เผยใกล้จุดดินถล่ม เขานาคเกิด จ.ภูเก็ต ติดตั้งเครื่องวัดการเคลื่อนตัวมวลดิน แจ้งเหตุดินถล่ม แต่ใช้การไม่ได้ ‘ผู้เชี่ยวชาญด้านดินถล่ม’ ตรวจสอบพบ หน่วยงานตั้งงบฯ ซ่อมบำรุงทุกปี แต่ถูกตัดงบฯ ตั้งข้อสังเกต งบฯ ไม่ต่อเนื่อง เกี่ยวข้องการเมือง เสนอตั้งหน่วยงานกลางจัดการภัยพิบัติ ปลอดการเมืองมีเอี่ยว
วันนี้ (27 ส.ค. 67) ผู้สื่อข่าวไทยพีบีเอส ลงพื้นที่บริเวณลานจอดรถพระใหญ่ บนเขานาคเกิด จ.ภูเก็ต ใกล้จุดเกิดเหตุดินถล่ม พบเครื่องตรวจวัดการเคลื่อนตัวของมวลดิน และเครื่องวัดปริมาณน้ำฝน ถูกติดตั้งอยู่ แต่จากการตรวจสอบร่วมกับ รศ. สุทธิศักดิ์ ศรลัมพ์ หัวหน้าศูนย์วิจัยฯ วิศวกรรมปฐพีเเละฐานราก ม.เกษตรศาสตร ผู้เชี่ยวชาญด้านดินถล่ม พบว่า เครื่องอยู่ในสภาพมีปลวกเข้าไปอยู่ในระบบการทำงาน มีต้นไม้ และสิ่งก่อสร้างบดบัง ซึ่งถือเป็นอุปสรรคต่อการวัดปริมาณน้ำฝน
รศ. สุทธิศักดิ์ ระบุว่า เครื่องที่ติดตั้งจุดนี้ มีระบบการทำงานแบบแจ้งเตือนทางอ้อม และทางตรง คือการวัดปริมาณน้ำฝน จะช่วยแจ้งเตือนให้เฝ้าระวัง และเครื่องวัดอัตราการเคลื่อนตัวของมวลดิน จะเป็นการแจ้งเตือนทางตรง เมื่อพบว่าดินเคลื่อนตัว จะส่งสัญญาณแจ้งเตือนไปยังหน่วยงานที่ดูแล คือ กรมทรัพยากรธรณี กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ซึ่งจะแจ้งเตือนไปยังท้องถิ่น แต่จากการสอบถามเจ้าหน้าที่ พบว่า เครื่องดังกล่าวขาดการดูแลรักษา และไม่มีงบประมาณดูแล
“เครื่องมือเตือนภัยดินถล่มทั้งทางตรงเเละทางอ้อมบนเขานาคเกิด ที่เกิดดินถล่มมีทั้งการเตือนภัยทางตรงเเละทางอ้อม เเต่ไม่เตือนเพราะถูกตัดงบฯ ปกติในการบำรุงรักษา ย้ำว่า ไม่ใช่ความผิดของหน่วยงานที่ไปติดตั้ง เขาตั้งงบฯ ดูเเลรักษาไปทุกปี เเต่ได้บ้างไม่ได้บ้าง เเละชุดเตือนภัยเเบบนี้ก็มีทั่วประเทศ ไม่ใช่ความผิดของใคร เป็นเรื่องที่ต้องตั้งนโยบายกันให้ชัดในทุกภัย ทั้งประเทศ ทุกหน่วยงาน งบฯ ที่เกี่ยวข้องกับความปลอดภัยสาธารณะจะต้องถูกคุ้มครอง ต้องไม่ถูกตัด”
รศ. สุทธิศักดิ์ ศรลัมพ์
รศ.สุทธิศักดิ์ เชื่อว่า หากเครื่องดังกล่าวใช้งานได้เต็มประสิทธิภาพ ชาวบ้านในชุมชุนกะตะ อาจอพยพได้ทัน ก่อนเกิดเหตุดินถล่ม จึงอยากให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ให้ความสำคัญกับการดูแลรักษาระบบเตือนภัย เพื่อความปลอดภัยในชีวิตของประชาชน
ตั้งข้อสังเกต ถูกตัดงบฯ เอี่ยวการเมือง
รศ.สุทธิศักดิ์ ให้ข้อมูลเพิ่มเติมกับ The Active โดยตั้งข้อสังเกตการถูกตัดงบฯ ด้านความปลอดภัยการแจ้งเตือนหรือ การจัดการด้านภัยพิบัติในไทย จากการศึกษาข้อมูล และติดตามสถานการณ์ด้านภัยพิบัติต่อเนื่องยาวนาน พบว่า ไทยขาดองค์ประกอบสำคัญของการจัดการเรื่องนี้ ใน 3 เรื่อง คือ 1. งบประมาณที่ไม่แน่นอน ต่อเนื่อง ขาดการคุ้มครองและท้ายที่สุดถูกตัดงบฯ เพราะทิศทางของการจัดสรรงบประมาณขึ้นอยู่กับการเมือง ไม่ว่าจะเป็นการเกลี่ยงบประมาณตามฐานเสียง การถูกฝ่ายค้านตัดงบฯ
“งบประมาณด้านความปลอดภัย ไม่แน่นอนขึ้นอยู่กับใครเป็นฝ่ายบริหาร หน่วยงานราชการต้องรอดูทิศทางการเมือง”
รศ. สุทธิศักดิ์ ศรลัมพ์
2. งบในการบำรุงรักษาโครงสร้างซึ่งจะเกี่ยวข้องกับการจัดการน้ำท่วมเป็นหลักเกี่ยวข้องกับวิศวกรรมโยธา ซึ่งยังคงขาดการตรวจสอบความปลอดภัย การประเมินติดตามต่อเนื่อง และ 3. การขาดหน่วยงานที่เป็นอิสระปลอดจากการแทรกแซงทางการเมือง ซึ่งหากมีหน่วยงานกลางในการจัดการภัยพิบัติ ก็จะทำให้การทำงานคล่องตัวอิสระมากยิ่งขึ้น ไม่ต้องรอทิศทางการเมืองหรืองบเพราะมีงบฯ ปกติ
จึงเสนอว่าทุกภัยพิบัติไม่ว่าจะเป็นน้ำท่วม ดินโคลนถล่ม แผ่นดินไหว ควรจะมีกฎหมายเฉพาะภัยซึ่งจะนำมาซึ่งงบประมาณ และหน่วยงานที่มีอำนาจภารกิจชัดเจนในการจัดการความปลอดภัยด้านภัยพิบัติที่ต่างกัน