เตือน ! 25-29 ส.ค. นี้ เสี่ยงน้ำท่วม​ ฝนตกหนักซ้ำเติม

เขื่อนเจ้าพระยา เตรียมแผนระบายน้ำเพิ่ม เพื่อรองรับน้ำเหนือ 1,800 ลูกบาศก์ เมตรต่อวินาที ไปจนถึงสิ้นเดือนนี้ หลังฝนตกหนัก และได้รับอิทธิพลพายุบางส่วน แนะประชาชนที่อาศัยพื้นที่ลุ่มต่ำลุ่มน้ำเจ้าพระยา เร่งขนทรัพย์สินขึ้นที่สูง

วันนี้ (25 ส.ค.65) พายุโซนร้อนกำลังแรง “หมาอ๊อน” ได้เคลื่อนขึ้นฝั่งบริเวณเมืองเหมาหมิง มณฑลกวางตุ้ง ประเทศจีนแล้ว โดยคาดว่าพายุนี้จะอ่อนกำลังลงเป็นพายุดีปรสชันและหย่อมความกดอากาศต่ำกำลังแรงตามลำดับ แม้พายุนี้ไม่ส่งผลกระทบโดยตรงต่อประเทศไทย แต่ขณะนี้ หลายจังหวัดของไทยตอนบนอาจต้องรับมือต่อการระบายน้ำขังที่ท่วม

ช่วงวันที่ 25-29 สิงหาคมนี้ จะเกิดฝนหนักและน้ำท่วมหลากอีกหลายจังหวัด จากร่องมรสุมกำลังแรงพาดผ่านภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน ทั้งภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคใต้ฝั่งตะวันตกปริมาณฝนตกใน 24 ชั่วโมงที่ผ่านมา มีฝนตกหนักบริเวณ จ.บุรีรัมย์ (121 มม.) จ.นครราชสีมา (112 มม.) และ จ.ปราจีนบุรี (82 มม.)

โดยในช่วงเช้าที่ผ่านมา เกือบจะต้องอพยพนักท่องเที่ยวกว่า 80 คน ที่ไปใช้บริการอยู่ที่รีสอร์ต ริมคลองวังตะไคร้ จังหวัดนครนายก แต่ช่วง 9.00 น. ระดับน้ำลดลง ทำให้ไม่ต้องมีการอพยพ ก่อนหน้านี้ พื้นที่ในตำบลสาริกา อำเภอเมืองนครนายก มีน้ำป่าหลากลงมาอย่างรุนแรง ทำให้ท่วมสะพานวังตะไคร้ สูงกว่า 1 เมตร โดยน้ำเริ่มสูงขึ้นตั้งแต่ช่วงค่ำวานนี้

ส่วนพื้นที่ท่องเที่ยวที่สำคัญในตัวเมืองนครนายก ทั้งในตำบลสาริกา และตำบลหินตั้ง พบว่าระดับน้ำในลำคลองสายต่าง ๆ เอ่อล้นตลิ่ง บางจุดสูงเหนือตลิ่งบางจุดสูงมากกว่า 1-2 เมตร เช่น สะพานข้ามคลองอุทยานน้ำตกนางรอง ถูกน้ำท่วมกว่า 30 เซนติเมตร มีคลื่นซัดสูงกว่า 50 เซนติเมตร เจ้าหน้าที่ติดธงแดง ประกาศเตือนห้ามลงเล่นน้ำ เข้าใกล้ หรือ ใช้เส้นทางที่มีน้ำป่าไหลผ่าน

ในขณะที่จังหวัดปราจีนบุรี มีน้ำท่วมขังค่อนข้างมาก จากข้อมูลดาวเทียม เมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2565 พบน้ำท่วมขังปราจีนบุรีกว่า 8 พันไร่ หลัง GISTDA ใช้ดาวเทียม Sentinel -1 โดยพบจุดท่วมขังในเขต อ.เมือง อ.ประจันตคาม อ.ศรีมหาโพธิ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นพื้นที่เกษตรลุ่มต่ำ และริมสองฝั่งลำน้ำ

ไม่ต่างจากภาคเหนือตอนล่างท่วมขังแล้วกว่า 2 แสนไร่ กระทบพื้นที่เกษตรมากกว่า 4 หมื่นไร่ โดยพบพื้นที่น้ำท่วมขังแล้วจำนวน 209,512 ไร่ ในพื้นที่บางส่วนของจังหวัดภาคเหนือตอนล่าง เช่น จังหวัดสุโขทัย 80,216 ไร่ พิจิตร 61,659 ไร่ พิษณุโลก 28,584 ไร่ นครสวรรค์ 27,767 ไร่ เพชรบูรณ์ 6,525 ไร่ อุตรดิตถ์ 4,761 ไร่ ในขณะที่พื้นที่ปลูกข้าวก็ได้รับกระทบแล้วเช่นกันกว่า 46,796 หมื่นไร่

ขณะนี้กรมชลประทาน ​เริ่มมีแผนจะเพิ่มการระบายน้ำเขื่อนเจ้าพระยา จังหวัดชัยนาท เพื่อรองรับมวลน้ำเหนือเป็น 1,800 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ไปจนถึงสิ้นเดือนนี้แล้ว พร้อมเตือนให้ประชาชนพื้นที่ลุ่มต่ำ เร่งขนทรัพย์สินขึ้นที่สูง จะส่งผลให้พื้นที่ตั้งแต่อำเภอสรรพยา จังหวัดชัยนาท ลงไปถึง จังหวัดสิงห์บุรี อ่างทอง พระนครศรีอยุธยา โดยเฉพาะพื้นที่ลุ่มต่ำ คลองโผงเผง จังหวัดอ่างทอง คลองบางบาล ตำบลหัวเวียง อำเภอเสนา ตำบลลาดชิด ตำบลท่าดินแดง อำเภอผักไห่ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ระดับจะสูงขึ้นได้อีก ในช่วง 6 วันข้างหน้า

แม่น้ำเจ้าพระยา
จ.พระนครศรีอยุธยา

วีระชัย นาคมาศ ผู้ว่าราชการจังหวัดพระนครศรีอยุธยา มีคำสั่งให้เจ้าหน้าที่เร่งเตรียมอุปกรณ์ป้องกันน้ำท่วม บริเวณพื้นที่สำคัญ ๆ อย่าง พระตำหนักสิริยาลัยและวัดไชยวัฒนาราม ที่คาดว่า จากนี้ระดับน้ำเจ้าพระยาจะเพิ่มสูงขึ้น จากพายุลูกใหม่

สุพีพร โมรา ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยอ่างทอง ออกมาเตือนเรือบรรทุก ให้เพิ่มความระมัดระวังและลดจำนวนเรือบรรทุกพ่วงลง เหลือเพียง 1-2 พ่วงเท่านั้น หลังสำนักงานเจ้าท่าภูมิภาคที่ 2 ประกาศเตือนครั้งที่ 2 กำหนดเขตควบคุมการจราจรทางน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยา ตั้งแต่ บริเวณแยกวัดพนัญเชิงวรวิหาร จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ไปจนถึงจังหวัดอ่างทอง และ แม่น้ำป่าสัก ตั้งแต่บริเวณแยกวัดพนัญเชิงวรวิหาร ไปจนถึงอำเภอนครหลวง จังหวัดพระนครศรีอยุธยา

โดยคำสั่ง กำหนดให้เรือลากจูงลำเลียงสินค้า ลากจูงเรือได้ไม่เกินพ่วงละ 3 ลำ ห้ามบรรทุกสินค้าเกินกว่ากำหนดจำนวนที่เจ้าท่าอนุญาตไว้ ซึ่งเป็นประกาศครั้งที่ 2 หลังเกิดอุบัติเหตุเรือลากจูงชนตอม่อสะพาน ในเขตจังหวัดพระนครศรีอยุธยา

ขณะที่ชาวบ้านเกาะเกร็ด อำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี ที่อยู่ติดริมแม่น้ำเจ้าพระยา เตรียมทยอยเก็บของขึ้นที่สูง หลังน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยา เริ่มหนุนสูงขึ้น ตั้งแต่สัปดาห์ที่ผ่านมา ขณะเดียวกันเจ้าหน้าที่ได้เตือนประชาชน ที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ริมแม่น้ำนอกแนวคันกั้นน้ำ พื้นที่จุดเสี่ยงที่เป็นพื้นที่ลุ่มต่ำ ให้เพิ่มความระมัดระวัง ช่วงเวลาน้ำทะเลหนุนสูงสุด ระหว่างวันที่ 24 – 25 สิงหาคม วันที่ 8 – 14 กันยายน และวันที่ 24 – 26 กันยายน 2565

อ.เกาะเกร็ด จ.นนทบุรี

กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ จึงเตือน เฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยงน้ำหลาก และน้ำท่วมฉับพลัน บริเวณ จ.เชียงราย เชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน แพร่ น่าน พิษณุโลก เพชรบูรณ์อุตรดิตถ์ ตาก กาฬสินธุ์ นครพนม บึงกาฬ สกลนคร หนองคายอุดรธานี อุบลราชธานี ร้อยเอ็ด ชัยภูมิ นครนายก ระยอง จันทบุรี และตราด

  • พื้นที่ประสบอุทกภัย ในระหว่างวันที่ 15 – 24 ส.ค. 65
    ยังคงมีสถานการณ์ในบริเวณพื้นที่ จ.พิษณุโลก อุบลราชธานี อ่างทอง พระนครศรีอยุธยา และปราจีนบุรี
  • ปริมาณน้ำ แหล่งน้ำทุกขนาด 51,154 ล้าน ลบ.ม. ร้อยละ 62 แหล่งน้ำขนาดใหญ่ 44,603 ล้าน ลบ.ม. ร้อยละ 62 เฝ้าระวังน้ำสูงกว่าเกณฑ์บริหารจัดการน้ำของอ่างเก็บน้ำ จำนวน 9 แห่ง ได้แก่ แม่งัด กิ่วคอหมา กิ่วลม แควน้อย ป่าสักชลสิทธิ์ อุบลรัตน์ น้ำพุง หนองปลาไหล และบึงบระเพ็ด

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active