เสียชีวิตจากโควิด 5 ราย หลังสงกรานต์ XBB.1.16 จ่อเป็นสายพันธุ์หลัก

กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เฝ้าระวังการเปลี่ยนแปลงสายพันธุ์อย่างใกล้ชิด ประสาน รพ.ทั่วประเทศส่งตัวอย่างผู้ป่วยโควิด 19 ทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติในรายที่มีอาการรุนแรง หรือเสียชีวิต ตรวจสายพันธุ์ ย้ำการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นช่วยลดอาการหนักและเสียชีวิตได้

วันนี้ (26 เม.ย. 2566)  หลังผ่านช่วงเทศกาลสงกรานต์ พบจำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 เพิ่มขึ้น กระจายในหลายจังหวัดโดยเฉพาะเมืองใหญ่ที่มีประชากรหนาแน่น เช่น กรุงเทพฯ ภูเก็ต เชียงใหม่ ชลบุรี  ส่วนใหญ่เป็นการติดเชื้อในสมาชิกครอบครัว และการร่วมกิจกรรมที่รวมกลุ่มคนจำนวนมาก 

ในส่วนของกรุงเทพมหานครพบว่าสัปดาห์ที่ผ่านมา มีผู้ติดเชื้อวันละประมาณ 1,000 คน หมายความว่าขณะนี้มีการแพร่ระบาดที่ค่อนข้างง่าย ติดเชื้อค่อนข้างเยอะ 

แม้ว่าจะมีความกังวลกรณีการกลายพันธุ์ที่ทำให้ติดเชื้อง่ายขึ้น แต่กระทรวงสาธารณสุข และกรุงเทพมหานคร ได้จัดเตรียม ยาโมลนูพิราเวียร์ แพ็กซ์โลวิดและเรมเดซิเวียร์ รองรับผู้ติดเชื้อได้ถึงหลักหมื่นคน/วัน

ขณะที่ภาพรวมทั้งประเทศ จากข้อมูลกรมควบคุมโรค ผู้ป่วยโควิด-19 ภายในประเทศสัปดาห์ที่ผ่านมา (วันที่ 16 – 22 เม.ย.2566) พบผู้ป่วยรายใหม่ 1,088 คน เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อน ผู้ป่วยปอดอักเสบ 73 คน ผู้ป่วยใส่ท่อช่วยหายใจ 35 คนและผู้เสียชีวิต 5 คน

โดยผู้เสียชีวิต 4 ราย เป็นผู้ที่ไม่ได้รับวัคซีนมาก่อน และผู้เสียชีวิตอีก 1 คนยังไม่ได้รับเข็มกระตุ้น ซึ่งเป็นปัจจัยเสี่ยงทำให้เมื่อติดเชื้อแล้วเกิดอาการรุนแรง ดังนั้น การฉีดวัคซีนหรือวัคซีนเข็มกระตุ้นภูมิคุ้มกันจึงยังมีความจำเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะในผู้ที่เป็นกลุ่มเสี่ยง 608 จะช่วยลดอาการหนักและเสียชีวิตได้ 

อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์

ด้านนายแพทย์ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ระบุกรณีผู้เสียชีวิตชาวเมียนมาที่มีผลการตรวจ ATK เป็นบวก ผลการตรวจสายพันธุ์ พบเป็นสายพันธุ์ XBB.1.16.1 ซึ่งเป็นสายพันธุ์ย่อยของ XBB.1.16 สำหรับผู้ติดเชื้อชาวเมียนมารายนี้ไม่เคยได้รับการฉีดวัคซีนโควิด-19 จึงมีความเป็นไปได้ที่การติดเชื้อไม่ว่าสายพันธุ์ใดก็ตามจะก่อให้เกิดผลกระทบต่อสุขภาพมากกว่าปกติ

สำหรับ โควิด สายพันธุ์ฺ XBB.1.16 ซึ่งเป็นลูกผสมของสายพันธุ์โอมิครอน BA.2.10.1 และ BA.2.75 ผู้เชี่ยวชาญคาดการณ์จากความได้เปรียบในการเพิ่มจำนวนและความสามารถในการหลบภูมิคุ้มกัน XBB.1.16 อาจแพร่กระจายไปทั่วโลกและมีส่วนทำให้มีผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม ยังไม่มีหลักฐานการเพิ่มความรุนแรงของโรค อาการที่พบคือ มีไข้ ไอ เจ็บคอ น้ำมูก อาจพบเยื่อบุตาอักเสบ คันตา ตาเหนียวร่วมด้วย แต่ยังไม่มีข้อมูลชี้ชัดว่าอาการดังกล่าวเป็นลักษณะจำเพาะที่เกิดจากสายพันธุ์นี้ 

“กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์จะเฝ้าระวังการเปลี่ยนแปลงสายพันธุ์อย่างใกล้ชิดโดยได้ประสานขอให้โรงพยาบาลทั่วประเทศส่งตัวอย่างผู้ป่วยโควิด-19 ทั่วประเทศ ทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติมาตรวจสายพันธุ์เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในรายที่มีอาการรุนแรง หรือเสียชีวิต” 

นายแพทย์ศุภกิจ

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active