ถอดบทเรียนน้ำไทย ต่อจากนี้ไป เตือนภัยต้องทันเวลา

ยก จังหวัดชายแดนใต้ เป็นบทเรียน ‘นักวิชาการ – นักบริหารจัดการน้ำ’ ย้ำ ต้องปรับการเตือนภัยแบบเข้าถึงเฉพาะท้องถิ่น ให้ทันความแปรปรวนสภาพอากาศ เหตุ ที่ผ่านมาการเตือนภัยของไทยยังไม่สอดคล้องบริบทพื้นที่

หากย้อนความเสียหายที่เกิดขึ้นกับน้ำท่วมใหญ่ภาคใต้ เมื่อปี 2566 ช่วงกลางเดือนจนถึงปลายเดือนธันวาคม พบว่าเหตุอุทกภัยพื้นที่ภาคใต้ ที่เกิดนั้นมาจากมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือที่พัดปกคลุมอ่าวไทยและภาคใต้มีกำลังแรง ประกอบกับหย่อมความกดอากาศต่ำกำลังแรงปกคลุมบริเวณเกาะสุมาตราและทะเลอันดามันตอนล่าง  

ทำให้ภาคใต้ตอนล่างมีฝนตกหนักถึงหนักมาก ส่งผลให้มีสถานการณ์น้ำท่วมใน 5 จังหวัด ได้แก่ สตูล สงขลา ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส รวม 34 อำเภอ 195 ตำบล 1,279 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบจำนวน 102,070 ครัวเรือน 

สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ระดมมันสมองจากทุกภาคส่วน ร่วมถอดบทเรียนการบริหารจัดการน้ำและมาตรการรับมือในช่วงฤดูฝน ปี 2566 วิเคราะห์ปัญหาและอุปสรรค เตรียมแผนตั้งรับฝนฤดูกาลหน้าให้สอดรับสภาพอากาศแปรปรวน โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัด ผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง 4 กระทรวง 29 หน่วยงาน ผู้ทรงคุณวุฒิ นักวิชาการ คณะกรรมการลุ่มน้ำและเครือข่ายองค์กรผู้ใช้น้ำ นักวิชาการ ภาคประชาชน และสื่อมวลชน รวมกว่า 250 คน เข้าร่วมประชุม ณ โรงแรมรามา การ์เด้นส์ ถ.วิภาวดีรังสิต กรุงเทพฯ และผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์

เสียงสะท้อนปรับสู่ทางออกเตือนภัยทันเวลา

ขณะที่เสียงสะท้อนของ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่เกิดน้ำท่วมใหญ่รอบนี้รุนแรงจนทำให้หลายคนยอมรับเหตุการณ์นี้แทบจะไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ขณะที่การเตือนภัยรอบน้ำยังไม่เฉพาะเจาะจงรายพื้นที่ และเตือนภัยกว้างแบบภาคร่วมทั้งประเทศ จึงอยากสะท้อนให้เกิดการปรับเปลี่ยนเพื่อความปลอดภัยของทุกคน

ชินวัฒน์ พรหมมาณพ ผู้ทรงคุณวุฒิ จ.ยะลา

ชินวัฒน์ พรหมมาณพ ผู้ทรงคุณวุฒิ จ.ยะลา กล่าวว่า การเตือนภัยน้ำท่วม 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้รอบที่ผ่านมา ยังเป็นการเตือนที่กว้างและเป็นภาพรวมทั้งประเทศ จึงให้มีการเตือนแบบเฉพาะเจาะจง อย่าง เหตุการณ์น้ำท่วมในจังหวัดยะลา นราธิวาส และปัตตานี

จากบทเรียนที่ผ่านมาจะพบว่าบริบทด้านสภาพแวดล้อม แตกต่างจากจังหวัดตอนบนของไทย แต่เมื่อมีการประกาศแบบรวม ๆ ทำให้ เข้าใจว่าทั้งประเทศจะแล้ง แต่ปรากฏว่าภาคใต้อากาศแตกต่างจากตอนบนของไทย

สำหรับข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะ ของชินวัฒน์ พรหมมาณพ มองว่า

  1. บริบทการบริหารจัดการน้ำของ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ส่วนใหญ่เป็นภูเขาแตกต่างจากพื้นที่ภาคอื่น โดยฝนสะสม 3 วัน กว่า 700 มิลลิเมตร ควรเพิ่มความถี่ในการแจ้งเตือน โดย ปภ. มีหน้าที่แจ้งเตือนโดยตรง ดังนั้น ควรขับเคลื่อนให้การแจ้งเตือนผ่านเทศบาลที่มีไซเรนเพื่อกระตุ้นให้เกิดการอพยพและรับมือ
  2. ควรให้ความสำคัญในการสนับสนุนงบฯ กลาง ในการแก้ปัญหาในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้
  3. สทนช. ควรสนับสนุนงบประมาณในการซักซ้อมแผนเผชิญเหตุ
  4. ขอให้เน้นการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาเรื่องการจัดการคุณภาพน้ำและอนุรักษ์พื้นที่ต้นน้ำตามแผนแม่บทลุ่มน้ำด้านที่ 4
ชวลิต จันทรรัตน์ ผู้เชี่ยวชาญด้านน้ำและผู้ทรงคุณวุฒิ

ด้าน ชวลิต จันทรรัตน์ ผู้เชี่ยวชาญด้านน้ำ และผู้ทรงคุณวุฒิ กล่าวว่า อย่างในกรณีภาคใต้ การคาดการณ์ที่แม่นยำจะช่วยให้ประชาชนลดเสียหาย ขณะที่ภาคใต้รอบนี้ยังเตือนภัยที่กระชั้นชิดเกินไป

ดังนั้น การเตือนภัยต้องใกล้ชิด การประสานงานหน่วยงานภาครัฐที่มีข้อมูลมาก เช่น กรมอุตุนิยมวิทยา และสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ หรือ สสน. ที่เป็นศูนย์รวมข้อมูล อาจต้องใช้ข้อมูลเหล่านี้คาดการล่วงหน้าให้แม่นยำจริง ๆ เพราะที่ผ่านมาภาคใต้เหตุการณ์เกิดเร็ว เพียง 3 วัน หย่อมความกดอากาศต่ำก็เข้าประชิดพื้นที่ 3 จังหวัดใกล้แนวลุ่มน้ำเพียงครึ่งวันเท่านั้น เรื่องนี้พื้นที่ ส่วนกลางต้องช่วยกันติดตาม

โดยมีข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะ ดังนี้

  1. เจ้าหน้าที่ราชการและหน่วยงานท้องถิ่นต้องมีส่วนร่วม ในการซ่อมแซมบำรุงรักษาอุปกรณ์ กำจัดวัชพืช ให้มีการเสนองบประมาณ
  2. ยังขาดความร่วมมือและการสร้างเครือข่ายภาคประชาชน และการเปลี่ยนแปลงประโยชน์การใช้ที่ดิน ต้องขอความร่วมมือจากภาคประชาชนและเชิญปราชญ์ชาวบ้านเป็นเครือข่ายด้วย
  3. ฝึกฝนให้เกิดทักษะในการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่
  4. การบูรณาการการปฏิบัติงานระหว่างหน่วยงานทั้งก่อนและหลังเกิดเหตุ
  5. ต้องมีการขับเคลื่อนงบประมาณสำหรับการใช้ในภาวะวิกฤต และควรมีขั้นตอนที่ชัดเจน (จังหวัดประกาศเขตพื้นที่อาจจะเสี่ยงภัย)
  6. สภาพภูมิอากาศปีนี้มีแนวโน้มในช่วงฤดูฝนเป็นลานีญา ต้องเตรียมรับสถานการณ์น้ำท่วมที่เกิดจากฝนที่มากขึ้น ควรยอมรับการคาดเคลื่อนของผลการคาดการณ์พยากรณ์
สุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.)

สุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) แม้ปีที่ผ่านมาจะมีการบริหารจัดการด้วยการจะบูรณาการกับการจัดตั้งศูนย์บริหารจัดการน้ำส่วนหน้า ในพื้นที่เสี่ยงอุทกภัย 3 ศูนย์ ทั้ง ภาคอีสาน ภาคกลาง และภาคใต้ จากปีที่ผ่านมาจะมีพื้นที่ท่วมเพียง 7 แสน 5 หมื่นไร่ ซึ่งน้อยกว่าปี 2565 ที่มีพื้นที่น้ำท่วม 3.16 ล้านไร่ ส่วนพื้นที่ภาคใต้ ยังสามารถบริหารจัดการน้ำได้และได้ส่งข้อมูลข่าวสารในการแจ้งพื้นที่ประสบภัยและแจ้งเตือนสถานการณ์ต่าง ๆ จากศูนย์บริหารจัดการน้ำส่วนหน้าฯ ได้ทันสถานการณ์

แต่ถ้ามองจุดอ่อนที่ต้องปรับตัวและแก้ไข คือต้องสอดรับกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เพราะเราเห็นว่าภาคใต้ เราอาจมีฝน 200-300 มิลลิเมตร แต่ฝนตก 700 มิลลิเมตร เป็นเรื่องที่มาคิดต่อต่อความแปรปรวนสภาพอากาศ ในปี 2567 เราจะมีการแจ้งเตือนเบื้องต้นคาดการณ์ใหม่ในระยะสั้น โดยจะใช้เรด้าเข้ามามีส่วนช่วยวิเคราะห์ให้ทันเหตุการณ์ฉับพลันมากขึ้น ขณะเดียวกันจะเสริมมาตรการในการตรวจสอบ แจ้งหน่วยงานต่าง ๆ เพื่อตรวจสอบตรงนี้

เลขาธิการ สทนช. ยังกล่าวอีกว่า จุดอ่อนอีกประเด็น ในเรื่องคันกั้นน้ำอายุมาก เก่าชำรุดต้องปรับปรุงให้ทันกับเหตุการณ์เพื่อลดโอกาสเสียหาย ที่สำคัญเครือข่ายภาคประชาชนคือส่วนที่ต้องร่วมกันเป็นหูเป็นตา ทั้งการตรวจสอบคันกั้นน้ำ ถ้ามันชำรุดอาจขอความร่วมมือท้องถิ่น นี่เป็นส่วนหนึ่งที่ต้องทำ

ส่วนการบริหารจัดการน้ำระบบลุ่มน้ำ เดิมทีดูแลในตัวเขื่อน หรือการปรับ Rule Curve  หรือที่เป็นเส้นกราฟเป็นตัวกำหนด แต่ละเดือนต้องมีน้ำไม่เกินและไม่น้อยกว่าที่กำหนดของเขื่อน ทำให้เห็นปัญหาช่วงที่มีพายุเข้ามา จะดูที่การระบายน้ำของเขื่อนอย่างเดียวไม่ได้ ต้องบริหารจัดการน้ำทั้งลุ่มน้ำเลยไม่ว่าเป็นเขื่อนใหญ่ ๆ ที่อยู่ในลุ่มน้ำเหล่านั้น เพราะการเก็บน้ำในลุ่มที่มีการบริหารจัดการก็ลดการท่วมได้

ปัจจุบันเราพยายามสร้างเครือขายภาคประชาชน และมีองค์กรผู้ใช้น้ำ รวมถึงชวนหมอดินอาสาที่เกี่ยวข้องในการบริหารจัดการ เช่นกลุ่มผู้ใช้น้ำ ที่มีทั้ง กรมชลประทาน ประชาชน และการร่วมกันกับทีมวิทยุอาสาที่จะดำเนินการในการเชื่อมโยงให้มีการพัฒนาต่อเนื่อง

ส่วนปีนี้ 2567 ข้อมูลโนอาร์พบว่า ปรากฏการณ์แอลนีโญ จะเริ่มอ่อนลงในช่วงกลางปี และในช่วงกลางเดือนมิถุนายน ไทยจะเริ่มเปลี่ยนเป็นปรากฏการณ์ ลานีญา น้ำมาก ที่อาจมีปริมาณฝนใกล้เคียงกับปี 2553 สิ่งที่จะเริ่มการบริหารจัดการน้ำจะเริ่มมองทั้งลุ่มน้ำ ให้ทุกภาคส่วนเกินหน้ารับมือการเตือนภัยที่ทันแวลา

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active