ทาบสถิติ อากาศร้อนจัด จ.แม่ฮ่องสอน เมื่อปี 2559 ขณะที่ กรมอุตุฯ เตือนหลายพื้นที่ รวมทั้ง กทม.-ปริมณฑล เตรียมรับมือ พายุฤดูร้อน ต่อเนื่องไปอีก 1-2 วัน
เมื่อวันที่ 15 เม.ย. ที่ผ่านมา ที่อำเภอเมืองตาก จ.ตาก อุณหภูมิร้อนจัด เป็นอันดับ 1 อยู่ที่ 44.6 องศาเซลเซียส ซึ่งเทียบเท่ากับปีที่มีอากาศร้อนสุดมาแล้ว อย่างที่ อำเภอเมืองแม่ฮ่องสอน เมื่อวันที่ 28 เมษายน 2559 ถือว่าเป็นวันที่ร้อนที่สุดในรอบหลายปี
ขณะที่ สถิติสุงสุดในรอบ 72 ปี ตั้งแต่ ปี 2494-2566 ที่อำเภอเมืองตาก ร้อนจัดอุณหภูมิสุงสุด 44.6 องศาเซลเซียส
อันดับ 2 ที่จังหวัดสุโขทัย เคยร้อนจัด 44.5 องศาเซลเซียส เมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม 2559
อันดับที่ 3 คือจังหวัดอุดรธานี ร้อนที่สุดเมื่อ วันที่ 28 เมษายน 2503 อุณหภุมิสูงสุด 43.9 องศาเซลเซียส
อันดับที่ 4 จังหวัดนครสวรรค์ เมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม 2559 อุณหภุมิสุงสุด 43.7 องศาเซลเซียส
และอันดับที่ 5 ที่จังหวัดกาญจนบุรี เมื่อวันที่ 29 เมษายน 2501, วันที่ 14 เมษายน 2526, วันที่ 14 เมษายน 2535, วันที่ 20 เมษายน 2535 และวันที่ 11 เมษายน 2559
กรมอุตุนิยมวิทยา เปิดเผยว่า สาเหตุที่ระยะนี้ไทยมีอากาศร้อนจัดเพราะหย่อมความกดอากาศต่ำเนื่องจากความร้อนปกคลุมประเทศไทยตอนบน นานเกือบสัปดาห์แล้ว ทำให้ประเทศไทยตอนบนมีอากาศร้อนถึงร้อนจัดบางพื้นที่ ในขณะที่ระยะนี้ ไทยมีอากาศค่อนข้างแห้งความชื้นน้อย และเมฆบางส่วนที่มาบดบังก็มีไม่มากจึงทำให้เกิดอากาศร้อนระอุ
กรมอุตุนิยมวิทยา คาดการณ์ว่า วันนี้(16 เม.ย.66) อากาศร้อนสุดอยู่ที่ภาคเหนือ อุณหภูมิสูงสุด 37–44 องศาเซลเซียส คงต้องมาดูกันต่อว่า มีโอกาสจะร้อนทำลายสถิติ 44.6 องศาเซลเซียส หรือไม่ ส่วนภาคอีสาน ร้อนรองจากภาคเหนือ อุณหภูมิสูงสุดอยู่ระหว่าง 37–40 องศาเซลเซียส ภาคกลาง อุณหภูมิสูงสุดอยู่ระหว่าง 35–38 องศาเซลเซียส และภาคตะวันออก 32–37 องศาเซลเซียส
ขณะเดียวกัน หลังจากนี้ในช่วง 1-2 วัน บริเวณความกดอากาศสูง หรือมวลอากาศเย็นกำลังปานกลางได้แผ่ลงมาปกคลุมภาคตะวันออกเฉียงเหนือด้านตะวันออก และทะเลจีนใต้แล้ว ส่งผลให้ลมตะวันออกพัดนำความชื้นจากอ่าวไทยและทะเลจีนใต้เข้ามาปกคลุมประเทศไทยตอนบนมีกำลังแรงขึ้น
ในขณะที่ประเทศไทยมีอากาศร้อนถึงร้อนจัด จึงทำให้ประเทศไทยตอนบนมีพายุฤดูร้อนเกิดขึ้น โดยมีลักษณะของพายุฝนฟ้าคะนอง ลมกระโชกแรง และลูกเห็บตกบางแห่ง รวมถึงอาจมีฟ้าผ่าเกิดขึ้นได้บางพื้นที่
ขณะที่เมื่อวานนี้ (15 เม.ย.66) พายุฤดูร้อน พัดถล่มแหล่งท่องเที่ยวที่เล่นสาดน้ำสงกรานต์พัทยาน้อย ตำบลคันไร่ อ.สิรินธร จ.อุบลราชธานี ทำให้นักท่องเที่ยวจำนวนหลายพันคน ที่กำลังเล่นน้ำ และนั่งกินอาหารในแพขายอาหารที่มีกว่า 40 เจ้า ตกใจและ พากันขึ้นจากน้ำ รวมถึงออกจากแพมาที่รถ เพื่อความปลอดภัย
ทำให้รถติดบนถนนสิรินธร-ช่องเม็ก ยาวหลายกิโลเมตร เจ้าหน้าที่ต้องมาอำนวยความสะดวกด้านการจราจร โดยพายุได้พัดอยู่นานเกือบ 30 นาที ก่อนจะสงบลงเบื้องต้นมีรายงานว่า แพขายอาหารของชาวบ้าน ได้รับความเสียหายกว่า 10 หลัง
สำหรับจังหวัดที่คาดว่าจะมีผลกระทบ จากพายุฤดูร้อน ที่ต้องเฝ้าระวัง มีดังนี้
ภาคเหนือ : จังหวัดแม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ น่าน อุตรดิตถ์ ตาก กำแพงเพชร พิษณุโลก และเพชรบูรณ์
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ : จังหวัดเลย มุกดาหาร ชัยภูมิ กาฬสินธุ์ มหาสารคาม ร้อยเอ็ด ยโสธร อำนาจเจริญ นครราชสีมา บุรีรัมย์ สุรินทร์ ศรีสะเกษ และอุบลราชธานี
ภาคกลาง : จังหวัดนครสวรรค์ อุทัยธานี ชัยนาท กาญจนบุรี ลพบุรี สระบุรี อ่างทอง สิงห์บุรี รวมทั้งกรุงเทพมหานคร และปริมณฑล
ภาคตะวันออก : จังหวัดนครนายก ปราจีนบุรี สระแก้ว ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ระยอง จันทบุรี และตราด
สำหรับกรุงเทพมหานคร และปริมณฑล วันนี้จะยังกระทบพายุฤดูร้อน เสี่ยงมีลมกระโชกแรง และลูกเห็บตกบางแห่ง โดยจะมีพายุฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 30 ของพื้นที่ แล้วจะค่อย ๆ ลดลง อุณหภูมิสูงสุด 31-33 องศาเซลเซียส หลังจากพยากรณ์อากาศ 24 ชั่วโมง ข้างหน้า บริเวณความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นกำลังปานกลางปกคลุมภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และทะเลจีนใต้ ส่งผลให้ลมใต้และลมตะวันออกเฉียงใต้ที่พัดนำความชื้นจากทะเลจีนใต้เข้ามาปกคลุมประเทศไทยตอนบนมีกำลังแรงขึ้น ในขณะที่ประเทศไทยมีอากาศร้อนถึงร้อนจัด
กรมอุตุนิยมวิทยา จึงมีคำเตือน ขอให้ประชาชนบริเวณประเทศไทยตอนบน ระวังอันตรายจากพายุฤดูร้อนที่อาจจะเกิดขึ้น โดยหลีกเลี่ยงการอยู่ในที่โล่งแจ้ง ใต้ต้นไม้ใหญ่ สิ่งปลูกสร้างและป้ายโฆษณาที่ไม่แข็งแรง ไม่ควรสวมใส่โลหะ และหลีกเลี่ยงการใช้โทรศัพท์มือถือขณะเกิดพายุฝนฟ้าคะนอง สำหรับเกษตรกรควรเตรียมการป้องกันและระวังความเสียหายที่จะเกิดต่อผลผลิตทางการเกษตรและอันตรายต่อสัตว์เลี้ยงไว้ด้วย