‘นายกฯ อ๋า’ จับมือ ‘ชัชชาติ’ เรียกร้องรัฐบาลชดเชยภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง หลังงดเว้นไป 2 ปี เตรียมเชิญวง ‘ซิมโฟนี’ ยะลา เล่นดนตรีในสวนเดือนหน้า สะท้อนภาพ ‘เฟรนด์ชิป ซิตี้’ เรียนรู้จากท้องถิ่น แก้ปัญหาคุณภาพชีวิตประชาชน
วันนี้ (28 มิ.ย.65) ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เปิดเผยภายหลัง ให้การต้อนรับ พงษ์ศักดิ์ ยิ่งชนม์เจริญ นายกเทศมนตรีเทศบาลนครยะลา ในฐานะนายกสมาคมสันนิบาตเทศบาลแห่งประเทศไทย (ส.ท.ท.) พร้อมคณะ ว่า วันนี้เป็นโอกาสอันดีที่กรุงเทพมหานครได้ต้อนรับคณะจากส.ท.ท. ซึ่งเป็นสมาคมที่กรุงเทพมหานครเป็นหน่วยงานริเริ่มก่อตั้งในสมัย ชำนาญ ยุวบูรณ์ นายกเทศมนตรีนครกรุงเทพ ถือว่าเป็นการรวมตัวกันของเทศบาลทั่วประเทศกว่า 2,000 แห่ง
ปัจจุบัน พงษ์ศักดิ์ ดำรงตำแหน่งนายก ส.ท.ท. ได้สร้างความเปลี่ยนแปลงให้แก่เมืองยะลามากมาย ที่เห็นชัดเจนคือการเอาสายสื่อสารลงดินในเมือง ทั้งนี้ จะเห็นว่าเทศบาลหลายแห่งล้วนมีปัญหาที่คล้ายคลึงกัน หลายครั้งที่แต่ละเทศบาลสามารถหาคำตอบของปัญหาได้และเทศบาลอื่นนำความรู้นั้นไปประยุกต์ใช้ แนวคิดเหล่านี้เราสามารถเรียนรู้ซึ่งกันและกันได้ และเป็นสิ่งพิสูจน์ได้ว่าพลังของการกระจายอำนาจเป็นเรื่องสำคัญ นอกจากนี้เมืองยะลายังมีวงซิมโฟนีเยาวชนเทศบาลนครยะลาที่มีชื่อเสียง ซึ่งกรุงเทพมหานครจะเชิญให้มาร่วมเปิดการแสดงในกรุงเทพฯ ซึ่งเชื่อว่าจะได้รับความสนใจจากประชาชนมากแน่นอน
“ในอนาคตจะมีการลงนามในบันทึกข้อตกลงเมืองฉันท์มิตรในลักษณะ Friendship City เพื่อให้ทั้งสองเมืองได้มีโอกาสในการเรียนรู้และพัฒนาไปพร้อม ๆ กัน รวมถึงการร่วมเป็นเมืองฉันท์มิตร หรือเมืองเพื่อน กับเมืองอื่น ๆ เพื่อให้เห็นพลังของท้องถิ่นที่ชัดเจนยิ่งขึ้น จะทำให้เห็นว่าหากท้องถิ่นทำได้ดี ชีวิตของพี่น้องประชาชนจะดีขึ้นด้วย”
พงษ์ศักดิ์ ยิ่งชนม์เจริญ นายกเทศมนตรีเทศบาลนครยะลา
พงษ์ศักดิ์ กล่าวว่า ในประเทศไทยมีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นหลายรูปแบบ ทั้งกรุงเทพมหานคร พัทยา องค์การบริหารส่วนจังหวัด องค์การบริหารส่วนตำบล สิ่งสำคัญของการปกครองท้องถิ่นคือพวกเราอยู่ใกล้ชิดประชาชน รับรู้ความยากลำบากและปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน ตลอดจนปัญหาข้อจำกัดต่างๆของท้องถิ่นก็ยังมีลักษณะคล้ายคลึงกัน ทั้งเรื่องของการกระจายอำนาจ การเงินการคลัง โดยเฉพาะเรื่องของภาษีที่ดินและสิ่งก่อสร้าง จากการหารือในวันนี้พบว่า กทม. ก็ได้รับผลกระทบจากมาตรการของรัฐบาลที่ลดภาษี ให้จัดเก็บเพียง 10 % เช่นกัน จึงต้องการให้รัฐบาลเข้ามาช่วยชดเชยผลกระทบที่เกิดขึ้น
ท้องถิ่นถือว่าเป็นตัวขับเคลื่อนระดับรากหญ้า เมื่อไหร่ก็ตามที่ประชาชนรากหญ้ามีความสุข มั่นคงในชีวิต มีคุณภาพชีวิตที่ดี และต่อภาพเล็ก ๆ จากหลายท้องถิ่นให้กลายเป็นภาพใหญ่ของประเทศ ประเทศก็จะมีความมั่นคงเช่นเดียวกัน ซึ่งในวันนี้ก็ได้รับเกียรติจากท่านผู้ว่าฯ ในเรื่องของการดำเนินการเมือง Friendship City เพื่อประโยชน์สุขของประชาชน ซึ่งทุกคนมาจากการเลือกตั้งโดยประชาชน เป้าของทุกคนคือการทำงานเพื่อประชาชน
ตั้งข้อสังเกตกฎหมาย ‘ถอดถอน’ ผู้บริหารท้องถิ่น อาจทำผิด เป็นถูก
พงษ์ศักดิ์ กล่าวถึง ร่างพ.ร.บ. การเข้าชื่อถอดถอนสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่นฯ ว่าเป็นการมุ่งถอดถอนเฉพาะผู้บริหารท้องถิ่นและสภาท้องถิ่น รวมถึงกทม.และเมืองพัทยาด้วย ประเด็นข้อสังเกตคือ 1. ความลักลั่นคือการบังคับใช้เฉพาะท้องถิ่นไม่รวมการเมืองระดับชาติ 2. ขั้นตอนการถอดถอนและระยะเวลา เดิมยื่นถอดถอนภายใน 1 ปีหลังจากการเลือกตั้ง ขณะนี้ลดเหลือ 6 เดือน ซึ่งทำให้ภายหลังการเลือกตั้ง เพิ่งเริ่มเข้าทำงาน สามารถเริ่มกระบวนการถอดถอนได้เลย โดยประชาชนจำนวนไม่มากสามารถเข้าชื่อเพื่อยื่นสอบสวนได้ หากพบว่าสอบสวนแล้วไม่ผิดก็สามารถยื่นถอดถอนต่อได้อีก ซึ่งเห็นว่าหากสอบสวนแล้วไม่พบความผิดควรจะจบเรื่องได้ ทั้ง 3 ประเด็นนี้ เห็นว่าควรมีกระบวนการถ่วงดุลของการใช้อำนาจ ยกตัวอย่างเช่นคณะกรรมการการเลือกตั้งถึงแม้จะให้ใบแดงแต่ก็ต้องส่งฟ้องศาลวินิจฉัยต่อ แต่พ.ร.บ.ฉบับนี้ จะถึงที่สุดที่ผู้กำกับดูแล เช่น ในส่วนของกรุงเทพมหานครจะสิ้นสุดที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย และในส่วนของเทศบาลจะสิ้นสุดที่ผู้ว่าราชการจังหวัด
ในขณะที่ ชัชชาติ กล่าวว่า ร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการลงคะแนนเสียงเพื่อถอดถอนสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น ซึ่งเปิดโอกาสให้ประชาชาชนสามารถลงชื่อเพื่อถอดถอนสมาชิกสภาท้องถิ่น หรือ ผู้บริหารท้องถิ่นที่มาจากการเลือกตั้งได้ ภายหลังการเลือกตั้ง 6 เดือน และจำนวนของผู้ที่ลงชื่ออาจจะไม่มากนัก ในขณะที่ไม่ครอบคลุมการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร อาจเป็นปัญหาหนึ่งที่จะทำให้การทำงานลำบากขึ้น ซึ่งต้องเข้าไปดูในรายละเอียดและจะจัดทำเป็นข้อสังเกตและข้อหารือส่งไปยังสภาผู้แทนราษฎรต่อไป
เดินหน้าใช้เทคโนโลยีทำฐานข้อมูลทรัพย์สิน เก็บภาษีเต็มเม็ดเต็มหน่วย
ชัชชาติ กล่าวว่า ในเรื่องของการจัดเก็บภาษี กทม.ต้องไปแก้กฎหมายการจัดเก็บภาษีทั้งยาสูบและโรงแรม การพิจารณาภาษีที่ควรจะเก็บแต่ต้องไม่สร้างความเดือดร้อนให้แก่ประชาชนส่วนใหญ่ อาจเป็นภาษีที่เรียกเก็บจากนักท่องเที่ยว ซึ่งไม่มีปัญหาเรื่องการจ่าย หรือเรียกเก็บจากผู้ที่สูบบุหรี่ ซึ่งเป็นภาระในการดูแลรักษา อีกส่วนคือปัญหาฐานข้อมูลภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ซึ่งมีความละเอียดและเปลี่ยนรูปจากเดินประเมินจากรายได้เป็นประเมินจากข้อมูล ในขณะที่ฐานข้อมูลยังไม่ครบถ้วน สามารถประเมินได้เพียง 60 % บางส่วนเมื่อประเมินไปแล้วพบว่ามีการเปลี่ยนแปลงสภาพอาคารไปมาก และประชาชนบางส่วนมีการอุทธรณ์ ซึ่ง กทม.ต้องรีบเร่งในการจัดทำฐานข้อมูลดังกล่าว โดยใช้เทคโนโลยีมากขึ้น เนื่องจากมีผลต่อรายได้จำนวนมาก
“การกระจายอำนาจเป็นเรื่องสำคัญ อย่างวันนี้กทม. ก็เริ่มกระจายอำนาจให้ประชาชน ในการแจ้งเหตุ บอกเรื่องต่าง ๆ ทำให้ทุกอย่างเดินดีขึ้น ราชการตอบสนองต่อปัญหาของประชาชนได้ดีขึ้น ทุกคนเห็นตรงกัน อาจอยู่ที่รายละเอียดแตกต่างกันไป ส่วนเรื่องภาษี เราต้องเอาเทคโนโลยีมาใช้ให้ได้มากที่สุด อัพเดตข้อมูลให้เป็นปัจจุบัน ต้องพยายามแก้ปัญหาจุดนี้ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยสุดท้ายแล้วต้องเก็บภาษีให้ยุติธรรม เก็บให้ครบถ้วน และให้เป็นธรรมกับประชาชนด้วย”
ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร
ชัชชาติ ทิ้งท้ายว่า เราเปลี่ยนจากภาษีโรงเรือนมาเป็นภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ซึ่งแนวคิดเป็นคนละส่วนกัน จากแนวคิดเปอร์เซ็นต์ของรายได้มาเป็นมูลค่าของสิ่งปลูกสร้าง หลายอย่างก็มีข้อกังวล อาทิ หากมีเสาโทรคมนาคมอยู่ที่ตึกหนึ่ง เราสามารถคิดภาษีได้ เนื่องจากเสาโทรคมนาคมถือว่ามีรายได้ แต่หากเป็นภาษีที่ดินและปลูกสร้างจะถือว่าเสานี้เป็นส่วนควบอาคาร ไม่มีการเก็บภาษี ทำให้ฐานภาษีหลายอย่างหายไป ต้องพิจารณาให้ละเอียดว่าสุดท้ายแล้วรายได้จะเพิ่มขึ้นหรือหายไปเท่าไหร่