รัฐบาลไร้ประสิทธิภาพแก้น้ำท่วมแม่สาย แนะเร่งตั้งศูนย์บัญชาการ Single Command

นักวิชาการ ชี้ ปัญหาน้ำท่วม อ.แม่สาย รัฐบาลไร้ศูนย์บัญชาการในพื้นที่บริหารจัดการน้ำท่วมที่เป็นเอกภาพ ทำประชาชนสับสน สิ้นเปลืองงบประมาณ แนะ นายกฯ ดูแผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรนํ้า 20 ปี

จากสถานการณ์ฝนที่ตกลงมาหนักในไทยและเมียนมา ทำให้มวลน้ำมหาศาลไหลเข้าท่วมอย่างฉับพลันในอำเภอแม่สาย ไปจนถึงอำเภอเมืองเชียงราย จังหวัดเชียงราย ส่งผลให้บ้านเรือนประชาชนจำนวนมากจมอยู่ใต้น้ำ แม้ว่าล่าสุดสถานการณ์น้ำในอำเภอแม่สายขณะนี้ จะลดลงจนเกือบเป็นปกติ

ล่าสุดวันนี้ (12 ก.ย. 2567) สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ หรือ GISTDA กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เปิดเผยภาพถ่ายดาวเทียมพบน้ำท่วมขังใน 7 อำเภอ ของจังหวัดเชียงราย ได้แก่ อำเภอแม่สาย 25,204 ไร่ อำเภอเชียงแสน 15,214 ไร่ อำเภอเมืองเชียงราย 14,408 ไร่ อำเภอแม่จัน 12,726 ไร่ อำเภอดอยหลวง 6,205 ไร่ อำเภอเวียงเชียงรุ้ง 3,342 ไร่ และอำเภอเวียงชัย 927 ไร่ ด้านจังหวัดเชียงใหม่พบพื้นที่น้ำท่วมขัง 1 อำเภอ คือ อำเภอแม่อาย 8,412 ไร่ รวมพื้นที่น้ำท่วมขังทั้งหมด 86,438 ไร่

โดยมีรายงานว่าในช่วงแรกของการเข้าไปช่วยเหลือประชาชนของกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เป็นไปด้วยความยากลำบาก เนื่องจากกระแสน้ำเชี่ยวแรงและน้ำท่วมสูง ทำให้บางพื้นที่เรือท้องแบนไม่สามารถเข้าไปรับได้

ขณะเดียวกันได้มีหน่วยงานจากหลายภาคส่วนทั้งอาสาสมัคร เอกชน และหน่วยงานรัฐ ต่างระดมสรรพกำลังเข้าไปช่วยเหลือประชาชนที่ติดอยู่บนหลังคาบ้าน ซึ่งบางส่วนมีการขอความช่วยเหลือผ่านโซเชียลมีเดียด้วย

อย่างไรก็ตาม สังคมได้มีการตั้งคำถามถึงรัฐบาลที่มีความล่าช้าในการช่วยเหลือประชาชน โดยเฉพาะนายกรัฐมนตรี แพทองธาร ชินวัตร ที่ก่อนหน้านี้ออกมาระบุว่า ยังไม่สามารถสั่งการได้อย่างเต็มที่ เพราะต้องการแถลงนโยบายต่อรัฐสภาในวันนี้ให้เสร็จสิ้นก่อน  

สติธร ธนานิธิโชติ ผู้อำนวยการสำนักนวัตกรรมเพื่อประชาธิปไตย สถาบันพระปกเกล้า ได้กล่าวในรายการตรงประเด็น ออกอากาศทางไทยพีบีเอส ถึงนโยบายบริหารจัดการน้ำของรัฐบาลว่า ในคำแถลงนโยบายของนายกรัฐมนตรีวันนี้ ดูเหมือนจะเพิกเฉยต่อสถานการณ์น้ำท่วมในปัจจุบัน เพราะไม่มีเรื่องน้ำท่วมในลำดับแรก ๆ ในคำแถลงนโยบาย ซึ่งเข้าใจว่าคำแถลงได้ถูกเตรียมการมาล่วงหน้า แต่ก็สามารถปรับแก้ไขให้ทันต่อสถานการณ์ได้ แต่กลายเป็นว่ารัฐบาลเพิกเฉยต่อสถานการณ์ภัยพิบัติ หรือโรคอุบัติใหม่ ทั้งที่ไทยเคยมีบทเรียนจากการแพร่ระบาดโควิด-19 มาแล้ว ว่ารัฐบาลจะต้องรับมืออย่างไร แต่เมื่อเกิดเหตุการณ์พายุ ดินถล่ม น้ำท่วมฉับพลัน จนเกิดความโกลาหล ประชาชนก็ถามหารัฐบาลว่าอยู่ที่ไหน ซึ่งดูไม่มีระบบในการแก้ปัญหา

ในคำแถลงนโยบาย จะเห็นว่ารัฐบาลมีมุมมองต่อการบริหารจัดการน้ำในระยะยาว โดยนโยบายนี้ไปอยู่หน้าหลัง ๆ ของคำแถลง และยังขึ้นต้นด้วยเรื่องน้ำสะอาดก่อน อีกทั้งยังมองไปถึงเรื่องอื่น ๆ เช่น ในสถานการณ์ปัจจุบันของภาคเหนือตอนบน รัฐบาลมองไปถึงการเยียวยา ฟื้นฟู ทำให้น้ำสะอาด เพราะคิดว่าน่าจะตอบโจทย์ปัญหาพื้นที่ได้

สำหรับการดำเนินการแก้ปัญหาน้ำท่วมของนายกรัฐมนตรี รศ.ธนพร ศรียากูล ผู้อำนวยการสถาบันวิเคราะห์การเมืองและนโยบาย มองว่า นายกรัฐมนตรีมีปัญหาในการสั่งการ เพราะไม่เข้าใจกลไกเหตุการณ์เผชิญเหตุ การที่บอกว่าสั่งรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องไปดูแลแล้วนั้น ก็ยิ่งทำให้เกิดความโกลาหล นายกรัฐมนตรีควรใช้ระบบ single command ในพื้นที่ (เป็นโครงสร้างการบัญชาการพื้นฐานที่ผู้บัญชาการเหตุการณ์จะรับผิดชอบบริหารจัดการเหตุการณ์ทั้งหมด) เพราะถ้าหลายหน่วยงานต่างคนต่างทำ ผู้บัญชาเหตุการณ์ก็จะไม่ทราบว่าใครทำอะไร ทำให้เกิดความสับสน สิ้นเปลืองงบประมาณ แทนที่จะนำงบประมาณช่วยเหลือไปให้กับคนที่อยู่หน้างานจริง ๆ ดังนั้น ส่วนตัวมองว่าทีมงานของนายกรัฐมนตรีดูขี้เกียจเกินไป เพราะเหตุการณ์แบบนี้ต้องมีความฉับไวทางการเมือง และต้องเข้าใจระบบการทำงาน

ในสมัยคณะรัฐมนตรี (ครม.) ของรัฐบาลอดีตนายกรัฐมนตรี เศรษฐา ทวีสิน ได้มีมติเห็นชอบแผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรนํ้า 20 ปี (ปรับปรุงช่วงที่ 1 พ.ศ. 2566 – 2580) และได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว โดยนายกรัฐมนตรี แพทองธาร ควรจะต้องดูในแผนแม่บทนี้ เพื่อให้เข้าใจโครงสร้างการทำงาน เพราะตามกฎหมายหน่วยงานใดจะบริหารจัดการน้ำท่วม และน้ำแล้ง จะต้องดำเนินการตามแผนแม่บทดังกล่าว

นอกจากนี้ในเรื่องงบประมาณบริการจัดการน้ำ เมื่อ 13 ส.ค. 2567 ที่ผ่านมา ครม.มีอนุมัติงบประมาณรายจ่ายงบกลาง เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการน้ำในช่วงฤดูฝน และส่งเสริมความมั่นคงด้านน้ำอุปโภคบริโภค วงเงินกว่า 9,000 ล้านบาท แต่มีการระบุในพื้นที่จังหวัดเชียงรายเพียง 3 แห่งเท่านั้น และยังเป็นเรื่องของน้ำอุปโภคบริโภค

และในวันที่ 3 ก.ย. 2567 ครม. ยังได้งบประมาณรายจ่ายงบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินเพื่อเตรียมความพร้อมบริหารจัดการน้ำ และพัฒนาแหล่งน้ำ วงเงิน 2,289 ล้านบาท แต่ก็ยังไม่มีการระบุถึงพื้นที่อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย

ดังนั้นจะเห็นว่า ทั้ง 2 โครงการที่รัฐบาลให้งบประมาณไป ในทางโครงสร้างนั้นไม่สอดรับกับแผนบริหารจักการน้ำในแผนแม่บทแต่อย่างใด

อย่างไรก็ตามการดำเนินการรับมือน้ำท่วมอยู่ในแผนแม่บทแล้ว นายกรัฐมนตรีต้องไปดูว่าจะปรับแผนอย่างไรได้บ้าง เช่น การเติมงบประมาณลงไปในพื้นที่ที่เดือดร้อนก่อน แล้วให้หน่วยงานในพื้นที่รับชอบผ่าน single command ภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงมหาดไทย

ดังนั้น การรับมือกับปัญหาต้องอาศัยการบูรณาการ ความเด็ดขาดในการสั่งการ และจะต้องส่งสัญญาณให้ถูก เช่น ตอนสมัยเหตุการณ์ถ้ำหลวง เคยมีการใช้ระบบ single command โดยมี ณรงค์ศักดิ์ โอสถธนากร ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงรายในสมัยนั้น หรือผู้ว่าหมูป่า เป็นผู้สั่งการ

“ผมอยากให้เทียบง่าย ๆ เลยนะครับว่า ภาวะการ single command ดูจากตอนผู้ว่าฯ หมูป่านั่นแหละ อันนั้นชัดเจนที่สุด”

รศ.ธนพร กล่าวต่อว่า พอรัฐบาลไม่มีระบบ single command  ประชาชนก็ไม่รู้จะไปพึ่งใคร เพราะฉะนั้นอย่าโทษชาวบ้านที่ขอความช่วยเหลือผ่านโซเชียลมีเดีย หรือพยายามจะโทรติดต่อไปทุกหน่วยงาน เพราะไม่เห็นการช่วยเหลืออย่างเป็นระบบ

ส่วนหน่วยงานราชการไทยปัจจุบัน มีความชำนาญในการแก้ปัญหาหน้างานอยู่แล้ว แต่ยังขาดระบบ single cammand ที่จะคอยรวบรวมข้อมูลจากทุกหน่วยงานในพื้นที่ และจัดลำดับความสำคัญในการบริหารจัดการปัญหาน้ำท่วม ซึ่งข้อมูลพื้นฐานของทุกหน่วยงานมีเพียงพอ แต่สิ่งที่ต้องการเร่งด่วนตอนนี้ คือ ระบบการสั่งการที่เป็นเอกภาพในจังหวัดเชียงราย

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active