นักวิจัยศูนย์วิจัยแผ่นดินไหวแห่งชาติ เตือนไทยประมาทไม่ได้ พื้นที่ติดชายฝั่งทะเลอันดามัน ยังเสี่ยงต่อการเกิดสึนามิซ้ำรอยปี 2547 แนะซักซ้อมเหตุการณ์เป็นระยะ ตรวจสอบระบบเตือนภัยให้อยู่ในสภาพให้ใช้งานได้ดีตลอดเวลา
ศ.อมร พิมานมาศ นายกสมาคมวิศวกรโครงสร้างแห่งประเทศไทย และนักวิจัยศูนย์วิจัยแผ่นดินไหวแห่งชาติ เปิดเผยว่า เหตุการณ์แผ่นดินไหวขนาด 7.6 ที่จังหวัดอิชิกาวะ บนเกาะฮอนชู ทางตอนกลางของประเทศญี่ปุ่นเมื่อวันที่ 1 ม.ค.2567 ที่ผ่านมา ถือเป็นธรณีพิบัติที่รุนแรงมากและอยู่ในระดับตื้นมาก เพียง 10 กิโลเมตร ทำให้เกิดความเสียหายกับอาคารบ้านเรือน โครงสร้างพื้นฐาน และโดยเฉพาะอย่างยิ่งถนนเป็นจำนวนมาก ทั้งยังทำให้เกิดคลื่นสึนามิความสูง 1.2 เมตร ซัดเข้าหาชายฝั่งเมืองวาจิมะ จังหวัดอิชิกาวะ ซึ่งผลของแผ่นดินไหวดังกล่าวจะยังคงเกิดอาฟเตอร์ช็อกตามมาอีกหลายวัน อย่างไรก็ตาม ด้วยระยะห่างจากประเทศไทย 4,000-5,000 กิโลเมตร จึงไม่ส่งผลกระทบต่อประเทศไทย
“ก่อนหน้านี้เมื่อเดือนมีนาคม 2554 ได้เคยเกิดแผ่นดินไหวโตโฮคุขนาด 9.0-9.1 นอกชายฝั่งด้านตะวันออกของคาบสมุทรโอชิกะในเขตโตโฮคุ ประเทศญี่ปุ่น ทำให้เกิดคลื่นสึนามิมีความสูงถึง 40 เมตร พัดเข้าชายฝั่งจังหวัดเซ็นได เป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตราว 20,000 คน และสูญหายอีกประมาณ 2,500 คน มีความรุนแรงมากกว่าแผ่นดินไหวที่อิชิกาวะในครั้งนี้เป็น 10 เท่า”
ศ.อมร ยังบอกอีกว่า สำหรับสึนามิที่ชายฝั่งตะวันออกของประเทศไทย ยังถือได้ว่ามีความเสี่ยงต่ำ เนื่องจากจุดกำเนิดคลื่นแผ่นดินไหวในทะเลหรือวงแหวนไฟอยู่ห่างไกลค่อนข้างมาก แผ่นดินไหวและสึนามิจากประเทศญี่ปุ่นจึงจะไม่กระทบต่อประเทศไทย อย่างไรก็ตามได้มีการศึกษาแบบจำลองการเกิดสึนามิในอ่าวไทยกรณีเกิดแผ่นดินไหวที่ฟิลิปปินส์ ซึ่งอยู่ในแนววงแหวนไฟเช่นกันแต่อยู่ใกล้ประเทศไทยมากกว่า
โดยสมมติว่าหากเกิดแผ่นดินไหวระดับ 9 อาจทำให้เกิดคลื่นสึนามิมาถึงชายฝั่งทะเลไทยได้ แต่จะใช้เวลาเดินทางนาน 10-20 ชั่วโมงกว่าจะมาถึงชายฝั่ง และด้วยสภาพทางกายภาพที่ค่อนข้างตื้นของชายฝั่ง ทำให้พลังงานจากคลื่นสึนามิสลายตัวไปส่วนใหญ่ ความสูงคลื่นสึนามิไม่น่าจะเกิน 20-30 เซนติเมตร จึงอาจกล่าวได้ว่าชายฝั่งทะเลอ่าวไทยค่อนข้างจะมีความเสี่ยงต่อสึนามิในระดับต่ำ และไม่น่าวิตกกังวลถ้าอยู่บริเวณอ่าวไทย
แต่ความเสี่ยงสูงจากสึนามิมักเกิดที่ชายฝั่งด้านตะวันตกของไทยหรือชายฝั่งทะเลอันดามันมากกว่า เพราะยังคงมีแนวรอยต่อของแผ่นเปลือกโลกอยู่ห่างไปเพียงประมาณ 800-1,200 กิโลเมตร ซึ่งใกล้กว่าแนวรอยต่อทางฝั่งตะวันออกมาก แนวรอยต่อของแผ่นเปลือกโลกที่อยู่ใกล้ชายฝั่งทะเลอันดามัน คือแนวมุดตัวของแผ่นเปลือกโลกอินโด-ออสเตรเลียกับแผ่นยูเรเซีย ดังที่ได้เคยเกิดแผ่นดินไหวขนาด 9.1-9.3 ที่นอกชายฝั่งตะวันตกของเกาะสุมาตราเหนือมาแล้วเมื่อปี 2547 ทำให้เกิดคลื่นสึนามิความสูงถึง 11 เมตร ซัดชายฝั่งทะเลอันดามันของประเทศไทย ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตและสูญหายถึงเกือบ 9,000 คน ดังนั้นความเสี่ยงต่อสึนามิในฝั่งทะเลอันดามันจึงเป็นเรื่องที่จะประมาทไม่ได้ การเตรียมความพร้อมรับมือเท่านั้นที่จะลดความเสี่ยงและความเสียหายทั้งชีวิตและทรัพย์สิน
สำหรับข้อเสนอมาตรการลดผลกระทบความเสี่ยงจากสึนามิ
1) ระบบเตือนภัยสึนามิและแผนที่หลบภัยสึนามิ ปัจจุบันได้ติดตั้งระบบเตือนภัยสึนามิและแผนที่หลบภัยสึนามิในชายฝั่งทะเลอันดามันแล้ว แต่ควรจะซักซ้อมเหตุการณ์เป็นระยะ และตรวจสอบสภาพให้ใช้งานได้ดีตลอดเวลา
2) มาตรการด้านอาคารและที่หลบภัยแนวดิ่ง เช่น การก่อสร้างอาคารหลบภัยสึนามิทั้งรูปแบบถาวรและแบบชั่วคราว หรือการปรับปรุงอาคารเดิมในพื้นที่ให้ต้านทานแรงสึนามิได้
3) มาตรการบรรเทาผลกระทบหลังเกิดสึนามิ ซึ่งประเทศไทยไม่ควรประมาทภัยพิบัติแผ่นดินไหวและสึนามิ ในช่วงเวลาที่ผ่านมาเกิดเหตุแผ่นดินไหวหลายครั้งทั้งในและนอกประเทศที่ทำให้ประชาชนรับรู้ถึงแรงสั่นสะเทือนได้ชัดเจน
ปัจจุบันยังไม่มีเทคโนโลยีแจ้งเตือนแผ่นดินไหวล่วงหน้าได้ แต่สึนามิสามารถแจ้งเตือนภัยได้ โดยประเทศไทยสามารถแจ้งเตือนล่วงหน้าได้ประมาณ 1 ชั่วโมง ซึ่งเป็นเวลาเพียงพอที่จะหลบภัย ทั้งนี้ระบบแจ้งเตือนภัยต้องทำงานตามเกณฑ์ที่กำหนด และต้องซักซ้อมเพื่อมิให้เกิดโกลาหล
อีกทั้งแผนที่เสี่ยงภัยที่แสดงเส้นทางหลบภัยจะต้องครอบคลุมพื้นที่และเข้าใจได้ง่าย เส้นทางหลบภัยควรอพยพประชาชนไปสู่ที่สูงตามธรรมชาติ หากเป็นพื้นที่ราบที่ไม่มีที่สูงตามธรรมชาติควรจัดให้มีอาคารหลบภัยในบริเวณนั้น โดยการก่อสร้างอาคารหลบภัยทางดิ่งทั้งแบบชั่วคราวหรือแบบถาวร หรือการปรับปรุงอาคารหลายชั้นที่มีอยู่เดิมให้แข็งแรงต้านสึนามิได้
ขณะที่ประชาชนควรเรียนรู้เทคนิคการหลบภัยทั้งแผ่นดินไหวและสึนามิ รวมถึงการศึกษาแผนที่หลบภัยสึนามิ เพื่อจะได้ไม่ตระหนกและรู้เส้นทางหลบภัยเมื่อถึงคราวเกิดภัยพิบัติ
ด้าน รศ.ปัทมาวดี โพชนุกูล ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) เผยว่า นับตั้งแต่แผ่นดินไหวที่เชียงรายเมื่อปี 2557 แม้จะไม่มีแผ่นดินไหวเกิดขึ้นอีกในประเทศไทยโดยตรง เพียงแต่ได้รับแรงสั่นสะเทือนจากประเทศเพื่อนบ้านหลายครั้ง ดังนั้นนักวิจัยควรจะถอดบทเรียนว่าจากวันนั้นถึงวันนี้เราเรียนรู้อะไร และเตรียมการอะไรเพิ่มเติมบ้าง โดยเฉพาะในมุมความรู้ เทคโนโลยี นวัตกรรมการจัดการ และการเตรียมคนทั้งเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องและประชาชน เพื่อให้ประเทศไทยมีความพร้อมมากขึ้นสำหรับการรับมือภัยพิบัติแผ่นดินไหว รวมถึงสึนามิที่อาจจะเกิดขึ้นซ้ำในอนาคต