จี้รัฐเอาให้ชัด ‘แจ้งเตือนภัยพิบัติ’ หน้าที่ใคร ?

‘ผู้จัดการมูลนิธิชุมชนไท’ ยกกรณีวิกฤตน้ำท่วมแม่สาย สะท้อน ระบบแจ้งเตือนภัยไทยยังไร้ประสิทธิภาพ ชี้อย่างน้อย 24 ชั่วโมง ทุกคนในพื้นที่เสี่ยงต้องรู้ เผยพื้นที่เสี่ยงภัย 40,000 ชุมชน กลับได้รับงบฯ จัดการแค่หลักสิบชุมชน รับสภาพทำอีกร้อยปี คนไทยก็ได้แค่ตั้งรับปัญหา หวังรัฐบาลทบทวน ตั้งหน่วยงานหลักให้ชัด สร้างความเชื่อมั่นประชาชน ลดสูญเสียยามวิกฤต

วันนี้ (11 ก.ย. 67) ไมตรี จงไกรจักร์ ผู้จัดการมูลนิธิชุมชนไท ในฐานะภาคประชาชนที่ขับเคลื่อนด้านการจัดการภัยพิบัติ ให้ความเห็นกับ The Active ต่อสถานการณ์น้ำท่วมหนักในพื้นที่ อ.แม่สาย จ.เชียงราย และอีกหลายพื้นที่ในภาคเหนือ โดยระบุว่า อย่างกรณีที่ อ.แม่สาย ซึ่งตลอดช่วงไม่กี่เดือนมานี้เกิดน้ำท่วมในพื้นที่ตลาดแนวชายแดน ใกล้แม่น้ำสาย ไม่น้อยกว่า 8 ครั้งมาแล้ว ซึ่งทุกครั้งน้ำก็มาเร็วจนประชาชน ผู้ค้าในตลาด เก็บข้าวของไม่ทัน จึงตั้งข้อสังเกตถึงระบบการแจ้งเตือนภัยของภาครัฐ และท้องถิ่น อาจต้องกลับมาทบทวนอย่างเร่งด่วนหรือไม่

เหตุการณ์น้ำท่วมตลาดสายลมจอย อ.แม่สาย จ.เชียงราย (10 ก.ย. 67)

ผู้จัดการมูลนิธิชุมชนไท ย้ำว่า ถ้าพิจารณาจากหน่วยงานรัฐกับการเตือนภัยพิบัติ จะพบว่า กรมอุตุนิยมวิทยา มีระบบการคาดการณ์ คำนวณปริมาณฝนล่วงหน้า 7 วันอย่างแม่นยำ อย่างน้อย ๆ ไม่ต่ำกว่า 90% ยิ่งถ้าเป็นการคาดการณ์ในรอบ 24 ชั่วโมง ถือว่าแม่นยำ 100% ก็ว่าได้ ดังนั้นเมื่อได้ข้อมูลการคาดการณ์ที่เชื่อถือได้ขนาดนี้ เพราะเหตุใดจึงไม่สามารถแจ้งเตือนประชาชนได้อย่างทันท่วงที แต่


โดยมองว่าประเด็นสำคัญของระบบเตือนภัยของประเทศนี้ คือ ไม่รู้ว่าใครเป็นเจ้าภาพหลัก ที่ผ่านมาเกี่ยงกันตลอดทั้ง สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) กับ ศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ ซึ่งหลายเหตุการณ์ไม่ได้แสดงบทบาทเท่าที่ควรว่าใครจะเป็นคนแจ้งเตือนประชาชน ขณะเดียวหากพิจารณาตามแผนป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ ก็จะพบว่า อีกหน่วยงานที่สามารถกำกับดูแลการแจ้งเตือนภัยให้กับประชาชนได้ คือ คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ที่ต้องทำหน้าที่ประสาน กำกับควบคุมให้ระบบโทรศัพท์ ช่องทีวี สามารถแจ้งเตือนประชาชนได้ทันที

เหตุการณ์น้ำท่วม อ.แม่สาย จ.เชียงราย (10 ก.ย. 67)

“ประชาชนไม่รู้ว่าหน่วยงานไหน ใครเตือน แล้วเขาจะเชื่อใคร รัฐบาลต้องเร่งสร้างตัวตน สถาปนาหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่งขึ้นมาเลย ให้ทำหน้าที่แจ้งเตือนภัยที่คนทั้งประเทศสามารถเชื่อถือได้ เป็นหน่วยงานหลัก ที่ไม่ใช่แค่กรมอุตุฯ ซึ่งเป็นเพียงหน่วยข้อมูลคาดการณ์ พยากรณ์ ซึ่งหากมองตามภารกิจแล้ว ก็คือศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติต้องทำหน้าที่นี้ ต้องทำให้เห็นว่าระบบเตือนมีกี่ขั้นเตือน ท้องถิ่น ต้องทำอะไร ในช่วงเวลา 24 ชั่วโมงล่วงหน้าต้องเตือนทันที่ ตอนนี้ขาดหน่วยกำกับ มีแต่แผนแต่ไม่มีใครปฏิบัติ”

ไมตรี จงไกรจักร์

ผู้จัดการมูลนิธิชุมชนไท ยังยกตัวอย่างระบบการแจ้งเตือนภัยพิบัติของประเทศที่ควรจะเป็น คือ เมื่อกรมอุตุฯ พยากรณ์ฝนล่วงหน้า 7 วัน ซึ่งสามารถคำนวณได้ค่อนข้างแม่นยำว่าตกเท่าไร ในพื้นที่ไหนหนัก เมื่อได้ข้อมูลพยากรณ์มาแล้ว ศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ ก็ต้องเอามาประมวลเพื่อแจ้งกับประชาชน ในพื้นที่เสี่ยง พื้นที่ไหนต้องรับน้ำ พื้นที่ไหนจะเกิดน้ำท่วม น้ำหลาก เสี่ยงดินถล่ม ชุมชนไหนต้องย้ายรถ ย้ายของ ข้อมูลพวกนี้ต้องแจ้งไปยังจังหวัด และท้องถิ่น เพื่อให้ไปแจ้งประชาชนของตัวเองล่วงหน้า 3 วัน และถ้าในช่วง 24 ชั่วโมง การแจ้งเตือนต้องทำผ่านระบบ SMS ให้เข้าถึงประชาชนทุกคนในพื้นที่เสี่ยง โดยเป็นบทบาทของ กสทช. ต้องกำกับ สร้างข้อตกลงกับค่ายโทรศัพท์หรือหน่วยบริการเพื่อแจ้งเตือนประชาชนทุกคน

อีกวิธีคือการแจ้งเตือนตามเขตสัญญาณโทรศัพท์ ลักษณะคล้าย ๆ กับที่ กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง เคยทำความร่วมมือกับหน่วยบริการสัญญาณ เพื่อแจ้งเตือนสำหรับใครก็ตามที่เข้าสู่พื้นที่เกาะ หรือชายหาดที่เป็นเขตปลอดบุหรี่ เมื่อมีนักท่องเที่ยวเข้าไปในพื้นที่ SMS จะแจ้งเตือนเข้ามาที่โทรศัพท์มือถือทัน ว่า เป็นชายหาดปลอดบุหรี่ ซึ่งเรื่องแค่นี้ยังทำได้ และมีตัวอย่างระบบให้เห็น เรื่องใหญ่อย่างภัยพิบัติก็คงทำไม่ยาก ถ้าหน่วยงานรัฐใส่ใจจะแจ้งเตือนให้มีประสิทธิภาพ อย่างในช่วง 24 ชั่วโมง ก่อนหน้านี้ ใครก็ตามที่เข้ามาที่เขต อ.แม่สาย ก็จะได้รับ SMS แจ้งเตือนเลยว่า “เสี่ยงน้ำท่วม” ทำให้เป็นข้อความที่สั้น กระชับที่สุด เพื่อให้ประชาชนได้ตัดสินใจ ซึ่งจะช่วยลดความเสี่ยงต่อชีวิตและทรัพย์สินได้

เหตุการณ์น้ำท่วม อ.แม่สาย จ.เชียงราย (10 ก.ย. 67)

“ยืนยันว่ากรมอุตุฯ พยากรณ์ได้แม่นยำ ข้อมูลเรามีในมือทั้งหมด แต่ทำไม ประชาชนยังหลบเลี่ยงภัยพิบัติไม่ทัน ยังมีคนต้องขอความช่วยเหลือ หนีไม่ทัน เก็บของไม่ทัน รถต้องจมน้ำ ข้าวของ สินค้าเสียหาย บางคนต้องสูญหาย ถ้าหน่วยงานรัฐสามารถแจ้งเตือนได้ภายใน 24 ชั่วโมง เชื่อว่าทุกคนเตรียมตัวได้ทัน แต่ตอนนี้ชาวบ้าน ไม่รู้ข้อมูลอะไรเลย กลายเป็นผู้รับมือภัยพิบัติอย่างเดียว รอความเสี่ยงอย่างเดียว แล้วมาเรียกร้องความช่วยเหลือในภาวะวิกฤตเท่านั้น จึงยังเห็นผู้ประสบภัยที่ยังตกค้างจำนวนมาก เป็นผลมาจากระบบแจ้งเตือนภัยภาครัฐที่ยังขาดประสิทธิภาพ คงต้องยอมรับว่าไม่มีใครจะอ่านแผนฯ ชาติทั้งหมด หน่วยงานราชการยังไม่อ่านเลย ยังงงว่าหน้าที่ของคืออะไร เรื่องนี้รัฐบาลต้องมาทบทวนอย่างจริงจัง”

ไมตรี จงไกรจักร์

ไมตรี ยังเสนอไปยังรัฐบาล ว่า หัวใจสำคัญของการจัดการภัยพิบัติ คือ

  1. ต้องจัดการระบบการแจ้งเตือนภัย การสื่อสารเพื่อการเตือนภัยอย่างน้อย 24 ชั่วโมง ผ่านหน่วยงานหลัก ที่รัฐบาลต้องตั้งขึ้นมาให้ชัดเจน

  2. รัฐต้องส่งเสริมชุมชนท้องถิ่นให้พร้อมรับมือภัยพิบัติด้วยตัวเอง ต้องทำทั้งประเทศ จากข้อมูลเวลานี้ไทยมีพื้นที่เสี่ยงภัยพิบัติกว่า 40,000 ชุมชน แต่ความจริงกลับได้รับงบฯ เพื่ออุดหนุนการแจ้งเตือนภัยแค่หลัก 10 ชุมชมเท่านั้น ถ้าเป็นแบบนี้จะทำกันกี่ร้อยปีทุกชุมชนจึงจะเข้าถึงองค์ความรู้การรับมือภัยพิบัติ

  3. เมื่อมีภาวะวิกฤตก็ต้องระดมสรรพกำลังในพื้นข้างเคียงเพื่อร่วมจัดการภัยพิบัติอย่างทันท่วงที

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active