กันยายน ฝนฉ่ำ เสี่ยงน้ำท่วมหนัก! อีกระลอก

อุตุฯ เตือนฝนหนาแน่นทั่วไทย หลายพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก โคลนถล่ม ไปจนถึง 9 ก.ย.นี้ อาจซ้ำรอยพื้นที่ท่วมเดิม กว่า 20 จังหวัด ชี้เป้าเขตเมืองใหญ่ เกือบทุกภาค

กรมอุตุนิยมวิทยา คาดการณ์ เดือนกันยายนจะเป็นเดือนที่ประเทศไทยจะมีฝนตกชุกหนาแน่นตลอดทั้งเดือน โดยมีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 60 – 80 ของพื้นที่เป็นส่วนใหญ่ ซึ่งเสี่ยงฝนตกหนัก น้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลากรวมทั้งน้ำล้นตลิ่งหลายพื้นที่อีกครั้ง

ขณะที่ ในวันที่ 3-7 ก.ย. 67 ร่องมรสุม หรือ ร่องฝนจะเลื่อนลงมาพาดผ่านภาคเหนือตอนล่าง ภาคกลาง และภาคอีสาน ขณะที่มรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทย จะมีกำลังแรงขึ้นจะทำให้ไทยมีฝนตกเพิ่มและตกหนัก โดยมีฝนตกหนักมากบริเวณภาคกลางรวมทั้งกรุงเทพมหานคร และปริมณฑล และภาคตะวันออก ซึ่งอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลากไว้ด้วย 

สำหรับคลื่นลมบริเวณทะเลอันดามันตอนบนมีกำลังปานกลาง โดยมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร ส่วนทะเลอันดามันตอนล่างและอ่าวไทยตอนบนมีคลื่นสูง 1-2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร ขอให้ชาวเรือในบริเวณดังกล่าวเดินเรือด้วยความระมัดระวังและหลีกเลี่ยงการเดินเรือในบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนอง

สำหรับพายุโซนร้อน “ยางิ” บริเวณประเทศฟิลิปปินส์มีแนวโน้มเคลื่อนตัวไปทางตอนใต้ของเกาะไต้หวัน ประเทศจีน และเคลื่อนตัวลงสู่ทะเลจีนใต้ตอนบน ในช่วงวันที่ 3-4 กันยายน 2567

วันนี้ (2 ก.ย. 67) ยังคงมีสถานการณ์น้ำท่วมปัจจุบันในพื้นที่ 4 จังหวัด ได้แก่

จ.เชียงราย อ.เทิง อ. ขุนตาล อ. เมืองเชียงราย อ. พญาเม็งราย อ. แม่สรวย อ. แม่ลาว

จ.สุโขทัย อ.ศรีสัชนาลัย อ. สวรรคโลก อ. ศรีสำโรง อ. เมืองสุโขทัย อ.ศรีนคร อ.กงไกรลาศ

จ.พิษณุโลก อ.บางระกำ อ. พรหมพิราม อ. บางกระทุ่ม อ. ชาติตระการ อ. เมืองพิษณุโลก

จ.หนองคาย อ.เมือง อ.สังคม อ.รัตนวาปี อ.ศรีเชียงใหม่ อ.ท่าบ่อ

สถานการณ์แม่น้ำที่ยังท่วมล้นตลิ่งบางแห่ง

ขณะที่แนวโน้มน้ำหลากในลุ่มน้ำที่ยังต้องเฝ้าระวังน้ำหลากท่วม ยังคงล้นตลิ่งปัจจุบัน คือแม่น้ำยม อยู่ในสภาวะปกติเกือบทั้งหมดยกเว้นบริเวณบริเวณสถานี Y.64 อ.บางระกำ จ.พิษณุโลก ปัจจุบันมีระดับน้ำ 7.20 ม. หรือ สูงกว่าตลิ่ง เซนติเมตร มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเล็กน้อย และลดลงเข้าสู่ตลิ่งวันที่ 10 ก.ย. 67

ส่วนสถานการณ์แม่น้ำเจ้าพระยา ปริมาณน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาที่สถานี C.2 อ.เมืองนครสวรรค์ จ.นครสวรรค์ ความจุลำน้ำ 3,660 ลบ.ม./วินาที ปัจจุบันมีปริมาณน้ำ 1,555 ลบ.ม./วินาที (ร้อยละ 42 ของความจุลำน้ำ)

คาดว่าในช่วง 7 วันข้างหน้าจะมีปริมาณน้ำจะอยู่ในช่วง 1,505 – 1,575 ลบ.ม./วินาที ร้อยละ 41-43 ของความจุลำน้ำและคาดการณ์ว่าจะระบายน้ำด้วยอัตรา 1,400 ลบ.ม./วินาที และคงอัตราดังกล่าวต่อเนื่อง และสถานี C.29A ศูนย์ศิลปชีพบางไทร จ.พระนครศรีอยุธยา มีความจุลำน้ำ 3,500 ลบ.ม./วินาที ปัจจุบันมีปริมาณน้ำ 1,365 ลบ.ม./วินาที (ร้อยละ 39 ของความจุลำน้ำ)

ก่อนหน้านี้มีประกาศ สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ ฉบับที่ 13/2567 เรื่อง เฝ้าระวังน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก และมีการคาดการณ์สภาพอากาศ พบว่า ร่องมรสุมพาดผ่านภาคเหนือตอนล่าง ภาคกลาง และภาคอีสาน ในขณะที่มรสุมตะวันตกเฉียงใต้มีกำลังแรงขึ้น ทำให้ประเทศไทยมีฝนตกหนักบางแห่งบริเวณภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก และภาคใต้

สทนช. ได้ประเมินวิเคราะห์สถานการณ์น้ำตามฝนคาดการณ์จากกรมอุตุนิยมวิทยา และสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) และการคาดการณ์พื้นที่เสี่ยงน้ำหลากและพื้นที่เสี่ยงดินโคลนถล่มบริเวณพื้นที่ต้นน้ำ จากกรมทรัพยากรน้ำและกรมทรัพยากรธรณี พบว่ามีพื้นที่เสี่ยงต้องเฝ้าระวัง ในช่วง วันที่ 3 – 9 ก.ย. นี้

จังหวัดเสี่ยงน้ำท่วมฉับพลันน้ำป่าไหลหลากและดินโคลนถล่ม และบริเวณชุมชนเมืองที่เกิดน้ำท่วมขังอยู่เป็นประจำเนื่องจากระบายไม่ทัน ในช่วง วันที่ 3 – 9 ก.ย. 67 มีดังนี้

ภาคเหนือ

  • ตาก : ท่าสองยาง แม่สอด พบพระ อุ้มผาง
  • สุโขทัย : อ.เมืองสุโขทัย อ.ศรีสัชนาลัย อ.ทุ่งเสลี่ยม อ.กงไกรลาศ
  • อุตรดิตถ์ :อ.เมืองอุตรดิตถ์ อ.ฟากท่า อ.น้ำปาด อ.ตรอน
  • พิษณุโลก :อ.ชาติตระการ อ.นครไทย อ.วัดโบสถ์ อ.วังทอง อ.เนินมะปราง
  • เพชรบูรณ์ :อ.เมืองเพชรบูรณ์ อ.หนองไผ่ อ.หล่มเก่า อ.หล่มสัก

ภาคอีสาน

  • เลย : อ.นาแห้ว อ.เชียงคาน อ.ด่านซ้าย อ.ปากชม
  • หนองคาย :อ.เมืองหนองคาย อ.สังคม อ.ศรีเชียงใหม่ อ.ท่าบ่อ อ.โพนพิสัย อ.โพธิ์ตาก
  • บึงกาฬ :อ.เมืองบึงกาฬ อ.ปากคาด อ.บุ่งคล้า อ.โซ่พิสัย อ.เซกา อ.บึงโขงหลง
  • อุบลราชธานี :อ.เมืองอุบลราชธานี อ.วารินชำราบ อ.ตาลสุม อ.น้ำยืน อ.พิบูลมังสาหาร อ.น้ำขุ่น

ภาคตะวันออก

  • นครนายก : อ.เมืองนครนายก อ.ปากพลี อ.บ้านนา
  • ปราจีนบุรี : อ.เมืองปราจีนบุรี อ.ประจันตคาม อ.นาดี อ.กบินทร์บุรี
  • ชลบุรี : อ.เมืองชลบุรี อ.บางละมุง อ.ศรีราชา
  • ระยอง : อ.เมืองระยอง อ.บ้านค่าย อ.ปลวกแดง อ.นิคมพัฒนา
  • จันทบุรี : อ.เมืองจันทบุรี อ.ขลุง อ.ท่าใหม่ อ.เขาคิชฌกูฏ อ.มะขาม
  • ตราด : อ.เมืองตราด อ.บ่อไร่ อ.เขาสมิง อ.แหลมงอบ อ.คลองใหญ่ อ.เกาะกูด

ภาคใต้

  • ชุมพร : อ.ท่าแซะ อ.สวี
  • ระนอง : อ.งระนอง อ.กระบุรี อ.ละอุ่น อ.กะเปอร์ อ.สุขสำราญ
  • พังงา : อ.เมืองพังงา อ.คุระบุรี อ.ตะกั่วป่า อ.กะปง อ.ท้ายเหมือง
  • ภูเก็ต : อ.เมืองภูเก็ต อ.กะทู้ อ.ถลาง
  • สุราษฎร์ธานี : อ.เมืองสุราษฎร์ธานี อ.คีรีรัฐนิคม อ.พุนพิน อ.พระแสง อ.เวียงสระ
  • นครศรีธรรมราช : อ.เมืองนครศรีธรรมราช อ.เชียรใหญ่ อ.ลานสกา อ.ถ้ำพรรณรา อ.ทุ่งใหญ่
  • ตรัง : อ.เมืองตรัง อ.สิเกา อ.ย่านตาขาว อ.กันตัง อ.ห้วยยอด อ.รัษฎา อ.วังวิเศษ
  • พัทลุง : อ.เมืองพัทลุง อ.ปากพะยูน อ.กงหรา อ.ศรีนครินทร์ อ.ควนขนุน
  • สตูล : อ.เมืองสตูล อ.ควนโดน อ.ควนกาหลง อ.ทุ่งหว้า อ.มะนัง

กรุงเทพมหานคร เสี่ยงฝนเฉลี่ยสูงสุดและท่วมมากสุด กันยายนนี้

สำหรับปริมาณฝนเฉพาะกรุงเทพหมนคร ปริมาณฝนเฉลี่ย (1 ม.ค.-26 พ.ค. 67) พบปริมาณฝนสะสม 229.7 มิลลิเมตร คาดว่าปริมาณฝนเฉลี่ย เมื่อพฤษภาคม 121.5 มิลลิเมตร เดือนมิถุนายน 142.7 มิลลิเมตร เดือนกรกฎาคม 137.5 มิลลิเมตร

เดือนสิงหาคม 139.1 มิลลิเมตร เดือนกันยายน 279.9 มิลลิเมตร เดือนตุลาคม 157.6 มิลลิเมตร เดือนที่มีความเสี่ยงจากฝนตกหนักน้ำท่วมมากสุดคือเดือนกันยายน ซึ่งอาจทำให้กรุงเทพมหานครที่มีความเปาะบางเรื่องน้ำท่วมขังระบายไม่ทัน

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active