เกือบทุกภาคทั่วไทยระวังฝนตกหนัก น้ำล้นตลิ่ง เสี่ยงท่วม

เตือน 13 จังหวัดเหนือ – อีสาน เฝ้าระวังน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก น้ำล้นตลิ่ง และดินถล่ม ตั้งแต่วันนี้ – 8 ส.ค. 2567 ขณะที่ตอนบนของไทยเสี่ยงท่วมหนักจากแนวโน้มฝนสะสมสูงและน้ำล้นตลิ่ง

ที่จังหวัดเชียงราย หลังเกิดฝนตกต่อเนื่องในทุกอำเภอ ตั้งแต่รอบสัปดาห์ที่ผ่านมา ทำให้มีฝนสะสมและเริ่มท่วมหลาก วันนี้ (4 ส.ค. 2567) หลายพื้นที่ อย่าง อำเภอแม่สาย ตำบลเวียงพางคำ หมู่ที่ 1 เวลาประมาณ 02.00 น. ระดับแม่น้ำสายเพิ่มขึ้น น้ำล้นตลิ่งเข้าท่วมตลาดการค้าชายแดน “ตลาดสายลมจอย” และชุมชนโดยรอบ โดยในเวลา 07.25 น. ระดับน้ำเริ่มลดลง แต่กลับมาเพิ่มสูงขึ้นอีกในเวลา 07.40 น. ทั้งในเขตอำเภอและเทศบาลตำบลแม่สาย เฝ้าระวังอย่างใกล้ชิดและแจ้งเตือนประชาชนให้ขนของขึ้นที่สูง และติดตั้งเครื่องสูบน้ำเพื่อเร่งระบายน้ำ ในพื้นที่ตลาดสายลมจอยบางจุดน้ำลดลงจนสามารถฉีดล้างทำความสะอาดได้แล้ว ระดับน้ำสายมีแนวโน้มทรงตัว ด้านหน่วยงานท้องถิ่น ระบุว่า ขณะนี้สถานการณ์อยู่ในระดับเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด มีฝนตกต่อเนื่อง ระดับน้ำมีแนวโน้มทรงตัวถึงเพิ่มสูงขึ้นเรื่อย ๆ

จังหวัดแม่ฮ่องสอน หลังจากมีฝนตกต่อเนื่องมาตั้งแต่วันที่ 17 ก.ค. จนถึงวันนี้ ดินเริ่มอิ่มน้ำ ส่งผลให้เกิดน้ำป่าไหลหลาก ดินภูเขาสไลด์ปิดทับเส้นทาง ขณะที่พื้นที่ทางการเกษตรถูกน้ำหลากเข้าท่วมเสียหาย ก่อนหน้านี้แม้มีเจ้าหน้าที่จัดรถเครื่องจักรกลหนัก คอยเตรียมความพร้อมเพื่อเข้าไปแก้ไปปัญหาหากเกิดดินสไลด์ลงมาอีก ด้าน กองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดแม่ฮ่องสอน ทำหนังสือด่วนไปถึงส่วนราชการ อำเภอทุกอำเภอ ให้เฝ้าระวังสถานการณ์น้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าน้ำไหลหลาก และดินถล่ม โดยเฉพาะอำเภอเมืองแม่ฮ่องสอน ปางมะผ้า และอำเภอสบเมย ไปจนถึงวันที่ 8 ส.ค. นี้

จังหวัดปราจีนบุรี หลังจากมีฝนสะสมสูงในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมา จนทำให้น้ำที่ชุมชนตลาดเก่าเทศบาลตำบลกบินทร์บุรีมีน้ำไหลมาสมทบเพิ่ม จนท่วมสูงเกือบ 1 เมตร แม้วันนี้น้ำจะเริ่มลดลงตามลำดับ แต่มวลน้ำไหลเข้าพื้นที่ อำเภอศรีมหาโพธิ ส่งผลให้บ้านเรือนราษฎรบริเวณสองฝั่งแม่น้ำ ถูกน้ำท่วมพื้นที่ด้านล่างของบ้าน ทำให้ชาวบ้านในพื้นที่ หมู่ที่ 5 ตำบลศรีมหาโพธิ ไปจนถึงชาวบ้าน หมู่ที่ 9 ตำบลท่าตูม ได้รับความเดือดร้อน ต้องน้ำรถขึ้นไปไว้ข้างถนนทางเข้าหมู่บ้าน และใช้เรือในการเดินทาง

สทนช. ประกาศเตือน พื้นที่เฝ้าระวังน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก และดินถล่มเหนือ – อีสาน

ด้าน สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ได้ออกประกาศเตือนพื้นที่เฝ้าระวังน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก และดินถล่มในพื้นที่ภาคเหนือ 10 จังหวัด ได้แก่

แม่ฮ่องสอน : อ.เมืองแม่ฮ่องสอน อ.ปางมะผ้า อ.สบเมย

เชียงใหม่ : อ.แม่อาย อ.ฝาง อ.เวียงแหง อ.พร้าว อ.แม่ออน

เชียงราย : อ.เมืองเชียงราย อ.แม่ฟ้าหลวง อ.แม่สาย อ.เชียงแสน อ.เชียงของ อ.เวียงแก่น อ.แม่จัน อ.ดอยหลวง อ.เวียงเชียงรุ้ง อ.พญาเม็งราย อ.ขุนตาล อ.เวียงชัย อ.เทิง อ.แม่ลาว

ลำปาง : อ.วังเหนือ อ.แม่ทะ

พะเยา : อ.ภูซาง อ.ปง อ.เชียงคำ อ.ดอกคำใต้

แพร่ : อ.ร้องกวาง อ.ลอง

น่าน : อ.เมืองน่าน อ.เฉลิมพระเกียรติ อ.ทุ่งช้าง อ.สองแคว อ.บ่อเกลือ อ.ปัว อ.ท่าวังผา อ.สันติสุข อ.แม่จริม

อุตรดิตถ์ : อ.เมืองอุตรดิตถ์ อ.ท่าปลา

ตาก : อ.ท่าสองยาง อ.แม่ระมาด อ.แม่สอด

พิษณุโลก : อ.นครไทย

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 3 จังหวัด ได้แก่

เลย : อ.เชียงคาน อ.ปากชม

หนองคาย : อ.เมืองหนองคาย อ.ศรีเชียงใหม่ อ.โพนพิสัย อ.รัตนวาปี

บึงกาฬ : อ.เมืองบึงกาฬ อ.ปากคาด อ.พรเจริญ อ.บุ่งคล้า อ.โซ่พิสัย อ.เซกา อ.บึงโขงหลง

ขณะที่พื้นที่เฝ้าระวังระดับน้ำเพิ่มขึ้นอย่างฉับพลัน ระดับน้ำล้นตลิ่งและท่วมขังในพื้นที่ลุ่มต่ำ บริเวณแม่น้ำสายหลักและลำน้ำสาขา ได้แก่

ลำน้ำงาว (จ.เชียงราย)

แม่น้ำสาย (จ.เชียงราย)

แม่น้ำน่าน (จ.น่าน)

แม่น้ำยม (จ.แพร่ จ.พะเยา จ.พิษณุโลก)

ลำน้ำปาด (จ.อุตรดิตถ์)

แม่น้ำแควน้อย (จ.พิษณุโลก)

ด้าน ไพฑูรย์ เก่งการช่าง รองเลขาธิการ สทนช. กล่าวหลังลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์น้ำที่จังหวัดน่าน พบว่ามวลน้ำสูงสุดได้ไหลผ่านสถานี N.64 บ้านผาขวาง อำเภอเมืองน่าน ปริมาณ 811 ลบ.ม./วินาที และไหลผ่านที่สถานี N.1 หน้าสำนักงานป่าไม้ อำเภอเมืองน่าน อยู่ที่ 1,078 ลบ.ม./วินาที และสถานี N.13A บ้านบุญนาค อำเภอเวียงสา มีปริมาณน้ำ 2,219 ลบ.ม./วินาที คาดว่าสถานการณ์น้ำจะกลับสู่ภาวะปกติในวันที่ 6 ส.ค. 2567

ยังคงมีสถานการณ์อุทกภัย ในพื้นที่ 9 จังหวัด

สำหรับสถานการณ์อุทกภัย ปัจจุบันยังคงมีในพื้นที่ 9 จังหวัด ได้แก่

จ.เชียงราย (อ.แม่สาย และเวียงแก่น) จ.เชียงใหม่ (อ.อมก๋อย และนาเกียน) จ.แม่ฮ่องสอน (อ.เมืองฯ) จ.พะเยา (อ.เมืองฯ และเชียงม่วน) จ.น่าน (อ.เวียงสา เชียงกลาง ปัว และท่าวังผา) จ.ตาก (อ.แม่ระมาด) จ.ปราจีนบุรี (อ.กบินทร์บุรี ประจันตคาม และนาดี) จ.จันทบุรี (อ.เมืองฯ มะขาม ขลุง ท่าใหม่ และนายายอาม) และ จ.ตราด (อ.เขาสมิง)

ส่วนแนวโน้มฝนตก ในช่วงวันนี้ – 5 ส.ค. 2567 กรมอุตุนิยมวิทยาเตือนด้วยว่า ขอให้ประชาชนบริเวณภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน และภาคตะวันออก ระวังอันตรายจากฝนตกหนักและฝนที่ตกสะสมซึ่งอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลาก โดยเฉพาะพื้นที่ลาดเชิงเขาใกล้ทางน้ำไหลผ่านและพื้นที่ลุ่ม และเพิ่มความระมัดระวังในการสัญจรผ่านบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนอง

เพราะระยะนี้ มรสุมตะวันตกเฉียงใต้กำลังปานกลางพัดปกคลุมทะเลอันดามันตอนบน ประเทศไทย และอ่าวไทย ประกอบกับมีหย่อมความกดอากาศต่ำบริเวณประเทศเวียดนามตอนบนและอ่าวตังเกี๋ย ในขณะที่มีแนวลมพัดสอบของลมตะวันตกเฉียงใต้และลมตะวันออกเฉียงใต้พัดปกคลุมภาคตะวันออกและอ่าวไทยตอนบน  ลักษณะเช่นนี้ทำให้ประเทศไทยมีฝนฟ้าคะนองและมีฝนตกหนักบางแห่งบริเวณภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบนและภาคตะวันออก  

สำหรับชาวเรือบริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทยควรเดินเรือด้วยความระมัดระวังและหลีกเลี่ยงการเดินเรือในบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองตลอดช่วง

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active