กสทช. มั่นใจ 2 เดือนเห็นความคืบหน้าระบบเตือนภัยผ่าน SMS

กรรมการบริหารคณะก้าวหน้า ยื่นกว่า 2,000 รายชื่อประชาชนที่ระดมผ่าน Change.org ต่อ กสทช. ให้เป็นเจ้าภาพผลักดันระบบข้อความแจ้งเตือนภัยประชาชนผ่านโทรศัพท์มือถือ กสทช. แจง มีการพูดคุยบ้างแล้ว ยังติดโอเปอเรเตอร์บางรายไม่มีฮาร์ดแวร์ที่จำเป็น

เมื่อวันที่ 10 ต.ค. 2565 ไกลก้อง ไวทยการ กรรมการบริหารคณะก้าวหน้า และผู้เปิดแคมเพน “กสทช. ต้องทำระบบข้อความเตือนภัย น้ำท่วม สารเคมีรั่ว ปละภัยพิบัติ” ทางเว็บไซต์ Change.org เข้ายื่นรายชื่อประชาชนกว่า 2,000 รายชื่อจากแคมเพนดังกล่าว และข้อเรียกร้องต่อ กสทช. เพื่อขอให้ดำเนินการเชื่อมข้อมูลระหว่างหน่วยงานที่มีฐานข้อมูลภัยพิบัติกับผู้ให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ เพื่อจัดทำระบบข้อความสั้นแจ้งเตือนประชาชนผู้ใช้บริการที่อยู่ในเขตภัยพิบัติ

กสทช.

การยื่นหนังสือในครั้งนี้ เพื่อนำเสนอกับ กสทช. ว่าในฐานะที่ กสทช. เป็นองค์กรกำกับดูแลเรื่องโทรคมนาคม โดยเฉพาะผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ สามารถเป็นตัวกลางประสานงานร่วมกับบริษัทผู้ให้บริการ และหน่วยงานที่มีหน้าที่เกี่ยวกับภัยพิบัติ ในการทำระบบข้อความสั้น ในรูปแบบ cell broadcast ซึ่งเรื่องนี้ไม่ได้เป็นเรื่องยากสำหรับทั้ง กสทช. และบริษัทผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ เพราะเป็นระบบที่มีเทคโนโลยีอยู่แล้วในปัจจุบัน โดยที่ผู้ให้บริการแทบจะไม่ต้องมีต้นทุนอะไรเพิ่ม แต่จะได้ประโยชน์ต่อสาธารณะอย่างมหาศาล เนื่องจากระบบการเตือนภัยในปัจจุบัน ยังคงมุ่งเน้นไปที่ระบบแบบดั้งเดิมเป็นส่วนใหญ่ เช่น การชักธงแดงขึ้นเมื่อน้ำจะล้นตลิ่ง หรือการประกาศผ่านหอกระจายข่าวตามชุมชน รวมถึงการเตือนภัยทั้งแบบเป็นทางการและไม่เป็นทางการผ่านโซเชียลมีเดีย ซึ่งมีลักษณะที่กระจัดกระจาย และแม้ในปัจจุบันจะมีการแจ้งเตือนภัยผ่าน SMS บ้างแล้วในปัจจุบัน เช่น ในกรณีเมื่อพายุโนรูเข้าไทยล่าสุด แต่ข้อความที่ได้รับส่วนมากเป็นข้อความที่ไม่เฉพาะเจาะจง ไม่มีการระบุว่าพื้นที่ใดที่เสี่ยงภัยน้อยหรือเสี่ยงภัยมาก พื้นที่ใดต้องเก็บของขึ้นที่สูงหรือไม่ต้อง พื้นที่ใดต้องอพยพบ้าง ฯลฯ แต่เป็นเพียงการแจ้งเตือนโดยทั่วไปเท่านั้น

ไกลก้องยังระบุด้วยว่า ระบบเตือนภัยที่มีการใช้ในหลายประเทศ คือข้อความสั้นที่เป็นลักษณะเฉพาะเจาะจง แบบ cell broadcast ที่สามารถจำกัดวงการเตือนภัยให้มีความเฉพาะเจาะจงขึ้นมากกว่าการแจ้งเตือนแบบทั่วไป เช่น จากกรณีพายุโนรูล่าสุด เมื่อระดับน้ำในแม่น้ำปิงกำลังจะล้นตลิ่งแบบที่ผ่านมา หากมีการแจ้งเตือนแบบเฉพาะเจาะจงด้วย cell broadcast ในพื้นที่เขียงใหม่ แทนที่จะเป็นการส่ง SMS แบบข้อมูลทั่วไปในพื้นที่กว้าง ๆ หลายจังหวัด จะเป็นประโยชน์แก่ประชาชนมากกว่าในการรับมือที่แตกต่างกันไปในแต่ละพื้นที่

“ปัจจุบันภัยพิบัติมีความหลากหลายมากขึ้น และเกิดบ่อยครั้งขึ้น ตั้งแต่น้ำท่วมที่เราเผชิญทุกปี หรือภัยที่เกิดจากมนุษย์อย่างกรณีสารเคมีรั่วไหลหรือระเบิดที่สมุทรปราการและนครปฐม หรือกระทั่งเหตุการณ์การกราดยิงล่าสุดที่หนองบัวลำภู

ดังนั้น การมีระบบเตือนภัยที่รวดเร็ว ให้ข้อมูลประชาชนได้ทั้งในวงกว้างและมีแบบจำกัดวง เชื่อถือได้ จึงมีความสำคัญอย่างมาก ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องคือ กสทช. กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) และศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ สามารถทำระบบนี้ร่วมกันไดั”

ไกลก้อง ไวทยการ กรรมการบริหารคณะก้าวหน้า
กสทช.
กสทช.

ด้าน สุทธิศักดิ์ ตันตะโยธิน รองเลขาธิการ กสทช. เป็นตัวแทนของหน่วยงานในการรับหนังสือจากแคมเพนดังกล่าว พร้อมระบุว่า กสทช. มีความพร้อมที่จะดำเนินการในเรื่องนี้ และที่ผ่านมาก็ได้มีการพูดคุยกันระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องบ้างแล้ว โดยมี กสทช. เป็นเจ้าภาพร่วมกับ ปภ. กรมอุตุนิยมวิทยา และกระทรวงมหาดไทย ในการประสานงานกับผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ อีกทั้งในทางเทคโนโลยีก็เป็นเรื่องที่ทำได้ อาจจะมีอุปสรรคอยู่บ้างจากการที่ผู้ประกอบการบางรายไม่ได้มีฟีเจอร์และฮาร์ดแวร์ที่จำเป็นในการทำระบบ cell broadcast ทำให้ยังต้องรอการอัปเกรดบางส่วน แต่ก็คาดว่าจะมีความคืบหน้าให้เห็นได้ภายในกรอบเวลา 2 เดือนจากนี้


Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active