็ต้องมีความพร้อมรับมือเพื่อปิดสนามบินได้ก่อน จริงแล้วการปิดสนามบินเป็นเรื่องใหญ่มาก แต่หากมีแผนจะทำให้ทุกอย่างรับมือทัน

“ที่จริงก่อนมีพายุใต้ฝุ่นยางิเข้ามา ผมจำได้ว่าเมื่อวันที่ 2 ก.ย.ที่ผ่านมา เราก็เตือนได้ว่า พรุ่งนี้ฝนจะตกหนักในระดับ 200 มิลลิเมตร ก็คือระดับความรุนแรงมันเทียบดัชนีเกิน 50% หากมองไปข้างหน้า 15 วันข้างหน้า เราก็ต้องเตรียมรับมือทางภาคอีสานแล้ว”

รศ.เสรี ศุภราทิตย์
น้ำท่วมรอบสนามบินเชียงราย

ต้องคาดการณ์ ประเมิน รับมือ ให้ทันเวลา

รศ.เสรี เสนอว่า ต้องทำให้ชุมชนเข้มแข็ง ประเมินตัวเองได้ ภาครัฐก็ต้องมีองค์ความรู้ เพื่อสนับสนุนข้อมูลท้องถิ่น หรือช่วยให้ชุมชนมีข้อมูล จะทำให้เขาเข้มแข็ง หรือหากท้องถิ่นขาดเหลือด้านการช่วยเหลือ ก็สนับสนุนไปพร้อมกำลังเงิน หรือ งบประมาณเพราะทั้ง 3 อย่างนี้ ภาครัฐมีบทบาททำให้เขาประเมินตัวนี้ให้ได้

“ปัจจุบันเรามีมูลนิธิสภาเตือนภัยพิบัติแห่งชาติ มีอาจารย์จากหลากหลายมหาวิทยาลัย ที่มาทำงานร่วมกันมีการวิเคราะห์ คาดการณ์ประเมินให้รับมือทันท่วงทีหากใช้โอกาสร่วมมือในการทำงานประเมินภัยพิบัติอนาคตเพื่อประชาชนภายใน 1 ปี ก็น่าจะมีความคุ้มค่าดีกว่ามาชดเชยความเสียหายทีหลังที่มากกว่า”

รศ.เสรี ศุภราทิตย์

นโยบายจัดการน้ำ กว้าง มองแต่ระยะยาว ยังขาดสร้างชุมชนเข้มแข็งรับมือ

สำหรับนโยบายในสถานการณ์น้ำท่วมหนัก จ.เชียงราย เวลานี้ รศ.เสรี บอกว่า ปัจจัยหนึ่งก็มาจากภาวะฝนตกหนักผิดปกติทั้งฝั่งไทย และประเทศเพื่อนบ้าน แต่ถ้าไปดูที่คำแถลงนโยบาย ก็มีการตั้งข้อสังเกตว่า อาจวางเรื่องนี้ไว้ในระยะยาวผ่านการยกระดับการบริหารจัดการน้ำ เริ่มต้นจากการจัดหาน้ำสะอาดสำหรับอุปโภค บริโภค และร่วมกับทุกภาคส่วนในการแก้ปัญหาน้ำท่วม น้ำแล้ง

น้ำท่วมตัวเมืองเชียงราย (13 ก.ย. 67)

โดยมองว่านโยบายกว้างมาก อยากให้รัฐบาลเติมการจัดการน้ำ สร้างให้เกิดชุมชนเข้มแข็ง เติมตัวนี้ไปถ้าเมื่อไรเขาจัดการน้ำด้วยตัวเองได้ รัฐบาลไม่เหนื่อย คือ ถ้าเขาพร้อมก็ลุยได้ แต่ถ้าเกินความสามารถในระดับฝน 1,000 ปี อย่างนี้เป็นหน้าที่รัฐบาลต้องลงไป

“ฝนที่เกิดรอบ 100 ปีที่เชียงรายรอบนี้ หากชุมชนท้องถิ่น เขาจัดการได้ รัฐบาลก็ได้ประโยชน์ แต่ต้องโอนภาระกิจไปให้เขาอย่าให้ส่วนกลางดูแลงบประมาณ ทุกเม็ดมันเป็นไปได้อย่างไร ชุมชนไม่เข็มแข็งสักทีหนึ่ง เขามีภารกิจเขาไม่มีงบประมาณที่จะทำ ต้องช่วยท้องถิ่น”

รศ.เสรี ศุภราทิตย์

หนุนงบฯ แต่ละจังหวัด สร้างความเข้มแข็งชุมชนจัดการ ท่วม – แล้ง

ส่วนงบประมาณจัดการน้ำนั้น รศ.เสรี มองว่า ทุกอย่างมุ่งไปที่ สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เป็นงบฯ ที่ไม่ใช่ลุ่มน้ำแต่เป็นงบฟังก์ชั่นไปที่กรมต่าง ๆ แต่ก็จะไปรวมกันที่ สทนช. สิ่งที่ควรทำคือ จัดสรรงบประมาณไปเลย อย่างเช่น เสนอไปเลยจังหวัดละ 1,000 ล้านบาท ให้ไป 76,000 ล้านบาท ภายใน 3 ปี ต้องไม่มีน้ำท่วม น้ำแล้ง ทำแล้วรัฐมีหน้าที่ไปดู ว่า มีการทุจริตคอร์รัปชันหรือไม่ ทำตามสิ่งที่ให้หรือไม่ ใช้เงินถูกต้องไหม งานที่ได้บรรลุผลแค่ไหน เพราะการกระจายอำนาจให้ท้องถิ่นมีบทบาท คน เครื่องมือ งบประมาณ วัตถุประสงค์ ชุมชนต้องเข้มแข็ง เขาสามารถที่จะพึ่งพารัฐบาลในระดับที่กำหนดได้

“ผมเห็นตัวเลข 30 ปี เราใช้เงิน 12.6 ล้านล้าน ปีหนึ่ง 4 แสนล้าน ดังนั้นตัวเลข ถ้าไม่ให้เขาเข้มแข็ง ชุมชนจะเกิดปัญหาแบบนี้ตลอด เขาไม่ได้เข้มแข็งที่ตัวเอง แต่ต้องพึ่งรัฐ องค์ความรู้ต้องพึ่งคนมีความสามารถ ต้องพึง 3 อย่างนี้ทำให้เขาเข้มเแข็งได้ ภายใน 3 ปีให้เขาจัดการตัวเองให้หมด รัฐดูกรอบภายนอกให้หมด เราอย่าลงไปเล่น ลงไปเล่นปัญหามากระทบตัวเรามันรุนแรง เขาดูที่ความเสียหาย ถ้าไม่มีผู้เสียชีวิตไม่รุนแรง ภาพต้องติดตาประชาชน ต้องมีการปฎิรูป คุมเฉพาะภารกิจในแผนแม่บท อย่างที่ญี่ปุ่น นายกเทศมนตรีเข้มเข็งมาก ถ้าเขาน้ำท่วมชุมชน ไม่ทำอะไรเลย ทำไม่ได้เรื่อง แล้วเขาจะอยู่ชั่วชีวิตในพื้นที่นั้น ดังนั้นชุมชนเข็มแข็งจึงเป็นคำตอบที่สุด”

รศ.เสรี ศุภราทิตย์

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active