เลือกคาร์ซีตให้ลูกนั่งช่วงเดินทางปีใหม่ เพิ่มทางรอดเด็กจากอุบัติเหตุ

สถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว ม.มหิดล เผย 5 ปีหลัง มีเด็กเสียชีวิตเฉลี่ยจากอุบัติเหตุทางถนน 838 คนต่อปี ขณะที่เด็กโดยสารยนต์มีแนวโน้มเสียชีวิตเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ย้ำคาร์ซีต ปลอดภัยกว่าการกอดแนบอกหรือใช้เข็มขัดนิรภัยแบบผู้ใหญ่

รองศาสตราจารย์นายแพทย์อดิศักดิ์ ผลิตผลการพิมพ์ ผู้อำนวยการสถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า หลังมีการแก้ไขพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 123 ที่กำหนดให้คนโดยสารที่เป็นเด็กอายุไม่เกินหกปีหรือความสูงไม่เกิน 135 ซม. ต้องใช้ที่นั่งนิรภัยนั้น จนถึงวันนี้ใกล้เทศกาล 7 วันอันตรายปีใหม่แล้ว กฎหมายดังกล่าวยังไม่มีผลบังคับใช้ ข้อกำหนด ระเบียบ ประกาศ กฎ หรือคำสั่งโดยพระราชบัญญัตินี้ ยังไม่แล้วเสร็จทั้ง ๆ ที่ ตามมาตรา 40 จะต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 90 วันนับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ (4 ธ.ค.65) เด็กยังคงไม่ได้รับการคุ้มครองจากการโดยสารรถยนต์ต่อไป เรื่องนี้เป็นเรื่องเร่งด่วน เพราะความเข้าใจของการนั่งคาร์ซีต มันคือความปลอดภัยในเด็กที่ต้องได้รับการคุ้มครองจากทุกภาคส่วน

“การกอดลูกให้นั่งตัก เท่ากับรักลูกผิดทางเพราะมันจะสร้างความเสี่ยงให้กับลูก เพราะหากเกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝันแรงกระแทกจะทำให้เด็กหลุดมือได้ ดังนั้นการมีตัวยึดเหนี่ยวกับตัวรถด้วยอุปกรณ์ อย่างคาร์ซีตเป็นทางเลือกที่เด็กจะปลอดภัยกว่า ค่าเฉลี่ย 5 ปีหลัง มีเด็กเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนน 838 คน/ปีขณะที่แนวโน้มเด็กที่นั่งโดยสารบนรถยนต์มีแนวโน้มเสียชีวิตเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ขณะที่แต่ละปีมีเด็กเสียชีวิตเฉลียจากอุบัติเหตุรถยนต์ 142 คน รถจักรยานยนต์ 465 คน รถจักรยาน 42 คน”

ขณะที่เข็มขัดนิรภัยแม้จะมีติดตัวรถแต่ก็ไม่ได้ช่วยให้เด็กบางช่วงอายุปลอดภัย เพราะเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 9 ปีหรือมีความสูงน้อยกว่า 135 เซนติเมตร หากใช้เข็มขัดนิรภัยแบบผู้ใหญ่ที่ไม่เหมาะกับสรีระ อาจเสี่ยงอันตรายต่อเด็ก อย่างรุนแรงในเหตุการณ์ฉุกเฉินเพราะระหว่างการเบรกหรือชนกระทันกันเข็มขัดนิรภัยอาจทำอันตรายแก่อวัยวะภายในช่องท้อง หรือลำคอเด็กได้ การเลือกคาร์ซีต หรือที่นั่งนิรภัยคือหัวใจสำคัญที่ผู้ปกครองต้องคำนึงถึงมากที่สุด การเลือกที่นั่งนิรภัยหรือคาร์ซีตให้ลูกนั่งจะปลอดภัยสูงกว่าการกอดลูกแนบอกขณะอยู่บนรถ

การมีที่นั่งนิรภัยสำหรับเด็กในการโดยสารรถยนต์ นับได้ว่าเป็นนวัตกรรมที่ส่งผลในการลดการตายของเด็กจากการเดินทางด้วยรถยนต์อย่างมาก ประเทศพัฒนาทั้งในสหรัฐ แคนาดา ออสเตรเลีย และยุโรปตะวันตกได้มีคำแนะนำและกฎหมายบังคับใช้ที่นั่งนิรภัยสำหรับเด็กมานานหลายปี

ในสหรัฐอเมริกาได้ศึกษาเรื่องนี้อย่างจริงจัง รวมทั้งการให้คำแนะนำและแนวทางการลดการบาดเจ็บโดยใช้ที่นั่งนิรภัยสำหรับเด็กตั้งแต่ปี ค.ศ.1983 ได้มีการศึกษาที่พบว่า ที่นั่งนิรภัยสำหรับเด็กนี้จะลดความเสี่ยงต่อการตายในเด็กทารกและเด็ก 1-4 ปี ถึงร้อยละ 69 ถ้าใช้อย่างถูกวิธี ขณะเดียวกันจะลดความเสี่ยงต่อการตายในเด็กอายุมากกว่า 5 ปี ได้ร้อยละ 45 และลดความเสี่ยงต่อการบาดเจ็บรุนแรงร้อยละ 50 ส่วนที่เกาหลีใต้ ทำปี 2002 ลดการตายของเด็กลงได้อย่างรวดเร็ว เขา subsidize ด้วยการสนับสนุนภาครัฐให้เข้าถึงที่นั่งนิรภัยทุกคน

น่าแปลกใจที่หลายหน่วยงานไม่ยอมดำเนินการออกกฎระเบียบต่าง ๆ ให้แล้วเสร็จ หลายครอบครัวยังคงคัดค้าน ไม่ยอมใช้คาร์ซีต ในงานมหกรรมยานยนต์ มอเตอร์ EXPO 2022 ที่ผ่านมาพบว่ามีผู้คนสนใจมาชมในงานกว่า 1 ล้าน 3 แสนคน มีการจองรถยนต์รวมทั้งสิ้น 36,000 คัน คิดเป็นเม็ดเงินกว่า 50,000 ล้านบาท แต่เป็นเรื่องที่น่าเสียใจที่รถยนต์ทุกยี่ห้อซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ที่เด็กอายุต่ำกว่า 9 ปี ไม่สามารถใช้ได้โดยอุปกรณ์มาตรฐานที่ติดตั้งมากับรถยนต์ ต้องใช้กับอุปกรณ์เสริมคือที่นั่งนิรภัยเท่านั้น และเป็นสาเหตุที่นำไปสู่การเสียชีวิตของเด็ก ๆ อายุต่ำกว่า 15 ปี กว่าปีละ 140 คน แต่กลับยังไม่มีใครออกตัวมาแสดงตนเป็นผู้นำหลักในการรณรงค์ขับเคลื่อนการใช้ที่นั่งนิรภัยในเด็ก แม้ว่าจะมีการจัดซุ้มกิจกรรมมากมายให้กับเด็กและครอบครัว แต่ไม่ได้ช่วยเผยแพร่และขับเคลื่อนการใช้ที่นั่งนิรภัยเพื่อความปลอดภัยในเด็กให้กับครอบครัว รวมทั้งรถยนต์เกือบทุกยี่ห้อได้รับการทดสอบและจัด rating ระดับความปลอดภัยในเด็ก (child safety rating) ทั้งโดย Euro NCAP / ASEAN NCAP แต่ไม่ได้มีการนำประเด็นดังกล่าวมาส่งเสริมการขาย

“ผมก็มองว่าภายหลังที่มีประกาศพระราชกิจจานุเบกษา และได้มีคณะทำงานจัดทำข้อเสนอแนะเชิงนโยบายเพื่อการขับเคลื่อน 4 ประเด็น ได้แก่ ด้านการสร้างความเข้าใจกับประชาชน ด้านการสร้างความรู้กับผู้ปฏิบัติงาน ด้านมาตรฐานผลิตภัณฑ์ และด้านราคาและการสนับสนุนจากหน่วยงานภาครัฐ สิ่งที่ประชาชนคนเป็นพ่อแม่ควรเลือกความปลอดภัยของลูกมาเป็นอันดับแรก ไม่ใช่เพราะมีกฎหมายแล้วจึงปฎิบัติ”

รองศาสตราจารย์นายแพทย์อดิศักดิ์ ผลิตผลการพิมพ์ ยังกล่าวอีกว่า กลไกด้านการสร้างความรู้กับผู้ปฏิบัติงานนั้น ทางสถาบันและหน่วยงานเครือข่ายทั้งภาครัฐและเอกชนมีแผนร่วมมือในการสร้าง “จิตอาสาคาร์ซีต” โดยจัดการอบรมความรู้ที่จำเป็นเกี่ยวกับการใช้ที่นั่งนิรภัยสำหรับเด็กให้กับเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง อาทิ เจ้าหน้าที่ตำรวจ บุคลากรสาธารณสุข อสม อพปร เจ้าหน้าที่ฉุกเฉิน คนขับรถสาธารณะ แทกซี่ เพื่อสร้างผู้ถ่ายทอดความรู้ต่อไป สำหรับกลไกด้านราคาและมาตรการสนับสนุนด้านภาษีนั้น ปัจจุบันภาษีการนำเข้าสินคาช้าเป็น 0 ราคาถูกลงแล้ว แต่รัฐกรมการค้าภายในกำหนดราคาที่นั่งนิรภัยสำหรับเด็กในประเทศไทยบางด้าน บางกลไกยังคงล่าช้าอยู่มาก ระเบียบลูกยังไม่ตามมา รัฐยังไม่มีมาตรการจัดงบประมาณจากภาครัฐเพื่อสนับสนุนด้านราคาของที่นั่งนิรภัย และสนับสนุนการจัดตั้งธนาคารที่นั่งนิรภัยในจุดบริการเด็กต่างๆเช่นในโรงพยาบาล ในศูนย์เด็กเล็กฯ และในสถานศึกษา ยังไม่มีการสนับสนุนการฝึกอบรมเจ้าหน้าที่ระดับต่าง ๆ ด้านราคาเองรัฐยังไม่มีนโยบายเฉพาะในการช่วยผู้มีรายได้น้อย ให้สามารถซื้อที่นั่งนิรภัยได้ง่ายขึ้น แต่ทั้งหมดรัฐและหน่วยงานภายใต้รัฐควรทำมากกว่านี้เพื่อไม่สร้างภาระอันเกินควรในการออกกฎหมายละเมิดสิทธิตามมาตรา 26 รัฐธรรมนูญ

ไพบูลย์ ช่วงทอง เครือข่ายนักวิชาการเพื่อผู้บริโภค (ANCA)

ไพบูลย์ ช่วงทอง เครือข่ายนักวิชาการเพื่อผู้บริโภค (ANCA) กล่าวว่า คาร์ซีตเป็นเรื่องสิทธิเด็กที่ต้องได้รับการคุ้มครอง กลไกด้านมาตรฐานความปลอดภัยที่นั่งนิรภัยสำหรับเด็กมีความสำคัญ สำนักงานมาตรฐานอุตสาหกรรมควรร่างประกาศการรับรองคุณภาพผลิตภัณฑ์โดยจะออกเป็นเครื่องหมายมาตรฐานทั่วไป โดยอ้างอิงตามมาตรฐาน UNR44 และ UNR129 หรือมาตรฐานสากลอื่นที่เทียบเท่า หรือให้สำนักงานคุ้มครองผู้บริโภค กำหนดการแสดงฉลาก UNR44 และ UNR129 หรือมาตรฐานสากลอื่นที่เทียบเท่า รวมทั้งคำเตือนอื่น ๆ ผู้ขายรถยนต์ต้องให้ข้อมูลความปลอดภัยในเด็กแก่ผู้ซื้อมากกว่านี้ รวมทั้งตลาดที่นั่งนิรภัยที่กำลังเติบโตขึ้นต้องคำนึงถึงมาตรฐาน ควรมีการจัดเตรียมศูนย์ทดสอบมาตรฐานความปลอดภัยที่นั่งนิรภัยสำหรับเด็ก ทางสภาองค์กรผู้บริโภคจะติดตามการตรวจสอบมาตรฐานผลิตภัณฑ์ในตลาดต่อไป

ภญ.ณัฎฐพร บูรณะบุญวงศ์ เครือข่ายผู้ประกอบการภาคเอกชน กล่าวว่า หลักสำคัญในการเลือกและใช้งานคาร์ซีต เพื่อความปลอดภัย ต้องเลือกให้เหมาะกับสรีระของลูก คาร์ซีตแต่ละรุ่นจะผ่านการทดสอบมาตรฐานตามช่วงน้ำหนัก หรือส่วนสูงของเด็ก และจะกำหนดช่วงน้ำหนัก/ส่วนสูงของเด็กที่เหมาะสมกับคาร์ซีตรุ่นนั้น ๆ โดยที่มาตรฐาน R44/04 จะใช้น้ำหนักเป็นเกณฑ์ ส่วนมาตรฐานใหม่ R129 จะใช้ส่วนสูงของเด็กเป็นเกณฑ์

ดังนั้น การเลือกคาร์ซีตจำเป็นจะต้องเลือกให้เหมาะสมกับน้ำหนักและส่วนสูงของลูกขั้นต่อมาต้องเลือกระบบติดตั้งที่เหมาะกับรถยนต์ ระบบติดตั้งหลักที่มีใช้กันอยู่คือ ระบบติดตั้งด้วยเข็มขัดนิรภัย 3 จุดของรถยนต์ และระบบติดตั้งด้วยไอโซฟิก โดยทั้ง 2 ระบบ ถ้าทำการติดตั้งอย่างถูกต้อง สามารถให้ความปลอดภัยในการใช้งานได้ไม่แตกต่างกัน แต่การติดตั้งด้วยระบบไอโซฟิกจะทำให้การติดตั้งอย่างถูกต้องทำได้ง่ายขึ้นและแน่นหนาขึ้น ดังนั้นก่อนเลือกซื้อคาร์ซีตควรตรวจสอบรถยนต์ที่ใช้งานว่ารองรับการติดตั้งระบบใดได้บ้าง

ขั้นต่อมาต้องใช้งานอย่างถูกต้อง การใช้งานคาร์ซีตอย่างถูกต้องมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อความปลอดภัยของเด็ก โดยควรคำนึงถึง ตำแหน่งที่นั่งในรถยนต์, ทิศทางการนั่ง และการคาดเข็มขัดนิรภัย ตำแหน่งที่นั่งที่ปลอดภัยที่สุดสำหรับเด็กคือที่บริเวณเบาะหลัง ทิศทางการนั่งสำหรับเด็กเล็กต้องนั่งหันหน้าไปทางด้านหลังรถให้ได้นานที่สุดเท่าที่จะทำได้ แต่เดิมกำหนดว่าเด็กต้องนั่งหันหน้าไปทางด้านหลังรถจนถึงน้ำหนัก 9 กก. แต่มาตรฐานยุโรปฉบับใหม่แนะนำว่าเด็กต้องนั่งหันหน้าไปทางด้านหลังรถ จนถึงอายุ 15 เดือน หลังจากนั้นจึงนั่งหันหน้าไปทางด้านหน้ารถได้ และการคาดเข็มขัดนิรภัย ควรปรับให้ความสูงของสายเข็มขัดพาดไหล่อยู่สูงพอดีกับไหล่เด็ก และดึงกระชับสายเข็มขัดให้พอดีกับตัวเด็กเพียงเท่านี้ลูกเราก็จะเดินทางโดยรถยนต์ได้อย่างปลอดภัย


นอกจากนั้นยังได้แนะเคล็ดลับเพิ่มเติมในการฝึกลูกนั่งคาร์ซีตเมื่อต้องเดินทางไกล ถ้าลูกไม่เคยนั่งคาร์ซีตมาก่อนเลย ควรให้ลูกทำความคุ้นเคยกับคาร์ซีตก่อนเดินทาง เริ่มฝึกระยะทางใกล้ๆ ก่อน ให้แม่นั่งอยู่ด้วยข้าง ๆ เล่นกับลูก เตรียมอุปกรณ์สำหรับการเดินทางให้พร้อม หากต้องเดินทางเป็นเวลานาน แนะนำให้จอดพักทุก 2-3 ชั่วโมง เพื่อผ่อนคลายอิริยาบถ

ศาสตราจารย์ นายแพทย์อภิชาติ จิตต์เจริญ รองผู้อำนวยการสถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว กล่าวว่า กลไกด้านการสร้างความเข้าใจกับประชาชนเป็นสิ่งที่มีความสำคัญอย่างมาก ควรมีข้อแนะนำให้กับประชาชนในการเลือกซื้อ/ใช้ที่นั่งนิรภัยสำหรับเด็กที่เหมาะสมและปลอดภัย มีการสื่อสารประชาสัมพันธ์เพื่อสร้างความเข้าใจกับประชาชนโดยหน่วยงานต่าง ๆ กระทรวงสาธารณสุขควรให้ความรู้ผ่านโรงพยาบาลทุกแห่ง ภาคธุรกิจรถยนต์ควรมีความรับผิดชอบให้ข้อมูลความปลอดภัยของการโดยสารของเด็กในรถที่จำหน่ายทุกคัน


สำหรับในหญิงตั้งครรภ์มีความสำคัญในการใช้เข็มขัดนิรภัยในการเดินทางเช่นกัน เพราะหมายถึงสองชีวิตทั้งแม่และลูกในครรภ์ การคาดเข็มขัดนิรภัยจะทำให้แม่ที่กำลังตั้งครรภ์และประสบอุบัติเหตุรถยนต์ มีความเสี่ยงลดลงในเรื่องการคลอดก่อนกำหนด ภาวะทารกตายในครรภ์ และการเสียชีวิตของแม่ที่กำลังตั้งครรภ์ วิธีการคาดเข็มขัดนิรมัยสำหรับคุณแม่ที่กำลังตั้งครรภ์ให้ถูกวิธี ต้องจัดตำแหน่งของสายเข็มขัดนิรภัยที่พาดจากหัวไหล่ให้พาดทแยงตรงกึ่งกลางระหว่างร่องอกลงมาด้านข้างของช่องท้อง และส่วนสายเข็มขัดนิรภัยที่พาดในแนวนอน ให้จัดสายพาดบริเวณใต้ท้อง หรือพาดจากสะโพกด้านหนึ่งไปยังสะโพกอีกด้าน หรืออาจใช้ผ้านุ่ม ๆ วางทับ ก่อนคาดเข็มขัดนิรภัยเพื่อลดการเสียดสี

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active