กรมอุตุฯ ประเมินหลายจังหวัดอุณหภูมิสูงสุดเกินกว่า 40 องศาเซลเซียส แม้ปีนี้จะยังไม่ร้อนที่สุด เตือนเกิดพายุฤดูร้อน กระทบไทยตอนบน รวม 49 จังหวัด ตั้งแต่วันที่ 26-29 มี.ค. เกษตรกร ควรเตรียมการป้องกันและระวังความเสียหาย
หลังจากที่ประเทศไทยเข้าสู่ฤดูร้อนอย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ 5 มีนาคม 2566 ที่ผ่านมา กรมอุตุนิยมวิทยาก็คาดการณ์แล้วว่า ฤดูร้อนจะ สิ้นสุด ประมาณกลางพฤษภาคม 2566 โดยจังหวัดที่มีโอกาสร้อนที่สุด ได้แก่ สุโขทัย ตาก ลำปาง แม่ฮ่องสอน อุณหภูมิสูงสุดจะอยู่ที่ประมาณ 40-43 องศาเซลเซียส
ขณะที่ประเทศไทยตอนบนจะมีอุณหภูมิสูงสุดเฉลี่ย 35.5 องศาเซลเซียส ซึ่งใกล้เคียงกับต่าปกติ (ค่าปกติ 35.4 องศาเซลเซียส) แต่จะสูงกว่าปี 2565 (ปีที่แล้ว 34.0 องศาเซลเซียส) ส่วนปริมาณฝนรวมเฉลี่ยปีนี้ใกล้เคียงค่าปกติ
โดย ช่วงกลางเดือนมีนาคม ถึงกลางเดือนเมษายน
- อากาศจะร้อนอบอ้าวเป็นระยะ ๆ
- อากาศร้อนจัดหลายพื้นที่ในบางช่วง
- เกิดพายุฤดูร้อนในหลายพื้นที่
โดย ช่วงกลางเดือนเมษายน ถึงกลางเดือนพฤษภาคม
- อากาศจะแปรปรวน
- มีอากาศร้อนจัดบางแห่งในบางช่วง
- มีฝนฟ้าคะนองหลายพื้นที่
ขณะที่ภาคใต้ ตั้งแต่กลางเดือนมีนาคม ถึงกลางเมษายน
- อุณหภูมิสูงสุด ประมาณ 37-38 อฃศาเซลเซียส
- มีฝนเพิ่มขึ้นและฝนตกหนักบางแห่ง
- อ่าวไทยและอันดามันจะมีคลื่นสูง 1-2 เมตร
กรมอุตุนิยมวิทยา ระบุประเทศไทยเคยมีอากาศร้อนสุดในอดีต ในเดือน มีนาคม – เดือนเมษายน มาแล้ว
28 เม.ย.2559 อ.เมือง จ.แม่ฮ่องสอน 44.6 องศาเซลเซียส
27 เม.ย.2503 จ.อุตรดิตถ์ 44.5 องศาเซลเซียส
11 พ.ค.2559 จ.สุโขทัย 44.5 องศาเซลเซียส
12 เม.ย.2559 จ.สุโขทัย 44.3 องศาเซลเซียส
18 เม.ย.2562 อ.เถิน จ.ลำปาง 44.2 องศาเซลเซียส
25 เม.ย.2501 อ.แม่สะเรียง จ.แม่ฮ่องสอน 44.1 องศาเซลเซียส
ขณะที่อุณหภูมิสูงสุดในช่วง 5 ปีย้อนหลัง เคยสูงถึง 44.2 องศาเซลเซียสมาแล้วที่จังหวัดลำปาง
- ปี 2564 42.4 องศาเซลเซียส อ.เมือง จ.ตาก
- ปี 2563 43.5 องศาเซลเซียส อ.เมือง จ.ตาก
- ปี 2562 44.2 องศาเซลเซียส อ.เถิน จ.ลำปาง
- ปี 2561 41.6 องศาเซลเซียส อ.เถิน จ.ลำปาง
- ปี 2560 42.2 องศาเซลเซียส อ.เมือง จ.ตาก
ขณะที่อุณหภูมิสูงสุด ในช่วง 25-26 มีนาคมนี้ทั้งภาคเหนือ ภาคอีสาน ภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคใต้ จะมีอากาศร้อนถึงร้อนจัดในหลายจังหวัด
ขณะที่กรมอุตุนิยมวิทยา ก็ประกาศเตือนจะเกิดพายุฤดูร้อน กระทบบริเวณประเทศไทยตอนบน รวม 49 จังหวัด ตั้งแต่วันที่ 26-29 มีนาคม 2566
สาเหตุเพราะบริเวณความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นกำลังปานกลางได้แผ่ลงมาปกคลุมถึงประเทศเวียดนามตอนบน ประเทศลาวตอนบนและทะเลจีนใต้แล้ว คาดว่าจะแผ่ลงมาปกคลุมภาคตะวันออกเฉียงเหนือในวันนี้ (26 มี.ค. 66) ส่งผลทำให้มีลมใต้และลมตะวันออกเฉียงใต้พัดนำความชื้นจากอ่าวไทยและทะเลจีนใต้เข้ามาปกคลุมประเทศไทยตอนบน ในขณะที่ประเทศไทยมีอากาศร้อนถึงร้อนจัด
ซึ่งจะทำให้เกิดพายุฤดูร้อนขึ้นในช่วงวันที่ 26 – 29 มีนาคม 2566 บางจังหวัดจะเสี่ยงพายุฝนฟ้าคะนอง ลมกระโชกแรง และมีลูกเห็บตกบางแห่ง รวมถึงอาจมีฟ้าผ่าเกิดขึ้นได้บางพื้นที่ โดยจะเริ่มมีผลกระทบในภาคตะวันออกเฉียงเหนือก่อน ส่วนภาคเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออก รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑลจะได้รับผลกระทบในระยะถัดไป
จึงขอให้ประชาชนในบริเวณดังกล่าวระวังอันตรายจากพายุฤดูร้อนที่อาจจะเกิดขึ้น โดยหลีกเลี่ยงการอยู่ในที่โล่งแจ้งใต้ต้นไม้ใหญ่ สิ่งปลูกสร้างและป้ายโฆษณาที่ไม่แข็งแรง สำหรับเกษตรกรควรเตรียมการป้องกันและระวังความเสียหายที่จะเกิดต่อผลผลิตทางการเกษตรในช่วงวันและเวลาดังกล่าวไว้ด้วย
วันที่ 26 มีนาคม 2566
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จังหวัดบึงกาฬ นครพนม มุกดาหาร อำนาจเจริญ ศรีสะเกษ และอุบลราชธานี
วันที่ 27 มีนาคม 2566
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ: หนองคาย บึงกาฬ อุดรธานี สกลนคร นครพนม กาฬสินธุ์ มุกดาหาร ร้อยเอ็ด
ยโสธร อำนาจเจริญ นครราชสีมา บุรีรัมย์ สุรินทร์ ศรีสะเกษ และอุบลราชธานี
ภาคตะวันออก: จังหวัดสระแก้ว ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ระยอง จันทบุรี และตราด
วันที่ 28 มีนาคม 2566
ภาคเหนือ: จังหวัดน่าน อุตรดิตถ์ พิษณุโลก พิจิตร และเพชรบูรณ์
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ: จังหวัดเลย หนองคาย บึงกาฬ หนองบัวลำภู อุดรธานี สกลนคร นครพนม ชัยภูมิ
ขอนแก่น กาฬสินธุ์ มุกดาหาร มหาสารคาม ร้อยเอ็ด ยโสธร อำนาจเจริญ นครราชสีมา บุรีรัมย์ สุรินทร์ ศรีสะเกษ และอุบลราชธานี
ภาคกลาง: จังหวัดลพบุรี สระบุรี และพระนครศรีอยุธยา รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล
ภาคตะวันออก: จังหวัดนครนายก ปราจีนบุรี สระแก้ว ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ระยอง จันทบุรี และตราด
วันที่ 29 มีนาคม 2566
ภาคเหนือ: จังหวัดพิษณุโลก และเพชรบูรณ์
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ: จังหวัดเลย หนองคาย บึงกาฬ หนองบัวลำภู อุดรธานี สกลนคร นครพนม ชัยภูมิ
ขอนแก่น กาฬสินธุ์ มุกดาหาร มหาสารคาม ร้อยเอ็ด ยโสธร อำนาจเจริญ นครราชสีมา บุรีรัมย์ สุรินทร์ ศรีสะเกษ และอุบลราชธานี
ภาคกลาง: จังหวัดนครสวรรค์ สิงห์บุรี อ่างทอง ลพบุรี สระบุรี สุพรรณบุรี พระนครศรีอยุธยา กาญจนบุรี ราชบุรี นครปฐม สมุทรสาคร และสมุทรสงคราม รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล
ภาคตะวันออก: จังหวัดนครนายก ปราจีนบุรี สระแก้ว ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ระยอง จันทบุรี และตราด