ระดมทีมแพทย์ส่วนกลางขึ้นเหนือ ช่วยผู้ประสบภัยน้ำท่วมเชียงราย

ปลัด สธ. เผย ยังมีน้ำท่วมใน 8 จังหวัด สถานบริการสาธารณสุขได้รับผลกระทบรวม 39 แห่ง ต้องปิดบริการ 1 แห่ง เปิด PHEOC บัญชาการเหตุการณ์ ช่วยเหลือประชาชน

วันนี้ (12 ก.ย. 67) นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึงสถานการณ์น้ำท่วม ดินโคลนถล่มในหลายพื้นที่ ว่า กองสาธารณสุขฉุกเฉิน รายงานยังคงมีสถานการณ์ใน 8 จังหวัด ได้แก่ เชียงใหม่, เชียงราย, พระนครศรีอยุธยา, สระบุรี, นครนายก, พิษณุโลก, พิจิตร และอ่างทอง ซึ่งทุกจังหวัดได้เปิด ศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินด้านการแพทย์และสาธารณสุข (PHEOC) เพื่อติดตามสถานการณ์และให้การช่วยเหลือประชาชน 

โดยภาพรวม มีผู้บาดเจ็บสะสม 108 คน เสียชีวิตสะสม 36 คน สถานบริการสาธารณสุขได้รับผลกระทบ 39 แห่ง ในจำนวนนี้ต้องปิดบริการ 1 แห่ง คือ รพ.สต.บ้านท่ามะแกง อ.แม่อาย จ.เชียงใหม่ โดยส่วนกลางได้สนับสนุนยาชุดช่วยเหลือผู้ประสบภัย 8 รายการ ไปแล้ว รวม 2,300 ชุด 

นพ.โอภาส กล่าวต่อว่า สำหรับสถานการณ์ในพื้นที่ จ.เชียงใหม่ และ จ.เชียงราย ซึ่งมีประชาชนได้รับผลกระทบเป็นจำนวนมาก ขณะนี้มีการเปิดศูนย์พักพิงรองรับประชาชน รวม 17 แห่ง ได้แก่ จ.เชียงใหม่ ที่ อ.แม่อาย 3 แห่ง อ.ฝาง 3 แห่ง จ.เชียงราย ที่ อ.แม่สาย 3 แห่ง อ.เมือง 8  แห่ง 

โดย จ.เชียงราย ระดับน้ำยังสูงขึ้นต่อเนื่อง ได้จัดทีมปฏิบัติการฉุกเฉินด้านการแพทย์ (MERT) จากกรมการแพทย์ 1 ทีม ลำปาง 1 ทีม และทีม Mini MERT จากเขตสุขภาพที่ 2 จำนวน 5 ทีม (พิษณุโลก, อุตรดิตถ์, ตาก, เพชรบูรณ์, สุโขทัย) และ เขตสุขภาพที่ 4 จำนวน 5 ทีม (รพ.ปทุมธานี, รพ.พระนารายณ์มหาราช ลพบุรี, รพ.พระนั่งเกล้า นนทบุรี, รพ.พระนครศรีอยุธยา, รพ.สระบุรี) พร้อมเดินทางไปสนับสนุน จ.เชียงราย พรุ่งนี้ (13 ก.ย. 67) รวมทั้ง เขตสุขภาพที่ 5 ยังเตรียมทีม Mini MERT จาก รพ.แก่งกระจาน จ.เพชรบุรี ไว้ให้การสนับสนุนเพิ่มเติมด้วย

รพ.เชียงรายฯ ประกาศรับเฉพาะผู้ป่วยฉุกเฉิน 

ทั้งนี้จากสถานการณ์น้ำท่วมในหลายพื้นที่ของ จ. เชียงราย ล่าสุด โรงพยาบาลเชียงรายประชานุเคราะห์ ออกประกาศ ขอให้บริการ “เฉพาะผู้ป่วยฉุกเฉินเท่านั้น” เพื่อความปลอดภัยและการบริหารจัดการทรัพยากรทางการแพทย์อย่างมีประสิทธิภาพ

กรณีผู้ป่วยทั่วไปที่ไม่เร่งด่วน สามารถติดต่อเพื่อเลื่อนนัดหรือขอคำปรึกษาทางโทรศัพท์กับทางโรงพยาบาลได้ ยินดีอำนวยความสะดวกในการเลื่อนนัดให้

พร้อมกันนี้ โรงพยาบาลเชียงรายฯ ได้ประกาศ งดให้บริการจัดส่งยาทุกช่องทาง (Health Rider ไปรษณีย์ ร้านยา) จนกว่าสถานการณ์จะกลับมาสู่ภาวะปกติ ตั้งแต่วันที่ 12 กันยายน 2567 เป็นต้นไป สามารถติดต่อสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ โทร. 053-910600, 053-711300, 080-1255555 

ขณะที่ ศูนย์อนามัยที่ 1 เชียงใหม่ ได้สำรองชุด V clean สำหรับทำน้ำสะอาดและกำจัดเชื้อโรค 200 ชุด พร้อมส่งเข้าช่วยเหลือพื้นที่อุทกภัย และเตรียมเพิ่มไว้อีก 400 ชุด รวมทั้งกำลังผลิต EM ball อีก 3,000 ลูก เพื่อรองรับสถานการณ์น้ำท่วมขังต่อเนื่อง ทั้งนี้ ได้เน้นย้ำเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติงานในพื้นที่น้ำท่วม ให้ดำเนินการด้วยความระมัดระวัง เพื่อให้การช่วยเหลือเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและปลอดภัยสูงสุด

รพ.สวนปรุง ส่งทีม MCATT ดูแลสุขภาพจิต 

ขณะที่ นพ.พงศ์เกษม ไข่มุกด์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า จากเหตุการณ์ดินสไลด์ และน้ำท่วม พบมีผู้เสียชีวิต ผู้สูญหาย และผู้ได้รับบาดเจ็บ ซึ่งเป็นเหตุที่เกิดขึ้นอย่างฉับพลัน โดยเฉพาะการสูญเสียบุคคลในครอบครัว สร้างความเศร้าโศกเสียใจ บางรายอาจมีภาวะช็อก การตอบสนองดังกล่าวโดยปกติจะค่อย ๆ ลดลงจนหายไปเมื่อเวลาผ่านไป เนื่องจากถือว่าอยู่ในระยะวิกฤตฉุกเฉินทางสุขภาพจิต ถ้าหากผู้ได้รับผลกระทบไม่สามารถผ่านพ้นวิกฤตในระยะนี้ไปได้ อาจส่งผลให้เกิดปัญหาสุขภาพจิตที่รุนแรงในระยะยาวต่อไปได้ จึงกำชับให้ทีม MCATT เขตสุขภาพที่ 1 บูรณาการร่วมกับทีม MCATT ระดับจังหวัด และอำเภอ ลงพื้นที่ช่วยเหลือดูแลจิตใจ โดยใช้หลักการปฐมพยาบาลทางใจ (Psychological First Aid : PFA) เพื่อป้องกันการเกิดปัญหาสุขภาพจิต โดยเฉพาะภาวะเครียดหลังเหตุการณ์รุนแรง หรือ ความผิดปกติที่เกิดหลังความเครียดที่สะเทือนใจ (PTSD : Post-traumatic Stress Disorder) 

นพ.กิตต์กวี โพธิ์โน ผู้ช่วยอธิบดีกรมสุขภาพจิต และผู้อำนวยการโรงพยาบาลสวนปรุง กล่าวว่า ได้จัดทีมช่วยเหลือเยียวยาจิตใจกรมสุขภาพจิต พร้อมลงปฏิบัติงานเยียวยาจิตใจแก่ผู้ประสบภัยโดยเฉพาะครอบครัวผู้เสียชีวิต สูญหาย และผู้ได้รับบาดเจ็บ จำนวน 2 ทีม โดยมีทีมสหวิชาชีพ ลงบูรณาการการทำงานร่วมกับทีม MCATT ของพื้นที่ อ.แม่สาย จ.เชียงราย ประเมินสุขภาพใจผู้ประสบภัย ณ ศูนย์พักพิง เทศบาลแม่สาย และวัดพรหมวิหาร ในส่วนพื้นที่ อ.แม่อาย จ.เชียงใหม่ ทีมอยู่ระหว่างการประเมินสถาณการณ์ดินสไลด์เพื่อจัดทีมเข้าพื้นที่ต่อไป

ทั้งนี้ อยากฝากถึงประชาชนที่อยู่ในพื้นที่ ไม่ติดตามข่าวสารจากหลากหลายสื่อมากเกินไป ควรติดตามข่าวสาร อย่างเหมาะสมจากสื่อหรือหน่วยงานที่น่าเชื่อถือ อาทิ สถานีโทรทัศน์ส่วนกลาง หรือ เพจเฟซบุ๊กของจังหวัด/อำเภอหรือ ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยในพื้นที่ และหากในครอบครัวท่านมีผู้ป่วยติดเตียง ผู้ป่วยเด็กพิเศษ ผู้สูงอายุ ผู้พิการ ต้องการขอความช่วยเหลือ แจ้งได้ที่ สายด่วน ปภ. (ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย) โทร.1784 หรือ 1669 ตลอด 24 ชั่วโมง                 

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active